Yunomori Onsen & Spa
สถาปัตยกรรมที่บอกเล่าความงามผ่าน ‘วะบิซะบิ-คินสึงิ’ ศิลปะแห่งร่องรอยที่แตกบิ่น

เมื่อคำจำกัดความและเกณฑ์การตัดสินคำว่า ‘ความงาม’ ที่เรามักรู้จักคือ ความสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ ความสมมาตร และความไร้ซึ่งกาลเวลา ‘วะบิ-ซะบิ’ จึงโอบรับสิ่งที่ผู้คนโยนทิ้ง ความไม่สมบูรณ์แบบ ความอสมมาตร และตำหนิ ไว้อย่างลึกซึ้งด้วยปรัญชาความงาม ผ่านการหวนคำนึงถึงความหวานปนขมอย่างเข้าอกเข้าใจ ว่าทุกสิ่งนั้นล้วนไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สามารถงดงามอย่างที่ควรจะเป็นได้

วิถี ‘วะบิ-ซะบิ’ ที่กำลังกล่าวถึงนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบ Yunomori Onsen & Spa สาขาสาทร ซอย 10 ที่เกิดจากการร้อยเรียงความงามของอาคารเดิม และอาคารใหม่ให้สอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน โดย คุณปกรณ์ รัตนสุธีรานนท์ สถาปนิกจาก Sixseven Studio-67s เป็นผู้รับหน้าที่ในการออกแบบและสื่อสารความลึกซึ้งของปรัญชา ให้ชวนสัมผัสได้ในทุกๆ องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก

รอยต่อของเรื่องราวอาคารเก่าและใหม่ 

จุดเริ่มต้นของการออกแบบ Yunomori Onsen & Spa เกิดจากความต้องการปรับปรุงที่ดินผืนเก่าที่เคยถูกใช้เป็นโกดังและอพาร์ตเมนต์ จำนวน 3 อาคาร ให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ โดยมีบริการตั้งแต่โรงอาบน้ำ บ่อออนเซ็น สปา และร้านอาหาร ซึ่งความตั้งใจแรก เจ้าของโครงการต้องการเพียงจะรีโนเวทอาคารที่มีอยู่เพื่อให้งบประมาณเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อได้ขบคิดร่วมกับสถาปนิกผู้ออกแบบไปเรื่อยๆ จึงพบว่างบประมาณในการรีโนเวทกับการทุบสร้างใหม่นั้นไม่ได้แตกต่างกันจนสุดโต่ง 

ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดด้านต่างๆ และงบประมาณ สถาปนิกจึงเสนอให้ทุบ 2 อาคารแรกออกเพื่อสร้างเป็นอาคารใหม่ 1 อาคาร และเก็บอาคารเดิมด้านหลังไว้เพียงอาคารเดียว สำหรับจัดวางโปรแกรมเป็นโซนนวดอโรม่า สปา พื้นที่พักผ่อน และร้านอหาร ส่วนอาคารด้านหน้าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถูกออกแบบให้เป็นส่วนโถงต้อนรับ ออนเซ็น โรงอาบน้ำ และห้องซาวน่า ซึ่งจากตรงนี้สถาปนิกได้เล่าว่า การสานเรื่องราวของอาคารเก่าและอาคารใหม่นั้น ยังได้แนวคิดเทียบเคียงมาจากการซ่อมถ้วยเซรามิกของญี่ปุ่น หรือศิลปะ ‘คินสิงึ’ ที่นำถ้วยแตกร้าวมาผสานขึ้นใหม่ให้กลายเป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป 

‘คินสึงิ-วะบิซะบิ’ ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ด้วยแนวคิดจาก ‘คินสึงิ’ ซึ่งเป็นศิลปะที่ขยายความมาจากศาสตร์ ‘วะบิ ซะบิ’ หรือการชื่นชมอะไรที่ไม่สมบูรณ์แบบ เอกลักษณ์ของศาสตร์นี้จึงได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านดีเทลของวัสดุ และ texture หลายๆ จุดในงานสถาปัตยกรรม หากพูดกันให้เห็นภาพ ‘วะบิ ซะบิ’ คือคู่ตรงข้ามของสิ่งที่ผู้คนนิยามว่า ดี หรือ Perfect เช่น ความหยาบ ความมืดสลัว และความไม่เรียบเนียน เป็นต้น

สถาปนิกได้เกลาคีเวิร์ดดังกล่าวออกมาผ่านการเลือกใช้วัสดุและเทคนิคที่สามารถบอกเล่าความไม่สมบูรณ์แบบได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้ทรายพ่นผนังเพื่อสร้างเอฟเฟคที่น่าสนใจ การเลือกใช้วัสดุผิวขรุขระหรือมีมิติที่ไม่เรียบเนียนจนเกินไป หรือแม้แต่การพิมพ์ลายไม้ไผ่บนผนังคอนกรีต พื้นผิวจึงเกิดการแตกกระเทาะเป็นบางจุดจนต้องใช้ เนื้อปูนเพื่อเก็บรอยซ่อมแซม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้พื้นผิวเปลือกอาคารอาจไม่สวยสมบูรณ์แบบ แต่ในมุมมองของสถาปนิก คือเสน่ห์ของพื้นผิววัสดุที่เกิดขึ้นเมื่อกระทบแสง หรือแม้แต่การใช้ทรายพ่นผนัง เพื่อให้ให้เอฟเฟคของแสงและการสัมผัสได้ถึงพื้นผิวที่ไม่สมบูรณ์แบบ ล้อไปกับแนวคิด ‘วะบิ ซะบิ’ ข้างต้น 

ในส่วนของวัสดุไม้ที่เห็นได้จากหลายๆ พื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ได้มีการเลือกใช้ทั้งไม้จริงและไม้เทียมตามความเหมาะสมของการใช้งานพื้นที่นั้นๆ เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและปฏิเสธไม่ได้ในการออกแบบออนเซ็นสปาคือเรื่องของความชื้น สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้เทียมและอลูมิเนียมลายไม้ในส่วนที่มีความชื้นสูง ส่วนไม้จริงจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการสร้างไฮไลท์ให้เกิดความน่าสนใจ เช่น เคาน์เตอร์บริเวณส่วนต้อนรับ รวมถึงดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ในส่วนอื่นร่วมด้วย เพราะในแต่ละพื้นที่ก็จะมีคาแร็คเตอร์และจุดเด่นในแต่ละโซนที่แตกต่างกันออกไป

ลำดับการรับรู้และสัมผัส  

นอกจากการออกแบบ Texture ที่ไม่เรียบเนียนบนพื้นผิวในแต่ละองค์ประกอบแล้ว การสร้างลำดับการรับรู้และสัมผัสตลอดการเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ผ่านการแปรเปลี่ยนจากผิว เปลือกภายนอกอาคารที่เป็นมวลใหญ่และผิววัสดุดิบกระด้างที่สุด เช่น การเลือกไล่เฉด และออกแบบแสงในแต่ละโซนให้มีการไต่ระดับความเข้ม-อ่อนตามการใช้งาน โดยเริ่มจากแสงที่มืดร่วมกับวัสดุที่หนักในชั้นล่าง จนค่อยๆ สว่างขึ้นหรือมีสเกลของ Texture ที่ละเอียดขึ้นตามลำดับ เช่นการเลือกใช้โมเสกชิ้นเล็กๆ หรือการใช้สีที่อ่อนลงไล่จนไปถึงชั้นดาดฟ้า

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ดูมีเอกลักษณ์ในแต่ละโซนนั้น สถาปนิกได้ร่างแบบส่งไปให้กับซัพพายเออร์ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ผลิตขึ้นมาให้ เพราะเจ้าของโครงการต้องการให้ภาพรวมดูมีความร่วมสมัย ไม่ดูญี่ปุ่นจนเกินไป อีกทั้งในแง่ของคอมเมอเชียลแล้ว กลุ่มลูกค้าของทาง Yunomori Onsen & Spa ก็ยังแบ่งเป็นสัดส่วนที่หลากหลาย โดยมีตั้งแต่ ชาวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวต่างชาติประเทศอื่นๆ และคนไทยในพื้นที่ก็เริ่มให้ความสนใจกับออนเซ็นสปาแบบญี่ปุ่นกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน

รวมถึง Yunomori Onsen & Spa แห่งนี้ก็เป็นสาขาที่ 3 จาก สาขาแรกที่สุขุมวิท 26 และสาขา 2 ที่พัทยา เจ้าของโครงการจึงตั้งใจให้สาขาที่ 3 นี้ มีการผสมผสานแนวคิดของทั้งสองสาขาร่วมกัน โปรแกรมการแช่น้ำร้อนออนเซ็นแบบร่วมสมัย หรือ Super Sento ในแบบประเทศญี่ปุ่น จึงได้ถูกนำมาใช้กับสาขานี้ และปรับบางส่วนให้เหมาะกับการใช้งานจริงของลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติ

ในส่วนของสวนภายนอกสถาปนิกและผู้ออกแบบก็ได้เห็นตรงกันว่าระยะ Set back ที่เหลือนี้จะต้องทำให้น่าสนใจมากที่สุด จึงได้ตกแต่งสวนญี่ปุ่นด้านหน้าอาคารให้ดูร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดกลาง และมีใบที่ไม่ใหญ่จนเกินไป เพื่อให้สวนดูมีขนาดใหญ่ขึ้น

ทุกๆ องค์ประกอบ และทุกรายละเอียดจากการออกแบบ Yunomori Onsen & Spa นับว่าเป็นเป็นการใช้พื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นเครื่องมือและสิ่งเร้าในการสร้างความผ่อนคลายให้ผู้ใช้พื้นที่ไม่เพียงแต่สบายกายจากการใช้บริการด้านต่างๆ แต่ยังรู้สึกถึงการรับรู้ที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจ ผ่านการบอกเล่าแนวคิดที่ลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกได้พยายามตีความและถ่ายทอดให้เห็นว่ารูปแบบของความงามที่ไม่สมบูรณ์ตามที่ตาเห็น ก็สามารถทำให้เกิดความงามที่มีความรู้สึกใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกัน

Writer
Pichapohn Singnimittrakul

Pichapohn Singnimittrakul

Copy writer ผู้มีความสนใจในงานจิตอาสา และ Eco-Living ที่เชื่อว่างานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้