Search
Close this search box.

Conceptual Architecture
จินตนาการในโลกของสถาปัตยกรรม

หากเราย้อนกลับไปดูภาพยนตร์ไซไฟในยุคเก่าที่มีเทคโนโลยีหรือองค์ประกอบฉากสุดล้ำ เรียกได้ว่าว้าวที่สุดในยุคนั้น เมื่อกลับมามอง ณ ปัจจุบันอาจมีบางสิ่งเกิดขึ้นจริงจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสที่ยิ่งนานวันยิ่งล้ำสมัยจนน่าตกใจ

นี่จึงเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่า ‘จินตนาการ’ เป็นตัวแทนของความหวัง ความฝัน ความต้องการที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งในหลายครั้งจินตนาการผลักดันให้คนเราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พลังยิ่งใหญ่ของมนุษย์จึงกลายเป็นความคิดไม่รู้จบที่ส่งต่อสู่งานนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงงาน Conceptual Design หรือแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่นำโลกจินตนาการมาผสมผสานจนเกิดเป็นผลงานเหนือจริง 

เพื่อพาทุกคนหลุดออกจากโลกแห่งความจริงไปบ้าง เราขอชวนมาท่องเที่ยวในโลกจินตนาการสำรวจสถาปัตยกรรม (เหนือจริง) ที่สนุกๆ หลุดโลก และแปลกตาจนต้องอุทานว่า แบบนี้ก็มีด้วยหรอ! ใครจะรู้ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นอาคารรูปทรงแปลกตา ที่บียอนไปกว่าตึกสี่เหลี่ยมสูง หรือบ้านสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาจั่วที่เราคุ้นตาก็เป็นได้

Sinuous House
By ANTIREALITY

The Sinuous House ตั้งชื่อตรงตัวตามรูปทรงคดเคี้ยว โค้งมนของอาคาร แนวคิดของบ้าน 2 ชั้นหลังนี้ตั้งใจให้เป็นสถานที่พักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์สำหรับผู้ที่ทำงานในเมือง โดยตั้งอยู่ริมชายฝั่งธรรมชาติในประเทศอิตาลี โครงสร้างสีขาวจะตั้งอยู่บนโขดหินที่สามารถมองทัศนียภาพของบริบทโดยรอบได้อย่างกว้างไกล ตัวบ้านประกอบไปด้วยโครงสร้างโค้งสามทิศทาง โดยทั้งหมดจะซ้อนทับกันเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางแนวตั้งภายในอาคาร ซึ่งโครงสร้างในแนวตั้งถูกสร้างขึ้นเป็นระเบียงสังเกตการณ์เพื่อให้ผู้คนได้เพลิดเพลินกับมุมมองที่กว้างไกล ในขณะที่ดาดฟ้าชั้นสองเป็นสระว่ายน้ำที่ทอดตัวยาวมองเห็นทัศนียภาพของชายฝั่งที่อยู่ล้อมรอบ

บ้านหลังนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 344 ตร.ม. ฟังก์ชันหลักเป็นที่อยู่อาศัยที่เพิ่มเติมพื้นที่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ระเบียง สระว่ายน้ำบนดาดฟ้า และหอชมวิว พื้นที่ใช้สอยภายในประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว ห้องนอน 2 ห้อง รวมถึงห้องสมุดขนาดเล็ก

ฟาซาดอาคารออกแบบให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว โดยแบ่งเลเยอร์ออกเป็นพื้นผิววัสดุสองชั้น โดยชั้นแรกดีไซน์ให้เป็นแผงอลูมิเนียมเจาะรูสีขาวส่วนชั้นที่สองครอบคลุมผนังกระจกเกือบทั้งหมด ทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงภายใน ในขณะที่ยังป้องกันพื้นที่ใช้งานจากความร้อนที่อาจมากเกินไปในบางช่วงเวลา  

ที่มา
conceptual-weekend-antireality
https://www.instagram.com/anti__reality

House Inside a Rock
By Amey Kandalgaonkar

สำหรับบ้านที่ฝังตัวในหินหลังนี้ สถาปนิกหยิบสถาปัตยกรรมสุสานหิน Madain Saleh จากประเทศซาอุดิอาระเบียมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยโบราณสถานมีฟาซาดสุดคลาสสิกที่แกะสลักด้วยหินทรายจำนวนมากเกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมรูปทรงเรขาคณิตบนพื้นผิวของธรรมชาติ

สถาปนิกออกแบบโดยใส่ความร่วมสมัยเข้าไปมากขึ้นผ่านกระบวนการก่อสร้างที่เสริมวัสดุชนิดที่สองเข้าไปแทนที่จะใช้วัสดุธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ความคอนทราสจึงเกิดขึ้นจากการแทรกแผ่นพื้นคอนกรีตเข้าไปเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน โดยสถาปนิกออกแบบให้ดูเหมือนว่าบ้านงอกออกมาจากหิน โถงทางเข้าขนาดใหญ่ที่ชั้นล่างยังเชื่อมต่อกับพื้นที่ใช้สอยทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวกว้างเปิดออกเพื่อรับอากาศธรรมชาติด้านนอกได้ตลอดแนว

ที่น่าสนใจคือ สถาปนิกออกแบบโดยคำนึงถึงมุมมองเป็นสำคัญ หากเราสังเกตจากมุมในระดับสายตาจึงเห็นเป็นเพียงเส้นสายของสี่เหลี่ยมเรขาคณิตที่แทรกตัวอยู่ในก้อนหินซึ่งเป็นรูปทรงออร์แกนิกตามธรรมชาติ ต่างจากมุมมองด้านบน (Bird eye’s view) ซึ่งจะเริ่มเห็นขอบเขตของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน
 
ที่มา
http://www.designboom.com
http://www.dezeen.com

Dune House
By Studio Vural

Dune House ออกแบบขึ้นบนพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเมือง Wellfleet ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรรูปตะขอของ Cape Cod ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่ง Studio Vural รับหน้าที่ออกแบบโดยจินตนาการถึงสถาปัตยกรรมในรูปแบบ “Subtractive Architecture” หรือสถาปัตยกรรมที่ถูกลลดชิ้นส่วนออกไป โดยซ่อนตัวเป็นหนึ่งเดียวกับเนินทรายและสามารถอยู่อาศัยได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสาธารณูปโภค

ฟอร์มวงกลมของอาคารถูกตัดแบ่งชิ้นส่วน และซ่อนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทั้งภูเขาหญ้าและเนินทราย ทำให้เมื่อมองจากทะเลโดยรอบ สถาปัตยกรรมชิ้นนี้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจนแทบจะแยกกันไม่ออก ที่บริเวณชั้นบนของ Dune House จะมีรูปทรงคล้ายแปดเหลี่ยมที่ประกอบด้วยปีกอาคารสองปีกที่เชื่อมกันด้วยทางเดินเอาท์ดอร์กลาง ซึ่งพื้นที่ชั้นบนเป็นฟังก์ชันส่วนกลาง เช่น ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร บันไดของปีกอาคารฝั่งหนึ่งจะพาเราลสู่พื้นที่ชั้นล่างซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเนินทราย โดยบริเวณส่วนนี้จะเป็นห้องนอนจำนวน 4 ห้อง ห้องโถงและห้องนั่งเล่น โดยมีหน้าต่างรูปลิ่มเปิดรับแสงแดดและเปิดมุมมองให้เห็นวิวผืนน้ำ

โครงสร้างบ้านได้รับการออกแบบให้ยึดกับพื้นที่ด้วยการใช้เสาเข็มลึก ส่วนผนังทำขึ้นจากคอนกรีตผสมเถ้าลอย และกระจกฉนวนสามชั้นที่ซ่อนอยู่ภายในกรอบโลหะ เพื่อให้ทนทานต่อสภาพอากาศและพายุ

ที่มา
www.dezeen.com

Shipping Containers as Affordable Housing
By TRS Studio

ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งจำนวน 2 ตู้ถูกต่อเข้าด้วยกันและเสริมด้วยส่วนต่อขยายจากวัสดุโพลีคาร์บอเนตบริเวณด้านบน ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยู่อาศัยราคาประหยัดที่ TRS Studio ออกแบบขึ้นสำหรับชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและขาดทรัพยากรในการซื้อวัสดุก่อสร้าง ในชุมชนเล็กๆ ของประเทศเปรู

บ้านหลายหลังในพื้นที่สร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งห่างไกลคำว่าบ้านพักอาศัยหรือสถาปัตยกรรมไปมากนัก ตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากมายที่ถูกทิ้งจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการออกแบบ โดยมีราคาถูก อีกทั้งยังทนทานเพื่อให้โครงสร้างเหมาะสมกับการอยู่อาศัยมากขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้มีพื้นที่ภายในประมาณ 60 ตารางเมตร โดยนำตู้ 2 ตู้มาต่อเข้ากัน เกิดเป็นเลย์เอาท์ทรงสี่เหลี่ยมที่กว้าง 4 เมตรและยาว 15 เมตร  

บริเวณชั้นล่างมีฟังก์ชันเป็นมุมครัว ห้องน้ำ และห้องนอนที่บริเวณด้านหลัง อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้เล็กๆ ที่ข้างใดข้างหนึ่งของบ้าน ทำให้เจ้าของสามารถจัดสวนขนาดเล็กภายในบ้านได้ ช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้นจากแสงธรรมชาติที่ส่องเข้าถึงผ่านวัสดุเพดานโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสง พาร์ติชันภายในเป็นตัวกั้นสเปซและสร้างสัดส่วน ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยไม้อัด Oriented Strand Board (OSB) โดยเป็นวัสดุราคาไม่แพงที่มีอยู่เดิมในชุมชน

ส่วนพื้นที่ชั้นลอยจะมีสองห้องนอน รวมถึงมีห้องทำงาน โดยขนาดกว้างขวางมากพอสำหรับครอบครัวใหญ่ที่สามารถดัดแปลงพื้นที่ภายในได้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน แนวคิดสถาปัตยกรรมดังกล่าวยังเป็น Prototype แบบจำลองสำหรับผู้อยู่อาศัยครอบครัวอื่นๆ ในเมือง และในอนาคตอาจรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก

ที่มา
www.dezeen.com

CyberHouse LIFE
By Modern House bureau, Alex Wizhevsky

หากมีซอมบี้บุกโลก หรือเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ เราคงต้องการที่พักอาศัยที่แข็งแกร่งราวกับเป็นป้อมปราการรักษาความปลอดภัย เช่นเดียวกับ CyberHouse LIFE แนวคิดสุดล้ำจากจินตนาการของ Alex Wizhevsky

CyberHouseLIFE มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 1,370 ตร.ม. ตั้งอยู่บนเนินหินบนชายฝั่งของทะเลสาบภูเขา ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์หน้าตาที่โดดเด่นล้ำสมัย แต่ภายในกลับพึ่งพาระบบธรรมชาติและอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน แต่ละระดับของวิลล่าเปิดมุมมองพาโนรามาเป็นเอกลักษณ์ของภูมิทัศน์ โดยตัวบ้านจะแบ่งออกเป็นอาคารหลักสองหลัง หลังแรกจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางอย่างโรงจอดรถ พื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่แขก ในขณะที่บ้านหลังที่สองซึ่งอยู่ติดริมน้ำจะเป็นพื้นที่พักอาศัยส่วนตัว เพื่อให้มองเห็นและชื่นชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างกว้างไกลที่สุด

สถาปัตยกรรมออกแบบด้วยคอนกรีตที่ทำมุมองศาไปมา คล้ายกับเหลี่ยมมุมที่พร้อมป้องกันตัวเองจากอันตรายรอบด้าน อีกทั้งยังมีวัสดุกระจกกันกระสุนรอบทิศทาง เพื่อเปิดรับมุมมอง โครงสร้างที่ซับซ้อน วัสดุที่แข็งแกร่งทนทานและการพึ่งพาระบบธรรมชาติจึงทำให้บ้านหลังนี้พร้อมเป็นระบบปิดที่คุ้มกันผู้อยู่อาศัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่มา
archello.com

Street Tree Pods
By Matthew Chamberlain

Matthew Chamberlain บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Westminster ออกแบบบ้านต้นไม้สุดยั่งยืน เพื่อบรรเทาวิกฤตที่อยู่อาศัยในลอนดอน Street Tree Pods เป็นโครงสร้างไม้รูปทรงหยดน้ำที่ตั้งใจออกแบบมาให้เป็นส่วนหนึ่งกับต้นไม้ที่มีอยู่เดิม พื้นที่ทั้งหมดใช้ขนาดเท่ากับที่จอดรถเพียงหนึ่งคันเท่านั้น โดยโครงสร้างแต่ละหลังจะให้บริการที่พักระยะสั้นแก่ผู้พักอาศัยเพียงคนเดียว โดยอาจเป็นนักเรียน คนทำงานวัยหนุ่มสาว หรือแม้แต่คนไร้บ้านที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดหาบ้านหลังใหม่

Street Tree Pods พยายามนำเสนอการแก้ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้นภายในเมือง สถาปัตยกรรมรูปทรงต้นไม้นี้เป็นตัวผสมผสานบ้านและต้นไม้ริมถนนเข้าด้วยกัน ทำให้มนุษย์รู้สึกได้ถึงธรรมชาติผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญของสุขภาวะที่ดีและสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน

การออกแบบบ้านหลังนี้ยังคำนึงถึงความยั่งยืนให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้  โดยอาศัยระบบทั้งหมดจากธรรมชาติทั้งระบบการหมุนเวียนอากาศจากธรรมชาติ (Natural Ventilation) การนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน อีกทั้งยังมีระบบกักเก็บน้ำฝนในถังพักแยกสำหรับใช้งานภายในพื้นที่ และ Heat Pump ที่กักเก็บความร้อนจากอากาศในตอนกลางวัน ทำงานบ้านทั้งหลังสามารถหมุนเวียนเป็นระบบได้อย่างยั่งยืน

ที่มา
www.dezeen.com

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading