หลังจาก Covid-19 ทำให้กิจกรรมที่เติมเต็มความสุขของเราปรับเปลี่ยน บางกิจกรรมก็ห่างหายไปเสียนานอย่าง การชื่นชมนิทรรศการศิลปะ ผลงานใหม่ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจล้วนอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แต่วันนี้ที่ The Design Museum ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมีการจัดแสดงผลงานที่น่าสนใจในชื่อ ‘Discovered’ ซึ่งมีผลงานการออกแบบของคนไทยเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงงานแห่งนี้ด้วย
‘Discovered’ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สภาผู้ส่งออกไม้เนื้อแข็งแห่งอเมริกา (AHEC) และสื่อด้านการออกแบบและไลฟ์สไตล์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกอย่าง Wallpaper* จัดแสดงผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถจำนวน 20 คน จาก 16 ประเทศทั่วทุกมุมโลก ซึ่งความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้ คือ แนวคิดแตกต่างหลากหลายที่ 20 นักออกแบบกลั่นกรองจากการทำงานร่วมกับกลุ่มดีไซน์เนอร์ระดับโลกอย่าง Tomoko Azumi, Maria Jeglinska-Adamczewska, Nathan Young, Adam Markowitz และ David Venables กรรมการผู้ดูแลส่วนภูมิภาคยุโรปของ AHEC รวมถึง Sarah Doughlas บรรณาธิการใหญ่ของ Wallpaper* เพื่อรังสรรค์ผลงานเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ด้วยโจทย์ของการเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งที่ปลูกด้วยวิธีที่ยั่งยืน 4 ชนิดจาก AHEC ได้แก่ ไม้โอ๊คแดงอเมริกัน ไม้เชอร์รี่ ไม้เมเปิ้ลเนื้อแข็ง และไม้เมเปิ้ลเนื้ออ่อน
ผลงานที่เล่าเรื่องจากประสบการณ์และอารมณ์
ในขั้นตอนของการปรับแบบและพัฒนาแนวคิด เหล่านักออกแบบล้วนมีอิสระในการต่อยอดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตซึ่งตอบโจทย์ประเด็นเรื่องการสัมผัส มุมมองและความเข้มแข็ง โดยถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นลงในชิ้นงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการใช้งานและอารมณ์ต่อวัตถุที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน จนเกิดเป็นผลงานการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากไอเดียต่างๆ ตั้งแต่อัตลักษณ์ มรดกทางวัฒนธรรม พิธีกรรมในครอบครัวและสังคม การปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาด หรือความรู้สึกปลอบประโลมที่ได้รับจากการสัมผัส
ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของชิ้นงานที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์เพื่อการใช้งานอย่าง ตู้เก็บของ โต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงผลงานนามธรรม (Abstract Art) อย่างงานแกะสลักที่ได้แรงบันดาลใจจากการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งผลงานทั้งหมดของ ‘Discovered’ ล้วนเปี่ยมด้วยอารมณ์ และประสบการณ์ ซึ่งกลายร่างมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักออกแบบ
Design ครั้งนี้ Dsign Something ได้โอกาสดี ชวนมาพูดคุยกับสามดีไซเนอร์ชาวเอเชีย กรเพชร โชติภูมิวรรณ (หน่อง) กมลวรรณ มองนที (มิว) จากประเทศไทย และหยุนฮั่นหวางจากประเทศจีน
(หน่อง-กรเพชร โชติภูมิวรรณ, มิว-กมลวรรณ มองนที และหยุนฮั่นหวาง ตามลำดับ)
Dsign Something : รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ได้เป็นหนึ่งในนักออกแบบเพียง 20 คนจากทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ?
หน่อง: รู้สึกเกินความคาดหมายมากค่ะที่ได้รับเลือก โครงการนี้เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลก ได้ร่วมมือกับโรงพิมพ์และบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Wallpaper และ AHEC ซึ่งการได้จัดแสดงผลงานในพิพิธภัณฑ์การออกแบบในลอนดอนก็เป็นหนึ่งในสถานที่ในฝันของเรา เลยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งเลยค่ะ
(ขั้นตอนการผลิตผลงานของหน่อง)
มิว: เราตื่นเต้นมากกับโครงการนี้ และทันทีที่ได้เห็นรายละเอียด เราก็คิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ การได้รับโอกาสในการนำผลงานไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์การออกแบบในลอนดอนก็ถือเป็นการสานฝันนักออกแบบชาวไทย ซึ่งประสบการณ์ครั้งนี้เหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำงานให้กับเรา และเป็นโอกาสที่ดีในการพิสูจน์ตัวเองในบริบทที่ใหญ่ขึ้น เพราะเราได้ทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายประเทศทั่วโลก
(ขั้นตอนการผลิตผลงานของมิว)
หยุนฮั่นหวาง : เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ในฐานะนักออกแบบชาวจีน เรามีโอกาสที่จะได้สอดแทรกวัฒนธรรมและองค์ประกอบดั้งเดิมของจีนไว้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และถ่ายทอดออกไปสู่สายตาโลก นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจมากๆ และรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ AHEC และ Wallpaper* พาผลงานของพวกเราทุกคนไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การออกแบบในลอนดอน
Dsign Something : อยากให้ทั้ง 3 คน เล่าถึงผลงานการออกแบบของตัวเองให้ฟังหน่อย
หน่อง: เราเลือกออกแบบเก้าอี้โยก ซึ่งการออกแบบนี้เป็นการตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด Covid-19 ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานเป็นเพียงเส้นแบ่งบาง ๆ อันคลุมเครือ แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบของเราจึงเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่า วัสดุทั่วไปที่เราสัมผัสจะช่วยสะท้อนถึงตัวตนและสร้างรากฐานให้ตัวเรามีความแข็งแกร่งได้อย่างไร? ซึ่งเราเองกำลังสนใจในสิ่งที่จะได้รับเมื่อเราเคลื่อนไหวบนม้าโยก การกระตุ้นอารมณ์ สะท้อนถึงการรับรู้ภายในเพื่อปลอบประโลมและช่วยให้เราจัดระเบียบความคิดที่ต้องแบกรับภายใต้ชีวิตการทำงานที่วุ่นวาย
ในช่วงที่มีโรคระบาดอย่างนี้ เราใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ซึ่งบ้านไม่ได้เป็นสถานที่ไว้แค่สำหรับรับประทานอาหาร นอน และพักผ่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ทำงาน ออกกำลังกาย และสอนไปในเวลาเดียวกัน สำหรับคนส่วนมาก รูทีนใหม่นี้ทำให้เกิดความเครียดทางจิตใจและเกิดความโหยหาการเชื่อมต่อทางสังคม หลายคนหันไปใช้โซเชียลมีเดียหรือหางานอดิเรกใหม่ๆ แต่เรามองว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงแก้ปัญหาชั่วคราว เพื่อทำให้ความเบื่อหน่ายที่เกิดจากการกักตัวหมดไป คนเรามักจะมองออกไปข้างนอกเพื่อหาแรงผลักดันทางจิตใจและอารมณ์ แต่หน่องเชื่อว่า การมองเข้าไปข้างในตัวเองเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ภายในจิตใจ ถือเป็นรากฐานที่แท้จริงของความผาสุกทางอารมณ์
(ผลงาน ‘ห้วงความคิด’ จากหน่อง)
มิว : ส่วนของมิวเลือกออกแบบโคมไฟ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่เรียกว่า “ย่อมุม” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยช่างก่อสร้างและช่างฝีมือไทยในการสร้างองค์ประกอบตกแต่งให้กับโครงสร้างสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา ๆ นอกจากโครงสร้างภายนอกที่ย่อมุมจะทำให้ดูสวยงามแล้ว เทคนิคนี้ยังสามารถชื่นชมได้จากภายในด้วยเช่นกัน เพราะมุมที่ร่นเข้ามาจะเกิดเป็นรายละเอียดที่มีมิติเมื่อมองจากด้านใน
มิวต้องการจะสะท้อนลักษณะเชิงโครงสร้างเหล่านี้ด้วยการใช้เทคนิคที่ผ่านการตีความใหม่ออกมาเป็นงานออกแบบที่แตกต่างออกไปและเป็นเอกลักษณ์ เราเคยลองสังเกตเวลาที่แสงส่องลงบนเจดีย์ มันจะเกิดความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมกับแสงและเงา ซึ่งเราพบว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ก็เลยพยายามสร้างชิ้นงานผ่านมุมมองต่าง ๆ ที่มีแสงและเงา คอลเล็กชันโคมไฟจึงเกิดจากความตั้งใจให้แสงที่สะท้อนบนพื้นผิวเกิดเป็นชิ้นงานที่ผ่านการนำศิลปะแบบย่อมุมมาตีความใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งที่น่าสนใจยังเป็นประสบการณ์ระหว่างชิ้นงานกับสถานที่ที่ผลงานนั้นตั้งอยู่
(ผลงาน ‘โคมไฟย่อมุม’ จากมิว)
หยุนฮั่นหวาง: ฉันเลือกออกแบบโต๊ะน้ำชาเพื่อใช้ในการชงและดื่มด่ำไปกับรสชาติ ซึ่งในประเทศจีน ผู้คนไม่เพียงดื่มชาเท่านั้น แต่พวกเขายังได้รับความผ่อนคลายไปกับขั้นตอนในการชงชาด้วย ดังนั้นชุดน้ำชานี้จึงตั้งใจรวบรวมแง่มุมต่าง ๆ ของวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้าด้วยกันเพื่อยกระดับประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน ชาวจีนเราจะคุ้นเคยเรื่องราวเกี่ยวกับ “กระแสน้ำที่คดเคี้ยว” ในสมัยโบราณ ผู้คนจะนั่งรอบ ๆ ลำธารและผู้ที่นั่งต้นน้ำจะวางถ้วยเหล้าลงในลำธารไหลลงสู่ปลายน้ำ คนที่แก้วเหล้าไปหยุดอยู่ตรงหน้าจะต้องดื่มเหล้าและท่องบทกวี เป็นกิจกรรมยามว่างชั้นสูงของจีนโบราณ ฉันจึงพยายามที่จะผสมผสานแนวคิดเรื่องการไหลของน้ำเข้ากับโต๊ะน้ำชา เกิดเป็นผลงานสายน้ำคดเคี้ยวบนโต๊ะเพื่อเป็นทางไหลของน้ำ
ซึ่งในขณะเดียวกัน ฉันก็ออกแบบชุดน้ำชาที่ก้นถ้วยมีขนาดพอเหมาะกับทางไหลของน้ำนี้ โดยเราจะสามารถวางลงภายในร่องได้พอดี ทำให้เคลื่อนไหวไปตามสายน้ำนี้ได้ รูปทรงของก้นถ้วยชานั้นได้แรงบันดาลใจมาจากทรงบ้าน Hakka แบบดั้งเดิมในมณฑลกวางตุ้ง โดยการออกแบบอาคารที่น่าสนใจนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในหลายที่ สถาปัตยกรรมประเภทนี้เหมาะสำหรับสภาพอากาศแบบร้อนชื้น หลังคาทรงสามเหลี่ยม 人 เหมาะสำหรับการระบายน้ำ รูปทรงหลังคาที่ใช้สำหรับการออกแบบโต๊ะน้ำชาจะช่วยให้น้ำไหลและระบายน้ำได้อย่างสะดวก
Dsign Something : ประสบการณ์ใช้งานวัสดุไม้เนื้อแข็ง (AHEC) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการนี้ เป็นอย่างไร ?
หน่อง: การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เราได้รู้จักและมีความเข้าใจเกี่ยวกับไม้เนื้อแข็งจากอเมริกามากยิ่งขึ้น ในช่วงเริ่มต้นการออกแบบเราทุกคนจะได้รับตัวอย่างไม้ประเภทต่าง ๆ มา เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของไม้แต่ละประเภท รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม้ที่หน่องเลือกใช้ คือไม้โอ๊คแดงอเมริกันซึ่งมีลายไม้ที่สวยงามโดดเด่น เหมาะสำหรับการดัดด้วยไอน้ำ โดยจะแข็งแรง ทนทานเมื่อแห้ง ทำให้ผลงานในส่วนคดโค้งมีความแข็งแรง นอกจากนี้ธรรมชาติของต้นโอ๊คแดงที่มีรูพรุนจะช่วยให้เราสามารถดึงลายไม้ออกมาและสร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ด้วยความที่เราโตในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ AHEC ยังให้ข้อมูลที่ปลูกฝังให้นักออกแบบยุคปัจจุบันคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากวัสดุที่เลือกใช้ โดยข้อมูลจาก Forest Inventory and Analysis (FIA) ระบุว่า อัตราการเติบโตของต้นโอ๊คแดงของอเมริกานั้นสูงกว่าอัตราการตัด ซึ่งส่งผลให้ปริมาณไม้โอ๊คแดงของอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 28.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไม้โอ๊คแดงอเมริกันจึงกลายเป็นวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืน
มิว : มิวตื่นเต้นมาก ตอนที่เราได้รับตัวอย่างไม้ที่หลากหลายนี้มา รวมถึงไม้เชอร์รี่อเมริกัน เมเปิลแข็งและอ่อน และโอ๊คแดง เราสังเกตว่า ไม้ทั้งสามชนิดแตกต่างกันและดูดีมาก ซึ่งส่วนตัวแล้วเราสนใจวัสดุไม้เป็นทุนเดิม เพราะมันมีชีวิต มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท แถมยังมีคุณค่าเหนือกาลเวลา ไม้ต่าง ๆ ยังเป็นวัสดุที่ดีสำหรับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจากแนวคิดแสงและเงาที่เราต้องการสร้างให้มันเป็นจริง เมื่อเราได้สัมผัสและดูตัวอย่างไม้แต่ละชนิดอย่างพิถีพิถัน เราก็พบว่า ไม้เชอร์รี่และเมเปิลอ่อนนั้นมีความพิเศษเมื่อแสงตกกระทบ จึงตัดสินใจเลือกไม้สองชนิดนี้ เนื่องจากคุณสมบัติของมันตอบโจทย์กับความต้องการสร้างผลงานของเรา
หยุนฮั่นหวาง : ฉันได้รับตัวอย่างไม้เนื้อแข็งอเมริกันมาสี่ประเภทตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งทาง AHEC ก็เปิดโอกาสให้เราเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ ทำให้มีโอกาสทำความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะ และข้อดีของไม้แต่ละชนิด ตลอดจนผลกระทบเชิงบวกที่วัสดุที่ยั่งยืนเหล่านี้มีต่อความหลากหลายของป่าไม้ ในการออกแบบ ฉันเลือกไม้เมเปิลแข็งเป็นวัสดุหลัก เพราะลายไม้มีการเรียงตัวกันสวยงาม ง่ายต่อการแปรรูปและปั้นแต่ง นอกจากนั้นความยืดหยุ่นของมัน ยังทำให้เราสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวแล้วฉันชอบลายไม้ที่เป็นเอกลักษณ์และสีสันที่สวยงามของไม้ชนิดนี้ จากการเข้าร่วมโครงการ เราเลยต้องเปลี่ยนความคิดว่า ไม้ที่เลือกใช้บ่อย ๆ ก่อนหน้านี้ อาจไม่ใช่วัสดุที่เหมาะสมที่สุดเสมอไป ซึ่งหลังจากนี้ฉันจะลองใช้วัสดุที่มีความหลากหลายมากขึ้น
Dsign Something : อะไรคือความท้าทายจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ?
หน่อง: น่าจะเป็นเรื่องของระยะทางและการที่เราไม่สามารถพบเจอผู้ผลิตเพื่อพูดคุยกับพวกเขาโดยตรงได้ เพราะมีปัจจัยในเรื่องของการเดินทางมาเป็นตัวจำกัด ทำให้การทำงานร่วมกับผู้ผลิตและการทดสอบเทคนิคการสร้างชิ้นงานต่าง ๆ ร่วมกันเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมาก แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลก ก็ยังสร้างความเชื่อมั่น และเราก็นับถือในความเชี่ยวชาญของพวกเขา
มิว: เพราะเราจะต้องส่งแบบให้กับผู้ผลิต การออกแบบจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเข้ากันได้ แต่ยังเกี่ยวกับความถูกต้อง แม่นยำ เพราะการผลิตทุกครั้งมีความซับซ้อน ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายก็มีความเชี่ยวชาญของตนเอง ดังนั้นเราจึงต้องสื่อสารกับผู้ผลิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้ผลงานขั้นสุดท้ายที่เป็นไปตามแบบที่เราต้องการ
หยุนฮั่นหวาง: การออกแบบไม่ควรเป็นเรื่องของการสเก็ตช์ในกระดาษเท่านั้น แต่เราควรได้สัมผัสถึงชิ้นงาน ตรวจดูงาน และกระบวนการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งเราก็มีการสื่อสารออนไลน์ที่ดีและโรงงานที่เป็นมืออาชีพ พร้อมผลิตชิ้นงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ทำให้กระบวนการทั้งหมดค่อนข้างราบรื่น แต่ปัญหายากที่สุดที่ต้องเจอคือ ความทนทานน้ำของไม้ ซึ่งเราก็ได้ปรึกษากับ Nathan Young ทำให้สามารถหาสารเคลือบมาแก้ปัญหา และทำการทดลองมากมายเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของสารเคลือบ ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์จึงเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายมาก ๆ ซึ่งฉันขอยกความดีความชอบนี้ให้กับโรงงานผลิต สำหรับความร่วมมือที่ทีมงานมีให้ตลอดระยะเวลาการสร้างสรรค์ผลงาน
นอกจากผลงานการออกแบบของดีไซน์เนอร์ทั้งสามท่าน ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมายจากนักออกแบบทั่วโลก อย่างเช่น ‘ม้านั่งมุงหลังคา’ ของ Trang Nguyen นักออกแบบจากประเทศเวียดนาม หรือ ‘หวนคำนึง’ ชั้นวางของจาก Tan Wei Xiang นักออกแบบจากสิงคโปร์
Trang Nguyen – ม้านั่งมุงหลังคา
โฮจิมินห์ เวียดนาม
ไม้: American cherry, red oak, hard maple
Nguyen เลือกใช้กระเบื้องหลังคาแบบเวียดนามดั้งเดิม โดยออกแบบเป็นคอลเล็กชันม้านั่งซ้อนกัน ล้อกับลักษณะของงานกระเบื้องที่วางทับซ้อนกันเพื่อปิดซ่อนโครงสร้างภายใต้หลังคา ม้านั่งแสนเรียบง่ายได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมวัดแบบดั้งเดิมผสานกับเครื่องแต่งกายของเวียดนาม เติมแต่งด้วยงานหมุดที่ทำจากไม้ขัดกันบริเวณข้อต่อซึ่งจะถูกซ่อนไว้เมื่อวางม้านั่งซ้อนกัน และเผยให้เห็นเมื่อนำม้านั่งออกมาใช้งานเดี่ยวๆ “เราเลือกใช้ไม้ที่แตกต่างกันสามแบบ คือ ไม้เชอร์รี่ ไม้โอ๊คแดง และไม้เมเปิ้ลเพราะมีสีที่แตกต่างกัน เราใช้ไม้ที่ต่างกันสองชนิดมาทำเป็นหมุด ในขณะที่ไม้อีกชนิดหนึ่ง ถูกนำมาประกอบเป็นม้านั่งที่ทำขึ้นจากการแรนดอมแพทเทิร์นทำให้ผู้ใช้งานได้สำรวจลักษณะของไม้ที่หลากหลายไปพร้อมกัน”
Tan Wei Xiang – หวนคำนึง
สิงคโปร์
ไม้: American hard maple, red oak
ด้วยความโหยหาสายสัมพันธ์ทางกายภาพที่จับต้องได้จากบุคคลอันเป็นที่รัก (นอกเหนือจากโหมดออนไลน์) Tan ออกแบบตู้หรือชั้นวางของแทนใจที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่แห่งการจัดเก็บ รักษาและแสดงความเคารพต่อสิ่งต่างๆ ที่เราหวงแหน รูปลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์ได้แรงบันดาลใจจากไซต์ก่อสร้างซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในสิงคโปร์ รวมถึงแผ่นโครงสังกะสีที่ใช้สำหรับล้อมไซต์งานเหล่านั้น โดย Tan จำลองลวดลายเหล่านี้ลงบนพื้นผิวด้านนอกของตู้เก็บของที่มีทรงสูง ภายในติดตั้งด้วยชั้นวางทรงโค้ง ที่มีทองเหลืองขัดสะท้อนแสงทำเป็นรูปวงกลมสะท้อนถึงรูปฟอร์มของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า โดยเขาเลือกผสมผสานไม้เมเปิ้ลเนื้อแข็งที่มีความหนาแตกต่างกันเพื่อสร้าง “รอยย่น” ภายนอก และใช้ไม้โอ๊คแดงทำเป็นชั้นทรงโค้งด้านใน
เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ โดยสามารถติดตามและชมผลงานของนักออกแบบท่านอื่นๆ ได้ที่เว็ปไซต์ discovered.global และสนใจเข้าชมข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ www.americanhardwood.org ,IG: @ahec_sea หรือ FB: @americanhardwoodSEA
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!