Search
Close this search box.

Goose Living
สถาปัตยกรรมที่บอกเล่าความเรียบง่ายผ่านคาแร็คเตอร์และวิถีชีวิตของห่าน

“Living a goose life Wild fresh and free” เมื่อคาแร็คเตอร์และวิถีแห่งความ Flexible ของ “ห่าน” ถูกตีความและถ่ายทอดผ่านผลงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม ตึกเก่าหัวมุมบนถนนสุขุมวิท 71 จึงได้รับบทบาทใหม่ให้เป็น Goose Living โรงแรมและร้านอาหารขนาดเล็ก ที่ผู้ออกแบบอย่าง คุณปานะพันธ์ แซ่ซิ้ม จาก SIM Studio ได้ตั้งใจบอกเล่าความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติของ “ห่าน” ให้แอบแฝงและชวนสัมผัสได้ในทุกๆ องค์ประกอบของการอยู่อาศัยภายในอาคาร

โดยที่มาของแรงบันดาลใจจาก Goose หรือ ห่าน ในครั้งนี้ เกิดจากโมเมนต์ประทับใจในสวนสาธารณะกลางมหานครนิวยอร์ก ของคุณสราภา เวชภัทรสิริ เจ้าของโรงแรมและร้านอาหารแห่งนี้ ที่ไปสะดุดตาและให้ความสนใจเข้ากับเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของห่าน ด้วยเฉดสีเขียว เทา ขาว ฉบับเฉพาะตัว รวมถึงความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือปรับตัวได้ในทุกสภาพแวดล้อม สู่การตีความออกมาเป็นสเปซของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย พร้อมกับนำเสนอความสดชื่นผ่อนคลายให้กับคนเมืองได้ดื่มด่ำตลอดช่วงเวลาที่ได้พักกายและใจอยู่ใน Goose Living

“เราให้ Goose เป็น Representative หรือนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ในแบบของเราอย่างชัดเจน และ Goose ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีความ Flexible ในการใช้ชีวิต จะอยู่บนน้ำก็ได้บนบกก็ดี เราจึงหยิบแรงบันดาลใจตรงนี้มานำเสนอให้แต่ละสเปซสัมผัสได้ถึงความอยู่สบาย ผ่อนคลาย และเน้นแสงธรรมชาติหรือความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เราต้องการให้คนที่เข้ามาพักอาศัยหรือมาดื่มด่ำกับบรรยากาศรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ตึกหรืออาคาร แต่รู้สึกเหมือนกับได้พักผ่อนอยู่ในรีสอร์ทมากกว่า” คุณสราภา เล่าถึงจุดตั้งต้นก่อนส่งมอบโจทย์ให้กับผู้ออกแบบ

หลังจากผู้ออกแบบได้รับคอนเซ็ปต์และข้อจำกัดของ Goose Living มาแล้ว ซึ่งเป็นอาคารเก่า 5 ชั้น บริเวณหัวมุมถนน ที่ต้องสร้างความรู้สึกเป็นธรรมชาติ และสอดแทรกเรื่องราวของห่านไว้ในแต่ละองค์ประกอบ ผู้ออกแบบจึงเล็งความสำคัญไปที่เรื่องของความรู้สึกเป็นธรรมชาติก่อนในอันดับแรก โดยพยายามวาง Planing ให้ทุกๆ ห้องสามารถรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่เท่าๆ กัน ห้องพักจึงถูกวางแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งด้วยเงื่อนไขของอาคารตึกแถวเดิม ซึ่งเท่ากับว่าจะมีห้องพักฝั่งหนึ่งไม่ได้รับแสง ผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการเจาะช่องแสง Skylight จากด้านบนหลังคาชั้น 5 และเจาะพื้นด้านล่างทะลุลงมาจนถึงชั้น 2 กลายเป็นพื้นที่คอร์ตเล็ก ๆ ที่ทำให้ห้องพักในทุก ๆ ชั้น ได้รับแสงธรรมชาติตลอดวัน แม้ว่าจะตั้งอยู่ฝั่งด้านในอาคารก็ตาม

อีกหนึ่งความรู้สึกเป็นธรรมชาติตามคอนเซ็ปต์ของ Goose Living นั่นคือ Mood and Tone ตั้งแต่เฉดสีไปจนถึง Texture ของวัสดุที่นำมาใช้ ผู้ออกแบบดึงเอกลักษณ์และองค์ประกอบของสีสันรวมถึงการใช้วัสดุที่สะท้อนคาแร็คเตอร์ของห่าน และความเป็นธรรมชาติ โดยเน้นการใช้เส้นสายที่เรียบง่าย แต่แทรกรายละเอียดการใช้วัสดุที่น่าสนใจไว้ในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังลดความกระด้างของโครงสร้างในพื้นที่โซนต้อนรับและร้านอาหาร ด้วยการเพิ่มเส้นโค้งให้กับเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงมีการใช้รูปทรงวงกลมในหลาย ๆ ตำแหน่งที่ออกแบบให้เป็นกลุ่มก้อนสื่อถึงธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงของห่าน อีกทั้งเส้นสายโค้งมนยังช่วยลดความแข็งกระด้างของเส้นแนวตั้งที่เป็นวัสดุผนัง เสริมให้สเปซดูมีมิติและดูเป็นมิตรมากขึ้น

ภายในห้องพักตกแต่งอย่างเรียบง่าย แต่ยังคงรายละเอียดการใช้เส้นตรงเรียบเฉียบดูโมเดิร์น ประกอบกับผนังปูดิบกระด้าง บริเวณหัวเตียงประยุกต์ใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสธรรมชาติอย่างเสื่อจักสานทำสี ร่วมกับผ้ากำมะหยี่ ช่วยสร้างบรรยากาศภายในห้องดูนุ่มนวล

ผู้ออกแบบขยายความถึงการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ว่า “เราพยายามเลือกใช้วัสดุที่น้อยแต่มาก หรือว่าวัสดุทั่วไปที่หาได้ตามท้องตลอดแต่นำเสนอให้ได้เอฟเฟคที่เยอะ โดยที่ไม่ไปลดความสวยงามในภาพรวมของดีไซน์ อย่างฟาซาดที่เราออกแบบให้เป็นเหล็กซ้อนกัน จริงๆ ตั้งใจออกแบบให้เป็น pixel ของป่าถึง 3 ชั้น เพิ่มเส้นนอนเข้าไปเพื่อสร้างมิติและไม่ให้ดูแบนหรือไร้เฉดเงาจนเกินไป”

หากมองจากภายนอก เปลือกอาคารหุ้มด้วยโครงสร้างเหล็กกล่องทับกันเป็นเลเยอร์ ซึ่งมีที่มาจากการลดทอนเส้นสายของภูเขาให้กลายเป็นเส้นเรขาคณิตเข้าใจง่าย เพื่อพรางสายตาจากภายนอกอาคารเสมือนว่าตัวอาคารได้ถูกโอบล้อมด้วยผืนป่าท่ามกลางบริบทเมือง โดยเปลือกอาคารที่ห่อหุ้มตัวอาคารไว้นั้นใช้เทคนิคประกอบโครงเหล็กกล่องซ้อนทับกัน จนเกิดเป็นเลเยอร์ ผสานเข้ากับบันไดหนีไฟสวมทับหน้าอาคารเดิม เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน

แน่นอนว่าความน่าสนใจของผลงานออกแบบชิ้นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างชัดเจนกับการเลือกดึงคาแร็คเตอร์ของห่านมาตีความใหม่ แต่การเลือกใช้วัสดุเกือบทุกชิ้นของที่นี่ ก็ยังเป็นวัสดุที่หาซื้อง่ายและมีราคาที่ไม่สูง ขณะเดียวกันยังสามารถนำมาบอกเล่าให้เกิดความน่าสนใจได้อย่างมีนัยยะ เช่น การเลือกใช้พื้น Color flake แทน Terrazzo ที่ให้รูปลักษณ์ใกล้เคียงกันแต่ใช้งบประมาณที่น้อยกว่า เสื่อสานที่นำมากรุผนังให้ Texture ที่ดูดิบแต่ก็ยังแฝงไปด้วยความเรียบง่าย และยังมีอีกหลายๆ จุดที่มีการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่แต่ยังคงโทนสีที่สร้างความกลมกลืนในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

แม้แต่อาหารในส่วนของร้านอาหารและคาเฟ่ก็ยังเป็นการผสมผสานความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมได้อย่างกลมกล่อม โดยคุณสราภา เรียกการผสมผสานนี้ว่า Asian Twist หรือการนำอัตลักษณ์ของอาหารระหว่าง 2 ประเทศมาออกแบบร่วมกันจนเกิดเป็นอีกเมนูหนึ่งที่สร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าจดจำ อีกทั้งแต่ละเมนูของ Goose Living ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทางท่องเที่ยวของคุณสราภา และเกิดความประทับใจในสถานที่นั้นๆ รวมถึงเมนูนั้นๆ ด้วย เช่น Fish and Chips เมนูประจำของชาวอังกฤษ ที่คุณสราภาได้นำมารังสรรค์ร่วมกับเมนูปลากระพงทอดน้ำปลาของไทย ซึ่งทำให้ได้กลิ่นอายของทั้งสองประเทศ และยังมีเมนู Signature อื่นๆ ที่ไปน่าลิ้มลองอีกหลายเมนู ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจทั้งในแง่ของดีไซน์ตัวร้านและรสชาติที่ไม่เหมือนใครของอาหาร Signature ได้อย่างแน่นอน

“ส่วนตัวคิดว่าการออกแบบพื้นที่ประเภทนี้ เราจำเป็นจะต้องมองเรื่องของ Exprience กันเป็นหลัก มันเหมือนเป็นการออกแบบประสบการณ์มากกว่า หรือการออกแบบ Customer experience เพื่อให้เขารู้สึกประทับใจกับสเปซ มาแล้วได้เจอช่องแสงได้เจอสเปซสวยๆ โถงแกรนด์ๆ หรือการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย ทุกอย่างเป็นเรื่องของประสบการณ์ทั้งหมด ส่วน Goose ก็เป็นเหมือน Iconic หรือภาพจำให้คนจดจำเราได้ คิดว่าคอนเซ็ปต์ทั้งหมดถูกวางมาในทิศทางนั้นตั้งแต่แรก” คุณปานะพันธ์ แซ่ซิ้ม ผู้ออกแบบ Goose Living กล่าวทิ้งท้าย

Writer
Pichapohn Singnimittrakul

Pichapohn Singnimittrakul

Copy writer ผู้มีความสนใจในงานจิตอาสา และ Eco-Living ที่เชื่อว่างานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading