Architect’s House
เมื่อสถาปนิกต้องมาออกแบบบ้านตัวเอง

เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่า บ้านของสถาปนิก ผู้ทำหน้าที่ออกแบบบ้านพักอาศัยให้ครอบครัวมากมายจำนวนหลายหลัง บ้านของพวกเขาเหล่านั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? หลายคนคิดว่าบ้านจะต้องโดดเด่น สุดเท่ในแบบไม่ธรรมดา หรือบ้างก็คิดว่าบ้านของสถาปนิกจะต้องซุกซ่อนรายละเอียดของการออกแบบมากมายไว้อย่างเนียบเนียน

หลังจากที่หลาย ๆ ครั้ง เรานำเสนอ ‘สถาปนิก’ ในบทบาทของผู้ออกแบบเพียงเท่านั้น คอลัมน์ Dwell ครั้งนี้ Dsign Something จึงชวนทุกคนมามองสถาปนิกในบทบาทของทั้งผู้ออกแบบและผู้อยู่อาศัย ว่าแล้วลองไปเคาะประตูบ้านของ 7 สถาปนิกไทยกันดีกว่า แต่ละหลังมีเรื่องราวการออกแบบอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่

01 V House
บ้านรักสงบของคุณวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกแห่ง VVA ที่หวนกลับสู่ความเรียบง่ายในแบบสามัญ

“ผมชอบบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสงบ ไม่ต้องตื่นเต้น หรือไม่จำเป็นต้องว้าว นี่เป็นความรู้สึกแรกที่มีเลย” คุณวิน-วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกจาก Vin Varavarn Architects (VVA) กล่าว  คุณวินเริ่มต้นเล่าว่า เดิมทีครอบครัวอาศัยอยู่ภายในบ้านทาวน์เฮาส์ที่ชั้นล่างเปิดเป็นออฟฟิศเล็กๆ เมื่อลูก ๆ เริ่มโต ต้องการพื้นที่ส่วนตัวที่มากขึ้น ก็ถึงเวลาของการทำบ้านหลังใหม่ที่เพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้เพียงพอต่อภรรยาและลูกๆ

“น่าจะเป็นกับทุกคนที่เป็นดีไซน์เนอร์ เวลาเราทำงานให้คนอื่น เราจะคิดวิเคราะห์จากความเป็นตัวตนของเขา แต่พอเราทำงานของตัวเอง มันเป็นอะไรที่ยากขึ้น เพราะเราก็ไม่เคยมองว่าตัวตนข้างในเราจริงๆ เป็นยังไง ซึ่งงานนี้ก็เหมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เรามาย้อนดูตัวเองสักระยะหนึ่งเหมือนกัน ว่าตัวเราเอง ภรรยา หรือลูกๆ อยากได้บ้านแบบไหน และอะไรจะเป็นจุดกึ่งกลางที่ทุกคนโอเค”

ด้วยความที่ไม่ต้องการบ้านที่เนี้ยบกริบ และชื่นชอบวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเพอร์เฟ็กแต่มีอะไรที่น่าสนใจอยู่ในนั้น ‘ไม้ คอนกรีต เหล็ก’ จึงเป็นตัวแทนสามวัสดุหลักที่คุณวินเลือกมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งแต่ละวัสดุยังมีเรื่องราวและวิธีการที่บ่งบอกความเป็นคุณวินซ่อนอยู่ อย่างการทดลองใช้ไม้เก่าด้วงแทะที่มีอยู่เดิม การใช้เหล็กที่ทดลองทำพื้นผิวให้เป็นสนิมเพื่อลดการดูแลในระยะยาว หรือผนังคอนกรีตที่มีการทดลองใช้กรวดผสมที่มีขนาดแตกต่าง ก่อนจะนำมาเทเป็นชั้น ๆ ทำให้แต่ละชั้นได้พื้นผิวที่แตกต่าง และดูเป็นธรรมชาติ

การออกแบบสเปซ เน้นการอยู่อาศัยและการมองเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่ครอบครัวต้องการ ประกอบกับการที่เรียนจบด้านอินทีเรียดีไซน์เนอร์มาก่อนจะไปศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมหลัก ส่งผลต่อการออกแบบพื้นที่ภายใน “เวลาเรามองบ้านของเรา เราจะมองจากภายในออกไป ว่าสเปซที่เราอยากมีมันเป็นยังไง?” พื้นที่ภายในของบ้านจึงเปิดสู่สนามหญ้าสีเขียวผืนใหญ่ ผสานไปกับความสดใสของต้นเหลืองอินเดียซึ่งเป็นต้นไม้เก่าในพื้นที่ที่ตั้งใจเก็บไว้ มีระเบียงที่สามารถหย่อนขา นั่งพักสบาย ๆ หากนึกสนุก ลูก ๆ ที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นก็สามารถวิ่งลงสนามไปทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

Owner & Designer : วิน-วรุตม์ วรวรรณ Vin Varavarn Architects (VVA)
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/2TaqMek

02 #11 II /Number Eleven the Second/
ความทรงจำเก่าที่ถูกบรรจุไว้ภายในบ้านลูกผสมไทย-โมเดิร์น

อาคารลูกครึ่งไทย-โมเดิร์นที่เราเห็น เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการออกแบบ และการจัดวางสเปซตามความต้องการใช้งานฟังก์ชัน และหยิบยกหลายองค์ประกอบจากความชอบและความคุ้นเคยส่วนตัวของเจ้าของบ้านและสถาปนิกอย่างคุณบี วิทยถาวรวงศ์จาก Beautbureau Co., Ltd. “เราจับนู่นนิดนี่หน่อยมาผสมกัน ด้วยวิธีการที่เราต้องออกแบบให้เข้ากับไซต์ที่มี ด้วยโปรแกรมที่มีทั้งออฟฟิศและส่วนที่เป็นบ้าน พอเราทำบ้านหลังนี้เสร็จ ลองใช้งานสเปซจริง ๆ เราถึงมาคิดได้ว่า การออกแบบในลักษณะนี้ เราคงมีติดตัวอยู่แล้ว มีต้นแบบที่เราคุ้นเคยให้หยิบจับมาใช้ และมันก็ปรากฏออกมาในงาน โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรกว่า..ฉันจะต้องทำบ้านไทยประยุกต์”

การออกแบบเริ่มต้นขึ้นจากขนาดที่ดิน 120 ตารางวา กับการใช้งานฟังก์ชันที่ต้องมีทั้งบ้านและออฟฟิส สิ่งแรกที่คิดจึงเป็นการขยายผังขอบเขตของอาคารให้สุดขอบที่ดินมากที่สุดเท่าที่กฏหมายจะอนุญาตเพื่อให้ใช้งานคุ้มค่ามากที่สุด ต่อมาคือ ความต้องการในเชิงฟังก์ชัน ความเป็นส่วนตัวระหว่างการใช้งานของบ้านและออฟฟิศ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเกิดเป็นแมสอาคารที่แยกตัว มีช่องว่างระหว่างกันเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวทางสายตาและทางเสียง พื้นที่อยู่อาศัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยห้องนอน พื้นที่ส่วนกลาง ชานและระเบียง สลับกันจัดวางอยู่บนเส้นกริด (#) 9 ช่อง ที่เราต่างก็คุ้นเคยดีในสมัยที่เป็นนักเรียนสถาปัตย์

ส่วนอาคารที่แยกออกจากกัน คุณบีร้อยเรียงเรื่องราวของบ้านให้ลื่นไหลและเชื่อมต่อ ผ่านเฉลียงและที่ว่าง ทำให้แต่ละห้องสามารถมีหน้าต่างเปิดรับลมทิศเหนือ-ใต้ให้ไหลผ่านได้ตลอดเวลา ชวนนึกถึงความเย็นสบายของใต้ถุนเรือนไทยพื้นถิ่น นอกจากสเปซของบ้านจะคล้ายคลึงกับชานเรือนไทย รูปลักษณ์และวัสดุของฟาซาดที่บ่งบอกความร่วมสมัยก็ยังส่งกลิ่นอายของความไทย ๆ ด้วยการเลือกใช้ไม้สังเคราะห์สีเข้ม จัดวางในลักษณะคล้าย Panel ทำเป็นแผงด้วยระบบ Prefabricated โดยคุณบีดีไซน์แต่ละชิ้นของ Panel เหล่านี้ให้มาบรรจบกัน ในสัดส่วนที่ล้อไปโครงสร้างส่วนอื่นของบ้านได้อย่างลงตัว เกิดเป็นลวดลายและวิธีการประกอบที่คล้ายคลึงกับการประกอบฝาบ้านแบบไทย ๆ ด้วยเช่นกัน

Owner & Designer : บี วิทยถาวรวงศ์จาก Beautbureau Co., Ltd.
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/2SxGhws

03 บ้าน ภ (ดิบ) พอดี
ที่บรรจุความทรงจำและความหมายที่มีคุณค่าของครอบครัว

จากผืนที่ดินร้อยกว่าตารางวา บริเวณปลายซอยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในย่านพระเก้า สู่การเป็นที่อยู่อาศัยครอบครัวใหญ่ของ เหลียง-ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ ผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก Atelier of Architects โดยบ้านหลังนี้มีทั้งหมด 6 ห้อง ประกอบด้วยห้องนอนของคุณเหลียงและภรรยา ห้องนอนของคุณตาคุณยาย ห้องนอนของคุณย่า และห้องนอนของลูก ๆ อีกสามคน ด้วยความที่พื้นที่มีขนาดจำกัด เมื่อเทียบกับความต้องการ โจทย์ของการออกแบบจึงเป็นการใช้พื้นที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ครอบครัวยังได้เห็นได้เจอกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นส่วนตัว

แผนผังบ้านออกแบบให้มีลักษณะเป็นรูปตัว “C” เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวสามารถมองเห็นกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดล้อมบ้านไว้อย่างเป็นส่วนตัว เพื่อปกป้องจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างคอนโดหรืออาคารสร้างใหม่ ซึ่งผังรูปตัว C ยังก่อให้เกิดพื้นที่สวนกลางบ้านที่ครอบครัวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน และเติมบรรยากาศอันอบอุ่นร่มเย็นไว้ได้อย่างลงตัว

ส่วนด้านในของบ้าน ถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่โถงบันไดเวียนทรงกลม มีสัดส่วนชานพักและขั้นบันไดที่เดินสบายพอสมควร และใช้พื้นที่รอบรูปทรงกลมเป็นชั้นหนังสือสูงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องเดินผ่านทุกวัน นอกจากนี้ ยังจัดให้มีช่องแสงเป็นวงแหวนล้อมรอบ นำแสงธรรมชาติ ไล้ผิวผนัง ทำให้สามารถใช้พื้นที่นี้ตอนกลางวันได้ด้วยแสงธรรมชาติได้

แต่ละห้องยังจัดวางพื้นที่และออกแบบให้เปิดรับลมและแสงธรรมชาติ รวมถึงกันฝนกันแดดได้ดี โดยเลือกใช้วัสดุที่ทนกับดินฟ้าอากาศอย่างอิฐโบราณกับบริเวณที่ใกล้มือไกลตาของบ้าน เช่น รั้ว โรงรถ และลานกลางบ้าน ที่มีลักษณะการเรียงตัวแตกต่างกันไปตั้งแต่ผนังทึบ หรือการสร้างพื้นผิวและมิติที่สวยงามบนผนังอิฐด้วยการเรียงตัวให้มีช่องลมระบายอากาศได้จนถึงเรียงตัวกันเป็นสัญลักษณ์ตัวอักษร ภ แทนสัญลักษณ์ และเป็นคุณค่าที่มีความหมายกับบ้านไปตลอด

Owner & Designer : เหลียง-ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ Atelier of Architects
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3oTTb6a

04 Basic House
จากภาพวาด ‘บ้าน’ ในวัยเด็ก สู่บทสรุปพื้นฐานของบ้านเรียบง่าย

นิยามของคำว่าบ้านของหลาย ๆ คนคงจะแตกต่างกันออกไป  แต่สำหรับ คุณกร ทองทั่ว เจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก BHBK มองว่า “บ้านที่ดี คือบ้านที่เหมาะสมกับเจ้าของ บ้านที่เป็นตัวเจ้าของเองจริง ๆ”  Basic House บ้านหลังใหม่ของครอบครัว จึงเน้นมินิมอลสไตล์และความเรียบง่ายตามความชอบส่วนตัวของภรรยา บวกกับฟังก์ชันที่ตอบรับกับครอบครัว “Basic house มันขึ้นมาในสมองตั้งแต่วันแรกที่สเก็ตแบบ คำว่า ธรรมดา คืออะไรที่ธรรมดา เรียบง่ายแต่เราสามารถหยิบขึ้นมาแล้วทำให้มันเกิดความงามได้ ในเวลาเดียวกัน เราเอาความงามที่ว่ามารวมเป็นฟังก์ชัน ”

ด้วยข้อจำกัดของขนาดที่ดิน ซึ่งมีหน้ากว้าง 9 เมตร แต่ลึกถึง 30 เมตร คุณกรจึงออกแบบพื้นที่ทางเดินภายในบ้านที่กว้างเพียง 90 เซนติเมตร และเซตให้อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของตัวบ้าน และเป็นทางเดินที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่หลักส่วนอื่น ๆ ของบ้าน เช่น ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องเล่นของลูก และห้องนอน อีกทั้งเลือกใช้วัสดุเป็นผนังกระจก เพื่อทำให้รู้สึกว่าบ้านกว้างขึ้น และยังเพิ่มฟังก์ชันของพื้นที่ทำงานเข้าไปด้วย ในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ต่าง ๆ ที่แบ่งสัดส่วนไว้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โรงรถซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของคุณกร และยังสามารถมองเห็นคอร์ดกลางบ้าน และพื้นที่เล่นของลูก ๆ

ด้วยบริบทของที่ดินย่านลาดพร้าวเป็นย่านเมืองที่มีความวุ่นวาย จึงเป็นความตั้งใจของคุณกรที่จะทำการออกแบบบ้านในดีไซน์ปิด เนื่องจากไม่ต้องการมองเห็นสิ่งอื่น ๆ ภายนอกบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคอร์ดบริเวณกลางบ้าน ซึ่งมีการปลูกต้นไม้ เติมบรรยากาศ และเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนของครอบครัว มีกิมมิคเป็นบ่อทรายเล็ก ๆ สำหรับให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกระหว่างวัน

บริเวณห้องนอน ออกแบบโดยใช้ประตูบานเลื่อนกระจก เปิดรับกับคอร์ดกลางบ้านซึ่งพาธรรมชาติเข้าสู่ห้องนอน ในขณะที่มองเห็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายของครอบครัวเป็นแบคกราวน์

Owner & Designer : กร ทองทั่ว BHBK
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/2YCoXJK

05 House 41
จากวัตถุดิบในบ้านหลังเก่า สู่ส่วนผสมในบ้านหลังใหม่ที่กลมกล่อม และสุขกำลังดี

เมื่อบ้านไม้หลังเดิมที่อยู่อาศัยมานานเริ่มผุพัง ทำให้ ‘ครอบครัวคุปตะวาทิน’ มองหาพื้นที่แห่งใหม่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์และสามารถรองรับสมาชิกในครอบครัวทั้ง 5 คนได้อย่างเหมาะสม สองลูกชายผู้ทำงานอยู่ในวงการสถาปนิกอย่าง คุณวัฒน์ และคุณคณิต คุปตะวาทิน จึงรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบบ้านหลังนี้ โดยหยิบองค์ประกอบ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์จากบ้านหลังเดิมมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่งบ้านหลังใหม่ให้มีกลิ่นอายทรอปิคัลสุดคลาสสิค

“พื้นที่ดินมีหน้ากว้าง 10 และยาว 20 เมตร” คำถามคือ จะออกแบบอย่างไรให้ตอบสนองการอยู่อาศัยของสมาชิกทุกคนได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัด? ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นบ้าน 3 ชั้น ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่ภายในให้สามารถใช้งานได้เต็มขีดจำกัดตามข้อกฏหมาย ตัวบ้านทั้งสามชั้นถูกล่นระยะเข้าไปเพียง 1 เมตรในส่วนที่เป็นผนังทึบ และ 2 เมตรในส่วนที่มีช่องเปิด โดยสถาปนิกกำหนดตำแหน่งช่องเปิดขนาดใหญ่ให้อยู่กึ่งกลางของตัวบ้านเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติและช่วยระบายอากาศ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองด้านของห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่สมาชิกทุกคนใช้เวลาร่วมกัน

สถาปนิกเลือกจัดวางห้องนอนทั้ง 4 ห้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวไว้ในชั้น 2 และชั้น 3 โดยแต่ละห้องจะมีห้องน้ำส่วนตัวและพื้นที่ระเบียงเล็ก ๆ เป็นช่องว่างระหว่างหน้าต่างด้านใน และ Façade ด้านนอกซึ่งเป็นเหล็กแผ่นซ้อนทับกันไปมา หรือที่เราเรียกว่า Double skin Facade เป็นม่านกรองแสงที่สร้างความเป็นส่วนตัวในขณะที่ยังให้ความรู้สึกโปร่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้

ด้านการตกแต่งเน้นโทนสีเทาเข้มและสีน้ำตาลจากไม้ โดยนำไม้เก่าจากบ้านหลังเดิมที่เคยอยู่อาศัยมาสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ย้ายมาจากบ้านหลังเดิม และมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่บางชิ้นที่คุณพ่อเจ้าของบ้านนำไม้เก่ามาดัดแปลง ทำให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยการผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่ที่จัดวางไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

Owner & Designer : คุณวัฒน์และคุณคณิต คุปตะวาทิน
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/2LngGjj

06 บ้าน Modern Tropical
เปิดเผยตัวตนผ่านกรอบอาคารที่แข็งแกร่งนอกแต่อ่อนโยนที่ภายใน

ด้วยความที่บ้านในกรุงเทพฯ มักแฝงตัวอยู่ตามตรอกซอกซอย ลัดเลาะตามเส้นถนนที่ไม่ได้มาพร้อมผังเมืองที่เป็นระเบียบมากนัก แปลงที่ดินจึงมีลักษณะพื้นที่ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยตามที่ต้องการ เช่นเดียวกับ บ้านวชิรธรรม ซึ่งมีขนาดที่ดินลึก 24 เมตร กว้างเพียง 8 เมตร ขนาบข้างด้วยเพื่อนบ้านที่อยู่อาศัยกันอย่างแนบชิด รวมถึงที่ดินยังหันหน้าเข้าสู่ทิศใต้ซึ่งโดนแดดโดยตรงในช่วงกลางวัน คุณก็อบ-วัชรพันธ์ นราพงษ์พันธ์ เจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก AplusCon Architects จึงต้องลงมือเปลี่ยนข้อจำกัด เพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่ ด้วยความตั้งใจที่ว่า “จะทำอย่างไรให้บ้านมีพื้นที่เพียงพอ ไม่อึดอัด อยู่สบาย และได้สเปซที่มีคุณภาพมากที่สุด?”

บ้านหลังนี้ตั้งใจออกแบบให้เป็นสไตล์โมเดิร์นในแบบที่คุณก็อบถนัดและชื่นชอบ แต่หยิบเอาความเป็น Tropical เข้ามาผสมผสาน ‘Machine for living in the garden’ จึงเป็นนิยามที่คุณก็อบใช้ในการออกแบบบ้านหลังนี้ เล่นคำตามประโยคสุดฮิตอย่าง ‘A house is a machine for living in’ ของสถาปนิกต้นแบบยุคโมเดิร์นอย่าง Le Corbusier รูปลักษณ์ของบ้านออกแบบเรียบง่ายด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าบริสุทธิ์ สอดแทรกการออกแบบพื้นที่สวนเขตร้อนเป็นคอร์ดบริเวณใจกลางบ้าน สร้าง Focal Point พร้อมเปิดให้แสงธรรมชาติจากด้านบนสามารถส่องถึงพื้น ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของบ้าน ก็ยังสามารถสัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวนี้ได้

“การออกแบบบ้านตัวเอง เราใช้สัญชาติญาณของตัวเองในการที่จะวางแปลนตามบริบท หรือลักษณะนิสัยส่วนตัว  มันท้าทายตรงที่เราได้รวบรวมประสบการณ์ต่างๆ จากสิ่งที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรม วัสดุ หรือแม้แต่พื้นที่สีเขียว นำมาแปลให้มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้” ความเป็น Tropical ยังถูกนำเสนอผ่านฟาซาดวัสดุท้องถิ่นไทยที่เราคุ้นเคยอย่างกระจกบานเกล็ดและอิฐบล็อกระบายอากาศที่คุณก็อบชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ซึ่งอิฐบล็อกที่ว่านี้ยังออกแบบด้วยแพทเทิร์นที่ไล่ความโปร่งน้อยไปมากจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน เมื่อแสงแดดตกกระทบจากทิศตะวันตก จึงเกิดมิติของแสงและเงา สร้างความแตกต่างของลวดลายไปตามช่วงเวลาที่ธรรมชาติยอมให้เป็น

Owner & Designer : ก็อบ-วัชรพันธ์ นราพงษ์พันธ์ AplusCon Architects
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3DzNrTr

07 From A Green Roof To The Green Community
เริ่มต้นจากบ้าน สู่การสร้างผืนป่าในเมือง

บ้านหลังสุดท้าย เราพามาเคาะประตูบ้านของภูมิสถาปนิกแห่งบริษัท ฉมา อย่าง คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ที่นำความปรารถนาดีที่อยากทำบ้านส่วนตัวให้ส่งผลต่อส่วนรวม มาแปลเป็นงานออกแบบบ้านที่เป็นเหมือนป่าธรรมชาติกลางเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

เดิมที บ้านหลังนี้เป็นที่ดินเก่าแก่ของครอบครัวที่อยู่กันมาตั้งแต่เด็ก กาลเวลาขยับขยายจากครอบครัวเล็กเติบโตเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีคนสามรุ่นอยู่ร่วมกัน ข้อจำกัดของการเริ่มต้นบ้านหลังใหม่อยู่ที่ขนาดของที่ดินในเมืองที่ไม่ได้กว้างขวางมากนัก แต่ก็อยากได้บ้านเพียงสองชั้น การจัดวางผังพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรวบรวมความต้องการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้วิธีคิดแบบคอนโดมิเนียม โดยให้ห้องส่วนตัวทุกห้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากการเป็นห้องนอน และใช้ชั้นดาดฟ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ของบ้าน

ไฮไลต์ของบ้านหลังนี้ คือ ไม้ยืนต้นที่ตั้งตระหง่านในทุกระดับชั้นของบ้าน เริ่มจากส่วนหน้าบ้านที่เลือกต้นไม้ต้นเตี้ยหน่อยเพื่อรักษาทั้งความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกับเป็นวิวสีเขียวให้กับถนนหน้าบ้าน ไล่ระดับจนถึงชั้นดาดฟ้าที่เป็นสวนป่าพื้นที่เท่ากับอีกชั้นหนึ่งของบ้าน ต้นไม้น้อยใหญ่และสวนผักกินได้จึงทำหน้าที่กรองความร้อนจากแสงแดดบนชั้นหลังคาได้ พื้นที่อยู่อาศัยชั้นล่าง ๆ ก็ได้อากาศเย็นสบายไม่อบอ้าวไปในตัว

เพื่อความยั่งยืนในอนาคต คุณใหม่เลือกเปลือยหน้าดินให้เหมือนป่าธรรมชาติ โดยไม่ได้ปลูกไม้พุ่มคลุมดินเหมือนกับสวนหน้าบ้านโดยทั่วไป เมื่อใบไม้ร่วงหล่นมาทับถมกัน ก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยและดินในอนาคต นอกจากบรรยากาศที่เหมือนป่าจริง ๆ แล้ว วัฏจักรที่ต้นไม้ดูแลกันเองตามธรรมชาติยังเกื้อกูลให้เติบใหญ่ได้อย่างยั่งยืนตามความตั้งใจ

Owner & Designer : ใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี Shma Company Limited
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/2YEw4Sd

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้