Creative Art and Sento
ศิลปะสร้างสรรค์กับโรงอาบน้ำสาธารณะ

ปัจจุบันนี้ “เซนโตะ” (銭湯 / Sento)” หรือ โรงอาบน้ำสาธารณะ ในญี่ปุ่นลดจำนวนลงจากเมื่อก่อนค่อนข้างมากตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็กลับมีเซนโตะเก่าแก่หลายแห่งถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยการรีโนเวทให้เข้ากับยุคสมัย ในอีกด้านก็มีเซนโตะเลือดใหม่ที่ชูความสร้างสรรค์และขายไอเดียดีไซน์ผุดขึ้นหลายแต่งหลายแห่งเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมนี้ก็ยังได้รับความนิยมจากคนในชาติอยู่เสมอตลอดจนเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบอีกด้วย

Kuwamizu Public Bath House (神水公衆浴場) เป็นเซนโตะสไตล์โมเดิร์นที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก โรงอาบน้ำสาธารณะแห่งนี้เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมานี้เอง ไอเดียผุดโรงอาบน้ำนี้ขึ้นมาก็เนื่องจากช่วงปี 2016 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองคุมาโมโตะ (2016 Kumamoto earthquakes) ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็คือโรงอาบน้ำสาธารณะที่ต้องปิดตัวมากมายและหาแหล่งใช้บริการได้ยาก เจ้าของบ้านหลังนี้จึงต้องการผุดโรงอาบน้ำสาธารณะเพื่อรองรับคนในชุมชนย่านนี้ขึ้นมานั่นเอง

การออกแบบเซนโตะคราวนี้ยังคงฟังก์ชั่นพื้นฐานของมาตรฐานโรงอาบน้ำแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมไว้ทุกประการ ตั้งแต่โซนอาบน้ำชำระล้างร่างกาย บ่อแช่ตัว ไปจนถึงการแบ่งโซนชายหญิงอย่างชัดเจน แต่มีการตกแต่งรายละเอียดภายในให้ออกมาเป็นสไตล์ Modern Minimal ตั้งแต่การฉาบพื้นและผนังหินขัดผสมทรายดำแทนการปูกระเบื้องตามสไตล์ที่คุ้นเคย การเลือกใช้ก๊อกน้ำและฝักบัวดีไซน์เท่ ไปจนถึงความเรียบง่ายแสนสะดุดตาอย่างราวจับทองเหลืองเส้นบางบริเวณบ่อแช่ตัวที่โดดเด่นในแบบน้อยแต่มาก

แปลนแสดงพื้นที่ชั้น 1
แปลนแสดงพื้นที่บริเวณโรงอาบน้ำ

เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่แทรกตัวผสานลงไปในเซนโตะแห่งนี้อีกอย่างก็คือการเลือกใช้ไม้สนฮิโนกิที่เป็นไม้ประจำถิ่น นอกจากพื้นผิวไม้ที่สวยตามธรรมชาติแล้วยังมีการออกแบบโครงสร้างอาคารในส่วนต่างๆ ที่ปรับเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาออกแบบให้ร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะโครงสร้างด้านหน้าอาคารไปจนถึงการวางตัวขัดกันอย่างเป็นระเบียบของท่อนซุงที่มีฟังก์ชั่นเป็นเพดานไปในตัว เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์แบบฉบับญี่ปุ่นที่ทรงคุณค่าได้ในทุกยุคทุกสมัย และสะท้อนจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนเสมอมา

เลือกใช้ไม้สนฮิโนกิที่เป็นไม้ประจำถิ่น

อีกหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญที่อยู่ในเซนโตะแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เรียกว่า “ペンキ絵 (Penkie – เพนกิเอะ)” ซึ่งตามธรรมเนียมนิยมที่สืบทอดกันมามักจะเป็นภาพวาดของภูเขาไฟฟูจิอันตระหง่าน จุดประสงค์แรกสุดที่เกิดการผสานศิลปะเข้าไปในโรงอาบน้ำนี้ก็เพื่อให้ผู้คนด้านในได้เพลิดเพลินกับงานศิลป์และการชมธรรมชาติ (จำลอง) ขณะแช่น้ำนั่นเอง แล้วจิตรกรรมฝาผนังนี้ก็พัฒนากลายมาเป็นอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่งของโรงอาบน้ำสาธารณะในเวลาต่อมา

ภายในของโรงอาบน้ำสาธารณะ Kuwamizu Public Bath House (神水公衆浴場) นี้ยังคงฟังก์ชั่นของพื้นที่แสดงงานศิลป์และสุนทรีย์แห่งวิถีวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนไว้เช่นเคย แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอสู่ไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่กลายเป็นจุดเด่นทำให้เซนโตะแห่งนี้โด่งดังขึ้นมา ความเจ๋งเริ่มจากการปรับจากผนังแบนราบให้เป็นผนังที่มีมิติด้วยการยกพื้นเป็นมุมสามเหลี่ยมคล้ายรูปแบบระแนงเรียงยาวตลอดแนว ทำให้เกิดมุมแสดงภาพได้ 2 แบบที่สามารถมองได้จาก 2 ทิศทางในเวลาเดียวกัน

แสดงมุมภาพได้ 2 แบบที่สามารถมองได้จาก 2 ทิศทางในเวลาเดียวกัน

ลูกเล่นเพิ่มเสน่ห์ให้กับโรงอาบน้ำแห่งนี้สามารถมองได้ 2 มิติ ด้านแรกที่เห็นได้จากมุมมองเมื่อเดินเข้ามาในโซนอาบน้ำนี้จะเป็นพื้นผิวไม้ธรรมชาติซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะสะท้อนให้เห็นถึงโรงอาบน้ำสาธารณะสไตล์โมเดิร์นแสนเรียบง่าย ส่วนภาพที่เกิดจากมุมมองอีกด้านเป็นสไตล์ภาพประกอบสมัยใหม่ที่วาดลวดลายเส้นสุดเท่ลงบนแผ่นไม้ แตกต่างจากภาพวาดในสไตล์ดั้งเดิม เพื่อสื่อถึงการผสานเอาศิลปะร่วมสมัยมาใส่โรงอาบน้ำได้อย่างกลมกลืนลงตัว

ภาพที่สองนี้สามารถมองเห็นได้จากมุมมองขณะแช่น้ำอยู่ในบ่อ เป็นฟังก์ชั่นที่มอบความสุนทรีย์ให้กับผู้ใช้บริการเช่นเดียวกันกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิม แต่ภาพที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ภาพภูเขาไฟฟูจิอย่างที่คาดกันไว้ กลับเป็นภาพกราฟิกดีไซน์เท่ที่ได้แรงบันดาลใจสร้างสรรค์มาจากสวนสาธารณะในย่านนี้ ซึ่งโรงอาบน้ำแห่งนี้ต้องการนำเอาวิถีใกล้ตัวนำมาสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่นด้วยนั่นเอง

สำหรับ Kuwamizu Public Bath House (神水公衆浴場) ตั้งอยู่ใน จ.คุมาโมโตะ บนเกาะคิวชูที่อยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ผลงานที่ผสานจิตวิญญาณดั้งเดิมกับความร่วมสมัยได้อย่างลงตัวนี้เป็นฝีมือของบริษัทสถาปนิกท้องถิ่น wAtelier LLC. ที่ถ่ายทอดไอเดียและสไตล์เฉพาะตัวได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2016 จะสร้างความเสียหายให้กับเมืองนี้อย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้เกิดโปรเจกต์สร้างสรรค์ดีๆ ขึ้นทดแทนอีกหลายอย่างเช่นกัน รวมถึงโรงอาบน้ำสาธารณะแห่งนี้ที่เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของท้องถิ่นที่ร่วมฟื้นฟูความหดหู่ให้กับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน