Vitra Campus
ดินแดนสวรรค์ของคนรักสถาปัตยกรรมและการออกแบบ

หากมีโอกาสมาเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในฐานะสถาปนิกหรือนักออกแบบ คงไม่พลาดที่จะมาเยือน Vitra Campus เมือง basel ที่ตั้งอยู่ในพรมแดนแดนใกล้กับเมือง Weil am Rhein ณ ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นวิทยาเขตแสดงผลงานศิลปะและการออกแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานศิลปะ พื้นที่จัดงานนิทรรศการ ห้องแล็บวิจัยด้านนวัตกรรมการออกแบบ พื้นที่ workshop ร้านค้า และเป็นสำนักงานใหญ่ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ “Vitra”

ถึงแม้ว่า จริงๆ แล้ว Vitra Campus จะอยู่ในอาณาเขตประเทศเยอรมัน แต่กลับสามารถเดินทางด้วยการต่อรถไฟจาก Zurich – Basel และเข้าสู่โครงการได้เลย โดยหากผ่านเมือง Zurich อย่าลืมแวะ Freitag flagship store ที่โดดเด่นด้วยการใช้โครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์มาเรียงต่อกันในแนวตั้งที่สูงที่สุดในโลก รวมถึง Le corbusier Pavillion ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลอย่าง Le Corbusier ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1965

สิ่งที่น่าสนใจของ Vitra Campus ก็คืออาคารทุกหลังได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง รวมถึงเป็นสถานที่รวมรวบ iconic furniture จากนักออกแบบชื่อดังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังมีการจัดวางงานประติมากรรมของศิลปินชื่อดังอยู่ภายในอาณาเขตจำนวนมาก เรียกได้ว่าการมาเยือนสถานที่แห่งนี้ เป็นหนึ่งใน wish list ที่ผู้สนใจทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต

วันนี้จะขอนำเสนออาคารสถาปัตยกรรมบางส่วนที่ออกแบบโดยสถาปนิก big name รวมถึงเครื่องเรือนชิ้นสำคัญที่จัดแสดงภายในงาน ที่มีความโดดเด่นน่าสนใจมาถ่ายทอดให้ฟังกัน

Vitra Design Museum

อาคารหลังแรกคือพิพิธภัณฑ์การออกแบบ Vitra design museum ซึ่งถือเป็นอาคารหลักของ Vitra Campus ออกแบบโดย Frank Gahry สถาปนิกชาวอเมริกัน ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นสถาปนิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และยังได้รับรางวัล Pritkzer ในปี 1989 ลักษณะงานสถาปัตยกรรม แฝงด้วยคตินิยมความเป็น Post Modernism ผสมผสานแนวคิด Deconstructivism อย่างเด่นชัด โดยจะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเปลือกอาคารหรือโครงสร้างให้มีลักษณะที่ซับซ้อนและขัดแย้ง โดยการใช้ฟอร์มทรงอาคารทรงเรขาคณิตจัดวางในรูปแบบบไดนามิก เปลือกอาคารทั้งหมดเป็นปูนขาวที่มีองศาความเอียงไร้กฏเกณฑ์ตัดกับหลังคาสังกะสีลาดเอียงสีเทา โดยหากมองจากภายนอกจะเห็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เปรียบเสมือนกับผลงานประติมากรรมชิ้นเอกนั่นเอง

Vitra design museum อาคารหลักของ Vitra Campus ออกแบบโดย Frank Gahry สถาปนิกชาวอเมริกัน
Vitra design museum อาคารหลักของ Vitra Campus ออกแบบโดย Frank Gahry สถาปนิกชาวอเมริกัน

ภายในแบ่งพื้นที่เป็นแกลเลอรี่ศิลปะและพื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ เนื้อที่โดยรวมประมาณ 700 ตารางเมตร มีนิทรรศการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่น่าสนใจหมุนเวียนกันแสดงตลอดทั้งปี โดยมีการออกแบบตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย ใช้โทนสีขาวสะอาดตา ประกอบกับการสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ที่แปลกใหม่ โดยใช้ผนังที่โค้งมน และการบรรจบกันของส่วนโค้งคล้ายกับโบสถ์ Notre Dam De Haut ที่ออกแบบโดย Le corbusier รวมถึงการเจาะช่องเปิดและ skylight เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ ทำให้แสงและเงาที่ตกกระทบกับพื้นที่ภายในมีความป็นไดนามิกที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ โดยไม่ห่างจากกันยังมีอาคาร Factory Building ที่เป็นทั้งคาเฟ่และหอประชุม โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับ Vitra design museum แต่มีองค์ประกอบคล้ายไม้กางเขนอยู่เบื้องหน้าอาคาร

Vitra Schaudepot

อาคารที่ตกแต่งด้วยก้อนอิฐสีส้ม-แดงคล้ายกับโกดังเก็บสินค้าที่มองเห็นเด่นชัดจากระยะไกลตัดกับบริบทของสภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นผลงานออกแบบของสองสถาปนิกสัญชาติสวิสฯ อย่าง Herzog & De Meuron ที่สร้างเสร็จราวปี 2016 มีลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยการใช้เส้นสายของผนังอาคารที่เรียบง่าย ประกอบกับการออกแบบหลังคาจั่วสีดำสะอาดตา ปราศจากการใช้ช่องเปิดหน้าต่างบริเวณอาคารหลัก ทำให้เกิดความรับรู้ของอาคารคล้ายกับก้อนอิฐทึบตันขนาดใหญ่ แต่หากมองลึกลงไปถึงรายละเอียด จะสังเกตเห็นถึงความงามของวัสดุตกแต่งพื้นผิวอาคาร โดยการใช้ก้อนอิฐแบบพิเศษที่ถูกทำให้มีความขรุขระและมีเหลี่ยมมุมไม่เท่ากัน แสงและเงาที่เกิดขึ้นช่วยขับให้อาคารหลังนี้มีความโดดเด่น เรียบง่ายแต่แฝงด้วยรายละเอียดอย่างน่าทึ่ง

Vitra Schaudepot ผลงานออกแบบของสองสถาปนิกสัญชาติสวิสฯ อย่าง Herzog & De Meuron
Vitra Schaudepot ผลงานออกแบบของสองสถาปนิกสัญชาติสวิสฯ อย่าง Herzog & De Meuron

ภายในอาคารถูกแบ่งการใช้งานเป็นร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านหนังสือ คาเฟ่ ห้อง workshop และพื้นที่สำนักงานของวิทยาเขต มีการตกแต่งอย่างเรียบง่าย โดยการใช้ผนังสีขาวและไฟฟลูออเรสเซนต์สะอาดตา และซ่อนงานระบบอาคารไว้อย่างแยบยล รวมถึงเป็นที่จัดแสดง iconic furniture ระดับมาซเตอร์พีซจากนักออกแบบชื่อดังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไล่ตามช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1800 จนถึงยุค mid century

เฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญที่ถูกวางไว้อย่างเด่นชัดอยู่บริเวณศูนย์กลางของห้องนิทรรศการ คือ Carlton Bookcase ออกแบบโดยสถาปนิกและนักออกแบบหัวก้าวหน้าชาวอิตาลีอย่าง ettore sottsass จาก Memphis Group เมื่อปี 1981 เป็นตู้หนังสือที่ได้แนวคิดจากองค์ประกอบทางกายภาพจากแท่นบูชาโบราณของศาสนาฮินดู เลือกใช้โครงไม้ MDF ปิดผิวด้วยลามิเนตหลากสี มีลิ้นชักสีแดงขนาดเล็กบริเวณกลางตู้ และมีชั้นวางคล้ายกับแขนขายื่นออกมาจากแกนกลาง ทำให้เป็นตู้หนังสือที่มีลักษณะแปลกตาอย่างสุดขั้วประหนึ่งเหมือนงานประติมากรรมบูชาจิตวิญญาณ

รวมถึงทั้งโซฟาที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อป อย่าง Marilyn Bocca ที่ออกแบบโดย Studio65 เมื่อปี 1970 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากริมฝีปากสีแดงสดของมาริลีน มอนโร นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง ผนวกกับแรงบันดาลใจจากภาพ Mae West แนวคิดลัทธิเหนือจริงจาก Salvador Dali ที่ต้องการแสดงถึงความเย้ายวน แฟชั่น และกลิ่นอายความเป็นเฟมินินที่สง่างาม อีกทั้งยังมี Furniture ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์อีกหลายชิ้นที่จัดแสดงอยู่ในงาน อย่างเช่น Red and Blue Chair ที่ออกแบบโดยนักออกแบบเครื่องเรือนชาวดัตซ์อย่าง Gerrit Rietveld หรือ Eames Chair ที่ออกแบบโดยสองสามีภรรยานักออกแบบชาวอเมริกันอย่าง Charles และ Ray Eames เป็นต้น

VitraHaus

อีกหนึ่งผลงานของ Herzog & De Meuron ที่อยู่ในอาณาเขตนี้ก็คือ VitraHaus ซึ่งเป็นอาคาร Flagship Store ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Vitra โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับโครงสร้างคล้ายกับจั่วบ้าน 12 หลัง ที่ลดทอนรายละเอียดมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมือง Basel วางเรียงซ้อนทับกันเป็นมุมตัดในองศาต่างกัน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมภายในที่มีการรับรู้เชิงพื้นที่และมุมมองที่หลากหลาย โดยมีกระจกบานใหญ่เปิดรับภูมิทัศน์รอบโครงการ ภายในประกอบด้วย Vitra Design Museum Shop, VitraHaus Café และส่วนแสดงสินค้าที่จะจำลองห้องต่างๆภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร หรือห้องทำงาน ที่เชื่อมต่อกันด้วยการเล่นระดับขั้นบันได โดยจะมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากแบรนด์ Vitra เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้เลือกซื้อและสร้างแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้าน

VitraHaus ผลงานของ Herzog & De Meuron
VitraHaus ผลงานของ Herzog & De Meuron

Conference Pavillion

อาคาร Conference Pavillion เป็นผลงานของ Tadao Ando ชิ้นแรกที่ได้ทำการก่อสร้างบนภาคพื้นยุโรป เป็นสถาปัตยกรรมที่แฝงด้วยจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างเต็มที่ ด้วยเส้นสายที่นิ่งเรียบประกอบกับการใช้สัจจะวัสดุอย่างคอนกรีตเปลือย โดยออกแบบอาคารให้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินเพื่อแสดงถึงความนอบน้อมและกลมกลืนต่อธรรมชาติโดยรอบ โดยมีทางเดินที่ขนานกับกำแพงคอนกรีตที่มีเส้นสายแบบมินิมอลนำสายตาเข้าสู่ทางลาด เพื่อจะนำผู้เยี่ยมชมเข้าสู่พื้นที่ภายในอาคาร ซึ่งจะมีบรรยากาศแลดูคล้ายกับศาลาปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบ มีการออกแบบช่องหน้าต่างเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติตัดที่ทอดตัวลงบนผนังคอนกรีตเปลีอยอันสง่างาม รวมถึงมีพื้นที่ courtyard ที่ซ่อนอยู่ภายในขอบเขตอาคาร คล้ายกับภูมิทัศน์แบบสวนเซนแบบญี่ปุ่น โดยพื้นที่ภายในได้ถูกแบ่งออกแเป็นห้องประชุม ห้องสัมนา และห้องรับรองที่สามารถจัดรูปแบบการใช้งานได้หลายประเภท

อาคาร Conference Pavillion เป็นผลงานของ Tadao Ando

Fire station

จากเหตุการณ์ไฟใหม้ครั้งใหญ่ใน Vitra campus เมื่อปี 1981 ได้สร้างความเสียหายต่อสถานที่ส่วนใหญ่ ซึ่งทาง Vitra เองก็ตัดสินในที่จะสร้างสถานีดับเพลิงของตัวเองภาพในวิทยาเขต ซึ่งออกแบบโดย Zaha hadid สถาปนิกระดับตำนานชาวอีรัก ผู้ที่ได้รางวัล Pritzker ในปี 2004 เป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้โครงสร้างคอนกรีตเปลือยเป็นองค์ประกอบหลัก โดยออกแบบกรอบอาคารให้มีองศาความลาดเอียง ซับซ้อน และทำมุมแหลมเข้าหากัน ตามแนวคิด deconstructivism เพื่อต้องการให้ได้รับรู้ถึงประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่ผิดปรกติ ภายในแต่เดิมเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถดับเพลิง รวมถึงยังมีห้องอาบน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องประชุม และพื้นที่ส่วนกลางของหน่วยงานนักผจญเพลิง ซึ่งภายหลังได้พบว่า หน่วยดับเพลิงภายในสามารถต่อสู้กับอัคคีภัยได้ในระยะเริ่มแรกเท่านั้น และไม่สามารถแทนที่บริการดับเพลิงสาธารณะได้ จึงตัดสินใจยุบหน่วยงานนี้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาคารนี้ได้ถูกใช้สำหรับการจัดนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษภายในโครงการ

Fire Station ออกแบบโดย Zaha Hadid
Fire Station ออกแบบโดย Zaha Hadid

Vitra Slide Tower / Balance Tools

อีกหนึ่ง hidden gem ภายในวิทยาเขตนี้ก็คือ Vitra slide tower ซึ่งเป็นทั้งหอคอยชมวิว หอนาฬิกา และสไลด์เดอร์ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 เมตร ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวเยอรมัน Carsten Holler ที่ใช้โครงสร้างเสาทแยงสามต้นที่บรรจบกันด้านบน สามารถขึ้นสู่ยอดหอคอยด้วยบันไดเหล็ก ด้านบนนี้เองเป็นจุดชมภูมิทัศน์รอบๆวิทยาเขต Vitra และยังเป็นทางเข้าเครื่องเล่นสไลเดอร์เกลียวที่ทำจากแผ่นเหล็กดัดโค้ง มีความสูง 17 เมตร โดยจะมีการแจกฟูกเพื่อไว้รองนั่งเพื่อลื่นไถล โดยที่ไม่ไกลจากกันนั้น มีผลงานประติมากรรม Balance Tools ที่ออกแบบโดยศิลปินสามีภรรยาสัญชาติสวีดิชอย่าง Claes Oldenburg และ Coosje Van Bruggen ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่คล้ายอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อย่าง ค้อน คีม และไขควง ตกแต่งด้วยสีสันสดใส เพื่อสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

Vitra slide tower ออกแบบโดยศิลปินชาวเยอรมัน Carsten Holler
Vitra slide tower ออกแบบโดยศิลปินชาวเยอรมัน Carsten Holler

ตัวอย่างผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ยังมีอาคารที่สวยงามอีกหลังแห่งให้เยี่ยมชม อย่างเช่น อาคาร Factory Building ที่ใช้เป็นส่วนการวิจัยและผลิตเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบโดย Alvaro Siza และ Nicholas Grimshaw รวมถึงอาคารโดมที่ใช้โครงสร้างผ้าใบดึงแรง ที่ออกแบบโดย Richard Buckminster Fuller ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิสถาปัตยกรรม Oudolf Garden ที่สวยงาม การมาเยือน Vitra Campus ในฐานะนักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจทางด้านสถาปัตย์และการออกแบบ น่าจะเปรียบเหมือนได้เข้ามายังสวนสนุกที่น่าตื่นเต้น รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณแห่งการออกแบบอย่างอย่างท่วมท้น และคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ควรค่าแก่การมาเยือนสักครั้งในชีวิต

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว