TOA Color Trends 2022 “The Color of Thoughtful Living’
เทรนด์สีแห่งการคิดอย่างรอบคอบเพื่อที่อยู่อาศัย

เป็นธรรมเนียมของช่วงปลายปี ที่เหล่าสถาปนิกและดีไซน์เนอร์จะต้องติดตามอัพเดทเทรนด์ความเคลื่อนไหวในด้านงานออกแบบรอบด้าน และงานสีก็เช่นเดียวกันกับที่ TOA จะกลับมาในช่วงปลายปีพร้อมกับเทรนด์สีใหม่ๆ ที่รวบรวมแนวโน้มด้านงานออกแบบและแนวคิดด้านความเป็นอยู่เข้าไว้ด้วยกันผ่าน TOA Color Trends ที่ในปี 2022 นี้มาพร้อมกับธีม “The Color of Thoughtful Living’ เทรนด์สีแห่งการคิดอย่างรอบคอบเพื่อที่อยู่อาศัย

ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผู้คนทั่วโลกอยู่ร่วมกับโควิด-19 จนกลายเป็นวิถีความเป็นอยู่ที่เคยชินแบบ Now Normal ชีวิตกับความคิดที่ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยทั้งกับตัวเองและคนที่รักรอบตัว โดย TOA ได้แรงบันดาลใจจาก 5 กลุ่มสถาปนิกชั้นแนวหน้าระดับประเทศ ร่วมกันกับการวิเคราะห์เฉดสีโดยผู้เชี่ยวชาญจาก TOA จนออกมาเป็น 12 เฉดสีแห่งการคิดอย่างรอบคอบ เพื่อตอบคำถามด้านดีไซน์ พร้อมกับถ่ายทอดสีสันแห่งวิถีชีวิตในยุค “Now Normal”

จากแรงบันดาลใจของทั้ง 5 กลุ่มสถาปนิก ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ จากทีโอเอ จนได้ออกมาเป็น Trendscope ที่แสดงให้เห็นความสอดคล้องในการเรียงตัวกัน ของ Hue และ Value สำหรับเทรนด์สี ปี 2022

5 กลุ่มเทรนด์สีปี 2022 ในยุค Now Normal โดย TOA แรงบันดาลใจจาก 5 สถาปนิกชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่

BIO-CENTRIC : กลุ่มสีขาวสะอาดตา และขาวโทนเย็น (W9119, W9109) สื่อความหมายถึงสุขอนามัย ความสะอาด และความปลอดภัยต่อสุขภาพ
UNIVERSE WE : สีม่วงสว่าง (V3096) สะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ทั้งหมด ไม่แบ่งแยกเพศหรือวัย
AUTHENTIC IMPRESS : กลุ่มสีเบจ แดงหม่น และส้มอิฐ (N6161, R2170, O1105) ตัวแทนของการหวนระลึกถึงรากและคุณค่าจากอดีต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม วิถีชีวิตใหม่ สู่การพัฒนาตัวตนในยุคใหม่
SHELTERAL (Shelter+Natural) : กลุ่มสีฟ้าตุ่น เทากลาง และเขียวอ่อน (B4224, N6262, N6316) สะท้อนความรู้สึกสงบสบายใจ เปรียบกับสถานที่หลบภัย
UNREFINED WORLD : กลุ่มสีเทาเข้ม น้ำเงินเข้ม และสีดำ (K7050, N6272, K7055) แสดงออกถึงสัจจะแท้จริงในโลกปัจจุบัน และโลกของงานออกแบบที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนออกไปสู่โลกสงบสุขอย่างที่ฝันไว้

อยุทธ์ มหาโสม – Ayutt and Associates Design (AAd)

สถาปนิกผู้มีเอกลักษณ์ที่เส้นสายเนี้ยบเฉียบคม ร่วมกับการใช้สีในแนวทาง Monochrome อย่างขาว เทา ดำ และสีสัจจะของตัววัสดุเอง ในช่วงหลังมานี้ความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้สีของ AAd เป็นไปในทางที่ใช้สีเพื่อควบคุมลักษณะทางกายภาพของบรรยากาศโดยรวม พร้อมกับตอบสนองสัญชาตญาณของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดเอฟเฟกต์ในทางสถาปัตยกรรมและการเข้าถึงพื้นที่โดยรวม

เจอร์รี่ หง และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี – HAS Design and Research

สถาปนิกผู้ให้นิยามของการออกแบบในยุคที่สีเป็นมากกว่าพื้นผิวที่ทา แต่หมายความถึงองค์ประกอบภาพรวมของคุณภาพพื้นที่ทั้งหมด ทิศทางของสีที่มองเห็นจึงเป็นเรื่องของการทำให้ธรรมชาติหรือสิ่งรอบตัวโดดเด่นขึ้นมา พร้อมกันกับช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน ซึ่งในยุค Now Normal แบบนี้นี่เอง ที่สีจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนิยามใหม่ให้กับพื้นที่ และทำให้ทุกวันมีความหมายกว่าที่เคย

ไพทยา บัญชากิติคุณ – ATOM Design

สถาปัตยกรรมของอาคารสูงที่มาพร้อมกับการเป็นภูมิทัศน์ของเมืองเป็นงานที่ทำให้ทุกคนรู้จักชื่อของสถาปนิกท่านนี้ ความหมายของสิ่งแวดล้อมในนิยามของคุณไพทยา จึงขยายกว้างขึ้นสู่การขยายขอบเขตของงานออกแบบโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิต สีที่ถูกใช้งานในการออกแบบ จึงกว้างขวางตั้งแต่สีกลางแบบสีโทนสว่าง กลุ่มสีที่ช่วยเบรกความสดให้ลดน้อยลง สร้างความสบายตามากขึ้น ไปจนถึงสีโทนเข้มที่ขับเน้นสถาปัตยกรรมให้โดดเด่นท่ามกลางแสงของวันที่เปลี่ยนแปลงไป

ศิริยศ ชัยอำนวย และ อริศรา จักรธรานนท์ – ONION

สถาปนิกผู้สร้างสรรค์งานออกแบบอันน่าตื่นตาให้กับโรงแรมหลายแห่งทั่วเมืองไทย ด้วยการเน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับแสงและสี ร่วมกับบรรยากาศเฉพาะที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ เห็นได้ชัดเจนจากสีขาว ที่กลายเป็นสีซิกเนเจอร์ของ ONION ที่มอบความโมเดิร์น ไปพร้อมกับการแสวงหาวิธีการใช้สีในรูปแบบใหม่ที่ขับเน้นความรู้สึกของการใช้งานภายในพื้นที่ให้เด่นชัดมากขึ้น โดยไม่ทิ้งตัวตนและความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ

ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ – Research Studio Panin

หลังจากที่ผู้คนใช้เวลาในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น แนวโน้มความต้องการพื้นที่สาธารณะในส่วนเอาท์ดอร์ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเชื่อมต่อระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกกับพื้นที่ภายในจึงไม่ใช่เพียงภาพที่มองเห็นทางสายตา แต่ยังเป็นเรื่องประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นแสงที่เปลี่ยนตลอดทั้งวัน เสียงฝนที่ตกอยู่ด้านนอก โดยมีสีเป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศสำหรับอยู่อาศัยภายใน ไปพร้อมกับการเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และแสดงออกถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัย ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกันในด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม

Writer
Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม