Futuristic Architecture
เมื่อสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตสุดล้ำแฝงตัวอยู่กับโลกภาพยนตร์

คำว่า Futuristic ในเชิงสถาปัตยกรรม มักใช้อธิบายถึงแนวคิดของสภาพสังคมในอนาคตที่ก้าวล้ำด้วยวิทยาการ อาจรวมถึงแนวทางการออกแบบตกแต่งภายใน ผลงานสถาปัตยกรรม หรือรูปแบบของเมืองที่มีลักษณะทางกายภาพอันน่าทึ่งเกินจินตนาการ ที่เกิดจากความเฟื่องฟูของนวัตกรรมจักรกล เทคโนโลยี และระบบสารสนเทศ บางครั้งอาจเป็นการจินตนาการถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในอนาคตที่ล้ำยุคล้ำสมัย อย่างเช่น การตั้งอาณานิคมในอวกาศ นครใต้สมุทร เมืองลอยฟ้า หรืออาจจะเกี่ยวกับสังคมดิสโทเปียในโลกอนาคตที่เรามักพบเห็นในหรือนิยายวิทยาศาสตร์หรือภาพยนต์ไซไฟสุดล้ำ

แนวคิดดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวทางด้านความคิดในช่วงยุคต้นศตวรรษที่ 20 ที่บูชาความรู้แจ้งตามหลักเหตุผลของวิทยาศาสตร์ภายใต้คตินิยมแบบ Modernism การคิดค้นวิธีการผลิตในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับความเฟื่องฟูทางด้านวิทยาการและเทคโนยีทางการทหารในยุคสงคราม อย่างเช่น อากาศยานประเภทเรือเหาะ เรือดำน้ำ การคิดค้นระเบิดปรมาณู (Atomic age) รวมถึงการแข่งขันทางด้านกิจการสำรวจอวกาศระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา (Space age) ในช่วงยุคสงครามเย็น ประกอบกับการเข้ามาของกระแสวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ที่เปี่ยมด้วยอิสรภาพทางความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นส่งอิทธิพลต่อแนวคิดของทฤษฎีสถาปัตยกรรมแบบ Futuristic Architecture ในยุคทศวรษที่ 1960 รวมถึงแนวทางการตกแต่งภายในและงานสถาปัตยกรรมที่เราพบเห็นในภาพยนต์ยุคต่อมาอย่างเห็นได้ชัด

Plug-in City

สำนักออกแบบสถาปัตยกรรมหัวก้าวหน้า Archigram จากประเทศอังกฤษ เป็นต้นแบบการนำเสนอแนวคิด futuristic พัฒนาลงในคตินิยมทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Futurism Architecture และนำเสนอในรูปแบบของภาพประกอบที่แสดงถึงสังคมอุดมคติในอนาคตที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจักรกลที่มีลักษณะทางกายภาพและแนวคิดที่น่าทึ่ง อย่างเช่น Plug-in City โดย Peter cook เมื่อปี 1964 เป็นระบบโครงข่ายของนครจักรกลขนาดใหญ่ล้ำสมัย ที่อยู่ภายในโครงสร้าง megastructure ซึ่งควบคุมด้วยสมองกลคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ เพียบพร้อมด้วยหน่วยที่พักอาศัยพร้อมระบบพยุงชีพคล้ายกับแคปซูลอวกาศเพื่อป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมที่เลยร้าย รวมถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็นและระบบคมนาคมขนส่ง มนุษย์ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายในเมืองดังกล่าวได้ โดยมีแกนเก็บทรัยพยากรคล้ายกับเทคโนโลยีการทำเหมือง เพื่อจัดเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมือง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของ Plug-in City จะเหมือนกับอาณานิคมในอวกาศตามที่เห็นในภาพยนต์ไซไฟ โดยส่วนประกอบของเมืองทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยระบบเครนอัตโนมัติที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างอิสระที่วางแผงรองรับการขยายตัวของเมืองและประชากร และสามารถเชื่อมต่อกับแกนของเมืองอื่น ๆได้ในลักษณะของโครงข่ายต่อขยาย รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยและซ่อมแซมตัวเองได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์มาควบคุมหรือสั่งการ เป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยและถือเป็นต้นแบบของ Radical Architecture ในเวลาต่อมา

Walking City

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจของ Archigram คือ Walking City จาก Ron Herron ในปี 1966 เป็นเมืองในอนาคตขนาดยักษ์ที่สามารถเดินเคลื่อนที่ได้ โดยได้แรงบันดาลใจมากจากเรือดำน้ำทางการทหารจากยุคสงครามเย็นรวมเข้ากับโครงสร้างทางวิศวกรรมที่มีขาเหมือนแมลงที่สามารถก้าวเดินได้ โดยส่วนที่เป็นขาสามารถยืดหดได้ เพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมได้ทุกรูปแบบและสามารถพาเมืองแห่งนี้ก้าวเดินไปได้ทุกที่ โดยในแต่ละเมืองจะมี ที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคที่ครอบคลุมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ พร้อมด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย และอุปมาดั่งเมืองคือหน่วยของสิ่งมีชีวิตจำพวกแมลงที่ก้าวเดินไปเรื่อยๆ สามารถเชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆผ่านช่องและรยางค์บริเวณลำตัว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือทรัพยากรระหว่างสถานี

ลักษณะทางกายภาพของของ Walking City ได้แรงบันดาลใจจากแมลง โดยมีส่วนหัวที่เป็นหอบังคับการ ส่วนลำตัวเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนท้องจะเป็นพื้นที่เก็บทรัพยากร ส่วนด้านบนเป็นพื้นที่ส่วนกลางของเมืองที่มีปีกที่สามารถเปิดปิดได้เพื่อป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมภายนอก โดย Herron ได้พัฒนาแนวคิดมาจากการจินตนาการถึงดิสโทเปียในโลกอนาคต ที่โลกทั้งใบได้รับความเสียหายจากสงครามระเบิดปรมาณู ทำให้ทั้งโลกมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ จึงจำเป็นต้องมาอาศัยอยู่ในนครจักรกล และออกก้าวเดินเพื่อแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ

Marine city

ผลงาน  Marine city โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Kiyonori Kikutake เมื่อปี 1958 – 1963 เป็นภาพประกอบแสดงทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับมหานครลอยน้ำในมหาสมุทร ที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงเป็น Industrial city  ที่มีลักษณะเป็นโครงสร้าง megastucture ลอยน้ำขนาดยักษ์ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 km. โดยโครงสร้างทั้งหมดประกอบด้วย mother’s body ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของเมืองที่เป็นหน่วยที่พักอาศัยลอยอยู่บนทุ่น และมีโครงข่ายที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในการผลิตทรัพยากรกระจายอยู่โดยรอบ

ลักษณะทางกายภาพของ Marine city จะคล้ายกับเมืองในแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลขนาดยักษ์ที่มีกลิ่นอายจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในส่วนของที่อยู่อาศัยจะเป็นหอคอยสูงที่ตั้งอยู่บนโครงสร้างวงแหวน โดยจะมีโมดูลลาเกาะอยู่โดยรอบ ยึดด้วยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถเพิ่มลดพื้นที่ได้ตามแนวคิด Metabolism Architecture ที่ควบคุมพลังงานแม่เหล็กโดยหอบังคับการ มีระบบสาธารณูปโภครวมถึงมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเป็นลานกิจกรรมของพลเมือง บริเวณฐานทรงกระบอกที่อยู่ใต้น้ำจะทำหน้าที่เป็นทั้งทุ่นและ กระเปาะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืนของทรัยากรในมหาสมุทรตามแนวคิดของ Radical Architecture เช่นกัน

Futuristic in Cinematography

ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมในช่วงยุคทศวรรษที่ 1960 ที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น เป็นแรงบัลดาลใจต่อวงการภาพยนต์ในยุคต่อมามากมาย ประกอบกับการเข้ามาของกระแสวัฒนธรรมป๊อบ   (Pop culture) ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิดมนุษย์ที่เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ ทำให้ในช่วงปลายยุุุคทศวรรษ 1960 ได้เกิดภาพยนต์ภายใต้แนวคิด Futuristic จำนวนมาก ก่อนจะได้พัฒนาต่อเป็นแนวทางอื่น ๆ อย่าง Retro Futurism หรือ Cyberpunk ในเวลาต่อมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามักจะเห็น easter egg ที่น่าสนใจในเชิงการออกแบบ อย่างเช่น รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์การตกแต่งภายในที่เตะตา หรือลักษณะงานสถาปัตยกรรมที่ถอดแบบมาจาก Neo Futuristic ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังที่ซ่อนอยู่ในภาพยนต์เพื่อสื่อถือธีมของหนังอย่างมีนัยยะสำคัญ

Retro Futurism

Retro Futurism คือความล้ำสมัยในอดีต หรือการนิยามถึงอนาคตผ่านมุมมองของมนุษย์หรือคนทำหนังในช่วงยุค 1960 – 1980 ในรูปแบบของภาพยนต์ ส่วนมากจะเป็นการจินตนาการถึงเมืองในอนาคต การเดินทางท่องอวกาศ หรือสงครามระหว่างดวงดาว เหตุเพราะการได้รับอิทธิพลจากความเฟื่องฟูของกิจการอวกาศขององค์การนาซา โดยฉากหลังของเนื้อหามักจะถูกนำเสนอในรูปแบบของของเหตุการณ์ในอนาคตที่ผสมผสานระหว่างความเก่าและความร่วมสมัย

การตกแต่งภายในของโรงแรมสถานีอวกาศ Hilton – Space station 5 ในเรื่อง 2001 Space Odyssey เมื่อปี 1968 ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ได้ถูกเนรมิตรโดยนักออกแบบภายในระดับโลก Eero Saarinan  โดยมี่มีเอกลักษณ์ชัดเจนในแง่สุนทรียะการออกแบบที่มีความร่วมสมัยและก้าวหน้า ผสมผสานการใช้ Iconic Furniture จากยุค 1960 อย่าง Djinn Chair สีแดงสด ที่ออกแบบโดย Oliver Mourgue และ โต๊ะสไตล์ Tulip Table จากยุค Mid-Century ที่ออกแบบโดย Saarinan  เช่นกัน  ตัดกับบรรยากาศที่สว่างไสวและเส้นสายที่มีความล้ำสมัยโดยรอบ โดยทั้งหมดเป็นสิ่งที่ Kubrick ใส่ใจในรายละเอียดในการสร้างสรรค์โลกยุคอวกาศในอนาคตที่ไม่เหมือนใคร

ห้อง The Bedroom : The end of Universe ในภาพยนต์เรื่องดังกล่าว เป็นการอุปมาถึงห้องนอนที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ มีการการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมภายในและรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์สมัยยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศษที่ทางผู้กำกับใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเหตุการณ์ที่สำคัญของมนุษยชาติ ประกอบกับการใช้พื้นลายตารางกริดเรืองแสงตามกระแสดิสโกของวัฒนธรรมป๊อป ทำให้เกิดบรรยากาศที่แปลกตาน่าพิศวงดั่งเป็นมิติลี้ลับจากอนาคตอันไกลโพ้น ที่ผู้มาเยือนไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าอยู่ในยุคสมัยไหน ถึงแม้ว่าจะล่วงเลยเวลามากว่าค่อนศตวรรษแล้วก็ตามแต่ภาพยนต์เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในภาพยนต์แนว Futuristic ที่ดีที่สุดตลอดกาล

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของแนวคิด Retro Futurism ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือกลิ่นอายของวัฒนธรรมป๊อปและดิสโกดังที่ปรากฏในภาพยนต์เรื่อง Star Wars Episode 4 เมื่อปี 1977 โดยผู้กำกับ George Lucas มีการสอดแทรกองค์ประกอบเด่นในเนื้องเรื่องอย่าง หุ่นยนต์สีทองอร่าม C-3PO ที่คล้ายกับนักร้องซุปเปอร์สตาร์จากยุค 1970 หรือหุ่นยนต์ R2D2 ที่คล้ายกับกระป๋องน้ำอัดลม และการต่อสู้ด้วยดาบไลท์เซเบอร์เปล่งแสงสีสันสดใส รวมถึง User Interface ที่ใช้เทคโนโลยีระบบอนาล็อก ซึ่งมักจะสอดแทรกเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งภายในยานอวกาศที่มที่จะมีไฟแสดงสถานะหลากสีกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ อีกทั้งลักษณะของแผงควบไมโครชิพในค๊อกกพิทของยานอวกาศหรือหอบังคับการ ที่มีปุ่มปรับรับสัญญานแบบหมุนใหญ่ๆ คันโยกแบบบังคับด้วยมือ และหน้าจอเรดาห์แสดงผลแบบพิกเซล 

Cyberpunk

Cyberpunk คือแนวคิดของนิยายวิทยาศาสตร์ที่นิยามถึงสังคมดิสโทเปียในโลกอนาคตอันไกล้ที่มีความก้าวล้ำทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูง มนุษย์และเครื่องจักรอาศัยอยู่รวมกันอย่างแยกไม่ออก โลกถูกครอบงำระบบสารสนเทศที่ไร้ข้อจำกัด ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจ เห็นแก่ตัว รวมถึงการบูชาระบบทุนนิยมให้มีอำนาจเหนือรัฐบาล เกิดการขัดแย้งกันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง หรือมนุษย์กับเครื่องจักร โดยทั่วไปจะเป็นเนื้อเรื่องที่มีฉากหลังเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการตกแต่งเมืองโดยการนำเสนอชุดข้อมูลด้วยหลอดนีออนหลากสีขนาดยักษ์

ฉากเมืองในภาพยนต์เรื่อง  Ghost in the shell โดย Rupert Senders เมื่อปี 2017 โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับโลกสมมุติในอนาคตที่มีวิทยาการสามารถผสานสมองของมนุษย์เข้ากับร่างกายสังเคราะห์ได้ มีฉากหลังเป็นป่าคอนกรีตที่หนาแน่นคล้ายกับเกาะฮ่องกง แต่ถูกปกคลุมด้วยข้อมูลสารสนเทศในลักษณะของป้ายโฆษณา LED เปล่งแสงสว่างแฝงอยู่ตามจุดต่างๆของเมือง รวมถึงโฮโลแกรมสามมิติที่ขยับไปมาได้ขนาดยักษ์สูงเท่ากับตึกระฟ้า ที่เกือบจะเป็นเหมือนเทพเจ้าที่มองดูเมืองจากเบื้องบน

ในภาพยนต์เรื่อง Blade Runner ที่เข้าฉายเมื่อปี 2017 เป็นการจำลองความเชื่อมโยงระหว่างอนาคตกับงานสถาปัตยกรรมในโลกดิสโทเปียอนาคตที่มีสภาพแวดล้อมย่ำแย่หลังเกิดสงครามระเบิดปรมาณู   บรรยากาศเต็มไปด้วยฝุ่นควันมลพิษ และฝนกรดที่กัดกร่อนเมืองจนกลายเป็นซากปรักหักพัง   ฉากหลังของเมืองได้แรงบัลดาลใจจากเกาะฮ่องกง ที่มีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด มีช่องว่างระหว่างสังคมและความเหลื่อมล้ำของมนุษอย่างชัดเจน ผู้มั่งคั่งได้อพยพไปอาศัยอยู่ที่พิรามิดสูง 700 ชั้น ตั้งตระหง่านเหมือนแท่นบูชาที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist Architecture ภายใต้บรรยากาศอับชื้นขมุกขมัว ภายในเมืองมีป้ายไฟโฆษณาหลากสีและโฮโลแกรมสามมิติขนาดยักษ์ที่นำเสนอบริบทเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและความเสื่อโทรมในจิตใจของพฤติกรรมมนุษย์

Neo Futuristic Architecture in movie

ลักษณะทางกายภาพของเมืองหรือสถาปัตยกรรมที่พบเห็นในภาพยนต์เรื่องอื่น ๆ ที่มีฉากหลังเป็นโลกที่มีวิทยาการล้ำสมัย มักมีผลงานสถาปัตยกรรม แบบ Neo Futuristic ของสถาปนิกชื่อดังสอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องเสมอ อย่างเช่นอาณาจักร Wakanda  ที่เป็นดินแดนลึกลับซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกของทวีปแอฟริกา ตามเนื้อหาของภาพยนต์เรื่อง  Black Panther จาก Marvel Studio เมืองดังกล่าวเพียบพร้อมด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีจากโลกอนาคต และถูกซ่อนจากโลกภายนอกด้วยเทคโนโลยีพรางตา มีการวางผังเมืองให้กลมกลืนกับระบบนิเวศโดยมีแม่น้ำและพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่โดยรอบ สิ่งปลูกสร้างหอคอยสูงระฟ้าที่ตั้งตระหง่านเป็นศูนย์กลางของกลางมหานครเป็นที่อยู่ของกษัตริย์ T’Challa โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของป้อมปราการรอบๆหอคอยได้รับแรงบัลดาลใจจากสถาปัตยแนว Neo Futuristic ของ Zaha Hadid อย่างเช่น อาคาร Dongdaemun Design Plaza ในกรุงโซล หรืออาคาร Wangjing SOHO ในกรุงปักกิ่ง ภายในเมืองยังมีพื้นที่ชุมชนที่ผสมผสานวิถีชีวิตของชาว Wakanda ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของของชนเผ่าแอฟริกัน ที่รายล้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยอย่างน่าทึ่ง อย่างเช่นระบบคมนาคมขนส่งด้วยรถไฟพลังงานแม่เหล็ก หรือลานจอดอากาศยานสุดไฮเทค

อาณานิคม York Town ในภาพยนต์เรื่อง Star Trek Beyond เป็นการถ่ายทอดจินตนาการการตั้งอาณานิคมบนอวกาศของสหพันธ์ดวงดาว Starfleet ตั้งอยู่บริเวณชายแดน Necro Cloud เนบิวลา เปรียบเสมือนดาวเคราะห์จำลอง เป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองนับล้านเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง มีเมทริกซ์ขนาดเมืองล้อมรอบทรงกลม เชื่อมต่อกันด้วยวงแหวนโปร่งใสที่มีสถาปัตยกรรมแนว Neo Futuristic ถูกสร้างขึ้นตามแนววงแหวนดังกล่าว มีแกนสร้างแรงโน้มถ่วงที่ใจกลางเมือง ทำให้สามารถมองเห็นผู้คนที่เดินกลับหัวได้โดยไม่ล้ม เมืองดังกล่าวออกแบบโดย Sean Hargreaves ผู้กำกับศิลป์ Visual Effects ชื่อดัง โดยเขากล่าวว่างานสถาปัตยกรรมทั้งหมดภายในเมือง ได้รับการออกแบบให้คล้ายคลึงกับอาคารตึกระฟ้าที่โดดเด่นของเมือง Dubai สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่มีขนาดพื้นที่มากกว่าประมาณ 100,000,000 เท่า

แนวคิด Futuristic เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย ส่งผลอย่างมากต่อมโนทัศน์ของสถาปนิกและผู้กำกับภาพยนต์ที่พยายามจะสร้างจินตภาพในการทำนายรูปลักษณ์แห่งอนาคตว่ามีสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมดำรงอยู่ในทิศทางเช่นใด ในเชิงสถาปัตยกรรมและการออกแบบ เรามักเห็นข้อมูลทางกายภาพปรากฏอยู่ ตั้งแต่องค์ประกอบที่แสดงถึงแนวคิด รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน จนถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและมักถูกนำมาเป็นกรณีศึกษา ตัวอย่างผลงานทั้งหมดที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้อาจเป็นสิ่งที่ดูน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาการสุดล้ำ ดิสโทเปีย หรือการตั้งอาณานิคมในอวกาศ แต่ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งมนุษย์เราอาจจะดำรงอยู่ไปถึงจุดนั้นก็เป็นได้

Reference & Photo Credit
Plug-in City
https://www.archdaily.com/399329/ad-classics-the-plug-in-city-peter-cook-archigram
https://www.dezeen.com/2020/05/12/archigram-plug-in-city-peter-cook-dennis-crompton-video-interview-vdf/
Walking City
https://www.archdaily.com/443701/a-walking-city-for-the-21st-century
https://medium.com/@emilyrowlings/a-walking-city-archigram-and-ron-herron-7dbf2c8fae99
Marine City
https://www.designboom.com/architecture/kiyonori-kikutake-1928-2011/
2001 Space Odyssey
https://www.dezeen.com/2016/07/13/brooksbank-collins-table-kubrick-a-space-odyssey-gallery-fumi-london/ 
https://www.wallpaper.com/art/stanley-kubrick-exhibition-from-2001-a-space-odyssey-to-the-shining
https://www.productiondesignerscollective.org/single-post/2016/05/15/connecting-the-dots-2001-a-space-odyssey
Star Wars
https://theconversation.com/what-the-robots-of-star-wars-tell-us-about-automation-and-the-future-of-human-work-88698
https://www.dezeen.com/2018/03/01/black-panther-film-designer-zaha-hadid/
Ghost in the shell
https://strelkamag.com/en/article/ghost-in-the-shell-city
Blade Runner
https://ivypanda.com/essays/future-of-architecture-in-blade-runner-film/
Wakanda 
https://www.architecturaldigest.com/story/the-real-life-possibilities-of-black-panthers-wakanda-according-to-urbanists-and-city-planners
York Town
https://quantummmof5.wixsite.com/architecture/chong-sher-li-2

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว