“มหาวิทยาลัยศิลปากร มันมีเรื่องราวซ่อนอยู่เยอะมาก บางอย่างก็เอาออกมาโชว์หรือบางอย่างก็เก็บไว้ ทำให้คนทั่วไปที่จะตระหนักรู้ถึงคุณค่าของเก่ามันน้อย รู้กันแค่ในวงของศิลปินเองเท่านั้นว่าศิลปากรมีอะไรดี เราเลยตั้งใจอยากจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลดี ๆ และเข้าถึงพื้นที่ได้ด้วย”
Dview ครั้งนี้ เราลัดเลาะกรุงเก่ารัตนโกสินทร์ สู่รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ตั้งของหอสมุดวังท่าพระโฉมใหม่ที่ได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โอ๊ต-นันทพล จั่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาปนิกมาลงมือเปลี่ยนโฉมของหอสมุดแห่งนี้ ด้วยแผนพัฒนาพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะ การออกแบบ และโบราณคดีในระดับนานาชาติ พร้อมความตั้งใจให้คนทั่วไปตระหนักรู้และเข้าถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะดี ๆ ได้ง่ายดายกว่าที่เคย ซึ่งนอกจากห้องสมุดโฉมใหม่แล้ว พื้นที่ภายในรั้วศิลปากรยังได้รับการพัฒนาอีกหลายหลายจุด ตั้งแต่ พื้นที่ส่วนกลาง อาคารหอประชุม พื้นที่จัดแสดงงานกลายเป็นอาณาจักรแห่งใหม่ที่น่าเข้ามาเยี่ยมชมไม่น้อย
01 : เรื่องราวก่อนถูกปรับโฉม
อาจารย์โอ๊ตเริ่มต้นเล่าว่า เดิมที การพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ค่อนข้างไม่เป็นระบบและไม่มีการวางแผนภาพรวม หากเดินไปตามคณะต่าง ๆ เราจะได้เห็นคอมเพรสเซอร์แอร์ ท่อน้ำ สายระโยงระยางรบกวนสายตา หรือพื้นที่ส่วนกลางที่มีข้าวของหรืองานระบบวางขวางทางกลางลานกิจกรรม เกิดเป็นข้อจำกัดของเด็ก ๆ ในการใช้งานพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ Open Space ที่มีน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนมากของมหาวิทยาลัยใช้เป็นพื้นที่จอดรถไปเสียหมด
เช่นเดียวกับส่วนของหอสมุดวังท่าพระ ซึ่งเดิมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์ นับได้ว่าในสมัยนั้นอาคารหลังนี้เป็นอาคารที่ทันสมัย และออกแบบได้อย่างสอดคล้องกับริบทสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย และเมื่อผ่านมาเป็นระยะเวลานาน ระหว่างทางก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมแต่ขาดการวางแผนแบบองค์รวม ทำให้เกิดความไม่ลงตัวที่ตามมา “ซุ้มประตูวัง กำแพงแก้ว ท้องพระโรง หรือสวนแก้ว สิ่งเหล่านี้ คือเพชรเม็ดงามในพื้นที่วังท่าพระ ซึ่งอาคารหอสมุดแต่เดิมจะมีการต่อเติมเป็นห้องสมุดของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่ยื่นออกไปแทบจะชิดกำแพงรั้วเลย ลองจินตนาการตาม ถ้าเราเข้าไปอยู่ในห้องสมุดนี้ แล้วมองออกมา แทบไม่เห็นอะไรเลย เราเลยมองว่า เราจะเข้าไปปรับปรุงรีโนเวทยังไงให้มันเชื่อมโยงกับบริบทที่ทรงคุณค่า และอยู่ร่วมกันได้”
อาจารย์โอ๊ตได้บอกเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบปรับปรุงครั้งนี้ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญที่ตั้งใจไว้ หนึ่ง คือสร้างการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ใช้สอยภายในให้ดีขึ้นสอดคล้องกับแนวทางการสร้างพื้นที่เรียนรู้สมัยใหม่ สอง คือ การออกแบบให้อาคารอยู่ร่วมกับบริบทโดยรอบเกิดการรับรู้ของสถานที่ ด้วยการเปิดมุมมองให้พื้นที่ภายในสามารถเชื่อมโยงกับมุมมองภายนอก สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าของเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น ซุ้มประตูวังท่าพระ หรืออาคารอนุรักษ์ท่าช้าง สาม คือ การเพิ่มพื้นที่เรียนรู้ให้มากขึ้น และใช้พื้นที่ที่มีให้ได้ศักยภาพสูงสุด
02 : ปรับและเปลี่ยนจากปัญหาที่พบ
อาจารย์โอ๊ตและทีมออกแบบพยายามรักษาระบบโครงสร้างเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด โดยพยายามอ่านแปลนและทำความเข้าใจโครงสร้างที่อาจารย์สุริยาเคยออกแบบไว้ นั่นจึงเป็นที่มาของความชัดเจนในโครงสร้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในยุคนั้นที่ตรงไปตรงมาทั้งฟินกันแดดกันฝน เสา คานต่าง ๆ จากคาแร็กเตอร์เหล่านี้ อาจารย์โอ๊ตจึงเลือกที่จะสื่อสารภาษาทางสถาปัตยกรรม โดยเน้นองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมาบางส่วนด้วยการออกแบบแสงสว่างซึ่งทำร่วมกับบริษัท FOS Lighting Design และยังเป็นเส้นนำสายตาไปสู่พื้นที่ห้องสมุดด้านหลัง
ส่วนต่อเติมเดิมด้านนอก ถูกทุบและคืนให้เป็นพื้นที่โล่ง เชื่อมต่อกับบริบทผ่านทางสายตา ในขณะที่พื้นที่ภายในก็ปรับเปลี่ยนจากกำแพงทึบให้เป็นผนังกระจกบานใหญ่ที่ผู้อ่านสามารถมองวิวทิวทัศน์รอบเกาะกรุงเก่าได้อย่างมีเอกลักษณ์ โครงสร้างบางส่วนอย่างครีบอาคารเดิมที่อาจารย์สุริยาออกแบบ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ กลายเป็นอัตลักษณ์ของอาคารที่ไม่บอกก็รู้ว่า นี่คือการผสมผสานของอาคารเก่าและใหม่ได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน
จากห้องสมุดเดิมที่เชื่อมต่อสู่พื้นที่เก็บหนังสือชั้นใต้ดินผ่านบันได Dog Leg ถูกทุบและเปลี่ยนบันไดให้กลายเป็น Step Seat ที่เป็นทั้งพื้นที่อ่านหนังสือ นิตยสาร วารสาร ซึ่งมีเบาะนั่งเล่น เติมสีสันให้พื้นที่ดู Casual มากขึ้น เป็นพื้นที่นั่งเล่น พูดคุยไปในตัว หรือสามารถใช้เป็นที่นั่งสำหรับวันที่มีงานเสวนาเล็ก ๆ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่หมุนเวียนกันไปในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้พื้นที่ห้องสมุดที่มีจำกัดได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการอ่านเท่านั้น
ส่วนหนึ่งทางด้านขวาของห้องสมุด เดิมทีเคยเป็นห้องเก็บวิทยานิพนธ์ซึ่งมีจุดเด่นที่เพดานสูงเป็นพิเศษ แต่กลับใช้งานได้ไม่คุ้มค่า มีเพียงชั้นหนังสือสูง 2 เมตรวางอยู่เต็มพื้นที่ อาจารย์โอ๊ตจึงลงมือปรับเปลี่ยนโดยหารือกับพี่ ๆ บรรณารักษ์ “เราไม่ได้มาออกแบบอย่างเดียว เราต้องคุยกับพี่ ๆ ห้องสมุดด้วยว่ามีแผนอย่างไรบ้างกับหนังสือต่าง ๆ นี้ เพราะวิทยานิพนธ์ยุคหลัง ๆ เด็กก็ค้นคว้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราตัดสินใจทำทุกอย่างให้ค้นคว้าผ่านออนไลน์หมด เราก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้”
พื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงถูกปรับให้กลายเป็นห้องสมุดของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่เก็บหนังสือทรงคุณค่า และทำหน้าที่คล้ายมิวเซียมหนังสือขนาดย่อมที่ให้ผู้คนได้ชมอย่างใกล้ชิด และทำให้ผู้มาเยือนเกิดภาพจำด้วยการใช้วัสดุหลักเป็นไม้ และเน้นชั้นหนังสือให้โดดเด่นผ่านการออกแบบแสงสว่าง รวมถึงดิสเพลย์หนังสือโดยโชว์ปกแทนการโชว์สัน กระตุ้นให้คนที่ผ่านไปมาสนใจได้มากขึ้น ซึ่งแต่ละเล่มเองก็มี QR Code ที่ลิงค์ไปยังแพลทฟอร์มออนไลน์ เรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดยุคใหม่ที่ตอบโจทย์โลกดิจิทัลได้อย่างลงตัว
ตามความตั้งใจแรกหอสมุดมีเพียงชั้น 1 และชั้นใต้ดิน แต่ยุคหลัง หอสมุดพัฒนาตัวไปยังอาคารสำนักงานอธิการบดี ก็มีพื้นที่ห้องโสตฯ เพิ่มขึ้นที่ชั้นสาม ในขณะที่ชั้น 4 เป็นสำนักงานของหอสมุดซึ่งปัญหาคือทางสัญจรที่ไม่เชื่อมถึงกัน ทำให้นักศึกษาที่ต้องมาติดต่อต้องเดินเข้า ออกอาคารสะเปะสะปะกว่าจะถึงจุดหมายที่ต้องการ
เพื่อแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ อาจารย์เชื่อมต่อพื้นที่โดยประสานงานกับสำนักงานอธิการบดี และนำแปลนอาคารเดิมมาทดลองขึ้น 3D เพื่อวิเคราะห์ว่าพอจะเป็นไปได้ไหมหากจะสร้างทางสัญจรที่ไหลโฟลวขึ้นไปจนถึงพื้นที่โสตฯ ชั้น 3 ซึ่งระบบคานที่อาจารย์สุริยาออกแบบไว้ก็พอดิบพอดีกับระยะ และทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ลิฟท์ขนส่งหนังสือจากชั้น 4 ซึ่งต่อเติมภายหลังและแปะอยู่ข้างอาคาร ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ยังถูกผลักกลับเข้ามาอยู่บริเวณด้านใน และแปลงสภาพให้กลายเป็นลิฟท์ขนส่งคนไปด้วยในตัว
“จะเห็นได้ว่าการออกแบบงานรีโนเวทมันเป็นเรื่องยาก ยากตรงที่คุยกับคน วิเคราะห์สภาพเดิมของอาคาร ข้อจำกัดเหล่านั้นจะนำมาสู่การที่เราแทรกแซงยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเราได้พื้นที่อ่านหนังสือให้กับเด็ก ๆ หรือพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ”
ชั้นใต้ดิน เมื่อไม่มีการเจาะช่องเปิดให้แสงเข้าหรือมองเห็นทิวทัศน์ จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดเก็บหนังสือ ซึ่งมีการปรับปรุงขนาดของตู้และชั้นวางขึ้นใหม่โดยสั่งทำพิเศษ ให้มีขนาดที่จัดเก็บหนังสือได้จำนวนมากขึ้นและใช้พื้นที่ได้คุ้มค่ามากขึ้น แทนที่ชั้นหนังสือเดิม
ขึ้นมาถึงบริเวณชั้น 3 เราจะพบกับหน้าตาของห้องสมุดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการสืบค้นทางคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ พร้อมจัดเก็บคอลเล็กชันแผ่นเสียง DVD CD สารคดีทางด้านศิลปะต่าง ๆ และยังมีห้องประชุมกลุ่มย่อย และมีห้องชมภาพยนตร์ที่รองรับได้ 24 ที่นั่ง เพื่อให้รองรับการเรียนรู้ของนักศึกษาได้อย่างครอบคลุม และมีการปรับงานผนังบางส่วนให้กลายเป็นช่องเปิดกระจกที่มองเห็นท้องพระโรง และตึกพรรณราย ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัยศิลปากร
03 : นิทรรศการหมุนเวียน การเรียนรู้ที่มากกว่าการอ่าน
“ถ้าเราอยากให้มันเป็นห้องสมุดเพื่อศิลปะและการออกแบบ ประวัติศาสตร์โบราณคดีในระดับชาติ ผมมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือ แต่คือคอนเทนท์ที่อยู่ในห้องสมุด ผมไม่ได้มองว่าห้องสมุดเป็นพื้นที่เก็บหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เพราะองค์ความรู้มันไม่ได้มาจากแค่การอ่าน อาจเป็นการดู หรือการฟัง จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามมีนิทรรศการหมุนเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ และผสมผสานเข้ากับหนังสือที่เรามีอยู่”
เพื่อให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้มีชีวิตและไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ส่วนหนึ่งของห้องสมุดศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลในปัจจุบัน จึงมีบันไดเล็ก ๆ ที่นำเราไปสู่พื้นที่ Artist’s Book สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน โดยเปลี่ยนโฉมจากห้องซีร็อกซ์รก ๆ ให้มีการใช้งานพื้นที่ได้คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งอาจารย์โอ๊ตยังเสริมว่าพื้นที่ลักษณะนี้เป็นคอลเล็กชันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เช่นเดียวกับห้องสมุดศิลปะและการออกแบบในต่างประเทศที่มีคอลเล็กชันในลักษณะนี้อยู่มากมายทีเดียว โดยนิทรรศการในปัจจุบันจะจัดแสดงผลงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือศิลปิน (Artist’s book) หรือ ผลงานศิลปะในรูปหนังสือ (Book art) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับศิลปินจำนวนมากมาย และในอนาคตทางห้องสมุดยังมีแผนจะทำห้องสมุดภาพผลงานศิลปะและผลงานสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถหยิบยืมผลงานศิลปะ กลับไปที่บ้านได้อีกด้วย ทำให้เรื่องศิลปะและความงามกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนเข้าถึงได้ ตามแผนตั้งต้นที่วางไว้
อีกหนึ่งมุมเล็ก ๆ ของห้องสมุดยังมีนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ รวมถึงคุณค่าของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยปัจจุบันจัดแสดงผลงาน และตำราของศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนในอนาคตยังมีแพลนนิทรรศการเรื่องเล่าวังท่าพระ ซึ่งมีการค้นพบประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในสมัยอยุธยา และรัตนโกสิทร์ตอนต้น โดยผู้ที่เก็บรวบรวม คือ เหล่าอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของหลายภาคส่วน (เข้าชมนิทรรศการ ‘The Memoirs of Prof. Silpa Bhirasri’ ในรูปแบบ Virtual Tour ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library/)
นอกจากพื้นที่ห้องสมุด ฝั่งตรงข้ามซึ่งเคยเป็นลานจอดรถ ยังถูกพัฒนาวางแผนให้กลายเป็น สมาคมนักศึกษาเก่าศิลปากร และ art and design center พื้นที่จัดแสดงผลงานของคณาจารย์ และนักศึกษา เชื่อมเข้าสู่สวนแก้วซึ่งเป็นสวนเก่าแก่ภายในมหาวิทยาลัย ส่วนบริเวณหอประชุมก็มีการพัฒนาขึ้นใหม่เช่นกัน โดยภายนอกสถาปนิกเลือกใช้ผนังกระจกโปร่งแสงให้ดูเรียบง่ายถ่อมตัวที่สุด เพื่อให้อาคารอนุรักษ์ภายในมหาวิทยาลัยยังคงโดดเด่น ภายในหอประชุมถูกพัฒนาเพื่อรองรับกิจกรรมของนักศึกษาทั้งการแสดงความสามารถทางดนตรี หรือการสัมมนา โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนรองรับการทำกิจกรรมที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลา
(พื้นที่ภายในหอประชุมออกแบบด้วยโครงไม้ที่ทำขึ้นจากโปรแกรม Parametric สร้างมิติและช่วยเป็นผนังอะคูสติกกระจายเสียงได้ดี)
มีคนเคยกล่าวว่า พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์เชิงพื้นที่ เช่นเดียวกับหอสมุดโฉมใหม่ที่ได้รับการแปลงโฉมให้รองรับกิจกรรมที่หลากหลายของผู้คน จากคนไม่ชอบอ่านหนังสือ เมื่อพื้นที่ห้องสมุดดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชม สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นแรงกระตุ้นที่สร้างการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะดี ๆ ที่เราควรส่งเสริม เพื่อให้มีพื้นที่ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ห้องสมุดแห่งนี้จึงยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ โดยเราสามารถเข้าชมออนไลน์ในรูปแบบ Virtual Reality ได้ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้ ที่ https://www.facebook.com/SUlibrary
Location: มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ
Gross built area : 3,150 ตารางเมตร
Owner : Silpakorn University
Architect & Interior : Nantapon Junngurn , Junnarchitect Co., Ltd.
Structure & MEP Engineer : Seiri Co.,Ltd.
Lighting Design: Fos Lighting Design Co.,Ltd.
Contractor : Kankanit Construction Co., Ltd.
Photo Credit: Jinnawat Borihankijanan
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!