เมื่อทฤษฎีโลกเสมือนจริงอยู่ในงานสถาปัตยกรรม..จะเป็นอย่างไร?

หลังจากที่ Facebook ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Meta ที่เปรียบเสมือนการพัฒนาบริษัทสู่การเป็นแพลตฟอร์ม Metaverse ซึ่งเป็นการเชื่อมโลกแบบเสมือนจริงและอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน ซึ่งมนุษย์สามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ภายในโลกเสมือนนั้นได้ โดยไม่ใช่แค่การมองผ่านสมาร์ทโฟนหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบในปัจจุบันอีกต่อไป แต่ใช้งานผ่านโฮโลแกรม, virtual reality (VR), Augmented reality (AR) หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่งจะเป็นโลกในอนาคตที่ Mark Zuckerburg พยายามจะสร้าง และทำให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้

เทคโนโลยีโลกเสมือน (VR) ที่ว่านี้ คือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงให้มีความเสมือนจริง โดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง และประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ โดยจะตัดขาดผู้ใช้งานออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันเพื่อเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมจำลอง

หากพิจารณาสิ่งดังกล่าวในเชิง ที่ว่าง (Space) ภายในงานสถาปัตยกรรม อาจเป็นการนิยามถึง ‘พื้นที่จินตนาการ’ ที่สถาปนิกในอดีตวาดฝันถึง โดยพวกเขามักใช้ ‘เส้นกริด’ แทนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพื้นที่นามธรรมในอุดมคติ ที่ไร้การอ้างอิงและไม่มีจุดสิ้นสุด ที่ซึ่งบริบทและสภาพแวดล้อมสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างอิสระ โดย Rem Koolhaas สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์ และนักทฤษฎีสถาปัตยกรรมคนสำคัญแห่งยุค ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Delirious New York ว่า “เส้นกริดเป็นสิ่งที่แทนค่าถึงพื้นที่ในจินตนาการโดยไม่สนใจต่อพิกัดทางภูมิศาสตร์ และอยู่เหนือความเป็นจริง”

วันนี้จะขอกล่าวถึงแนวคิด โลกเสมือน หรือสภาพแวดล้อมจำลองในเชิงศิลปะและสถาปัตยกรรมเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดที่ล้ำสมัยในเชิงปรัชญาที่มาในอดีต ผ่านมุมของทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ

แนวคิด The Continuous Monument จากกลุ่มสถาปนิกหัวก้าวหน้า Superstudio

เมื่อปี 1966 เป็นการนิยามถึงโครงสร้าง Megastructure คล้ายกับถนนที่ลอยอยู่บนอากาศท่ามกลางตึกระฟ้า ที่มีฉากหลังเป็นเกาะแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์ก เมืองบรู๊คลิน และแม่น้ำฮัดสัน พื้นที่ทั้งหมดจะถูกอ้างอิงด้วยโครงร่างเส้นกริดสามมิติทรงสี่เหลี่ยมเรขาคณิต คล้ายกับพื้นที่ในจินตนาการที่เชื่อมโยงทั้งโลกเข้าด้วยกัน ประหนึ่งโลกใหม่ที่เป็นพื้นที่สำหรับการอยู่ร่วมกันแบบสังคมอุดมคติ โดยไม่มีการเจาะจงถึงสถานะของพลเมือง ทั้งเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา และวัฒนธรรม ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ ‘ที่ว่าง’ (space) แห่งนี้ รวมถึงการไม่เจาะจงเจาะจงถึงลักษณะทางกายภาพทางสถาปัตยกรรม อย่างเช่นรูปทรงอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆที่นำเสนอเป็นเพียงเส้นโครงร่างกริดสามมิติ

สิ่งดังกล่าวชวนให้นึกถึงสภาพแวดล้อมจำลองในเทคโนโลยี Virtual reality (VR) ที่ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมในโลกความจริง มุ่งสู่สภาพแวดล้อมจำลองในโลกจินตนาการของ space ในเชิงสถาปัตยกรรมของสถาปนิกหัวก้าวหน้า แนวคิดดังกล่าว สถาปนิกจาก Superstudio อ้างอิงมาจากงานเขียนของ Thomas Moore กวีชาวไอริช ที่ว่า ‘โลกอุดมคติอาจหมายถึงสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริงทางกายภาพ’ และใช้โครงสร้างกริดสามมิติในการถ่ายทอดแนวคิดแห่งโลกเสมือนแห่งใหม่ในอุดมคติได้อย่างดี

แนวคิด Non-Stop City จากกลุ่มสถาปนิกหัวก้าวหน้า Archizoom

เมื่อปี 1964 เป็นการนิยามถึงสภาพแวดล้อมจำลองของสังคม Dystopia ในอนาคตที่แผ่แขยายไร้จุดสิ้นสุดแม้กระทั่งเส้นขอบฟ้า ภายในเป็นสังคมการอยู่ร่วมกันที่ไม่คำนึงถึงสถานะของพลเมือง อาชีพ การศึกษา หรือความมั่งคั่ง ทั้งหมดดำรงอยู่ในพื้นที่ในจินตนาการที่ไม่อ้างอิงถึงสถานที่ตั้ง ไม่มีขอบเขตแน่ชัด และไม่เจาะจงถึงสภาพแวดล้อมว่าเป็นเช่นใด คล้ายกับการกำหนดเส้นกริดสองมิติลงบน ‘ที่ว่าง’ (Space) ในสภาพแวดล้อมสมมุติ

แนวคิดดังกล่าวเป็นสังคมอุดมคติที่ทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ อยู่ร่วมกันภายในสภาพแวดล้อมจำลอง โดยมีการวางสาธารณูปโภคและที่พักอาศัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไว้ตามจุดต่างๆ ของเมืองด้วยระบบกริด โดย Andrea Branzi สถาปนิกและนักทฤษฎีสถาปัตยกรรมจากกลุ่มได้เปรียบเปรยสาธารณูปโภคดั่งชุดข้อมูล (Data) ของระบบสารสนเทศ ที่ได้ถูกวางกระจายตามจุดต่าง ว่าเหมือนกับไซเบอร์เสปซที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสาธารณูปโภคได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงเสรีภาพในการย้ายตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างอิสระ และสภาพแวดล้อมที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรก็ได้

จากผลงาน Illustration ที่แสดงแนวคิด Nonstop City นั้น ได้ในเวลาต่อมาผลงานดังกล่าวได้ถูกจัดแสดงอีกครั้งในนิทรรศการสถาปัตยกรรม Superarchitettura ที่เมือง Pistoia ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1966 ในรูปแบบของ Art Installation โดยใช้เทคนิคการสะท้อนของห้องที่กรุกระจกรอบด้าน กับการจัดวางสิ่งของเชิงสัญลักษณ์ที่แทนค่าถึงสาธารณูปโภค อาทิเช่น เตนท์ ห้องสุขา ร้านสะดวกซื้อ ทำให้เกิดมุมมองที่ไร้จุดสิ้นสุดคล้ายกับสภาพแวดล้อมจำลองในเทคโนโลยี VR และผู้เข้าชมจะเปรียบเสมือนกับพลเมืองในโลกเสมือนที่ปราศจากสถานะ เพื่อจำลองพื้นที่ในอุดมคติที่ไร้ขอบเขตและมีสาธารณูปโภคและที่พักอาศัยแบบไม่จำกัด

อีกหนึ่งผลงาน Art Installation ที่ชวนให้นึกถึงโลกเสมือนไร้จุดสิ้นสุดก็คือ Infinity Mirror Room โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น Kusama Yayoi เมื่อปี 1965 โดยมีลักษณะเป็นเหมือนห้องกระจกที่ประดับด้วยหลอดไฟ และวัสถุต่างๆ บริเวณที่พื้นจะใช้การสะท้อนของน้ำจาก reflective pond เพื่อจำลองประสบการณ์ของการอยู่ในอยู่จักรวาลอันเวิ้งว้างที่ไร้ขอบเขต และเกิดการรับรู้ที่ลวงตาอันเกิดการสะท้อนไปมาไม่รู้จบ ในปัจจุบัน ผลงานดังกล่าวได้ถูกจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์ที่สำคัญหลายๆที่ทั่วโลก

นอกจากนี้ แนวคิดโลกเสมือนยังปรากฏในภาพยนตร์ Ready Player One โดย Steven Spielberg ซึ่งเป็นจินตนาการถึงในโลกอนาคตในปี 2045 ที่มีวิทยาการก้าวล้ำทันสมัย ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบสารสนเทศได้อย่างเสมอภาค แต่เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีการการแบ่งชนชั้นระหว่างคนรวยและคนจนอย่างเห็นได้ชัด คนทั่วไปต้องอยู่รวมกันในสถานที่ที่แออัดคล้ายสลัม ทุกคนจึงต้องการหลีกหนีจากโลกความจริง ไปอยู่ในโลกเสมือนที่เรียกว่า The Oasis ผ่านเทคโนโลยี Augmented reality (AR) ซึ่งจะเป็นจักรวาลเสมือนจริงที่ทุกคนสามารถทำทุกสิ่งได้ตามจินตนาการ และเป็นสังคมเสมือนที่มนุษย์สามารถเจอกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน และสามารถสร้างลักษณะทางกายภาพของบุคคลได้ตามที่ต้องการ และสวมบทบาทเป็นตัวละครในจินตนาการได้โดยปราศจากข้อจำกัด

รวมถึงเกมส์ Minecraft โดย นักออกแบบเกมชาวสวีเดน Markus Persson ที่เป็นลักษณะเป็นโลกเสมือน 3 มิติที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะบล็อกเหลี่ยม ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ในจักรวาลของเกม ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับคนอื่นๆได้ มีสังคม ลักษณะทางภูมิศาสตร์จำลองจากโลกความจริง โดยที่สามารถเลือกทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เกมส์นี้เป็นเกมส์ที่ไม่มีจุดมุ่งหมายอย่างแน่ชัด คือผู้เล่นจะมีอิสระในการเลือกว่าจะเล่นเกมอย่างไร เป็นตัวละครแบบไหน และสามารถสร้างโลกในจินจนาการตามที่ผู้เล่นต้องการได้

จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น หากมองในเชิงสถาปัตกรรม จะชวนให้ให้นึกถึงโลกเสมือนแห่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่โลกทางกายภาพที่มนุษย์ดำรงอยู่ หรือที่เรียกว่า ‘ไซเบอร์สเปซ’ (cyberspace) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอ้างอิงได้ ไม่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ไม่มีสถานที่แท้จริง และไม่ไม่ขอบเขต รวมถึงการไม่ระบุตัวตนและสถานะของบุคคล ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่ว่างทางสังคมในจินตนาการ ที่ทุกคนมีสิทธิมาพบเจอกันได้โดยไม่ผ่านอุปสรรคทางด้านภูมิศาสตร์ และมีสิทธิในการเข้าถึง space ในเชิงสถาปัตยกรรมได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากข้อจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวาทกรรมของ Mark Zuckerburg ที่มีต่อ Metaverse ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ว่า ‘บนโลกเสมือน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ ทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน’

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว