ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือพนักงานออฟฟิศ ไม่รู้ทำไมประโยคเหล่านี้ถึงทิ่มแทงใจดำมนุษย์วัยกลางคนมาหลายยุคสมัย อาจเพราะภาพของออฟฟิศคอกเล็ก ๆ ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันจนล้า มีกำลังใจเป็นการขีดฆ่าวันที่ในปฏิทินเพื่อรอวันหยุด
โชคดีที่ปัจจุบันวัฒนธรรมการทำงานเหล่านั้นมีให้เห็นน้อยลง เพราะการออกแบบออฟฟิศสมัยใหม่ที่เอื้อให้ชั่วโมงทำงานกลายเป็นชั่วโมงแห่งความคิดสร้างสรรค์ ผ่อนคลาย หนึ่งในนั้น คือ สตูดิโอเทคโนโลยีที่ผลิตและวิจัยระบบอัจฉริยะ AI ของไทยอย่าง BAKSTERS ที่เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ให้ยืดหยุ่น และคำนึงถึงความต้องการของพนักงานเป็นสำคัญ จะนั่งทำงานในห้องประชุม นั่งเก้าอี้แบบบีนแบ็กกับโต๊ะญี่ปุ่นเล็ก ๆ หรือขอเวลาส่วนตัวงีบหลับสักพัก BAKSTERS ก็เชื่อว่าทุกรูปแบบของการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ที่นี่
แสง เงาและความเป็นธรรมชาติ
แนวคิดที่ว่าส่งต่อสู่ทีมสถาปนิกจาก mun architects สตูดิโอออกแบบที่หลงใหลในความเป็นธรรมชาติของงานสถาปัตยกรรม มารับหน้าที่ปรุงแต่งเรื่องราวการใช้งาน ผสมผสานกับการรีโนเวทรูปลักษณ์ของตึกแถวสองคูหาได้อย่างกลมกล่อมลงตัว
“ทางเจ้าของเขาอยากให้ออฟฟิศดูสนุก มันส์แต่ไม่เครียด เราเลยตีความ นำความเป็นธรรมชาติมาลดทอนให้เกิดบรรยากาศสบาย ๆ เพราะเรามองว่าด้วยความที่ออฟฟิศเป็นสตูดิโอด้านเทคโนโลยี ที่ต้องไวทันโลก ได้บรรยากาศแสงธรรมชาติมาช่วยเบรกให้มันไม่เครียด ก็น่าจะกลมกล่อมดี”
ความเป็นธรรมชาติที่สถาปนิกเริ่มต้นเล่า สะท้อนผ่านการออกแบบวางผังในทุก ๆ พื้นที่ของอาคารให้เบลอเป็นเนื้อเดียวกัน หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือการเบลอขอบเขตความเป็นห้องสี่เหลี่ยมให้เหลือน้อยที่สุดนั่นเอง ทำให้เราพบเห็นองค์ประกอบแปลกตาเป็นตัวเชื่อมพื้นที่แต่ละชั้นอย่างเนียบเนียน ไม่ว่าจะเป็นบันไดวนที่สร้างความรู้สึกเสมือนกำลังเดินขึ้นสู่เนิน สไลเดอร์ที่เติมความสนุก หรือ Step Seat ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งบันไดและที่นั่งชมกิจกรรมไปในตัว
ภายในอาคารพาณิชย์สองคูหา สถาปนิกได้ไอเดียจากอาคารเก่า ซึ่งเดิมเป็นร้านสเต็กเจฟเฟอร์ที่ระเบิดพื้นที่ชั้นลอยให้โปร่ง เชื่อมถึงกันเป็นพื้นที่กว้างทำให้อาคารดูโล่งสบาย และเสริมในเรื่องของแสงเงา แสงธรรมชาติที่จะเข้าสู่ภายในมากเป็นพิเศษ โดยบริเวณส่วนหน้าอาคาร หรือทิศทางที่แสงลงจะถูกเว้นให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้ต้นไม้และธรรมชาติเข้ามาสร้างบรรยากาศให้การใช้งานอาคาร เชื่อมต่อกับผนังกระจกใสที่พนักงานสามารถมองธรรมชาติสีเขียวนี้เป็นจุดพักสายตาระหว่างวัน
ใช้งานพื้นที่ได้อย่างสนุก ผ่อนคลาย และเป็นธรรมชาติ
อีกหนึ่งความหมายของ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ภายในอาคารแห่งนี้ คือ ความผ่อนคลาย ความสนุก การใช้งานพื้นที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่เกร็ง เพื่อให้พนักงานจำนวน 12 ชีวิตรู้สึกว่าที่แห่งนี้คือ พื้นที่ของเขา
“ความเป็นธรรมชาติมันจะเบลอไปหมดเลย เราจะไม่รู้เลยว่าเราเดินอยู่ในห้องที่ 1 หรือห้องที่ 2 เพราะมันจะเป็นเพียงมวลรวม ๆ เราพยายามเอาบรรยากาศแบบนั้นเข้ามาอยู่ในอาคาร จัดวางฟังก์ชันให้มันคลี่ออกจากกัน เพราะถ้าเราวางห้องติดกับห้อง คนใช้งานจะรู้สึกได้เลยว่า นั่นคือพื้นที่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และมันจะขาดความเป็นธรรมชาติไป”
ในการวางผังนอกจากจะเบลอขอบเขต สถาปนิกยังคลี่ฟังก์ชันแต่ละส่วนให้แยกออกจากกัน โดยบริเวณชั้นล่างสุดจะค่อนข้างเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงเป็นคาเฟ่ในอนาคต และยังเป็นบรรมยากาศที่ตรงใจกับหนึ่งในทีมเจ้าของซึ่งชอบนั่งทำงานภายในร้านกาแฟ
“อย่างบริเวณห้องน้ำชั้นล่างสุด พื้นที่มันค่อนข้างแคบและเตี้ย เราก็ไม่อยากฝืนพยายามทำให้มันดูกว้าง ถ้ามันแคบเราก็ให้มันแคบไปเลย แต่แคบ อึดอัดแบบไหนที่มันรับได้ มีกิมมิค เราเลยทำเป็นระนาบผนังก้อนใหญ่สีดำทึบ แล้วไประเบิดสู่ด้านหลังซึ่งเป็นส่วนห้องน้ำ สร้างบรรยากาศอีกแบบในการเข้าถึง”
เมื่อขึ้นสู่พื้นที่ชั้นลอยจะเป็นมุมทำงานเล็กๆ และห้องประชุมที่เชื่อมกับคอร์ดต้นไม้ เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาลดความรู้สึกทึบตันให้กับพื้นที่ ก่อนจะขึ้นสู่ชั้นสองด้วยบันไดโค้งซ่อนงานระบบไว้ด้านหลัง ซึ่งเปิดโล่งเป็นพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ ในรูปแบบการนั่งทำงานแบบโต๊ะเตี้ยและบีนแบ็กที่แตกต่างออกไป ให้ความรู้สึกผ่อนคลายจากทั้งสเปซ และแสงธรรมชาติ รวมถึงคอร์ดต้นไม้ ท่ามกลางพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มี Step Seat เรียงรายสู่ชั้นสาม มุมเล็ก ๆ บริเวณด้านหลังยังออกแบบให้เป็นพื้นที่ Nap งีบหลับสำหรับพนักงาน หรือจะมานั่งทำงานก็ยังได้ ในเวลาที่ต้องการสมาธิสูงสุด
บริเวณพื้นชั้นสอง เติมความสดใส สนุกและมีสีสันด้วยพรมที่ออกแบบและทำขึ้นใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดศิลปะที่ทางเจ้าของสะสมอยู่เดิม
ชั้นสาม เป็นโซนนั่งทำงานหลักที่เปิดโล่ง คงแนวคิดหลักนั่นคือการลดขอบเขตความเป็นห้อง เสริมความรู้สึกสนุกด้วยการสร้างสะพานเหล็ก เชื่อมเข้าสู่ห้องประชุมที่เสมือนวางซ้อนทับบนโครงสร้างคอนกรีตเดิมได้อย่างน่าสนใจ และเน้นแสงธรรมชาติให้เข้าถึงได้เช่นเดียวกับชั้นอื่น ๆ ของอาคาร
ชั้นบนสุดจะเริ่มเป็นส่วนตัวมากขึ้น ด้วยการวางฟังก์ชันที่เป็นห้องประชุม พื้นที่พักผ่อน และห้องนอนเล็ก ๆ รองรับสำหรับพนักงาน หรืออาจเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ประเภทอื่นได้ในอนาคต ซึ่งแต่ละชั้นจะโดดเด่นด้วยการเจาะช่องว่างเปิดทะลุจากชั้นสู่ชั้น เพื่อลดทอนขอบเขต หากเดินอยู่ภายในอาคารแห่งนี้ เราจะรู้สึกได้เลยว่า แต่ละชั้นถูกรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันตามความตั้งใจแรกของสถาปนิก
ความหมายของสัจจะ
อีกหนึ่งความเป็นธรรมชาติ ส่งผ่านวัสดุของอาคาร ซึ่งเน้นไปที่สัจจะวัสดุ อย่างเหล็ก และโครงสร้างเก่าซึ่งใช้เป็นคอนกรีตเดิมสกัดผิวให้เหลือเพียงแค่คานหล่อ เสริมความอ่อนโยน เรียบง่ายด้วยการใช้ไม้ตะแบกซึ่งมีตาและลวดลายที่เป็นธรรมชาติ มาสร้างระนาบแนวตั้ง เพื่อลดทอนความแข็งแกร่งของอาคารให้ดูซอฟท์ลง
“เราอยากให้มันเบลอที่สุดเท่าที่จะเบลอได้ อาคารไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์เพอร์เฟ็กต์ในตัวเองเสมอไป เพราะเราอยากให้อาคารมันเติบโต แก่ตัวไปเรื่อย ๆ มีชีวิตของมันเอง พอเป็นแบบนี้ พื้นที่แต่ละส่วนจะชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่อยู่กับภาพรวมก็ยังกลมกลืน” สองสถาปนิกเล่าทิ้งท้าย
Location: หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพฯ
Building Area: 420 sq.m
Architect : Podjanarit Nimitkul, Charunwat Mauleekulprairoj, Sasiwan Panya, Ruchira Sawaengphet, Phatcharapong Paiprasert
Interior : Krissada Tansunsathien
Owner : Baksters Co.,Ltd.
Main contractor : Work of Work Co.,Ltd.
Interior contractor : Work of Work Co.,Ltd.
Civil Engineer : Work of Work Co.,Ltd.
Photo : Jinnawat Borihankijanan, Soopakorn Srisakul
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!