“บ้าน” หรือที่พักอาศัยเป็นความใฝ่ฝันของหลายๆ คนที่อยากจะมีพื้นที่อยู่อาศัยพักผ่อน ที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ใช้สอย และสะท้อนตัวตนได้เป็นอย่างดี แต่บ้านแบบไหนกันที่จะเข้ามาตอบคำถามเหล่านั้น ที่จะช่วยพาเราด่ำดิ่งลงไปในความสุขที่มากกว่าบ้านทั่ว ๆ ไป หากใครยังไม่มีไอเดีย ยังไม่รู้ว่าจะสร้างบ้านแบบไหน Dsign Something จะพาไปดูดีไซน์บ้าน 10 หลัง ที่มียอดคนดูมากที่สุดในปีนี้ ซึ่งพวกเราตั้งใจนำกลับมาบอกเล่าความน่าสนใจของการออกแบบให้ได้ชมกันอีกครั้ง
01 V House
บ้านรักสงบของคุณวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกแห่ง VVA ที่หวนกลับสู่ความเรียบง่ายในแบบสามัญ
“ผมชอบบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสงบ ไม่ต้องตื่นเต้น หรือไม่จำเป็นต้องว้าว นี่เป็นความรู้สึกแรกที่มีเลย” คุณวิน-วรุตม์ วรวรรณ ผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects (VVA) กล่าว
เดิมทีครอบครัวอาศัยอยู่ภายในบ้านทาวน์เฮาส์ที่ชั้นล่างเปิดเป็นออฟฟิศเล็กๆ เมื่อลูกทั้งสามคนเริ่มโต ต้องการพื้นที่ส่วนตัวที่มากขึ้น ก็ถึงเวลาของการออกแบบ ทำบ้านหลังใหม่ที่เป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้เพียงพอต่อภรรยาและลูกๆ โดยมี ‘ไม้ คอนกรีต เหล็ก’ ที่คุณวินชื่นชอบเข้ามาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบครั้งนี้
Designer : Vin Varavarn Architects (VVA)
อ่านบทความบ้าน V House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3mBRBnK
02 Mit Chit House
บ้านมิตรชิดที่ปิดมิดชิด และชวนครอบครัวมาใกล้ชิดกันกว่าที่เคย
เมื่อทีมสถาปนิกเริ่มต้นบทสนทนากับลูกค้าและมีโอกาสได้ลงพื้นที่ครั้งแรก สิ่งที่พบ คือ ความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งผ่านได้อย่างชัดเจน ประกอบกับการที่ที่ดินของหมู่บ้านมีความเว้าแหว่ง และถูกปล่อยให้รกร้าง ความเปิดโล่งเหล่านั้น จึงเกิดเป็นไอเดียที่ทำให้ผู้ออกแบบมองหาภาษาของสถาปัตยกรรมที่สร้างทั้งความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยโดยมาจากงานดีไซน์ไม่ใช่เพียงแค่องค์ประกอบผิวเผินอย่างรั้ว หรือกรงเหล็กในแบบที่เราคุ้นเคยกันในบ้านแบบไทย ๆ
Designer : Looklen Architects
อ่านบทความบ้าน Mit Chit House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3FDZxfs
03 ‘บ้านนนท์’
เมื่อความสุข แปลงกายเป็นสถาปัตยกรรม
จากความเป็นครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียว นำมาสู่การวางผังบ้านครอบครัวขยายหลังดังกล่าว โดยที่ความต้องการจากทางเจ้าของนั้นไม่ได้มีอะไรมากเป็นพิเศษ เพียงแต่ต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับความเป็นอยู่ของครอบครัว 3 เจนเนอเรชัน ซึ่งก็คือคุณตาคุณยายที่อาจจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในอนาคต คุณพ่อคุณแม่ และลูกๆ ทั้ง 3 คน บ้านเก่าสองชั้นขนาด 300 ตารางเมตรจึงถูกรีโนเวทให้มีฟังก์ชันเพียงพอกับทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณตาและคุณยาย ส่วนบ้านหลังใหม่สร้างขึ้นเพื่อขยายเรื่องราวของลูกๆ ซึ่งอาจจะมีครอบครัวเป็นของตัวเองในอนาคต
Designer : SPACE STORY STUDIO
อ่านบทความบ้าน บ้านนนท์ เต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/3FJb1yA
04 81 ‘Trans-(parent) House’
จากบ้านทรงกล่องเต็มผืนที่ดิน สู่การเปลี่ยนถ่าย สร้างความโปร่งใสที่สวยงามเหนือกาลเวลา
เมื่อขยับขยายมาซื้อบ้านเป็นของตนเอง ในย่านราชพฤกษ์ ซึ่งมีที่ดินราคาค่อนข้างสูง ความต้องการของเจ้าของบ้านจึงมาพร้อมความคุ้มค่า ที่ทุกสเปซในการออกแบบจะต้องใช้ประโยชน์ได้สูงสุด รวมถึงจัดวางให้เต็มพื้นที่ดิน ประกอบกับการที่ทั้งคู่มีอาชีพเป็นคุณหมอ และเจ้าของกิจการส่วนตัว ซึ่งต่างก็ใช้เวลาส่วนมากของวันไปกับการทำงาน บ้านหลังนี้จึงต้องตอบสนองในเรื่องการดูแลรักษา ความเรียบง่ายของการอยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการใช้ต้นไม้และพื้นที่สีเขียว เพื่อประหยัดเวลาในการดูแลรักษา
Designer : TOUCH Architect
อ่านบทความบ้าน 81 Trans-(parent) House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/32Id4nC
05 Full-House
เมื่อสถาปัตยกรรมรวมความสัมพันธ์ของบริบท ผู้อยู่อาศัย และวัสดุ
หากเคยเห็นผลงานต่างๆ ของ WARchitect ส่วนใหญ่เราจะคุ้นตากับอาคารแนวดิบ เท่ ลอฟท์ แต่สำหรับบ้านหลังนี้รูปลักษณ์กลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่มีหัวใจสำคัญของบ้านเป็นสมาชิกตัวน้อยทั้ง 2 คนที่เชื่อมโยงสองครอบครัวใหญ่เข้าไว้ด้วยกันภาพรวมในการออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมดจึงเน้นไปทางโคซี่ อบอุ่น มีความอ่อนโยนและปลอดภัยกับเด็กเสียมากกว่า สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ในใจที่ทางเจ้าของและสถาปนิกตั้งไว้ ไปพร้อมๆ กับการออกแบบฟังก์ชันภายในเพื่อสมาชิกทั้ง 9 คน
Designer : WARchitect
อ่านบทความบ้าน Full House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/32pW7yR
06 PSNK House
‘แยก’ ฟังก์ชัน แต่ ‘รวม’ ความอบอุ่นของบ้านสองหลังให้เป็นเรื่องราวเดียว
จากผืนที่ดิน 2 งาน ในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ที่มองเห็นวัดพระธาตุดอยสุเทพ และยอดทิวเขาปลายตา สู่ PSNK House บ้านแฝด 2 หลังคาภายใต้การใช้งานบางฟังก์ชันร่วมกันของ 2 ครอบครัว สมาชิกครอบครัวใหญ่ ประกอบไปด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ลูกชาย และลูกสาว ผู้ซึ่งกำลังขยับขยายสร้างครอบครัวพร้อมมีลูกเล็กเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ที่กลายเป็นขวัญใจของบ้าน บ้านแฝดหลังนี้จึงแบ่งพื้นที่ของสองครอบครัวอย่างชัดเจน กล่าวคือ บ้านของครอบครัวลูกสาว และบ้านของคุณพ่อคุณแม่และลูกชาย ในขณะที่ยังเชื่อมโยงเรื่องราวความอบอุ่นไว้ภายใต้พื้นที่คอร์ดยาร์ทสีเขียว และพื้นที่รับประทานอาหาร
Designer : PLADIB Architect
อ่านบทความบ้าน PSNK House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/317bBqJ
07 Inside-Out House
บ้านทึบนอกโปร่งใน ที่รวมนิยามความสุขของสมาชิกครอบครัว
ผู้อยู่อาศัยหลักของบ้านหลังนี้มีทั้งหมด 3 คน นั่นคือ คุณพ่อ (คุณสมบูรณ์) คุณแม่ และลูกชาย ทั้งสามค่อนข้างมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน โดยทางคุณพ่อจะชื่นชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในแบบโมเดิร์น และมินิมอล ดูแลรักษาง่าย แต่ก็ต้องการให้บ้านมีลมโกรกเย็นสบาย และมีระเบียงที่กว้างขวาง ผิดกับคุณแม่และลูกชายที่ค่อนข้างหวงแหนความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบให้ใครมองเห็นกิจกรรมส่วนตัวที่ซ่อนอยู่ภายในบ้าน ‘ความเปิดโล่ง โปร่งสบายและความเป็นส่วนตัว’ จึงเป็นโจทย์ที่ขัดแย้งกันทั้งแนวคิดและไลฟ์สไตล์ของสมาชิกครอบครัว
Designer : Studio Krubka Co.,Ltd.
อ่านบทความบ้าน Inside-Out House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3pz0QXn
08 L18 House
จากทาวน์เฮาส์หลังเก่า สู่บ้านเช่าที่นิยาม ‘ความยืดหยุ่น’ ผ่านการใช้งานพื้นที่
เมื่อทาวน์เฮาส์หลังเก่าในซอยลาดพร้าว 18 ไม่มีผู้เช่า ถูกปล่อยว่าง ทิ้งร้างและทรุดโทรมมานานหลายปี ก็ถึงคราวต้องปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อให้สมบัติของครอบครัวหลังนี้ กลับมามีชีวิต โดยอาจจะกลายเป็นอยู่อาศัยชั่วคราวของทางเจ้าของ หรือปล่อยให้เช่าอีกครั้งในอนาคต โจทย์ของการรีโนเวทบ้านเก่า จึงถูกส่งต่อให้คุณยอท – สิระกิจ เจริญกิจพิสุทธิ์ และคุณนาฏ – สินีนาฏ สัพทานนท์ สองสถาปนิกจาก OAAS มารับช่วงต่อ
Designer : OAAS
อ่านบทความบ้าน L18 House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3FOaSJS
09 Maneeya House
แปลงโฉมบ้านขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ สู่นิยามใหม่ของคำว่า ‘พอดี’
ผู้อยู่อาศัยหลักของบ้าน Maneeya House มีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย คุณพ่อ คุณแม่ และลูกอีก 2 คน ด้วยความที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน ทำให้คุณวัฒน์กลายเป็นคนเนี้ยบ และใส่ใจในรายละเอียดสูง การแปลงโฉมในครั้งนี้ ทางเจ้าของอยากให้บ้านหลังแรกขยายขนาดใหญ่กว่าเดิมเกือบอีกเท่าหนึ่ง โดยที่ฟังก์ชันภายในไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่า มีจำนวนห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือฟังก์ชันอื่นๆ เท่าเดิม รวมถึงอยากได้สเปซโล่งๆ ที่ทลายข้อจำกัดของบ้านจัดสรร ซึ่งมักจะมีผนังกั้นเป็นสัดส่วนมากเกินไป จนทำให้บ้านดูแคบและแน่นไปเสียหมด
Designer : I like design studio
อ่านบทความบ้าน Maneeya House เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3qxxTdR
10 บ้าน ภ (ดิบ) พอดี
ที่บรรจุความทรงจำ และความหมายที่มีคุณค่าของครอบครัว
คุณเหลียงเล่าถึงที่มาของการริเริ่มคิดสร้างบ้านหลังนี้ว่า “เมื่อสักสี่ห้าปีก่อน คุณพ่อผมป่วย ผมก็อยู่คอนโดมานาน เลยคิดว่าน่าจะมาอยู่รวมกัน จะได้ดูแลกันแบบทั่วถึง แชร์สิ่งอำนวยความสะดวก เรื่องคน รถ การดูแลความสะอาดพื้นฐาน แต่ที่ดินจริงๆ ก็ถือว่าค่อนข้างจะเล็ก 130 ตารางวา ในช่วงบ้านยังไม่ทันสร้างเสร็จดี ผมก็ได้ลูกสาวเพิ่มมาอีกคน กลายเป็นว่ามีคุณแม่ผมอยู่ พ่อตาแม่ยายผมอยู่ แล้วก็ลูกอีกสามคน เป็นบ้านที่คนอยู่เยอะ แล้วก็อยู่ในพล็อตที่เล็ก ผมก็พยายามที่จะทำให้บ้านหลังนี้มันอยู่สบายๆ คนในครอบครัวเห็นกันเองเยอะๆ เหมือนจุดที่เรามาอยู่ด้วยกันคือการได้เจอกัน ก็ให้คนรุ่นปู่ย่าตายายเจอกับรุ่นหลานๆ มันก็เปลี่ยนชีวิตไปพอสมควร มีชีวิตชีวาขึ้นเยอะ”
Designer : Atelier of Architects
อ่านบทความบ้าน บ้าน ภ (ดิบ) พอดี เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3JnpMsR
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!