“Hypothesis ถ้าแปลตรงตัวคือ สมมุติฐาน ซึ่งมันคือแก่นของบริษัท เราชอบตั้งคำถามกับโปรแกรมว่ามันมีอะไรใหม่ ๆ ได้ไหม ยิ่งอะไรที่มันมีฟังก์ชันหลากหลาย เราก็พยายามผสมผสานแล้วลองหาพื้นที่ตรงกลางที่มันยืดหยุ่น”
จากการตั้งคำถามและการทดลองของ Hypothesis สู่การออกแบบ Search Entertainment พื้นที่อเนกประสงค์ที่เป็นทั้งสตูดิโอถ่ายงานของช่อง 3 พื้นที่จัดงาน Meet & Greet ออฟฟิศ และร้านกาแฟ เมื่อพื้นที่หลากฟังก์ชัน ยืดหยุ่นและมาอยู่ร่วมกัน สถาปัตยกรรมจึงต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อรอการเติมเต็ม ผ่านงานดีไซน์ที่เรียบง่าย แต่สร้างเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง นำโดยคุณบิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา Design Director และคุณพล-พลสิทธิ์ แซ่เฮ้ง Senior Architect จาก Hypothesis
เตรียมพื้นที่เพื่อตอบรับความต้องการ
เริ่มต้น คุณบิวเล่าว่า “ก่อนอื่นเลย เรารวบรวมทุกฟังก์ชันที่ต้องการ และมองหาพื้นที่ตรงกลางที่สามารถเชื่อมโยงหากันได้ หลังจากนั้นจึงนำโปรแกรมมาจัดเรียงและเตรียมพื้นที่ให้ Overlap กัน เพื่อสร้างออกมาเป็นพื้นที่ที่สามารถ Sharing Space กันได้”
การออกแบบพื้นที่อเนกประสงค์ที่ทุกฟังก์ชันต้องพร้อมยืดหยุ่นและเปลี่ยนไปในอนาคต เราจะเห็นการออกแบบที่แตกต่างออกไป โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘การเตรียมพื้นที่’ โดยทีมออกแบบจะเตรียมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ไว้อย่างเป็นสัดส่วนโดยแบ่งเป็นส่วนด้านหน้า ส่วนกลางและด้านหลัง ให้มีลักษณะของการใช้งานที่แตกต่างกันตามบริบท โดยส่วนด้านหน้าที่มีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงมากที่สุดจะถูกจัดเตรียมให้กลายเป็นพื้นที่คาเฟ่ ซึ่งโดดเด่นด้วยการเปิดโล่ง และใช้กระจกเพื่อรับแสง
ในขณะที่สองส่วนถัดไปออกแบบให้เป็นพื้นที่ปิดในลักษณะ Enclosed Space ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถใช้ในการจัดงานอีเวนท์ หรือใช้เป็นสตูดิโอที่รองรับด้วยเทคนิคแสง สี เสียงอย่างเต็มที่ เมื่อจัดเตรียมพื้นที่ทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าของและสถาปนิกจึงมีการพูดคุยและตัดสินใจร่วมกันว่าพื้นที่แต่ละส่วนควรจะเป็นอะไร ทำให้หน้าที่ของสถาปนิกไม่ใช่เพียงการสร้างผลงานที่สวยงามขั้นสุดท้ายเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมพื้นที่และฟังก์ชันให้เพียงพอและตอบรับกับความต้องการ
เรียบง่าย แต่สร้างความกลมกลืน
อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่เราเห็นภายในโครงการ คือ การออกแบบที่ต้องแสดงถึงความเรียบง่ายไว้ก่อน กล่าวคือ การออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นลักษณะโครงสร้าง เติมแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และส่วนอื่น ๆ ที่สามารถปรับ เคลื่อนย้ายและยืดหยุ่นได้ โดยลดเฟอร์นิเจอรหรือวัสดุที่เป็นงาน Built-in ทั้งหมดลง เผื่อให้ฟังก์ชันทุกส่วนสามารถทำงานร่วมกัน หรือปรับใช้งานได้ตามความเหมาะสม เช่น เปลี่ยนพื้นที่คาเฟ่ให้กลายเป็นห้องจัดอีเวนท์ที่มีแสงเข้า หรือส่วนของสตูดิโอเองก็ตาม
ถึงแม้จะเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ทีมออกแบบก็ยังเติมรายละเอียดเล็ก ๆ ของการออกแบบที่แฝงอยู่ในอาคารทำให้ภาพรวมทั้งหมดดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยรูปแบบเส้นสายของโครงสร้างฟาซาด หรือสร้างความน่าสนใจด้วยสีโทนสดใสอย่างสีเทอร์ควอยส์ เมื่อมองภาพรวมของอาคารจึงทำให้ทั้งหมดยังคงอยู่ในธีมเดียวกัน นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เสมือนเป็นจุดนำสายตา เป็นสัญลักษณ์ง่าย ๆ ที่บ่งบอกให้ผู้ใช้งานรู้ว่าควรเดินจากจุดไหนไปยังจุดไหน และยังสร้างความเชื่อมต่อของสเปซได้ในอีกนัยหนึ่ง
สื่อกลางของฟังก์ชัน ความสวยงาม
“เราพยายาม Compromise ให้ทุกส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้กระทั่งในแง่ของโจทย์จากทางเจ้าของหรือซินแสเอง เราพยายามทำให้งานดีไซน์มันอยู่ในจุดที่บาลานซ์ทั้งเรื่องงบประมาณ ดีไซน์ภาพรวมทั้งหมด แล้วก็ความต้องการ และฟังก์ชัน นี่คือ สิ่งที่เราพยายามสร้างสมมุติฐานแล้วหาคำตอบออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้” คุณบิวเล่า
ด้วยข้อจำกัดอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือเรื่องของงบประมาณ ทำให้สถาปนิกต้องมองหาการสร้างภาษาของสถาปัตยกรรมผ่านการดีไซน์อย่างง่าย เพื่อตอบโจทย์ให้ครบครันทั้งเรื่องฟังก์ชัน ความสวยงาม ซึ่งในครั้งนี้สถาปนิกเลือกออกแบบฟาซาดอาคารทั้งหมดด้วยการใช้ไฟเบอร์ซีเมนซ์ที่ตอบโจทย์ฟังก์ชันและมีราคาที่เข้าถึงได้
ด้วยแสงจากทิศใต้ที่เข้าสู่อาคารโดยตรง การออกแบบฟาซาด สถาปนิกจึงมองหาวัสดุที่ช่วยในการกรองแสง เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ภายในอาคาร ซึ่งสุดท้ายก็มาลงตัวที่ไฟเบอร์ซีเมนต์ SCG D’COR Trim หรือวัสดุตกแต่ง เอสซีจี เดคคอร์ รุ่นบัวผนัง จากแบรนด์ เอสซีจี เดคคอร์ ที่ตอบโจทย์ด้วยลักษณะพิเศษ สามารถทนความร้อน แข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายใน ที่สำคัญยังมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับการก่อสร้างอาคารใหญ่ ในแง่ของความสวยงามสถาปนิกยังนำมาติดตั้งโดยหันด้านเว้าออกสู่ภายนอก สร้างลูกเล่น และเพิ่มมิติของแสงเมื่อเข้าสู่ภายในอาคาร
“Hypothesis เราตั้งคำถามกับวัสดุด้วย เพราะจริง ๆ ไฟเบอร์ซีเมนต์ตัวนี้ มันจะเป็นลักษณะเหมือนคิ้วอาคารที่เขาใช้ด้านเรียบ แต่ด้านที่เป็น Volume เป็นเพียงเทคนิคทางการผลิตเพื่อให้น้ำหนักของไฟเบอร์ซีเมนต์ตัวนี้เบาขึ้น แต่ตอนที่เราได้โปรดักต์มา เรากลับรู้สึกว่าด้านโค้งมันมีความน่าสนใจบางอย่าง น่าจะทำให้เกิด Volume ของแสง ถ้าเราเอามาเรียงกันในแพตเทิร์น มันอาจทำให้แสงตกกระทบและดูน่าสนใจขึ้น เราเลยนำวัสดุชนิดนี้มาใช้งานทั้งภายนอก ภายใน ทั้งรั้ว เพื่อคุมโทนทั้งตึกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ดูไม่แตกแยกกัน” คุณพลเสริม
ด้านหน้าและด้านหลังของอาคารยังเสริมด้วย SCG D’COR C-Channel หรือวัสดุตกแต่ง เอสซีจี เดคคอร์ รุ่น ซี-ชาแนล จากแบรนด์ เอสซีจี เดคคอร์ ที่มีลักษณะสวยงามคล้ายเหล็ก แต่มีน้ำหนักเบา อีกทั้งยังทนทานต่อสภาพอากาศ และมีความแข็งแรงสูง สามารถใช้งานโครงสร้างภายนอกอาคารได้สบาย ๆ
“สำหรับ Hypothesis เราค่อนข้างตั้งคำถามย้อนแย้ง เราพยายามเลือกใช้วัสดุที่ค่อนข้างเห็นทั่ว ๆ ไป เช่น ไม้ เหล็กหรือไฟเบอร์ซีเมนต์ แต่เราเอามาพลิกแพลง แล้วหาคำตอบที่มันมีความใหม่จากที่เราเห็นเป็นนอร์ม เหล็กขึ้นสนิมได้ไหม เราเลือกใช้ไม้เก่าได้ไหม หรือกระจก เราเลือกใช้กระจกแตกได้ไหม มันเป็นอะไรที่เราค่อนข้างชอบในการตั้งคำถามและสร้างสมมุติฐานแบบย้อนแย้ง ซึ่งมันจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา”
Materials Tips
คุณบิวและคุณพลยังแบ่งปันเทคนิคให้การเลือกใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์ ด้วยการเลือก Volume ของไฟเบอร์ซีเมนต์ที่มีความโค้งสร้างมิติและแสงเงาตกกระทบ โดยออกแบบเว้นร่องในลักษณะที่ทำสัดส่วนกับขนาดของไฟเบอร์ซีเมนต์และเล่นกับตัวเส้นสายของโครงสร้าง ซึ่งเป็นไอเดียง่าย ๆ ที่สร้างทั้งความเรียบง่ายและกลมกลืนไปพร้อม ๆ กัน
บางครั้งสถาปัตยกรรมก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งเรื่องราวไว้ที่ผลงานขั้นสุดท้ายซึ่งอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดของงานออกแบบเสมอไป แต่การเตรียมพื้นที่หรือสเปซเอาไว้เพื่อรอการเติมเต็มจากผู้ใช้งาน การอยู่อาศัย กลับสร้างเสน่ห์ให้กับงานสถาปัตยกรรมได้ไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับ Search Entertainment ที่สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างฟังก์ชัน ความสวยงามและงบประมาณจำกัดที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
สำหรับสถาปนิกที่สนใจสอบถามข้อมูลวัสดุ SCG D’COR เพิ่มเติม หรือขอไฟล์ 3D Model : https://bit.ly/3sZdGjV
ข้อมูลสินค้า SCG D’COR : https://bit.ly/32MY6gH
ข้อมูล SCG D’COR Facade Solution : https://bit.ly/3HvIwVp
Location: รามคำแหง เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
Architect & Interior : Hypothesis
Photo : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!