หลวงพ่อมิชชันนารีจากฝรั่งเศสผู้มาเผยแพร่ศาสนา และคอยช่วยเหลือชาวเขาในหมู่บ้านต่างๆ ได้ริเริ่มโครงการสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่เกิดจากการระดมทุนให้แก่ หมู่บ้านซอแข่ลู่ของชาวปกาเกอะญอ อ.ท่าสองยาง ในจังหวัดตาก เนื่องจากโบสถ์ไม้เก่าที่กำลังจะผุพังลง สถาปนิกไฟแรงจาก Only Human ได้เข้ามารับหน้าที่ในออกแบบโบสถ์ Sohelou St.Marc Catholic Chapel นิกายโรมันคาทอลิกหลังใหม่นี้ ที่ต่างออกไปจากโบสถ์คริตส์แบบเดิมๆ
ความว่างเปล่านำพาไปสู่จินตนาการ
โจทย์ในการออกแบบของสถาปนิกครั้งนี้คือ โบสถ์คริสต์ที่สามารถบรรจุคนได้ 80 คน ยังไม่มีพื้นที่ไซต์ ไม่มีขอบเขต ไม่มีทิศทาง และต้องการสร้างเสร็จก่อนฤดูฝนจะมาถึงในปี 2019 ซึ่งเรียกได้ว่าสร้างความท้าทายทั้งด้านการทำงาน และไอเดียให้กับสถาปนิกกันเลยทีเดียว
คุณฟิน และคุณฟ้าเล่าให้ฟังว่า“เราได้รับโอกาสในการออกแบบโบสถ์ครั้งนี้จากพี่เรียว ซึ่งเป็นสถาปนิกที่เคยไปฝึกงานด้วย ในช่วงนั้นพี่เขาได้ออกแบบโรงเรียนบนดอยอยู่ที่จังหวัดตาก อ.ท่าสองยาง พองานนี้สร้างเสร็จก็ได้รับโปรเจกต์โบสถ์คริสต์ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่ว่าพี่เรียวจำเป็นต้องไปศึกษาต่อ จากนั้นได้ชักชวนเรามาให้รับไม้ต่อ เราจึงรีบรับโอกาสนั้นมาเพราะไม่รู้ว่าจะได้ทำงานแบบนี้อีกเมื่อไหร่ ในการทำงานเราต้องติดต่อหลวงพ่อผ่านพี่เรียวตลอด ด้วยพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลให้วิเคราะห์ รู้แต่ว่าโบสถ์จะต้องหันหน้าออกไปรับวิว งานนี้เราเลยต้องตีโจทย์จากสิ่งที่มีอยู่ คือเรื่องศาสนาคริศต์ออกมาให้ลึกซึ้ง และใช้เรื่องนี้ดึงตัวดีไซน์ออกมา”
การตีความคริสต์ศาสนา
ภายในโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิคแห่งใหม่นี้ต้องแขวนรูปสำคัญที่เรียกว่า 14 Station Of The Cross ซึ่งมีทั้งหมด 14รูปภาพ สถาปนิกเลือกศึกษาเรื่องไม้กางเขน และพระเยซูจากรูปที่มีทั้งหมด แล้วนำมาเรียงต่อกันเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวการเดินทางของประเยซู จนไปถึงการถูกตึงไม้กางเขน สถาปนิกสังเกตเห็นว่าในหลายๆ รูปมักจะมีไม้กางเกงเขนที่กำลังล้มอยู่ เมื่อศึกษาไปถึงคำอธิบาย ก็พบกับรูปภาพสำคัญอีก 3 รูปที่มี Jesus ล้มถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจึงหยิบเรื่องราวสำคัญนี้มาเป็นไอเดีย ในแง่ของความรู้สึกของไม้กางเขนที่หนัก และความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในรูปภาพเหล่านี้
เปลี่ยนความรู้สึกด้วยการออกแบบ
สถาปนิกออกแบบอาคารให้ยกเสาสูงเหมือนกับบ้านในบริบทชุมชน ใช้ทองแดงหุ้มไม้ติดกับโครงสร้างเหล็กกล่องสีเทาอ่อนเป็นผนังภายนอก ตามความต้องการของหลวงพ่อ แล้วปล่อยให้สนิมสีเขียวขึ้นไปตามอายุเป็นร่องรอยความไม่สมบูรณ์เหมือนกับผิวหนังของ Jesus ที่โดนกระทำอย่างสาหัส และหลังคาสีเทาที่มีไม้กางเกงใหญ่ทับอยู่ โดยภายนอกตัวอาคารจะสะท้อนถึงความโหดร้าย และความหนักหน่วง
แต่เมื่อเดินเข้ามายังภายในอาคารความรู้สึกเบาก็เกิดขึ้นในทันที เมื่อไม้กางเกงเขนบนหลังคากลายเป็นสกายไลท์ส่องแสงลงมา พร้อมใช้พื้นไม้จากอาคารโบสถ์หลังเก่า และวางเก้าอี้นั่งพื้นให้ตอบรับกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ และลดระดับหน้าต่างลงเพื่อให้ลม และแสงเข้ามาได้อย่างพอดีตัว ในส่วนด้านหน้าของอาคารได้เปิดช่องแสงรับวิว และใช้สัญลักษณ์ไม้กางเขนเอียง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการรับน้ำหนักกระจกของหลังคาปั้นหยา และให้ผู้คนที่เข้ามาใช้งานรู้สึกถึงไม้กางเขน ที่กำลังลอยลงมาจากฟ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกถึงความหนักแน่นจากโครงสร้างช่องแสงสกายไลท์
“งานนี้เราออกแบบโดยประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งออกแบบไปก่อนจะเห็นไซต์เสียอีก ตอนไปลงพื้นที่ครั้งแรกเรามี presentation กับโมเดลแล้ว ในวันนั้นเราก็ได้เสนอแบบให้กับคนทั้งชุมชนฟัง พอนำเสนอเสร็จชาวบ้านก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่เมื่อไปเห็นพื้นที่จริงๆ กลับมีขนาดเล็กกว่าที่ออกแบบไว้ พอกลับมาที่กรุงเทพฯ ก็รับปรับแก้แบบ และเริ่มเขียนแบบก่อสร้าง ก่อนที่จะส่งไปให้หลวงพ่อ ในอีกไม่นานก็เกิดพิษโควิด -19 ระบาด รวมถึงช่างของหมู่บ้านที่ยังไม่สะดวกรับงานในตอนนั้น ทำให้งานนี้เงียบหายไปประมาณ 1ปี ”
ความสวยงามที่ไม่ได้มาง่ายๆ
ในการเขียนแบบสถาปนิกต้องอธิบายไปทีละขั้นตอน และรายละเอียดอย่างชัดเจนด้วยรูปภาพไอโซเมตริก เพื่อให้ผู้รับเหมาเข้าใจแบบได้มากที่สุด เพราะเนื่องด้วยการขึ้น-ลงดอย และการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า และสัญญาณต่างๆ ในส่วนของวัสดุการก่อสร้างก็ต้องหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถขนส่งขึ้นไปบนดอยได้สะดวก ทำให้งานออกแบบ และงานก่อสร้างต้องปรับแบบไปตามข้อจำกัดเหล่านี้ด้วย
“เราพยายามเขียนแบบให้เหมือนเป็นการต่อเลโก้ คือทำทีละขั้นตอนจริงๆ ซึ่งแทบจะไม่ได้ใช้แบบที่เขียนจากในคอมพิวเตอร์สักเท่าไหร่ ผู้รับเหมาจะโทรมาคุยกับเราเมื่อต้องลงมาจากหมู่บ้านเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์บริเวณตีนดอย มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคกการก่อสร้างกันอยู่ตลอดเพื่อให้ใกล้เคียงกับแบบมากที่สุด ก่อนที่ผู้รับเหมาจะขึ้นไปคุยกับช่างบนดอย 2-3วัน แล้วจึงจะค่อยกลับลงมาใหม่ ในบางทีก็หายไปเป็นอาทิตย์ คือเราไม่รู้เลยว่าหน้างานมีปัญหาอะไร กว่าจะรู้ก็สร้างเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ต้องคอยติดตาม และแก้ไขกันอยู่ตลอด”
“เรารู้สึกว่าสนุกกับงานนี้ตั้งแต่ที่ได้รับงานออกแบบโบสถ์แล้ว อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลอะไรมาเลย แต่กลับกลายเป็นว่างานนี้สามารถออกแนวคิดให้ลึกซึ้งได้ และอีกสิ่งที่ประทับใจคือการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย โดยที่พวกเขาเข้ามาช่วยกันไปเอา หิน และทรายจากในแม่น้ำเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ต่อแถวกันส่งวัสดุกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์เมื่อเสร็จเรียบร้อยชาวบ้านก็ความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของนี้ร่วมกัน เมื่อเราเห็นว่ามันตอบโจทย์ในทุกๆ เรื่องตามที่เราคิดไว้ก็เป็นที่พอใจมากแล้วครับ”
Location : หมู่บ้านซอแข่ลู่ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก
Completion Year : 2021
Architect: Only Human
Design team: Chayaluck Peechapat, Runn Charksmithanont
Collaborating architect: Artit Markshom
Project manager: father Camille Rio m.e.p.
Builder: Banjong Nithiwangsomjit and team
Photographer : Acki
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!