ตึกแถวสองชั้นคูหาเล็กๆ ที่ดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาบนเส้นตลาดน้อย ด้วยดีไซน์เรียบง่าย แต่อบอุ่นในสีเอิร์ธโทนในเวลากลางวัน เผยให้เห็นความสว่างผ่านหลังคาโปร่งแสงในเวลากลางคืน ที่นี่คือ ‘Mother’ ร้านอาหารสไตล์ Casual fine-dining ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘จุดกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลก’ ซึ่งตั้งใจพาเราย้อนไปถึงต้นกำเนิดของวัตถุดิบแสนอร่อย รวมถึงชวนมาสร้างประสบการณ์การกินในแบบที่ไม่เหมือนใคร
จุดกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลก
จากคอนเซ็ปต์ของชื่อร้าน ‘Mother’ ที่ไม่ได้มีความหมายแค่ ‘แม่’ อย่างเดียว แต่มีความหมายลงลึกไปถึงการเป็น ‘ผู้ให้กำเนิด’ ทำให้ ฮิม – กิจธเนศ ขจรรัตนเดช และทีมผู้ออกแบบจาก Taste Space ตีความคอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบผ่านคำว่า ‘Mother Earth’ ที่หมายถึง การเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลก โดยเน้นให้เกิดความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับ “ธรรมชาติ” ขึ้นมาภายในอาคารแห่งนี้
ตั้งแต่ผนังด้านหน้าของอาคารไปจนถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นผนัง พื้น เฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่ง ต่างก็เน้นใช้ในสีเอิร์ธโทน เพื่อสะท้อนถึงแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบอย่างดิน หิน แร่ เพื่อสร้างความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ
“หลังจากได้รับโจทย์การออกแบบ เราคิดว่าถ้าหากโลโก้ของร้านเป็นรูปเซลล์ (cell) และเจ้าของร้านต้องการจะเล่าเรื่องราวจุดกำเนิดของอาหารต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์ เราจึงกลับไป research จนคิดว่าสิ่งที่เหมาะสมกับร้านนี้ที่สุด มันก็คือ Mother Earth ที่เป็นผู้ให้กำเนิดหรือพระแม่ธรณี เลยเป็นที่มาที่ไปว่าเราอยากทำร้านให้เสมือนว่าได้อยู่อีกโลกหนึ่ง ทำให้ตัวร้านมีความเป็นดินมากที่สุด เพราะต้องการให้รู้สึกว่า ตัวเราอยู่ในพื้นดิน แร่ธาตุ ที่ได้รับสารอาหารต่างๆ ทำไมเราถึงทำหลังคาที่มีแสงตกลงมา ทำให้เกิดเฉดของแสงรำไรจากใบไม้ที่เคลื่อนไหวระยิบระยับ ทำไมถึงมีรากไม้ห้อยอยู่บนเพดาน เพราะจากพื้นดินขึ้นไปสู่ข้างบน ทั้งหมดก็ต้องการสารอาหารที่จะเติบโตขึ้นไป” คุณฮิมเล่า
“ตอนได้รับโจทย์การออกแบบ ไซต์ตรงนี้ถูกทิ้งร้างมานานหลายปีแล้ว สภาพของตัวอาคารเดิมเก่าและผุพังมาก เพดานมีน้ำรั่วซึมมาถึงพื้น จนเกิดเป็นความชื้นและมีปัญหาเรื่องปลวก อีกโจทย์ของเราคือการรักษาอาคารเดิมไว้ แต่มันรักษาไว้ไม่ได้ เราเลยเลือกที่จะรักษา Shape และ Form ไว้แทน แต่เปลี่ยนพื้นที่ภายในทั้งหมด”
ด้วยสภาพอาคารที่เก่า ต้องการซ่อมแซมเยอะจนเกินไป สถาปนิกจึงตัดสินใจที่จะรักษา Shape และ Form ไว้แทน แต่เปลี่ยนพื้นที่ภายในทั้งหมด โดยรื้อพื้นเก่าทิ้งและเริ่มต้นวางระบบใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการขึ้นโครงเหล็ก แล้วหล่อปูนไม้แบบ (Wood Stamped Concrete) ขึ้นมาใช้สำหรับทั้งอาคาร โดยผนังด้านข้างบันไดที่คงสภาพผนังเก่าของเดิมเก็บไว้เพียงผนังเดียว
สภาพเดิมของพื้นที่ภายในอาคาร
หัวใจสำคัญ คือ ‘อาหารจากวัตถุดิบ’
นอกจากการออกแบบที่ชวนให้นึกย้อนไปถึงจุดกำเนิด การออกแบบอาคารที่เอื้อให้เกิดการสร้างประสบการณ์ในการกิน ก็เป็นหัวใจของโปรเจ็กต์แห่งนี้ในเวลาเดียวกัน สถาปนิกจึงออกแบบให้พื้นที่ชั้นหนึ่งของร้านเป็นพื้นที่ครัวแบบเปิด เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นบริเวณห้องครัวที่เป็นจุดกำเนิดของอาหาร และสร้างความรู้สึกมีประสบการณ์ร่วมกับเชฟได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงเลือกใช้สีดำในบริเวณพื้นที่ห้องครัว ตัดกับสีเอิร์ธโทน เพื่อขับเน้นให้เชฟมีบทบาทมากที่สุด รวมถึงนำสายตาไปสู่บันไดเวียนด้านใน เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ว่า พื้นที่ภายในร้านยังสามารถเดินต่อขึ้นไปที่ชั้นองได้
อีกโจทย์ของการออกแบบคือการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า และเชฟจะต้องเดินสวนกับลูกค้าได้ ส่วนของบันไดจึงถูกออกแบบเป็นรูปตัว U ให้มีกว้างขวางในระยะที่คนสามารถเดินสวนกันได้ง่าย ในขณะที่ใต้บันไดเองก็ทำหน้าที่เป็นที่ซ่อนของห้องน้ำและห้องเก็บของ
เมื่อเดินผ่านบันไดเวียนขึ้นไปชั้นสองจะพบกับบาร์เคาน์เตอร์หินอ่อน หรูหรา ที่เพิ่มสีสันและความสนุกด้วยดีไซน์ด้านหลังที่เตะตาไปกับภาพ Abstract Art ธาตุทั้ง 4 ของดิน น้ำ ลม ไฟ ผลงานการออกแบบของศิลปินท่านเดียวกับที่ออกแบบโลโก้ให้กับทางร้าน ซึ่งทำให้มวลบรรยากาศภายในร้านดูมีชีวิตชีวาและมีความพิเศษมากยิ่งขึ้น และยังสื่อกลับไปถึงเรื่องราวของ Mother Earth ที่เป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลกอีกด้วย
ด้วยสภาพผุพังของพื้นไม้ชั้นสอง สถาปนิกจึงตัดสินใจทุบพื้นออกส่วนหนึ่งจนกลายเป็น Double Space โดยพื้นด้านหน้าของชั้น 2 ถูกร่นระยะให้เกิดเป็นชั้นลอย ทำให้แม้ลูกค้าจะนั่งอยู่บริเวณชั้น 2 ก็ยังสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศและรับรู้การเคลื่อนไหวหรือเสียงของชั้นล่างได้เช่นเดียวกัน
รากต้นไม้แห้งถูกนำมาแขวนไว้อยู่ด้านบนกลายเป็นองค์ประกอบที่สร้างความน่าสนใจ ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ใต้ดิน และมองเห็นการเติบโตของต้นไม้และวัตถุดิบได้อย่างชัดเจน
“เราต้องการหารากไม้จริง เพื่อนำมาเป็นชิ้นงานศิลปะที่บ่งบอกว่า เราอยู่ในจุดที่กำเนิดของพืชพันธุ์และวัตถุดิบต่างๆ ที่โดยเฉลี่ยปลูกอยู่ในดิน ดินมีแร่ธาตุ สารอาหาร และเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเจริญเติบโต ฉะนั้นเราจึงนำต้นไม้มาเป็นตัวแทน จัดวางสะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในแหล่งอุดมความสมบูรณ์”
บริเวณชั้น 2 ถูกเจาะเป็นกรอบหน้าต่างบานใหญ่ ทำหน้าที่เป็นเสมือนเฟรมกรอบรูป นำสายตาไปสู่วิวทิวทัศน์ภายนอก ซึ่งฉากนี้ก็ได้กลายเป็นอีกสัญลักษณ์ของร้านอาหารที่ทีมผู้ออกแบบตั้งใจนำเสนอออกมา เพราะมองเห็นความสำคัญของการได้รื่นรมย์กับสภาพแวดล้อมรอบๆ ขณะรับประทานนั่นเอง
พื้นที่สัมพันธ์กับแสงและธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
อีกเสน่ห์ของการออกแบบที่น่าสนใจคือ บรรยากาศภายในที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงธรรมชาติ โดยตัวอาคารจะถูกแต่งแต้มด้วยแสงแดดและเงาในเวลากลางวัน แต่เติมความสว่างไสวให้กับภายนอกในเวลากลางคืน ผ่านเพดานสองเลเยอร์ ที่ชั้นแรกทำจากวัสดุลักษณะโปร่งแสงอย่างโพลีคาร์บอเนต ส่วนอีกชั้นเป็นแผ่นไม้ถูกจัดวางแบบสุ่ม เพื่อให้เกิดลูกเล่นของแสงแดดและเงา
ทันทีที่เข้ามาใน Mother การเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ในการกินก็เริ่มต้นขึ้น จากตึกแถวเก่าที่ถูกปล่อยร้างจนมีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา ได้ถูกเปลี่ยนสภาพใหม่เป็นร้านอาหารบรรยากาศอบอุ่น เรียบง่ายที่ใช้จุดกำเนิดของสรรพสิ่งบนโลกมาเชื่อมโยง ‘ผู้คน’ กับ ‘อาหาร’ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว หากใครแวะเวียนผ่านมาแถวย่านตลาดน้อย ร้านอาหารแห่งนี้ก็พร้อมต้อนรับเสมอ
Design: Taste Space
Lighting: Lundi
Artist: Nattha Tachamethakul
Brand Develop: Thanavut Kosolwongse
Contractor: Finterior
Kitchen: Kitchen One
Photographer: Jinnawat Boriharnkijanan
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!