โปรแกรมอะไรบ้างที่เหล่าสถาปนิกใช้กัน

หากย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ การนำเสนอแบบสถาปัตยกรรมทั้งหมดจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ในการเขียนแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปากกาก ดินสอ สี ไม้สเกล และอุปกรณ์อื่นๆ ต่อมาหลังจากการมาถึงของคอมพิวเตอร์ ทำให้มีตัวช่วยเหลือมากมาย ที่ทำให้การทำงานของสถาปนิกรวดเร็ว สะดวก เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันโปรแกรม ต่างๆเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้น และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งบางโปรแกรมยังสามารถใช้เทคโนโลยี BIM (Building Information) หรือระบบการจำลองเสมือนจริง รองรับแต่ละขั้นตอนของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น การคำนวณโครงสร้าง งานระบบ การแปรรูป และอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อก่อสร้างจริง และยังมีความแม่นยำสูง ปีใหม่นี้ Dsign Something อยากจะชวนทุกๆ คนไปพัฒนาสกิลเรียนรู้โปรแกรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ชีวิตสถาปนิกง่ายขึ้น ช่วยบรรเทาอาการเดือดให้เบาทุเลาลงกว่าปีก่อน

Autocad

นี่คือโปรแกรมสำหรับเขียนแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ในเครือ Autodesk ที่บริษัทสถาปัตยกรรมนิยมใช้กันทั่วโลก และมักจะสามารถทำงานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การสร้างกราฟิกกระบวนการออกแบบ การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อนำเสนอ หรือจะเป็นการเขียนแบบก่อสร้าง Autocad มีเครื่องมือที่ใช้งานง่าย มีฟังก์ชั่นหลากหลาย และความแม่นยำสูง ในหลายๆ อุตสาหกรรมจึงเลือกใช้ แต่อาจจะมีข้อเสียตรงที่การใช้งานในรูปแบบ 3 มิติ ได้ค่อนข้างยาก

Autodesk Revit

Autodesk Revit คือการสร้างแบบจำลองอัจฉริยะในเครือของ Autodesk ที่แสดง ถึงรูปแบบอาคาร และโครงสร้างสเมือนจริง ตั้งแต่การสร้างผนัง พื้น รวมไปถึงสามารถร่วมกับข้อมูลเฉพาะได้ ทั้งแบบจำลอง 3 มิติ แปลน รูปตัด รูปตัด สามารถทำได้ภายในไฟล์เดียว ซึ่งถ้าหากมีการแก้ไขส่วนใดก็ตาม เช่น แก้ไขรูปแบบประตู ในแบบจำลอง 3 มิติ ในส่วนอื่นๆ ก็จะอัพเดทตามกันไปด้วย Revit เป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำงานร่วมกับหลายๆ แผนก เพื่อการใช้งานที่สมบูรณ์สำหรับเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ในโปรแกรมนี้จำเป็นต้องศึกษาตามหลักสูตร

SketchUp

SketchUp เป็นหนึ่งในแกรม 3 มิติ ที่ใช้งานง่ายสามารถผลิตแบบโมเดลงานสถาปัตยกรรมได้หลากหลาย ภายในโปรแกรมจะมี SketchUp Extension Warehouse เป็นโปรแกรมเสริมที่สร้างขึ้นจากบุคคลอื่น ซึ่งมีทั้งแบบฟรี และแบบชำระเงิน ซึ่งทำให้งานที่มีรายละเอียด และซับซ้อนทำได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีคลัง 3 มิติ ให้ดาวน์โหลดเพื่อส่งเสริมตัวงานสถาปัตยกรรมของเราได้อีกด้วย

Rhinoceros

ตอบโจทย์สำหรับการขึ้นอาคาร 3 มิติ รูปแบบหวือหวา โฉบเฉี่ยว อย่างงานของ Zaha Hadid หรือ Santiago Calatrava เป็นต้น ซึ่งในโปรแกรมจะมีเครื่องมือสร้างรูปทรงมนโค้ง และยังสามารถทำงานในรูปแบบของ BIM (Building Information Modeling) ได้อีกด้วย ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ในงานทั้งสถาปัตยกรรม และการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เจ้า Rhinoceros 3D ก็ยังไม่ได้รับการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเท่าไหร่นัก

Archicad

Archicad อีกโปรแกรมหนึ่งซึ่งมีครบจบในที่เดียว ตั้งแต่การสร้างแบบ 2 มิติ และการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ภายในมีภาษามากถึง 27 ภาษา และตัวซอฟต์แวร์มีโปรแกรมแยกย่อยออกมาให้ใช้งานได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังสามารถใช่งาน ร่วมกับ BIMx และ BIMcloud ของ Graphisoft เพื่อใช้เทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) แต่ข้อจำกัดของ Archicad คือ จำเป็นที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการเรียนรู้ช่วงเริ่มต้น

Autodesk 3ds Max

โปรแกรมการสร้างแบบจำลองภาพ 3 มิติอนิเมชั่นในเครือ Autodesk ให้บรรยากาศที่มีรายละเอียดสูง ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักพัฒนาเกม วงการโฆษณา เป็นที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรม 3 มิติ ซึ่งภายในโปรแกรมมีตัวปรับแต่งมากมาย ทั้งแสงเงา จำลองการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้สมจริง ด้วยโปรแกรมเสริมอีกมากมาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาของ Autodesk 3ds Max ที่แสนแพง และจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง

V-ray

V-ray มีชื่อเสียงในการสร้างภาพจำลองสถาปัตยกรรมเสมือนจริงในเครือ Chaos เป็นโปรแกรมเสริมของ ArchiCAD, SketchUp, Revit และอื่นๆ ซึ่งจุดเด่นของ V-ray คือ คลังวัสดุขนาดใหญ่ที่มีให้เลือกสรรมากมาย รวมถึงการปรับแสงเงา มีการตั้งค่า และตัวเลือกที่หลากหลายรูปแบบ มีชุมชนออนไลน์ และแหล่งข้อมูลไม่จำกัด จำเป็นที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง

Lumion

เป็นอีกหนึ่งซอฟต์แวร์ที่ให้บรรยากาศจำลองเสมือนจริง ใช้งานง่าย การทำงานเหมือนวิดีโอเกม รวมไปถึงการ live streaming ให้ผู้อื่นรับชมแบบสดๆ ได้ด้วย สามารถโอนข้อมูลจาก SketchUp, AutoCAD, Revit, ArchiCAD, 3ds Max และอื่นๆ เข้ามาใช้งานใน Lumion จุดเด่นของโปรแกรม คือมีต้นไม้ให้เลือกหลากหลาย เสริมบรรยากาศด้วยช่วงเวลาต่างๆ ของวัน หรือแม้กระทั่งฤดูกาล ด้วยซอฟต์แวร์นี้จะช่วยลดเวลาในการทำงาน ในการสร้างทั้งวิดีโอ และภาพนิ่ง ข้อเสียคือการประมวลผลภาพในบางครั้ง ไม่เป็นไปตามที่ปรับแต่งไว้ จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง และตัวโปรแกรมมีราคาแพง

Corona Renderer

Corona renderer เป็นซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้างใหม่ แต่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองอย่างรวดเร็วในเครือ arch viz โดยเป็นโปรแกรมเสริมให้ใช้งานทั้งใน 3ds max และ Cinema 4D ที่มาพร้อมกับคลังวัสดุมากมาย และการจัดแสงเงาของบรรยากาศ มีชุมชนทางออนไลน์ และ ช่องทาง youtube ในการสอนวิธีใช้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ใช้งานง่าย ประมวลผลด้วย cpu คอมพิวเตอร์ซึ่งจะแตกต่างกับโปรแกรมอนิเมชั่นตัวอื่นๆ ที่ใช้ gpu ในการประมวลผล

Enscape

หากใครต้องการเรนเดอร์อนิเมชั่นแบบเร่งด่วนในการส่งงาน และยังให้คุณภาพไฟล์ผลงานที่ดีอีกด้วย Enscape ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถทำงานร่วมกับ SketchUp, 3dsMax, Rhino, Revit และอื่นๆ ซึ่งสามารถทำงานควบคู่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกมุม แสง วัสดุ หรือการตกแต่งอื่นๆ เพียงแค่ปรับในโปรแกรมจำลอง 3 มิติก็จะทำให้ตัว Enscape ปรับตามไปด้วย เรียกได้ว่าช่วยบรรเทาอาการเดือดของงานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

หากใครสนใจอยากทดลองในหลายๆ โปรแกรมก็มีให้ทดลองใช้ฟรี นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีกมายที่ไม่อยู่ในที่นี้ที่เหล่าสถาปนิกใช้งานกัน รวมถึงใครที่ยังเขียนแบบสถาปัตยกรรมด้วยมืออยู่ ก็ยังดูมีเสน่ห์น่าหลงไหลที่ไม่แพ้กัน หรือจะผสมทั้งสองอย่าง ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อย ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะชื่นชอบ และถนัดแบบไหนนั่นเอง

ที่มาและภาพ

https://www.autodesk.com.au/products/autocad/overview?term=1-YEAR&tab=subscription

https://www.autodesk.eu/products/revit/overview?term=1-YEAR&tab=subscription

https://www.sketchup.com/

https://www.rhino3d.com/

https://graphisoft.com/solutions/archicad

https://www.adobe.com/th_en/products/photoshop.html

https://asean.autodesk.com/products/3ds-max/overview

https://www.chaos.com/vray/collection/b

https://lumion.com/

https://www.archisoup.com/architecture-software-guide

https://enscape3d.com/

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn