เคยคิดไหมว่า หากสถาปนิกต้องออกแบบสภาพแวดล้อมบนโลกใบใหม่จะเป็นอย่างไร?
จากปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เกิดปัญหาการขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย หรือ “Urban Sprawl” ที่เกิดขึ้นในหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เมืองเกิดการขยายตัวอย่างไม่มีระบบ และปราศจากการวางแผนควบคุม จนบางครั้งอาจรุกล้ำพื้นที่สีเขียวและก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและทางน้ำ รวมถึงปัญหาการปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว
ปัจจุบันสถาปนิกและนักออกแบบชื่อดังจำนวนมาก จึงใช้แนวคิดทางสถาปัตยกรรมและการวางแผนภาคในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงจินตนาการเล่าเรื่องไปถึงโลกใหม่ในอนาคตสุดล้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
Masterplanet
สถาปนิก Bjarke Ingels ผู้ก่อตั้งกลุ่ม BIG สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากเมืองเดนมาร์ก มีแนวคิดการใช้สถาปัตยกรรมยั่งยืนอย่างมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งของยุค โดยเขาได้นำเสนอแนวคิดการจัดวางผังแม่บทของโลกใบใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในทุกมิติภายในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแนวคิดของเขาก็คือการออกแบบวิถีชีวิตที่ยั่งยืน แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับโลกใบใหม่ ที่ไม่เพียงแค่จำกัดการปล่อยมลพิษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความไม่เท่าเทียมกันของระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกด้วย
โครงการ Masterplanet มีแนวคิดในการจัดวางแผนแม่บท เพื่อจัดวาง zoning สำหรับโลกใหม่ในอนาคต เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่จะมีมากถึง 10 พันล้านคนในปี 2050 ในลักษณะของการแบ่งพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อให้ครอบคลุมทั้งโลก ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงข่ายพลังงานเดียวทั่วโลกเพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้กับทุกประเทศ อย่างเช่นการเชื่อมโยงระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดในโลกเข้าด้วยกันซึ่งจะช่วยกันผลิตพลังงานให้กับพื้นที่ซีกโลกกลางวันและกลางคืนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงแนวคิดอื่นๆ เช่น การสร้างเมืองลอยน้ำเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
การจัดวาง zoning ของโลกใหม่ จะแบ่งตามปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ผลิตพลังงาน ไว้อยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อง่ายต่อการจัดการ รวมถึงยังมีพื้นที่กำจัดของเสียในลักษณะของโครงข่ายโรงงานรีไซเคิลที่จะทำการรีไซเคิลขยะทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการจัดแบ่งพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เต็มไปความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงอาณาเขตสำหรับการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนที่มีสถาปัตยกรรมและคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยที่ Bjarke Ingles ได้กล่าวว่า Masterplanet คือแนวคิดเพื่อช่วยโลกและหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่โลก ซึ่งวางแผนที่จะเผยแพร่แบบร่างแนวความคิดแรกในเร็วๆนี้ และเขาได้เปิดเผยต่อนิตยสาร TIME ว่าจะนำเสนอต่อสาธารณะชนในรูปแบบของซีรีย์สารคดี 10 ตอน
‘ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่แนวคิดการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนบนโลกในอนาคต สามารถทำได้ด้วยการร่วมมือของเทคโนโลยีที่มีอยู่ของมนุษยชาติ’ – Bjarke Ingels กล่าวทิ้งท้าย
The Sponge
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษ โลกร้อน และการขาดแคลนทรัพยากร สิ่งดังกล่าวทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สถาปนิกหัวก้าวหน้าอย่าง Winy Mass หนึ่งในผู้ก่อตั้ง MDRDV สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากเนเธอร์แลนด์ และ professor คณะ Architecture and Urban Design ที่ TU Delftได้มีวิสัยทัศน์ต่อการออกแบบสำหรับโลกใหม่เพื่อที่จะต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันไกล้นี้ ในรูปแบบของ geological layer ซ้อนกันเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก มีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างทางชีวภาพ (biostructure) ภายในจะเป็นเมืองที่มนุษย์สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้
The Sponge หรือ คือโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์ คล้ายฟองน้ำ ที่ Winy Mass ต้องการให้สิ่งนี้ขยายอาณาเขตปกคลุมและแทรกซึมลงในระบบธรณีวิทยาทั่วผิวโลก ภายในมีลักษณะคล้ายโพรงขนาดใหญที่มีรูพรุน มีทางเข้าออกหลายทางและสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่สามารถปรับอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นหรือเย็นลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตทางชีวภาพ ทั้งความชื้น อุณหภูมิและแสงสว่าง นอกจากนี้โครงสร้างสถาปัตยกรรม biostructure สามารถเจริญเติบโต และซ่อมแซมได้ด้วยตัวเองโดยเทคโนโลยีชีวภาพ โดย Winy Mass ได้แรงบัลดาลใจมาจากลักษณะทางกายภาพของสัตว์ทะเลจำพวกฟองน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์อายุเก่าแก่ที่สามารถปรับตัวได้ทุกสภาพแวดล้อมของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ภายในจะประกอบด้วยพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตแบบสังคมเมือง อย่างเช่น พื้นที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ ฟาร์มเพาะปลูกและพื้นที่ปศุสัตว์ โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการคมนาคม รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เชื่อมต่อกันในลักษณะ layer สามมิติเป็นชั้นๆต่างจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งเมืองบนผิวโลกในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยระดับตามพื้นราบในการคมนาคม แต่ The Sponge สามารถเชื่อมต่อกันในหลายระดับเป็นชั้นๆตามระแนบแนวดิ่ง เสมือนเราเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆและที่ดำรงชีวิตภายในโครงสร้างฟองน้ำที่แผ่ขยายปกคลุมทั่วทั้งผิวโลก โดยโครงสร้างต่างๆ สามารถเจริญเติบโตขึ้นรูปได้ตามต้องการ และปรับตัวได้กับทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะใช้สถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองในการสร้างโลกที่ไร้พรมแดน ยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามธรรมชาติ
‘ถึงแม้ว่าสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริงหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อโลกขอเราอย่างแน่นอน’ – Winy Mass กล่าวทิ้งท้าย
Planet City
ผู้กำกับและสถาปนิกภาพยนต์หัวก้าวหน้าชาวออสเตรเลีย Liam Young เป็นผู้ที่เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาการออกแบบสำหรับทั้งโลก ตามแนวคิดผังแม่บท Masterplanet จาก BIG และแนวคิดของ Winy Maas จาก MVRDV เรียกร้องให้สถาปนิกออกแบบดาวเคราะห์ดวงใหม่เพื่อช่วยให้เข้าใจวิธีแก้ปัญหาบนโลกอนาคต
ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้น Planet City โดย Liam Young ได้จินตนาการถึงมหานครที่หนาแน่นคล้ายกับป่าคอนกรีตในเกาะฮ่องกง ที่มีความก้าวล้ำด้วยวิทยาการจากโลกอนาคต เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรทั้งหมดของโลกประมาณ 10 พันล้านคนตามแนวคิดของ Bjarke Ingels ซึ่งจะครอบครองพื้นที่เพียง 0.02 เปอร์เซนต์ของผิวโลก หรือขนาดเฉลี่ยของแต่ละมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องพลังงานและทรัพยากร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงของโลกอนาคต
ภาพยนตร์ Fiction ดังกล่าวจะเป็นการเล่าเรื่องว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเราบรรลุข้อตกลงระดับโลกที่มีการวาง zoning จัดระเบียบโลกใหม่ในอนาคต มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ให้อยู่อพยพเข้ามาอยู่ในมหานครขนาดใหญ่แห่งเดียวนี้ ที่มีความแตกต่างกันทั้งด้าน เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อกันทั้งโลก รวมถึงการเทคโนโลยีที่ล้ำยุค อย่างระบบกริดโซลาฟาร์มขนาดยักษ์ที่กระจายอยู่ในซีกโลกกลางวันและกลางคืนที่สามารถผลิตพลังงานเพียงพอต่อประชากรทั้งโลก การใช้โครงสร้างสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่สร้างจากวัสดุรีไซเคิล การปลูกพืชแนวตั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ฟาร์มสาหร่ายในร่มเพื่อดูดมลพิษทางอากาศและใช้เป็นแหล่งอาหารสำรอง รวมถึงเทคโนโลยีการขนส่งเคลื่อนย้ายด้วยระบบเครนแนวดิ่ง
ภาพยนตร์ Planet City ถือเป็นการเล่าเรื่องถึงเมืองในโลกอนาคตเกิดขึ้นภายใต้ปัญหาสภาพแวดล้อมในระดับดวงดาวที่เปี่ยมด้วยจินตนาการอย่างสุดขั้ว สามารถกระตุ้นแนวคิดเมืองในอนาคตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้อย่างดี โดยผลงานดังกล่าวได้จัดแสดงที่ National Gallery of Victoria เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผู้สนใจสามารถติดตามชมวิดิทัศน์ได้ที่
แนวคิดทั้งหมดที่ได้ยกตัวอย่างมาในวันนี้ อาจจะยังเป็นแค่เพียงแบบร่างหรือแนวคิดขั้นต้นในการปัญหาต่างๆ ระดับดวงดาวอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสภาพแวดล้อม แต่ได้สร้างจินตนาการถึงการใช้แนวคิดเชิงสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมืองในการแก้ปัญหาของสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายในการออกแบบองค์รวมของทั้งโลก และอาจมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล้นี้
Picture & Reference
https://www.dezeen.com/2021/11/02/the-sponge-winy-maas-manifesto-dezeen-15/
https://www.gq.com/story/architect-bjarke-ingels-gives-glimpse-of-masterplanet-plan
https://www.dezeen.com/2021/01/06/liam-young-planet-city-climate-change-10-billion-people-metropolis/
https://www.re-thinkingthefuture.com/article/architecture-news/a2241-plan-to-redesign-earth-and-stop-climate-change-masterplanet-concept-revealed-by-bjarke-ingels/
https://www.youtube.com/watch?v=3o1z4rTCJG8&t=210s
https://www.dezeen.com/2020/06/29/design-more-planets-winy-maas-mvrdv/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!