“กี-สิปปกิจ” สถาปนิกที่เชื่อในพลังของการมีปฏิสัมพันธ์
จ้าของเพจ Urbanstrator ที่ตั้งใจอนุรักษ์ชุมชนเก่าด้วยวิธีการใหม่

เวลาพูดถึงการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรม ใครๆ ต่างก็คิดว่าต้องออกแบบอาคารเพียงเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว ด้วยองค์ความรู้ และกระบวนการที่มีทั้งด้านจิตวิทยา สังคม ศิลปะ การคำนวณ การแก้ปัญหา และอื่นๆ ทำให้เมื่อสำเร็จการศึกษาสถาปัตยกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพสถาปนิกเพียงอย่างเดียว แต่สามารถแตกแขนงออกไปได้หลากหลายวิชาชีพ

เช่นเดียวกับ “กี-สิปปกิจ ดวงแก้วใหม่” ที่เราอาจเรียกเขาได้ว่า “นักออกแบบไม่จำกัด” เพราะเป็นทั้งสถาปนิก อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร นักดนตรี นักทำสื่อ นักศึกษาปริญญาเอก รวมถึงยังเป็นเจ้าของเพจ Urbanstrator ที่เกิดจากความต้องการที่จะอนุรักษ์ชุมชนเก่าด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนเห็นคุณค่า เกิดการตั้งคำถาม และสร้างปฏิสัมพันธ์พูดคุยกัน

คุณกี-สิปปกิจ ด้วงแก้วใหม่ สถาปนิก และผู้ก่อตั้งเพจ Urbanstrator

สถาปนิกกับองค์ความรู้หลากหลายด้าน

เส้นทางชีวิตของคุณกีนั้น หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คุณกีก็ได้ผันตัวมาเป็นนักดนตรี ซึ่งเล่นเป็นประจำตั้งแต่สมัยเรียนอยู่แล้ว และในทุกๆ คืนก็จะได้ทำงานกับคนหลากหลายอาชีพ ทำให้เขาหลงใหลในการเจอผู้คน และสนุกในการพูดคุย เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์ ได้ออกแบบ คอร์สสอนดนตรีสำหรับเด็กๆ แต่ก็ยังคงทำงานสถาปนิกควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้คุณกียังได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย  

“เราทำงานค่อนข้างหลากหลาย รวมไปถึงงานสถาปนิกก็เคยทำอยู่หลายโปรเจกต์เหมือนกัน เช่น การออกแบบพระราชวังแวร์ซายให้เพื่อจัดแสดงตุ๊กตา ยิมมวย หรือ การออกแบบบ้านอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติในต่างจังหวัด ด้วยความหลากหลายมันทำให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ พอเราโตขึ้นก็จะอะลุ้มอล่วยให้กับความเท่ของงานออกแบบ กลับไปโฟกัสที่ความเรียบง่าย และการสร้างความสุข จนทำให้เมื่อ 7 ปีก่อน ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทภาควิชาสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กลายเป็นว่ายิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพบเจอสิ่งที่ไม่เคยรู้มากมาย เริ่มปรับวิธีคิดกับการทำงานใหม่ๆ เลยทำให้เรารู้สึกสนุกมากยิ่งขึ้น”

เมื่อความหลากหลายต้องเดินทางไปพร้อมกัน

“เราเอาทุกๆ อย่างไว้ด้วยกันตลอด เวลากรอกอาชีพเรามักจะเขียนว่าอาชีพนักออกแบบเสมอ เพราะเราออกแบบทุกอย่างจริงๆ ตอนเรียนปริญญาตรีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกกับเราว่า ไม่ต้องกังวลว่าต้องออกไปเป็นสถาปนิกเพียงอย่างเดียว เรามีวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหา หาความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง หรือการช่วยคนอื่นในแบบของคุณ พอเรามาสอนหนังสือเรามักจะชอบคุยกับเด็กๆ ถึงปัญหา ความเป็นอยู่ ยิ่งสถานการณ์โควิด -19 ที่ต้องเรียนออนไลน์ เพื่อนก็ไม่ได้เจอ มีโอกาสที่จะถอนตัวสูงมาก วิธีการพูดคุยทำความเข้าใจพวกเขา และให้กำลังใจจึงเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ทางออกที่ดีได้”

จุดเริ่มต้นของเพจ Urbanstator

“เหตุการณ์การณ์ที่ทำให้เกิด Urbanstrator คือเราผ่านแถวเจริญนครบ่อยมาก เผอิญว่าในเดือนพฤศจิกายน 2564 เรามีบรรยายที่ต่างจังหวัดพอดี เลยตั้งใจว่าจะเข้าไปเก็บภาพที่เจริญนครซอย 9 ในวันนั้นเราใส่ชุดดำทั้งตัว เดินถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ จนสุดซอยถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา พอเราเดินกลับมาคนในซอยเริ่มมองเราแปลกๆ เขาเลยถามเราว่า มาทำอะไร เราก็ตอบว่าไม่ได้มาทำอะไร เราแค่มาถ่ายรูป สักพักก็เริ่มโดนคนในชุมชนล้อม ในใจก็คิดว่าตายแน่ ไม่ได้ไปอบรมให้ใครแล้ว (หัวเราะ) เราก็อธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า เราเป็นอาจารย์สอนหนังสือ เขาก็ยังไม่เชื่อนะ จนเราก็เริ่มถามไถ่ เราถึงเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่พอใจ ก็เพราะจะมีการก่อสร้างอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ในซอยนี้ แล้วทางผู้ใหญ่ที่ดูแลต้องการตัดถนนให้เป็น 2 เลน ซึ่งทำให้บางบ้านที่อยู่กันมาเป็น 100 ปี สามรุ่น ต้องโดนเฉือนไปส่วนหนึ่งเพื่อทำเป็นถนน ทำให้ขนาดบ้านเล็กลงอย่างมาก และอาจจะอยู่อาศัยไม่ได้เลย”

เมื่อคุณกีเกิดการพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว อีกหนึ่งอาทิตย์คุณกีต้องเดินทางไปบรรยายที่ต่างจังหวัด แต่ยังมีเรื่องราวของชุมชนเจริญนคร 9 ที่ดูเหมือนว่าจะค้างคาใจอยู่ไม่น้อย คุณกีไม่รอช้าหลังจากเสร็จภารกิจที่ต่างจังหวัดเริ่มหาไอเดียที่จะเข้ามาช่วยชุมชนนี้อย่างเร็วพลัน

“ด้วยชุมชนนี้อยู่มานาน ถึง 100 ปี ภาพแรกเรานึกถึงญี่ปุ่น ที่จะมีหนังสือเล่าเรื่องญี่ปุ่น มีขนมพื้นบ้านหน้าตาเท่ๆ เราคิดว่าจะใช้วิธีการสื่อสารด้วยการใช้ภาพวาดประกอบ และปรับหน้าตาของขนม เลยลองคุยกับนักศึกษาปี 2 ศิลปากรที่สอนอยู่ ว่าเราเจอเรื่องแบบนี้กับชุมชนเจริญนคร 9 เลยอยากให้เข้ามาช่วยกันวาดรูป ซึ่งเมื่อเด็กรุ่นใหม่ได้ยินแบบนั้นแล้ว ธรรมชาติของพวกเขาเมื่อเจอสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย พวกเขาก็พร้อมที่จะลุย พอเราได้คำตอบตกลงก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก”

ภาพวาดทั้ง 16 รูป วาดโดยนักศึกษาสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่นานคุณกีก็พาน้องๆ นักศึกษาเข้าไปเที่ยวในชุมชนเจริญนคร 9 ทำความรู้จัก พูดคุย และรับประทานขนมที่ทำขึ้นเองจากชาวบ้าน แล้วจึงค่อยๆ เก็บบรรยากาศวาดภาพบ้านทั้ง 16 หลังยาวจนไปถึงโครงการที่พักอาศัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วคาดว่าจะนำผลงานเหล่านี้ไปลงโซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสื่อสารของยุคสมัยนี้

ภาพวาดในเมนูร้านอาหารครีม

“พอเราเสนอว่าจะเอาลงเพจ Urbanstrator เพื่อนำเสนอคุณค่าของชุมชนเก่า และกล่าวขอบคุณทางวัดที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พื้นที่ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วเขามักจะให้คุณค่ากับชุมชนเหล่านี้อย่างมาก เมื่อได้พูดคุยกับคนในชุมชนพวกเขาก็เข้าใจโดยทันที โดยเราจะใช้วิธีวาดภาพบ้านทั้ง 16 หลังให้ต่างกันทั้งหมดเพื่อใช้ในการเล่าเรื่อง เราไม่เลือกที่จะถ่ายรูปแล้วลงเพจ เพราะมันจริงเกินไป การวาดรูปมันมีวิธีการของมัน ที่สามารถสื่อสารด้วยข้อความอะไรบางอย่างได้ อะไรที่ไม่สบายใจเราจะไม่วาดลงไป พอชาวบ้านรับรู้ว่าจะมาวาดรูปพวกเขาก็เก็บกวาด ทำความสะอาด ไม่มีอะไรวางให้รก มันเป็นธรรมชาติมากๆ ใช้พลังศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน เราได้นำภาพวาดเหล่านี้สอดเข้าไปในเมนูร้านอาหาร 100 ปี ชื่อว่า ครีม เดิมเป็นโรงน้ำแข็ง ทำขนมมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ อยู่หน้าปากซอยเจริญนคร 9 ซึ่งเรามองว่าเป็นวิธีการสื่อสารอีกวิธีหนึ่งที่จับต้องได้ง่าย และมีพี่ๆ ในร้านช่วยอธิบาย เรามองว่าเป็นวิธีการส่งเสียงแบบสันติ โดยที่ไม่ต้องชวนใครทะเลาะเลย” 

เมื่อชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ถึงวันที่ต้องประชุมระหว่างชุมชน กับเจ้าของโครงการที่พักอาศัย ชุมชนได้หยิบภาพวาดบ้านทั้ง 16 หลังให้กับทางผู้ใหญ่ทางนั้นได้รับชม และเกิดการพูดคุย อธิบายถึงคุณค่า และความสำคัญต่างๆ จนกระทั่งเจ้าของโครงการเกิดความเข้าใจ และเปลี่ยนท่าทีที่จะไม่ตัดถนน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่งสำหรับชุมชนเจริญนคร 9  

“พอวันตัดสินผ่านพ้นไป ชุมชนก็โทรมาหาเราว่าสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว วันนั้นเราดีใจมากที่ความเชื่อถึงพลังเล็กๆ ของเราจะช่วยให้ชุมชนอยู่ต่อไปได้ เมื่อน้อง ๆ นักศึกษา รับรู้ก็สึกภูมิใจน้ำตาไหลกันเลย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้ด้วยพลังเล็กๆ ของเรา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมากๆ ทั้งตัวเราเอง และเด็กๆ”

จุดเชื่อมโยงการสร้างปฏิสัมพันธ์

“ปกติเวลาเราโปรโมทที่เกี่ยวกับดนตรีจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับเพจ Urbanstrator เราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คนก็แชร์กัน บางคนก็มาเล่าให้ฟังว่าก็ผ่านเจริญนคร 9 มาตั้งหลายรอบแล้วแต่ไม่เคยรู้เลยว่าจะมีชุมชนแบบนี้อยู่ บางคนเคยเข้ามาซ้อมดนตรีในซอยนี้ หรือคนที่ชื่นชอบร้านอาหาร ครีม ก็เข้ามาพูดคุยถึงอาหาร ถึงคุณลุง คุณป้า เหมือนเพจเป็นตัวเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ให้กับผู้คนได้รู้จักพื้นที่แห่งนี้มายิ่งขึ้น ใครจะรู้ว่าหลังร้านค้าขายขนมของชาวบ้านจะมีกะละมังสำหรับหย่อนไปที่ลานจอดรถของโรงแรม Peninsula เพื่อขายของให้กับพนักงาน บางวันเขาก็มาตะโกนว่าวันนี้มีอะไรกินบ้าง มันเป็นธรรมชาติ เราเลยมักจะบอกเด็กๆ ว่าอะไรที่เราไม่รู้ ลองมาคุย สังเกต มาอยู่กับพวกเขา แค่ 3 วัน ก็จะรู้มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เขามีหูตาที่กว้างไกล เขาอยากเห็นที่ที่เขาอยู่นั้นดีขึ้น เราสามารถฝากอนาคตกับพวกเขาได้ เพียงแค่เราต้องคอยไกด์เขาไม่ให้ใช้ความโกรธเป็นตัวนำ”

อนาคตของ Urbanstrator

“สำหรับเจริญนคร 9 เราเพียงแค่คอยจับตาดู ถึงความเปลี่ยนแปลง หลังจากนี้เราจะเริ่มเปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นๆ อย่างการเล่าเรื่องรถไฟซึ่งไม่ใช่แค่หัวลำโพง แต่จะมีอีกหลากหลายสถานที่ที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงนัก และจะมี workshop การทำสื่อ หัดถ่ายภาพ สัมภาษณ์ เขียนเล่าเรื่อง สอนเด็กๆ วาดรูป จัดแสดงงานเล็กๆ ลงพื้นพูดคุย คือในหลายๆ ชุมชนมักจะคิดว่าพวกเขาไม่มีคุณค่า จริงๆ ทุกชุมชนดี แต่บางครั้งก็ต้องมีคนภายนอกมาบอกว่าดีอย่างไร เราจึงอยากเข้าไปช่วยคอยเป็นเชื้อไฟให้ และเสริมทัพให้ชุมชนแข็งแรงมากยิ่งขึ้น”

ถึงแม้การโพสต์ไม่กี่ครั้งของเพจ Urbanstrator สามารถทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของชุมชนมาที่อยู่มาถึง 100 ปี ด้วยสิ่งเล็กๆ ที่คุณกีได้สร้างขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับชุมชนเจริญนคร 9 ยังสามารถอยู่ต่อไปได้ด้วยวิธีการพูดคุยอย่างสันติวิธีเพื่อนำเสนอคุณค่า “คือเราอิจฉาการมีปฏิสัมพันธ์กันของชุมชนเก่าแบบนี้มากๆ แต่ในทุกวันนี้คนเมืองในสมัยใหม่กลับยังอยู่บนความโดดเดี่ยว ไม่ค่อยสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน หรือกับคนต่างพื้นที่ เราอยากให้สถาปนิกช่วยไกด์หรือออกแบบให้เมืองสามารถคุยกันได้ มันทำให้คนเราเกิดความคิดดีๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn