Search
Close this search box.

Thawsi Playground
สนามเด็กเล่นลอยฟ้า ปฏิสัมพันธ์แสนสนุก สุขกลมกลืนธรรมชาติ

หากพูดถึง “สนามเด็กเล่น” แล้ว ส่วนใหญ่เรามักนึกถึงพื้นที่กลางแจ้งที่หลากหลายไปด้วยเครื่องเล่นสีสันฉูดฉาด ไม่ว่าจะเป็นสไล์เดอร์ บ่อทราย ชิงช้า ในรูปแบบมาตรฐานที่คล้ายกันเกือบทุกๆแห่ง เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นสถาปัตยกรรมประเภทนี้ถูกออกแบบจริงจังในประเทศไทย แต่กับ Thawsi Playground โปรเจ็กต์สนามเด็กเล่นแห่งใหม่ของโรงเรียนทอสีนี้ กลับมีความพิเศษบางอย่างที่ทำให้ภาพจำของสนามเด็กเล่นแตกต่างออกไป ซึ่งคุณญารินดา บุนนาค และทีมสถาปนิกจาก Imaginary Objects ตั้งใจออกแบบสนามเด็กเล่นนี้ไว้เหนือพื้นดิน พร้อมเครื่องเล่นมีรูปแบบเรียบง่าย และใช้วัสดุจากธรรมชาติโดยไม่เติมแต่งสีสันใดๆ ผ่านความกลมกลืนกับต้นไม้รอบๆ จนยากจะเชื่อว่าโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง

ความเปลี่ยนแปลงสู่แพตฟอร์มลอยฟ้า

โรงเรียนทอสี เป็นโรงเรียนทางเลือกที่ตั้งอยู่ย่านเอกมัย มีนักเรียนตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงประถม เดิมทีมีสนามเด็กเล่นตั้งอยู่ลานกลางแจ้ง แต่ถูกรื้อถอนออกไปเนื่องจากมีการตัดถนนภายในโรงเรียนใหม่ ด้วยพื้นที่ที่จำกัดบวกกับการที่โรงเรียนมีแผนจะสร้างทางเดินเชื่อมระหว่างตึกอนุบาลและประถมอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกแบบสนามเด็กเล่นใหม่บนแฟตฟอร์มที่ถูกยกขึ้นเท่ากับความสูงของอาคารชั้นสอง เพื่อให้ด้านล่างสามารถเดินเชื่อมระหว่างตึกได้โดยไม่ต้องตากฝนเมื่อถึงคราวที่ฝนตก

ในขณะที่เริ่มออกแบบ Master Plan หรือแผนผังภาพรวมของแพลตฟอร์มนี้ ทางสถาปนิกยังไม่รู้ขนาดความกว้างที่แน่นอนที่จะสามารถสร้างแพลตฟอร์มนี้ได้ การออกแบบเครื่องเล่นแบบแยกชิ้นจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 5 ชิ้นหลักๆ ได้แก่ บ่อทราย (Sandpit) บ้านต้นไม้ (Tower) สะพาน (Brigde) กล่องบล็อก (Climbing Step) และบาร์โหน (Balancing Beam) โดยเครื่องเล่นแต่ละชิ้นสามารถถอดประกอบได้ และถูกวางห่างกันในระยะที่เพียงพอให้เด็กๆวิ่งไปมาได้ แต่จะมีเพียงบางชิ้นอย่างสะพานและบ้านต้นไม้ที่เชื่อมต่อกันและทำหน้าที่เป็นโครงสร้างให้แก่กันและกัน

Site Plan ของสนามเด็กเล่นโรงเรียนทอสี cr: Imaginary Objects

คลุมเครืออย่างสร้างสรรค์

“บางทีวิธีการที่เด็กเล่นเป็นสิ่งที่มากกว่าเราจินตนาการไว้อีก เพราะเด็กมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ บางทีเราไม่จำเป็นต้องไปจำกัดความคิดว่าต้องเล่นแบบไหน

ในแง่ของคอนเซปต์ เด็กควรมีปฏิสัมพันธ์หลายรูปแบบกับเครื่องเล่นหนึ่งชิ้น” สถาปนิกกล่าวถึงเหตุผลที่เครื่องเล่นแต่ละชิ้นถูกออกแบบให้มีความคลุมเครือ เพื่อการเล่นแบบ “Free Play” หรือแบบไม่มีข้อจำกัดในการเล่นที่อยู่ภายใต้ความปลอดภัย เครื่องเล่นหนึ่งชิ้นสามารถเป็นได้มากกว่าหนึ่งฟังก์ชัน เช่น กล่องบล็อก ที่ถูกออกแบบเป็นสเต็ปให้เด็กๆสามารถปีนป่ายได้ ส่วนด้านล่างเป็นช่องที่ลอดได้ เชื่อมต่อกันมีพื้นที่ภายในคล้ายบ้าน อุโมงค์ หรือถ้ำแล้วแต่จินตนาการของเด็กๆ ในอีกแง่หนึ่งเมื่อจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาที่สนามหญ้าด้านล่าง กล่องบล็อกนี้ก็กลายเป็นที่นั่งชมสำหรับคุณครู ผู้ปกครองได้เช่นกัน

สะพาน ที่ไม่ได้เดินข้ามได้เพียงอย่างเดียว แต่ระหว่างทาง ยังมีอุปสรรคอย่างปุ่มที่เท้าอยู่เป็นระยะ และด้านข้างออกแบบให้เป็นซี่ไม้ในแนวนอนที่เด็กสามารถปีนป่ายได้อย่างสนุกสนาน

บ่อทรายถูกออกแบบให้มีถาดวงกลมหลายๆอันเพื่อให้เด็กๆสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นก่อทราย เล่นบ่อน้ำ หรือบ่อหญ้า ได้ตามที่ต้องการ
บาร์โหน มีทั้งระดับต่ำและสูงแตกต่างกันไป เพื่อให้เด็กได้นั่ง นอน เดิน ปีน หรือห้อยโหนเพื่อฝึกทักษะความสมดุลของร่างกาย

นอกจากนี้สถาปนิกยังทำงานร่วมกับคุณครูพละ โดยให้คุณครูช่วยคอมเมนต์แบบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ออกแบบมาเหมาะสมกับสรีระของเด็กจริงๆ เพราะสเกลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าออกแบบเตี้ยไปอาจจะไม่สนุก ถ้าสูงไปก็อาจเกิดอันตรายได้ และในแง่ของการออกกำลังกายนั้น เด็กๆควรจะใช้กล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่และส่งเสริมพัฒนาการให้ครบทุกส่วนของร่างกาย

สร้างแบบ(อย่าง)ธรรมชาติ

ทางโรงเรียนทอสีเป็นโรงเรียนที่รักษ์ธรรมชาติ และเน้นสอนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โครงสร้างทั้งหมดจึงออกแบบให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติด้วยเช่นกัน สถาปนิกเลือกไม้ตะเคียนมาใช้เป็นวัสดุหลักในเครื่องเล่นแต่ละชิ้น ซึ่งเป็นไม้ประเภทเดียวกับที่นิยมใช้ทำเรือ จึงมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเจอน้ำหรือแดดก็มีความยืดหดน้อย โดยไม้แต่ละชิ้นประกอบกันด้วยหมุดตอก (Bolt) ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สนามเด็กเล่นใหม่ ก็สามารถถอดออกและย้ายไปติดตั้งในพื้นที่ใหม่ได้ไม่ยาก

เก็บรักษาบรรยากาศ สัมผัสความสนุกร่วมกับธรรมชาติ

แม้สนามเด็กเล่นจะอยู่ชั้นสอง แต่ทาง Imaginary Objects ก็ออกแบบให้เด็กๆ ยังคงสัมผัสกับความสนุกไม่ต่างจากสนามเด็กเล่นบนพื้นดิน สังเกตได้จากการนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยเก็บรักษาต้นไม้จามจุรีขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิมไว้ และออกแบบช่องว่างบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ต้นไม้สามารถทะลุผ่านขึ้นมาสร้างร่มเงาได้ ไม่ต่างจากภาพบรรยากาศเดิมของสนามเด็กเล่นเก่าที่ได้รับร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่เช่นกัน รวมไปถึงการวางเครื่องเล่นบ้านต้นไม้ไว้ติดกับต้นจามจุรี ซึ่งด้านบนของบ้านต้นไม้ถูกออกแบบให้มีทางออกสองทาง ทางแรกคือสไลเดอร์ ส่วนทางที่สองคือโพรงสี่เหลี่ยม โดยเด็กๆ สามารถปีนป่ายออกไปยังกิ่งไม้ได้  เสมือนว่าธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นสนุก นอกจากนี้ยังออกแบบพื้นที่ปลูกผักและไม้เลื้อยต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย

สนามเด็กเล่นนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์โดยตรง ความรู้และความสนใจเกี่ยวกับสเกลถูกนำมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสนามเด็กเล่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแนวราบ แต่มีความเป็น 3 มิติ ตั้งแต่พื้น กำแพง หลังคา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่สนุกสนานกับการได้เล่น แต่สถาปนิกเองก็ยังสนุกที่ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่ครบทุกระนาบเช่นกัน เป็นเรื่องราวดีๆ ที่ส่งต่อความสุขจากผู้ออกแบบไปยังผู้ใช้งาน

“สนามเด็กเล่น จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สถานที่สำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว มันเป็นแม่เหล็กของชุมชนอย่างหนึ่ง ที่ให้พ่อแม่ได้มาพบเจอและพูดคุยกันได้ด้วย ซึ่งตอนนี้ในเมืองเรามีพื้นที่รกร้างเยอะมาก การเปลี่ยนจากพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นหัวใจของชุมชน มันไม่ได้ช่วยแค่พัฒนาสังคมในรอบด้าน แต่จะช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการดีขึ้นด้วย ทั้งด้านร่างกายและด้านการเข้าสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเล็กๆ ที่จะสร้างรากฐานของสังคมที่ดีต่อไปได้ในอนาคต” สถาปนิกกล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของสนามเด็กเล่นในแง่ของพื้นที่สาธารณะ ที่อยากให้ทุกคนหันมามองและเห็นความสำคัญของสถานที่นี้ว่าให้อะไรมากกว่าความสนุกของเด็กๆ

Architects: Imaginary Objects
Location: Thawsi school
Area: 260 m²
Photographs:  Ketsiree Wongwan

Writer
Picture of Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading