ลักษณะทั่วไปของอาคารพาณิชย์ที่เราพบเห็นได้ตามริมถนนหรือตรอกซอกซอย ต่างเป็นรูปแบบอาคารที่เอื้อให้ชั้นล่างเปิดทำการค้าขาย หรือไม่ก็เป็นบริษัทปิดสำหรับทำธุรกิจครอบครัว ในขณะที่ชั้นบนเป็นบ้านพักอาศัยที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ Baan Sampeng อาคารพาณิชย์สูง 7 ชั้นใจกลางย่านสำเพ็งที่เป็นทั้งพื้นที่ธุรกิจจิวเวลรี่และพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัวใหญ่
และเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน เจนเนอเรชั่นใหม่ที่เริ่มสร้างครอบครัว คุณเคน-ชยพล อุดมศรีสำราญ และคุณไวส์-ศิรดา เลิศจรรยากุล คู่รักวัย 20 ปลายๆ ที่เพิ่งแต่งงานใหม่จึงตัดสินใจรีโนเวทพื้นที่ 1 ชั้นบริเวณชั้น 5 ของอาคารให้เป็นที่พักอาศัยส่วนตัว บนพื้นที่ใช้สอยขนาด 90 ตารางเมตร และได้พี่ชายของฝ่ายหญิงอย่างคุณกาจ-กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Physicalist มาเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองที่วุ่นวายให้กลายเป็นบ้านขนาดพอดีที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ
เปลี่ยนพื้นที่ 1 ชั้น ให้ตอบโจทย์ความต่างที่อยู่ด้วยกันได้
โจทย์ของการวางผังบนพื้นที่ 90 ตารางเมตร คุณกาจเริ่มต้นจากกิจกรรมและนิสัยของเจ้าของบ้าน ซึ่งมักจะมีเวลาส่วนตัวที่แยกย้ายกันไปทำกิจกรรมของตนเอง บางเวลาก็มีเพื่อนคุณเคนแวะเวียนมาสังสรรค์ เล่นเกมส์กันบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง พื้นที่สงบและเป็นส่วนตัวของคุณไวส์จึงเป็นสิ่งจำเป็น
นำมาสู่การออกแบบวางผัง โดยทีมสถาปนิกรื้อพื้นที่และผนังเดิมออก ก่อนจะจัดการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใหม่ออกเป็น 3 โซนใหญ่ด้วยกันเรียงตามลำดับการเข้าถึง โดยโซนแรกจะเป็นโถงต้อนรับ ครัว Pantry และส่วนรับประทานอาหารที่เข้าถึงได้ผ่านบันไดและลิฟท์หลักซึ่งเป็นของเดิม ถัดมาเป็นโซนที่สองซึ่งอยู่ในลักษณะหน้าตาของห้องที่จงใจวางกั้นระหว่างโซนด้านหน้าและหลัง เพื่อไม่ให้พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ เพิ่มความเป็นส่วนตัวที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยทั้งคู่สามารถมีมุมส่วนตัวได้ในบางเวลา
ซึ่งในโซนที่สองนี้มีฟังก์ชันเป็นพื้นที่กึ่งเซอร์วิสที่ประกอบด้วยห้องซักรีด walk-in closet และห้องน้ำที่สามารถเปิดประตูเลื่อนเข้า-ออกได้จากสองทาง
ภาพบ้านก่อนการรีโนเวท
“พอห้องนี้มันขวางอยู่ มันเลยทำให้เกิดพื้นที่ 2 ก้อน ด้านหน้าและด้านหลัง ถ้าเพื่อนมาปาร์ตี้ก็จะวุ่นวายอยู่แค่ข้างหน้า โดยความเป็นห้องจะมีแค่ห้องนอนและห้องเซอร์วิสตรงกลาง ส่วนที่เหลือเป็นคอมมอนเอเรียที่มีพื้นที่ทางเดินทำหน้าที่เชื่อมและแยกพื้นที่ 2 ก้อนนี้ออกจากกัน” สถาปนิกเล่า
โซนที่สามจัดวางอยู่ด้านในสุด ตามความต้องการความเป็นส่วนตัว โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่หลักๆ นั่นคือห้องนอนและห้องนั่งเล่นที่มีมุมทำงานเล็ก ๆ และมีประตูบานเลื่อนเชื่อมออกสู่ระเบียงที่มองเห็นบรรยากาศความคึกคักของย่านสำเพ็งหรือใช้เป็นพื้นที่เซอร์วิสสำหรับตากผ้าได้เช่นกัน
การออกแบบช่องเปิดที่สัมพันธ์กับสเปซ
ปกติแล้ว ในบ้านทั่วๆ ไป เราจะเห็นช่องเปิดขนาดและตำแหน่งที่ออกแบบซ้ำๆ กันไปหมด ซึ่งเมื่ออยู่อาศัยไปนานๆ บางครั้งเราก็พบว่า ช่องเปิดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยเรื่องอากาศ แสง หรือแม้แต่มุมมองได้เท่าที่ควร บ้านสำเพ็งไม่เป็นแบบนั้น! เพราะหนึ่งในเรื่องที่สถาปนิกให้ความสำคัญบนพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่แห่งนี้ คือ การออกแบบช่องเปิดหรือแสงธรรมชาติที่จำเป็น ทำอย่างไรให้อาคารสูง 7 ชั้นสามารถนำแสงธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ของบริบทรอบด้านเข้ามาในแบบที่ไม่วุ่นวายมากจนเกินไป?
บริเวณห้องรับประทานอาหาร สถาปนิกออกแบบช่องเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ครอปวิวภายนอกให้เหลือเพียงสัดส่วน Square 1:1 เพื่อนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน ในขณะที่นำความวุ่นวายจากบริบทภายนอกเข้ามาในปริมาณที่พอดี “ถ้าช่องเปิดใหญ่ มันจะเสียความเป็นส่วนตัวไป เราเลยจัดการให้เข้ากับสเปซทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องประจันหน้ากับโลกภายนอกโดยตรง อารมณ์เดียวกับครอปรูปลงไอจี” คุณกาจเล่า
ส่วนโถงทางเดินจากโซนด้านหน้าไปสู่ด้านหลัง ออกแบบให้เป็นช่องเปิดยาวติดกับพื้นที่ที่นำแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาในขณะที่รักษาความเป็นส่วนตัวจากมุมมองของเพื่อนบ้าน บริเวณสุดทางเดิน ยังคงมีบานเปิดขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ที่นำทั้งแสงและลมเข้าสู่ภายใน “ช่องเปิดสามอันที่เรียงตัวกันอยู่ เราพยายามออกแบบให้มันไม่เป็นทางการ โดยพยายามสร้างช่องเปิดในลักษณะแรนดอมที่เป็นของสเปซใครสเปซมัน แต่มีสเกลที่สอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ”
ในขณะที่ห้องนอนนำแสงเข้าผ่านช่องเปิดบานเล็ก และบานหน้าต่างขนาดสูงเท่าหัวเตียง นอกจากนั้นด้วยความที่วิวและบรรยากาศด้านนอกค่อนข้างมีรายละเอียดและความวุ่นวายมากพอสมควร งานวัสดุ ทางสถาปนิกจึงเลือกใช้โทนสีขาว กระเบื้องพื้นสีเทา และไม้วีเนียร์ เติมเต็มบรรยากาศให้พื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มากกลายเป็นบ้านสงบ ส่วนตัวและอบอุ่นในเวลาเดียวกัน
Location : Sampeng Market, Bangkok, Thailand
Architectural Design : Physicalist
Design Team : Karjvit Rirermvanich, Kalapa Numphueng
Images : Soopakorn Srisakul
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!