จะดีมากแค่ไหน ถ้าวันหยุดสุดสัปดาห์ของเราได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ
จากไอเดียบ้านกระท่อม เจ้าของโครงการได้ส่งมอบต่อไปยังทีมสถาปนิก SHER MAKER จึงทำให้เกิดขึ้นเป็นกระท่อมที่พักขนาดเล็กที่ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากแบรนด์ Wood and Mountain และ If I were a carpenter แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยผู้รักงานไม้และภูมิปัญญาดั้งเดิม เปิดต้อนรับนักเดินทางที่ต้องการปลีกวิเวกในบรรยากาศ in the middle of nowhere ท่ามกลางหุบเขา ลำธารสายเล็กๆ และเส้นทางวิ่งเทรลที่มาพร้อมกับแนวคิด shou-sugi ban เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ผ่านวัสดุของงานสถาปัตยกรรมหลังนี้
จากแนวคิด shou-sugi ban ของช่างไม้ญี่ปุ่น สู่สล่าไม้ยุคใหม่
เจ้าของและทีมออกแบบตกลงกันว่าอาคารควรจะเป็นอาคารไม้ เพราะวัสดุนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าของในฐานะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจะช่วยให้สามารถหาไม้ที่ใช้ในการออกแบบในโครงการได้
ภาษาการออกแบบของ SHER MAKER นั้นเรียบง่ายมาก ใช้โครงสร้างไม้และระบบผนังที่สามารถพบได้ทั่วไปในภาคเหนือ ภายนอกอาคารกรุผิวด้วยไม้เก่าจากแหล่งต่างๆในเชียงใหม่ รวบรวม คัดแยก ขัดเปิดผิวและนำมาแปรรูปใช้ซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีการเผาผิวไล่สี ทำให้ Life Circle ของวัสดุเกิดการใช้งานใหม่และถือเป็นการดึงเอาความพิเศษของวัสดุและกระบวนการนั้นๆ ออกมาขับทำให้โดดเด่น สเปซให้ความเป็นส่วนตัวแต่ยังคงเปิดด้านหนึ่งไปทางภูเขา
สตูดิโอให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยืดอายุการใช้งานของวัสดุ โดยการคัดแยกและเผาแผ่นไม้ที่มีอยู่แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ กระบวนการนี้ ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเทคนิค shou-sugi ban ของญี่ปุ่น แล้วยังเป็นการเกลี่ยสีของไม้เก่าที่มาจากหลากหลายแหล่งให้เกิดความใกล้เคียงกลมกลืน เป็นการยืมเอาวิธีการมาปรับใช้กับลักษณะกายภาพของไม้พื้นถิ่นไทยซึ่งทนทานต่อสภาพอากาศมากกว่าไม้ที่ต้องใช้วิธีเสปคและนำเข้าไม้จากต่างพื้นที่นอกจากนี้ มันทำให้ภายในอาคารทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น ในขณะที่ยังให้รูปลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
SHOU SUGI BAN หรือ JAPANESE YAKISUGI เป็นเทคนิคการเผาผิวไม้แบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ใช้เปลวไฟในการเปลี่ยนแปลงสภาพและสารเคมีภายในไม้ ด้วยการใช้ไฟเผาผิวไม้ให้ไหม้เกรียม เพื่อให้ลวดลายของแผ่นไม้มีความชัดเจนและเด่นชัดชึ้น
ในเริ่มแรกช่างไม้ชาวญี่ปุ่นใช้ไฟในการเผาผิวไม้ในเชิงงานศิลปะที่ต้องการสร้างความแปลกใหม่ในการทำงานไม้ โดยมีทั้งแบบการเผาแบบเพียงบางส่วนเพื่อให้เกิดลาย (Lightly Brushed) และการเผาผิวไม้ทั้งชิ้นให้ไหม้ดำ (Heavily Brushed)
การเผาผิวไม้ยังทำให้แผ่นไม้มีอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น โดยเฉลี่ยมากถึง 80-100 ปี โดยที่สีดำจากการเผาไหม้ ไม่หลุดลอกซีดจาง และไม่ต้องทำผิวซ้ำบ่อยๆ เหมือนการย้อมสีบนผิวไม้โดยทั่วไป นอกจากนั้นแล้วยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากปลวกและแมลงกินไม้ต่างๆ ได้อีกด้วย เพราะส่วนผิวที่ไหม้ไฟจะช่วยปกป้องเนื้อไม้ด้านใน ไม่ให้แมลงเข้ากินเนื้อไม้ได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นการใช้ไม้เผาสำหรับพวกเขาไม่ใช่แค่การมองเห็นและนำเอาความงามมาใช้โดยไม่เชื่อมโยงกับบริบท หรือองค์ความรู้ของช่างในพื้นที่ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจในวัสดุและการได้ลงมือทำ ดังที่พวกเขาตั้งใจทิ้งความไม่สมบูรณ์ในแต่ละเฉดสีไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานสถาปัตยกรรมโดยมือมนุษย์ (Human expression)
WABI-SABI ที่ถูกซ่อนไว้บนแผ่นไม้
ในประเทศญี่ปุ่นมีคำว่า Wabi-sabi (วาบิ-ซาบิ) ที่สะท้อนถึงความงามอีกมุมที่ไม่ใช่บรรทัดฐานความงามอย่างที่เราหลายคนเคยเข้าใจ แต่คือความงามจากการเห็นคุณค่าของความเรียบง่าย การค้นพบความสวยงามท่ามกลางสิ่งที่แสนธรรมดา ตลอดจนการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งที่เกิดขึ้น
แผ่นไม้แต่ละแผ่นต่างมีที่มาและเฉดสีที่ต่างกันออกไป การนำมาเผาและไล่สีจึงเป็นการให้ความหมายและความเป็นหนึ่งเดียวกันของไม้จำนวนมากที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดีจนเกิดที่พักหลังนี้ขึ้นมา อีกทั้งบานหน้าประตูต่างยังเปิดรับฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านไปในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ผู้อาศัยรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ต้องปิดกั้นเสียจนไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของฟ้าฝนที่ตกรอบๆ ที่ดิน
ในฐานะที่ประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นที่มักจะมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา บ้างว่าฝนคือศัตรูที่มาพร้อมกับความเดือดร้อน ทั้งเปียกและทำให้สาดเข้าไปในบ้าน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งมนุษย์เองควรจะเรียนรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือพูดได้ว่านอบน้อมต่อธรรมชาติ เป็นฝ่ายปรับตัวและเปิดรับ เหมือนกับชานของที่พักจะมีทั้งส่วนที่มีหลังคาคลุมและเปิดโล่งรับน้ำฝนเพื่อเชื่อมความเป็นหนึ่งเดียวกับข้างนอกบ้าน
มีอ่างไม้สำหรับอาบน้ำแบบ Outdoor เผื่อสัมผัสอากาศและวิวสวนเรียกได้ว่าเป็นความ Private ที่ต้องเปลือยเปล่ากายและใจให้แก่ธรรมชาติ การอาบน้ำที่นี่จึงเป็นการบำบัดความเครียดผ่านสถาปัตยกรรมได้อย่างดีทีเดียว
หัวใจของวาบิ-ซาบิ ไม่เพียงแต่ยอมรับสภาพของสิ่งต่างๆ ที่เสื่อมไปตามกาลเวลาเท่านั้น แต่ยังมองหาความงามที่แฝงอยู่ในรอยตำหนิหรือความไม่สมบูรณ์แบบ จึงทำให้วาบิ-ซาบิ เป็นทั้งปรัชญาและรากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ได้การยอมรับ เป็นการดำเนินชีวิตที่จะทำให้เราค้นพบความงามและความสุขได้ภายใต้สถานที่พักเล็กๆ หลังนี้
Project location : Chiangmai, Thailand
Area : 100 sq.m.
Lead Architect : Patcharada Inplang, Thongchai Chansamak, Nat Tangchonlatip
Burning&Fabricator : Akapan Kanyen, Thanapong Kiwtodsingkorn, Nat Tangchonlatip, Sirapapra Thinnang
Structure Engineer : Pilawan Piriyapokhai
Builder Team : Attipol Bamrungyai
Process Narrative : Puwadech Tiamsak
Photo credits : Rungkit charoenwat
ขอบคุณข้อมูลจาก
SHER MAKER
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!