ชวนฟัง 8 บทเพลงที่เล่าเรื่องผ่านสถาปัตยกรรมจากศิลปินระดับแนวหน้า

หากใครชื่นชอบการฟังเพลง ก็จะทราบกันดีว่าไม่บ่อยครั้งนัก ที่เนื้อหาของเพลงจะนำสถาปัตยกรรม หรือสถาปนิกมาใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึก วันนี้เลยอยากจะชวนทุกๆ คนมาลองฟังเพลงเหล่านี้จากศิลปินทั้งไทย และต่างประเทศ โดยในหลายๆ เพลงต้องใช้เวลาในการฟัง และตีความหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินมักจะออกแบบไว้เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจิตนาการได้อย่างไม่สิ้นสุด

David Bowie – Thru’ These Architects Eyes

เพลงนี้พูดถึงสถาปนิกถึง 2 คน คือ  Philips Johnson สถาปนิกผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นคนแรกที่ได้รางวัล Pritzker Architecture Prize ในปี 1979 มีผลงานโดดเด่นเช่น The Glass House, Crystal Cathedral, AT&T เป็นต้น และ Richard Rogers สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน – อังกฤษ มีผลงานโดดเด่นเช่น Centre Pompidou, Lloyd’s building, Millennium Dome เป็นต้น โดยในเนื้อหาเพลงนี้ โบวี่อยากจะทำลายความคิดของสถาปนิกทั้งสองลง ที่พยายามจะสร้างภูมิทัศน์อันยิ่งใหญ่ ตึกสูงระฟ้า แต่กลับกันที่ชีวิตผู้คนในเมืองยังดูลำบาก และไม่ได้ประโยชน์อะไรกับสิ่งก่อสร้างพวกนี้ ซึ่งดูไปแล้วโบวี่พูดถึงสถาปนิกทั้งสองออกไปในเชิงลบเสียมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามเพลง Thru’ These Architects Eyes ต้องใช้เวลาการตีความหมายกันพอสมควร ซึ่งเนื้อหาเพลงอาจจะสื่อถึงความหมายอื่นๆ ก็เป็นได้

The Beatles – Norwegian Wood

เริ่มต้นเพลงด้วยการสนทนา ระหว่างฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ที่พยายามจะโชว์ห้องที่ทำขึ้นจากไม้สนชั้นดีโทนสีขาวที่ให้บรรยากาศภายในห้องดูเป็นธรรมชาติ จัดวางด้วยเฟอร์นิเจอร์หนังสีน้ำน้ำตาลอ่อน พร้อมอากาศอบอุ่นที่ได้จากเตาผิงไฟสีเหลืองอร่ามทอดลงมาเป็นแสงสว่างสลัวๆ ให้กับภายในห้อง ชวนให้ทั้งสองพูดคุยได้อย่างเพลิดเพลิน ให้ความรู้สึกโรแมนติกได้เป็นอย่างมาก ซึ่งห้องนี้เสมือนเป็นตัวแทนของจอห์น เลนนอน ในช่วงขณะที่เขากำลังมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวอื่น ที่ไม่ใช่ภรรยาของตนเอง เขาใช้เวลาในการพูดคุยดื่มไวน์กับหญิงสาวในบ้านไม้สนตลอดทั้งค่ำคืนจนถึงเช้า เมื่อเขาตื่นขึ้นกลับพบว่าเขาอยู่เพียงลำพัง และหญิงสาวคนนั้นก็ได้จากเขาไปแล้ว  

Simon & Garfunkel – So Long, Frank Lloyd Wright

เพลงนี้เป็นการสรรเสริญ Frank Lloyd Wright สถาปนิกผู้เป็นตำนานตลอดการ มีผลงานที่ได้รับรางวัลมรดกโลกจากยูเนสโก เช่น Fallingwater, Solomon R. Guggenheim Museum, Frederick C. Robie House เป็นต้น ซึ่งเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 1959 โดยในเนื้อหาของเพลงเล่าว่า นานมาแล้วที่เขาไม่ได้นั่งจิบเครื่องดื่ม และหัวเราะไปกับ Frank Lloyd Wright จนถึงรุ่งสาง ด้วยบรรยากาศเพลงโฟล์คที่เล่นกีต้าร์ และร้องแบบช้าๆ ทำให้เมื่อฟังเพลงนี้แล้วเสมือนเข้าไปอยู่ในภวังค์วงสังสรรค์ที่บ้านน้ำตก Fallingwater กับพวกเขาทั้งสองคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Guster – Architects And Engineers

เพลงนี้เล่าเรื่องถึงคนๆ หนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมือง Baltimore รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในท่าค้าขายสำคัญของอเมริกา สภาพแวดล้อมจึงเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง และผู้คนอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น การออกแบบเมืองจึงถูกวางให้เป็นระบบกริด เพื่อให้เกิดความลื่นไหล และสัญจรได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันลักษณะของเส้นตรง และแข็งก็อาจจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัด และเกิดความเครียดขึ้นได้ เช่นบุคคลที่อยู่ในบทเพลงนี้ ที่กำลังเหม่อมองดูเฉดสีของตัวบ้าน ก่อนที่จะเอาหน้าของตัวแนบหน้าต่างมองออกไปข้างนอก ดูเหมือนว่าเขาผู้นี้จะมีอาการเศร้าอยู่เล็กๆ เขาพูดว่าสถาปนิก และวิศวกร คิดถึงแต่สิ่งก่อสร้าง และของที่ละลึก แต่ไม่เคยสนใจคนที่อยู่อาศัยในเมืองนี้เลยสักนิด ราวกับเมืองนี้เป็นเพียงกับดักให้ติดอยู่กับที่แบบนั้น จนจิตใจของเขานั้นแย่ลง และอยากจะทำลายเมืองนี้ด้วยมือของตัวเขาเอง 

The White Stripes – Little room

เพลงนี้มีเพียงแค่ 50 วินาทีเท่านั้น แต่มียอดจำนวนคนฟังมากถึง 1 ล้านวิว โดยมีเนื้อหาแค่ไม่กี่ประโยคที่ว่า คุณอยู่ในห้องเล็กๆ และคุณกำลังทำงานอะไรบางอย่างที่ดีอยู่ แต่จะดีกว่าไหมถ้ามีห้องที่ใหญ่ขึ้น แต่เมื่อมีห้องที่ใหญ่ขึ้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี คุณอาจจะต้องเริ่มคิดจากในห้องเล็ก ๆ ของคุณก่อน เมื่อตีความแล้วภายในห้องเล็กๆ แห่งนี้ อาจจะไม่ได้ถูกออกแบบการจัดวางให้เหมาะสมแก่การพักอาศัย จนไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน และกิจกรรมสุนทรีได้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรู้สึกอึดอัด และความเครียด จนเกิดความคิดมากมาย ในอีกแง่หนึ่งอาจจะหมายถึงความแออัดของเมือง หรือความยากจน ซึ่งเพลงนี้ค่อนข้างจะให้อารมณ์กวนๆ และฉีกออกไปจากเพลงแนวอื่นๆ พอสมควร

The Commodores – Brick House

เพลงยุค 1970 จังหวะดิสโก้ชวนเต้นรำ ที่พูดถึงหญิงสาวผิวสีคนหนึ่งที่ดูสวยงดงาม แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ดูผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างมากมาย โดยที่ไม่ได้ปกปิดบังอะไร ในแง่นึงก็อาจจะหมายถึงเรื่องเซ็กส์ เพลงนี้จึงเปรียบเธอเสมือนกับบ้านอิฐที่ใช้ทั้งของเก่า และใหม่ผสมกันในการก่อสร้างให้บรรยากาศอบอุ่น มีร่องรอยแต่ดูแข็งแกร่งเป็นธรรมชาติ เปิดเผย และเซ็กซี่เหมือนกับอิฐที่ไม่ได้ฉาบผิว เมื่อลองเข้าไปนั่งภายในแล้วรู้สึกอึดอัดเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยช่องลมของการจัดเรียงอิฐก็ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง เปรียบเสมือนกับการนั่งพูดคุยกับสาวผิวสีคนนี้อย่างไรอย่างนั้น

THEE Chaiyadej – Home

หากใครฟังเพลงนี้ก็ต้องรู้สึกอบอุ่นไปกับเสียงกีตาร์ เสียงร้องทุ้มต่ำ รวมถึงเนื้อหาเพลงที่พูดถึงบ้านในฝัน โดยเนื้อหาเพลงนี้เริ่มต้นจากพื้นที่ต้อนรับหน้าบ้าน ด้วยการจัดดอกไม้สวยงามริมทางก่อนเดินเข้าไปสู่ประตูรั่วที่ประดับด้วยแจกัน ก่อนจะพาไปยังสวนของตัวบ้านที่ใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นจุดเด่น นำพาสายตาเข้าไปภายในบริเวณบ้าน ที่จัดวางพื้นที่รับประทานอาหารพร้อมส่องสว่างด้วยโคมไฟอันสวยงาม พร้อมอยู่อาศัยกับคนที่เรารัก ซึ่งเป็นที่พักพิงทางจิตใจสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ เพียงเท่านี้บ้านก็จะสมบูรณ์ครบจบทุกองค์ประกอบได้อย่างลงตัว

Desktop Error – Ticket To Home

เป็นบทเพลงบรรเลงชวนให้คิดถึงเรือนภาคอีกสานร่วมสมัย ที่เหล่าญาติพี่น้องใช้ชานไม้ยกใต้ถุนเล่นดนตรีต้อนรับการกลับบ้านของลูกหลาน เกิดเสียงก้องกังวานอันไพเราะจากการสะท้อนของกลุ่มอาคารไม้ผสมคอนกรีตหลังคาหน้าจั่ว ด้วยการดีดพิณเป็นจังหวะช้าๆ ให้ความรู้สึกราวกับว่าพวกเขากำลังนั่งลงบนยานพาหนะที่กำลังเคลื่อน แล้วค่อยๆ ใช้เสียงดนตรีที่เสมือนเป็นธรรมชาติเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมราวกับว่าพวกเขาใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง ก็คือบ้านเกิดในภาคอีสานนั่นเอง

รูปภาพจาก

https://www.bbc.com/culture/article/20160111-david-bowie-a-jukebox-of-your-memories

https://www.thebeatles.com/rubber-soul

https://www.simonandgarfunkel.com/music/bridge-over-troubled-water-40th-anniversary-edition

https://www.guster.com

https://www.whitestripes.com

http://www.commodoreslive.com

THEE Chaiyadej Main Fanpage

http://www.desktoperror.com

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn