โดยปกติแล้วสถาปนิกมักจะออกแบบบ้านให้กับคนอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นสถาปนิกลงมือออกแบบบ้านให้กับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยากไม่ใช่น้อย สำหรับการพิจารณาตัวตน และความชื่นชอบ เพราะประสบการณ์ที่มีอยู่มากมาย จึงต้องนำทั้งหมดมาร้อยเรียงแล้วดึงความพึงพอใจของสถาปนิกในแต่ละส่วนมาประกอบกันเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ และความชื่นชอบส่วนตัวลงมาสู่งานออกแบบให้ได้มากที่สุด
งานนี้เรียกได้ว่าต้องใช้เวลาตกผลึกทางความคิดกันพอสมควรสำหรับบ้าน BAAN SAB MUANG ของสถาปนิกคู่สามีภรรยา Studio Sifah จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่พยายามสะท้อนตัวตนผสมผสานความเป็นสากล และกลิ่นอายพื้นถิ่น ที่ผ่านการทดลองหลายต่อหลายครั้ง จนออกมาเป็นทั้งบ้านพักอาศัย และออฟฟิศได้อย่างลงตัว
พื้นที่ขนาดเล็กแต่ทำให้ดูใหญ่ด้วยมุมมอง
ด้วยขนาดพื้นที่ขนาด 70 ตารางเมตร เป็นพื้นที่หัวมุมขนาดเล็กซึ่งเป็นพื้นที่ของคุณแม่ที่มอบให้กับ คุณโน๊ต และคุณฟ้าคู่สามีภรรยา ทั้งคู่จึงมีความต้องการที่จะสร้างบ้านให้เป็นทั้งที่พักอาศัย และออฟฟิศในตัว ซึ่งการออกแบบจึงจำเป็นต้องทำให้บ้านรู้สึกไม่อึดอัด และใช้งานได้สะดวก โดยที่บ้าน และออฟฟิศต้องไม่กระทบการใช้งานซึ่งกันและกัน
“พื้นที่ของเรามีขนาดไม่ใหญ่นัก เราจึงใช้วิธีการลวงตาด้วยแนว perspective ให้เกิดมุมมองเห็นที่กว้าง และยืดยาวออกไปจนเป็นอัตลักษณ์ของอาคาร ตั้งแต่ยกพื้นที่แนวราบบางส่วนด้านหน้าของอาคารให้เสมือนเป็นใต้ถุนยกสูง และดึงมุมอาคารในแนวตั้งให้สูงขึ้นจนเกิดเป็นอาคารสี่เหลี่ยมคางหมู รวมไปถึงส่วนที่เป็นสวนแนวเฉียง และบานที่ปลายออก ซึ่งช่วยสร้างมุมมองให้ดูกว้าง และเพิ่มความสดชื่นขึ้นไปถึงชั้นสองของตัวบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างทางเข้าบ้าน และออฟฟิศให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
ฟังก์ชั่นแตกต่างแต่ลงตัว
ในบริเวณพื้นที่ชั้น 1 สถาปนิกวางฟังก์ชั่นให้เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของออฟฟิศ Studio Sifah และนำธรรมชาติจากบริบทภายนอกเข้ามาสู่ภายในบ้านด้วยกระจกบานใหญ่ พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และโต๊ะทำงานแบบหลวมๆ ชิดริมกระจก เพื่อช่วยให้พนักงานเกิดความผ่อนคลาย และเชื้อเชิญให้มองออกไปยังพื้นที่สีเขียวเพื่อพักสายตาขณะทำงาน
“จะเห็นได้ว่าวัสดุตั้งแต่พื้นลานหน้าบ้านจนไปถึงภายในตัวออฟฟิศ เราใช้อิฐเผาที่ได้มากจากคนในพื้นที่ และทดลองฉาบคอนกรีตผสมแกลบลงไปบนฝาผนังของตัวบ้าน ประจวบเหมาะพอดีเราได้ฝาไม้ไผ่ลายอำ จากอำเภอหางดง ซึ่งเป็นฝาผนังเถียงนาของบ้านคุณแม่ เราเลยนำมาทดลองพิมพ์ลายลงไปบนคอนกรีตของฝ้าเพดาน โดยใช้วิธีติดตั้งไปบนแบบไม้อัด แล้วเทคอนกรีตทับลงไป จากนั้นจึงค่อยๆ ดึงลายออกมา จนเกิดเป็นลายของฝาลายอำบนฝ้าเพดาน ซึ่งในชั้นแรกของบ้านเราตั้งใจโชว์โครงสร้าง แบบไม่ต้องตกแต่งอะไร ให้เหมือนเป็นพื้นที่ทดลองวัสดุ สำหรับออฟฟิศของเราด้วย”
ถัดมาทางด้านขวาทางเข้าของตัวบ้านสถาปนิกออกแบบให้พื้นที่ชั้น 1 มีโถงขนาดพอดีเพื่อเชื้อเชิญผู้พักอาศัยขึ้นไปบนชั้นสอง ที่วางผังอาคารเป็นตัวยู เปิดสเปซตรงกลางให้เป็นที่รวมตัวของคนในบ้าน ด้วยพื้นที่นั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหารขนาดใหญ่ และพื้นที่เตรียมอาหาร ก่อนจะแจกเข้าสู่ห้องนอน ที่อยู่ทางสองฝั่งของตัวอาคาร
“เราตั้งใจให้พื้นที่ด้านบนดูเรียบคม ใช้งานสะดวก ง่าย และไม่ต้องดูแลรักษาเยอะ เราจึงเลือกใช้สกิมโค้ทในการฉาบผนัง จบด้วยโครงฝ้า Shadow Line และติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบบิลท์อิน ในส่วนของทางเข้าเราเลือกประตูอลูมิเนียมที่เปิดได้สะดวกไม่มีปัญหาเรื่องอุณหภูมิ และเสียงรบกวน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าบ้านหลังนี้ทั้ง 2 ชั้นจะดูแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งเราอยากให้พื้นที่ชั้น 1 ของออฟฟิศบรรยากาศดูเหมาะแก่การทำงาน แต่พื้นที่อยู่อาศัยชั้น 2 อยากให้ดูน่าอยู่อาศัยมากกว่า”
ตกแต่งภายนอกด้วยฟาซาดไม้เผา
สำหรับฟาซาดของอาคาร สถาปนิกเลือกใช้วัสดุผนังไม้เผาแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะเรียบง่ายดูกลมกลืนไปกับบริบท ติดตั้งให้ขนานไปกับแนวเขตที่ดิน โดยนอกจากจะสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ชั้น 2 ที่เป็นส่วนพักอาศัยแล้ว ยังช่วยควบคุมปริมาณแสงธรรมชาติให้เข้ามาอย่างพอดีกับช่วงเวลาของการอยู่อาศัย และสวนในบ้านหลังนี้อีกด้วย
“เราหาวัสดุในการทำฟาดที่ไม่ต้องดูแลรักษาเยอะ เลยเลือกใช้ไม้สนเผาสีดำที่สั่งมาจากญี่ปุ่น เข้ามาใช้ในส่วนของฟาสาดอาคาร ซึ่งช่วยให้ดูกลมกลืนไปกับสายไฟ และยังมีความทนทานต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของตัวบ้าน”
การทดลอง และผสมผสานภาษาทางสถาปัตยกรรม
“งานนี้เราเป็นผู้รับเหมาเอง และเริ่มทำกันอยู่ประมาณ 2 ปี จากการทดลองวัสดุ เรียนรู้ประสบการณ์การก่อสร้างแบบใหม่ๆ อยู่ตลอด เพราะสมัยนี้โลกมันเชื่อมต่อกันหมดแล้ว ทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิด อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเวลาผ่านไปสักพักชั้น 1 ก็เริ่มก่อสร้างเสร็จ จึงได้พาน้อง ๆ ในออฟฟิศเข้ามาทำงาน ทำให้พวกเขาได้เห็นหน้างานก่อสร้างจริงซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ค่อนข้างจะใกล้ตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน เราพยายามสะท้อนการใช้ชีวิตของเราในด้านการอยู่อาศัย และการทำงานที่สอดคล้องไปยุคสมัยแต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเป็นพื้นถิ่นให้ผสมผสานไปด้วยกัน เพื่อให้การอยู่อาศัยหรือการทำงาน เป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย และตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เราคำนึงถึงเสมอ”
TYPE : House & Studio
LOCATION : Suthep, Chiangmai, Thailand
YEAR : 2021
AREA : 335 sq.m.
Architect & Interior Designer : Worarat Rattanatrai, Sifah Sornchaiyeun – Studio Sifah
Structure Engineer : Jar Pilawan
Contractor : Studio Sifah team
Photographer : Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!