Chicago Townhouse
กับแนวคิดที่ยกระดับทาวน์เฮาส์ให้เปลี่ยนไป

ถ้าเราหยิบทาวน์เฮาส์ในประเทศไทยมาวางเรียงต่อกัน สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือหน้าตาฝาแฝดที่ดูจะใกล้เคียงกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบด้วยความสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีผนังของบ้านกั้นกลางระหว่างกลางและต้องใช้งานร่วมกับบ้านข้างๆ ประกอบกับมีที่ว่างบริเวณด้านหน้าและด้านหลังระหว่างรั้วที่เหลืออยู่เล็กน้อย อีกทั้งยังมาพร้อมบางปัญหาที่หลายคนมองว่า ทึบตัน ดูอึดอัด แสงและลมธรรมชาติเข้าถึงได้น้อย

Chicago Townhouse ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของบ้านเดี่ยวในเมืองชิคาโก บนพื้นที่หน้ากว้าง 7.6 เมตร ลึก 38 เมตร ทาวน์เฮาส์ขนาด 854 ตารางเมตรนี้มีข้อจำกัดด้วยลักษณะพื้นที่แคบ และยังมีกฏหมายของพื้นที่ซึ่งจำกัดความสูงไว้ที่ 7.6 เมตร ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ทีมสถาปนิกจาก Alexander Gorlin Architects จึงออกแบบทางเข้าลดระดับความสูงลง เพื่อไปเพิ่มความสูงของพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณสามชั้นที่เหลือให้ได้มากที่สุด โดยทางเข้าจะตั้งอยู่ตรงกลางขนาบข้างตัวบ้าน เพื่อประหยัดพื้นที่

แปลนชั้น 1-4 ตามลำดับ

นำแสงธรรมชาติส่องเข้าสู่พื้นที่ภายใน

เพื่อปรับโฉมให้บ้านทาวน์เฮาส์แตกต่างจากบ้านในละแวกใกล้เคียง ตัวอาคารออกแบบให้พื้นที่ใช้สอย Cantilever (ยื่นออก) เหนือสวนบริเวณด้านหน้า ส่วนพื้นที่ทางด้านขวาเป็นบันไดที่พาไปสู่ระดับหลักของบ้าน เวียนเป็นเส้นทางยาวต่อขึ้นสู่ชั้นบนโดยมีกระจกสกายไลท์นำแสงธรรมชาติส่องเข้าสู่พื้นที่ภายในได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าของบ้านยังมีกระจกบานขนาดใหญ่เป็นตัวรับแสงและเปิดมุมมองสู่ภายนอก การยกระดับพื้นที่ห้องนั่งเล่นให้สูงจากระดับสายตาปกติ ยังหลีกเลี่ยงความวุ่นวายจากถนน ทำให้ได้มุมมองที่เป็นส่วนตัว เห็นเรือนยอดไม้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเข้ามาแทนที่

ในระดับหลัก พื้นที่ทั้งหมดต่อเนื่องเปิดโล่งทั้งชั้นจากด้านหน้าสู่ด้านหลัง โดยมีพื้นที่นั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหารเชื่อมต่อถึงกันตามลำดับ ภายในพื้นที่ยังคุมโทนสีขาวที่ให้ความส่วาง ทำให้พื้นที่ดูโปร่งโล่ง กว้างขวาง รวมถึงมีม่านผ้าร่มสีขาวโปร่งแสงห้อยยาวลงมาจากหน้าต่าง หากเปิดในตอนกลางก็สามารถรับแสงธรรมชาติได้ หรือหากปิดในตอนกลางคืนก็ยังสามารถเติมบรรยากาศให้พื้นที่ด้วยแสงที่นวลตา

ถัดขึ้นมาอีกหนึ่งชั้นเป็นห้องนอนมาสเตอร์และห้องน้ำที่ออกแบบให้อยู่ในก้อนแมสอาคารที่คล้ายกับลอยอยู่เหนือพื้นที่ ยึดเข้ากับผนังอีกฝั่งด้วยโครงสร้างคานเหล็ก บริเวณกระจกยังกั้นความเป็นส่วนตัวแบบหลวมๆ ด้วย การวางราวเสื้อผ้าเป็นกิมมิกที่โชว์ของสะสมไปพร้อมกับการกั้นพื้นที่ ผนังด้านข้างของห้องนอนยังมีทางสัญจรหลักที่เชื่อมขึ้นสู่พื้นที่ชั้นถัดไป

เฟอร์นิเจอร์เป็นงานประติมากรรม

หากลองสังเกต ภายในบ้านค่อนข้างออกแบบด้วยภาษาที่เรียบง่าย โดยมีเฟอร์นิเจอร์เป็นงานประติมากรรมให้กับบ้าน มีชิ้นส่วนที่ป๊อปอัพโดดเด่นขึ้นมาประมาณ 2-3 ชิ้นติดกับผนังโทนสีขาว ผ้าม่านสีขาว และพื้นสีเทาด้าน ที่ทำหน้าที่ราวกับเป็นแคนวาสของบ้าน

บางส่วนของบ้านอย่างชั้นบนสุด ยังมีการวางฟังก์ชันไว้อย่างหลวมๆ เพื่อเป็นพื้นที่ Multi Function ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และมีโรงจอดรถตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของตัวบ้าน เชื่อมกับถนนเซอร์วิสที่ไม่มาวุ่นวายรบกวนพื้นที่บริเวณหน้าอาคาร

รูปด้านอาคาร

หากดูจากบริบทของพื้นที่ เมืองร้อนชื้นอย่างบ้านเราคงไม่สามารถนำแนวคิดที่ว่ามาปรับใช้ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยบางส่วนของงานโครงสร้าง การปรับพื้นที่ให้คุ้มค่า การนำแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่ภายในก็นับว่าน่าสนใจ และหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของบ้านทาวน์เฮาส์ในต่างประเทศ ที่สามารถหยิบนิดผสมหน่อย มาใช้กับการบ้านแบบไทยๆ เราได้แน่นอน

Architects : Alexander Gorlin Architects
Area : 4000 ft²
Manufacturers :  Luminaire
Structural Engineer : The Structural Shop
Mechanical Engineer : Sheldon Lazan PE
Photographs : Michael Moran

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้