บริบทงานออกแบบภายในที่เกิดขึ้นในสถาปัตยกรรมแบบ Radical Architecture

หากจะกล่าวว่ายุคสมัยแห่ง Radical Architecture period (1960 – 1975) นับเป็นช่วงเวลาที่มีสีสันมากที่สุดยุคหนึ่งของวงการสถาปัตยกรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็คงไม่ผิดนัก ผลงานสถาปัตยกรรมในช่วงดังกล่าวเป็นส่วนผสมของแนวคิดทางสถาปัตยกรรมและจินตนาการอันน่าทึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้า อย่างเช่น Brutalism Architecture, Metabolism Architecture, Mobile Architecture, Futuristic Architecture รวมถึงอิทธิพลจากศิลปะ Pop Art โดยทั้งหมดได้หลอมรวมออกมาเป็นแนวคิดทางสถาปัตยกรรมแนวใหม่ที่มีความสุดขั้วทั้งทางด้านลักษณะทางกายภาพที่แปลกตา โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

โดยผลงานที่เกิดขึ้นในยุคนี้ มักจะเป็นกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย (Housing) ภายใต้วิถีชีวิตแนวใหม่ที่มีความล้ำยุคล้ำสมัย มีรูปแบบการใช้งานที่น่าตื่นเต้น สุดโต่งราวกับหลุดออกมาจากภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น หน่วยแคปซูลที่อยู่อาศัย โครงสร้างตาข่าย พื้นที่อาศัยในฟองอากาศ หรือโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมถูกแขวนและสามารถเชื่อมต่อกันได้ รวมถึงการเปรียบเปรยอาคารสถาปัตยกรรมเป็นเสมือนกับยานพาหนะขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้

Spatial city / City in the sky โดย Yona Friedman และ Tokyo Bay โดย ญี่ปุ่น Kenzo Tange & Kisho Kurokawa

แนวคิดทางสถาปัตยกรรมในยุคนี้มีความน่าตื่นตาตื่นใจสูง อย่างเช่น ผลงาน Spatial city / City in the sky ของสถาปนิกชาวฝรั่งเศส Yona Friedman ที่เป็นลักษณะของเมืองลอยฟ้าที่โครงสร้าง Megastructure ถอดประกอบได้ ที่แขวนหน่วยของ ‘พื้นที่’ เพื่อการอยู่อาศัยแนวใหม่ หรือว่าผลงาน Tokyo Bay ของสถาปนิกญี่ปุ่น Kenzo Tange และ Kisho Kurokawa ที่เป็นลักษณะของโครงข่ายผังเมืองลอยน้ำ ที่มีแนวคิดแบบ Metabolism Architecture กลางอ่าวโตเกียว รวมถึงกลุ่มสถาปัตยกรรมหัวก้าวหน้า Archigram จากเกาะอังกฤษ

ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแนวคิด Radical Architecture ได้ให้คำนิยามถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย (Housing) ตามแนวคิดของ Le Corbusier เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อแนวคิดของเขาที่ว่า “บ้านคือเครื่องจักรเพื่อการอยู่อาศัย” หรือ “A house is a machine for living in” แต่ได้ผสมผสานจินตนาการแบบ Postmodernism และ Futurism รวมถึงความพิจารณาถึงเชื่อมโยงระหว่างวิวัฒนาการเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตทางกายภาพของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยที่จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายในที่มีเส้นสายที่โดดเด่น มีสีสันสดใส รวมถึงสุนทรียศาสตร์อันล้ำยุค แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตในเมืองอุดมคติที่มีความเป็นพลวัตรอย่างมาก

ในวันนี้จะมาพูดคุยถึงลักษณะเด่นของการออกแบบพื้นที่ภายใน (Interior Space) และการออกสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture) ที่ซุกซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบ Radical Architecture ที่น่าสนใจมาให้ฟังกัน

Capsule House โดย Warren Chalk

ผลงาน Capsule House ในปี 1964 โดย Warren Chalk จากกลุ่มสถาปัตยกรรม Archigram ซึ่งเป็นหน่วยของที่อยู่อาศัยแบบ Capsule สำเร็จรูป โดยใช้ระบบก่อสร้างอาคารสำเร็จรูป (prefabrication) โมดูลเหล่านี้ประกอบด้วยโครงสร้างทรงกลมขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับโครงสร้างแกนกลาง โดยผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plug-in City ซึ่งแต่ละโมดูลได้รับการออกแบบพื้นที่ภายในให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อการอยู่อาศัยอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเตียง ห้องอาบน้ำ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่เก็บสัมภาระ และยังสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานของพื้นที่ได้อย่างหลากหลายจากระบบกลไกที่ซ่อนอยู่ อย่างเช่น หน้าจอแสดงผลแบบพับได้ บานเลื่อนม้วนเพื่อแบ่งพื้นที่ ที่นั่งแบบพองลม แคปซูลทำความสะอาดร่างกายอัตโนมัติ และผนังซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานแบบ clip – on เพื่อทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้หากเมื่อมันล้าสมัย

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของพื้นที่ให้สูงที่สุดภายใต้พื้นที่จำกัด โดย Warren Chalk ได้กล่าวว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากแคปซูลสำรวจอวกาศ ที่นักบินอวกาศ John Glenn ได้เดินทางรอบโคจรรอบโลกครั้งแรกเมื่อปี 1962

Gasket Homes โดย Ron Herron

ผลงาน Gasket Homes โดย Ron Herron เมื่อปี 1965 ที่ได้แนวคิดการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในจากชิ้นส่วนปะเก็นของระบบอัดอากาศนิวเมติกส์ (pneumatic system) ทำให้เกิดโมดูลที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัยที่สร้างจากพลาสติกชนิดพิเศษประกอบซ้อนกันเป็นปริมาตรไร้รอยต่อคล้ายกับฟองน้ำ เพื่อสร้างพื้นที่อาศัยของมนุษย์ที่มีน้ำหนักเบาสามารถดำรงชีพอยู่บนผิวน้ำและใต้น้ำได้ โดยแต่ละแคปซูลยังคงเป็นอิสระจากกันและถูกแขวนไว้บนแกนโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้แต่ละโมดูลมีอิสระมากขึ้น สามารถถอดหรือเปลี่ยนได้ง่ายโดยที่ทั้งระบบยังคงเหมือนเดิม

การตกแต่งภายในที่ใช้เส้นสายที่ดูมีความล้ำสมัยโค้งมนลื่นไหลแบบ Neofuturist มีการแบ่งฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบครันและเป็นสัดส่วน ทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องอาบน้ำ และส่วนพักผ่อนอยู่ที่พื้นอีกระดับ ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ของพื้นที่ภายได้ได้ถูกซ่อนไว้ในผนังโครงสร้างพลาสติกแบบพิเศษ โดยผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Seaside Bubble ซึ่งเป็นโมดูลพื้นที่อยู่อาศัยคล้ายกับเนื้อเยื่อฟองน้ำที่เกาะกลุ่มกัน

House of the Future โดย Peter & Alison Smithson

จากผลงาน conceptual มาสู่ผลงานที่ได้ทำการจัดแสดงแบบ Exhibition กันบ้าง และขอย้อนกลับไปถึงผลงานชิ้นสำคัญของคู่สามีภรรยาสถาปนิกชาวอังกฤษ Peter และ Alison Smithson กับผลงาน House of the Future เมือง London ในปี 1956 ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับแนวคิดของนักศึกษาสถาปัตยกรรมในยุคนั้น รวมถึงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของกลุ่ม Archigram ในเวลาต่อมา

ผลงานนี้เป็นบ้านในอนาคตในอีก 25 ปีข้างหน้าสำหรับคู่หนุ่มสาวที่ไม่มีลูก ที่มีกรอบอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดกับการตกแต่งภายในด้วยเส้นสายที่โค้งมนไม่เป็นระบบ และมีลาน inner courtyard อยู่ที่ใจกลางของพื้นที่ โดยจะสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกฟังก์ชั่นการใช้งานได้โดยที่ไม่มีการแบ่งห้องและการแบ่งฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างแน่ชัด ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านสามารถเกิดขึ้นบริเวณไหนก็ได้ อย่างเช่น มีตู้เก็บเสื้อผ้าและเครื่องซักผ้าในห้องครัว พื้นที่เย็บผ้าแบบเคลื่อนที่ได้ รวมถึงพื้นที่ pantry ที่ติดกับลานกลางบ้านเพื่อการสันทนาการ

การแบ่งพื้นที่ภายในถูกสร้างขึ้นโดยผนังเลื่อนลูกฟูก ผ้าม่าน หรือตู้เก็บของที่ซ่อนอยู่ และยังเพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรล อย่างเช่น ตู้อาบน้ำทรงกลมแบบ built – in ที่มีระบบสั่งการให้เป่าอากาศร้อนแห้งหลังจากอาบน้ำ โต๊ะปรับระดับได้ หรือโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ การแบ่งห้องด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถสร้างการไหลเวียนของพื้นที่ในบ้านเข้าหากันและเพิ่มพลวัตรในการอยู่อาศัย โดยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งหมดมีกลิ่นอายการออกแบบจากยุค Mid-century อย่างเช่น Paco Chair, Tulip Chair หรือ Egg Chair ที่มีความสวยงามเหนือกาลเวลา

House of century โดย Richard Jost

ข้ามมาฝั่งสหรัฐอเมริกาบ้าง ผลงาน House of century โดย Richard Jost จากกลุ่มสถาปนิกหัวก้าวหน้า Ant Farm เป็นบ้านพักตากอากาศริมทะเลสาบใกล้เมืองฮูสตันที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1972 เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงแบบออร์แกนิกแปลกตาคล้ายกับสัตว์เซลล์เดียวจำพวกอะมีบา มีช่องเปิดรับแสงทรงกลมขนาดใหญ่คล้ายกับหน้าต่างของอาณานิคมอวกาศในนิยายวิทยาศาสตร์ โดย Richard Jost ได้มีการเปิดเผยถึงแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ว่า เป็นรูปร่างในจินตนาการที่ได้แรงบัลดาลใจจาก โครงการสำรวจอวกาศ Apollo บางส่วนของสัญลักษณ์ของเพศชาย รวมถึงลักษณะเส้นสายงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกชาวเสปน Antonio Gaudi

Corridor ทางเข้าหลักที่โปร่งใสโค้งมนประกอบกับการออกแบบแสงสว่างบริเวณพื้นทางเดิน สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่แขกผู้มาเยือน โดยทางเดินดังกล่าวจะนำไปสู่โถงภายในของตัวบ้าน ที่มีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยด้วยฟอร์มทรงกลม บริเวณชั้นล่างเป็นที่ตั้งของห้องนั่งเล่นและห้องครัว ที่มีการตกแต่งภายในด้วยพื้นไม้ เคาน์เตอร์ครัวและพื้นที่เก็บของรวมถึงเฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อินทั้งหมดได้รับการออกแบบให้มีลักษณะออแกนิคฟอร์ม

ช่องว่างขนาบข้างหอคอยที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยบันไดทรงโค้ง ซึ่งมีห้องน้ำและห้องนอนวางซ้อนกันในแนวดิ่งบริเวณปล่องอาคาร มีการออกแบบเตาผิงโดยใช้ขดลวดส่งผ่านความร้อนทรงโค้ง ที่ได้แรงบัลดาลใจจากวัฒนธรรมดิสโก ประกอบกับการมีมีปล่องเตาผิงเพื่อให้ความร้อนแก่พื้นที่ภายในยามหน้าหนาว รวมถึงการติดตั้งเสาอากาศทีวีบนยอดหอคอยคล้ายกับสถานีอวกาศในหนังสือการ์ตูน Comic ในยุคสมัยนั้น

โดยรายละเอียดของการออกแบบภายในทั้งหมดที่ได้กล่าวมาจะมีกลิ่นอายความสนุกสนานจากอิทธิพลศิลปะ Pop Art อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ได้สร้างความเสียหายต่ออาคารเป็นส่วนใหญ่และได้ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพกึ่งซากปรักหักพังตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

AXIOM SPACE STATION’S HABITATION MODULE โดย Philippe Starck

จากผลงานที่ได้หยิบยกมาพูดคุยกันในวันนี้ จะเห็นได้ว่าการออกแบบภายในที่เกิดขึ้นในยุค Radical design period มีลักษณะเด่นที่น่าสนใจ และมีสีสันที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การออกแบบสมัยใหม่ที่หลอมรวมแนวคิดที่สำคัญจากยุคก่อนหน้าเข้าด้วยกัน โดยสุดท้ายผู้เขียนอยากหยิบยกผลงานออกแบบภายในที่เชื่อมโยงกลิ่นอายที่เกิดขึ้นอดีตกับวิทยาการจากอนาคตดูบ้าง

สำหรับการตกแต่งภายในโมดูลห้องพักของนักบินอวกาศของสถานีอวกาศ Axiom ซึ่งเป็นสถานีอวกาศเพื่อการพาณิชย์แห่งแรกของโลก ที่ออกแบบโดย Philippe Starck สถาปนิกและนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศส ผลงานดังกล่าวได้รับอนุมัติจากองค์การ Nasa ให้เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยแต่ละโมดูลจะเป็นที่อยู่อาศัยและของนักบินอวกาศในสภาวะไร้น้ำหนักที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและขั้นสูง

โดย Starck ได้ทำการออกแบบภายในให้แต่ละโมดูลให้ดูเหมือนกับ รังไข่ โดยใช้ผนังบุนวมสีขาวรอบห้องเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตในอวกาศที่ไร้แรงโน้มถ่วง รวมถึงมีหน้าต่างบานใหญ่โค้งมนสำหรับชมวิวโลกและห้วงอวกาศ โดยมี LED นาโนหลายร้อยดวงที่สามารถเปลี่ยนสีได้อย่างสวยงาม รวมทั้งหน้าจอแสดงผลระบบสัมผัสที่ล้ำสมัย ผลงานดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการผนวกองค์ความรู้ระหว่างการออกแบบภายใน การออกแบบอุตสาหกรรม วิทยาการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ร่วมกับวิถีชีวิตของมนุษย์อวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแท้จริง

“ผมจะสร้างที่อยู่อาศัยให้กับนักบินอวกาศ โดยใช้การออกแบบภายในด้วยวัสดุดูดซับแรงกระแทก และให้สัมผัสที่นุ่มนวลประกอบกับผนังซึ่งดูดซับเสียงรบกวนและการออกแบบ LED lighting ที่ซ่อนอยู่ รวมถึงระบบราวจับที่สามารถถอดเคลื่อนย้ายได้ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในอวกาศอย่างสิ้นเชิง” Philippe Starck กล่าวทิ้งท้าย

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว