เราเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า สถาปนิกออกแบบบ้านก็เปรียบเสมือนช่างตัดเสื้อผ้าที่ต้องพอดีกับรูปร่างและไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่ ความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้อยู่อาศัยจึงสำคัญกว่าเรื่องของลายเซ็นและจุดเด่นของอาคารที่สถาปนิกตั้งใจใส่ลงไป คำกล่าวนั้นมีให้เห็นชัดเจนในตัวอย่างของ S1 Residence บ้านโมเดิร์นร่วมสมัยของครอบครัวขยายใจกลางสุขุมวิทที่ออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการ การแก้ไขปัญหา Pain Point ไปจนกระทั่งลักษณะนิสัยหรือวิถีชีวิตของผู้อยู่ โดยได้ทีมผู้ออกแบบจาก archi.smith architects รับหน้าที่ออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมและพื้นที่ภายใน
จุดเริ่มต้นของบ้านหลังใหม่ข้างบ้านเก่า (บนที่ดินเดิม)
“ในบริเวณที่ดินของพื้นที่โครงการจะมีบ้านหลังเก่าของคุณย่า ซึ่งทางเจ้าของรุ่นหลานต้องการรีโนเวทเพื่อเป็นบ้านของตัวเองที่กำลังจะแต่งงาน ขยับขยายและย้ายมาอยู่ พื้นที่ดินเดิมค่อนข้างใหญ่อยู่ใจกลางสุขุมวิทเลย โดยที่บ้านรอบๆ ในพื้นที่ดินอยู่อาศัยในลักษณะหลายหลังเป็นญาติกัน แต่พอเราเข้าไปดูพื้นที่จริง เราพูดตรงๆ ว่า ด้วยโครงสร้างบ้านเดิม และด้วยโจทย์ ความต้องการฟังก์ชันทั้งหมดที่เขาต้องการสำหรับบ้านใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก ถ้าเป็นไปได้ สร้างบ้านใหม่ข้างๆ และอาจจะปรับปรุงบ้านหลังนี้บางส่วนเพื่อแทรกให้มันกลมกลืนกันอาจจะดีกว่า ซึ่งสุดท้ายทางเจ้าของเขาก็เห็นด้วยกับแนวทางที่เราเสนอไป” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง archi.smith.architects เล่าถึงจุดเริ่มต้น
01 เคารพอาคารเก่า
ความต้องการแรกในบ้านหลังใหม่ของเจ้าของวัยเกือบ 30 คือ ความเคารพต่อเรือนหลังเก่าของคุณย่า กล่าวคือ ต้องกลมกลืน ไม่ล้ำ บดบังบ้านของคุณย่าเดิม ดังนั้นที่ดินที่ทีมสถาปนิกออกแบบได้ จึงดูเหมือนจะ Flexible ในขณะที่ต้องหาจุดพอดีของทั้งสองฝ่าย ด้วยความที่ลักษณะของที่ดินที่เหลือนั้นค่อนข้างผอมยาว ผู้ออกแบบจึงตัดสินใจรื้อถอนส่วนต่อเติมในโซนซักล้างของบ้านคุณย่าออกและแทรกตัวบ้านใหม่เข้าไปให้กลมกลืน กลายเป็นผังลักษณะคล้ายตัว L โดยมีปีกหนึ่งเป็นบ้านของคุณย่า ส่วนอีกปีกหนึ่งคือบ้านของเจ้าของรุ่นหลาน
ฟังก์ชันของบ้านหลังใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร แพนทรี่ ห้องทำงาน และมีห้องพระเป็นมุมเล็กๆ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ของแม่บ้านและส่วนเซอร์วิสต่างๆ ซึ่งทางเจ้าของเองก็อยากให้บ้านเกิดความเชื่อมโยงกับบ้านของคุณย่า และบ้านหลังเดิมที่เขาอยู่ ซึ่งเป็นบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ถัดไปด้านหลังของที่ดิน
สถาปนิกจึงใช้ที่ว่างระหว่างบ้านเก่าของคุณย่าและบ้านใหม่ เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารทั้งหมด “อย่างส่วนของแม่บ้านก็สามารถเดินเชื่อมบริเวณหลังบ้านได้เหมือนกัน ส่วนพาร์ทงานระบบเราต้องเผื่อพื้นที่ให้รองรับทั้งบ้านคุณย่าและบ้านหลังใหม่ เพราะเราดึงส่วนวางแทงค์น้ำของบ้านคุณย่ามาใช้ และที่น่าสนใจคือ ด้วยความที่คุณพ่อเขาเป็นอาจารย์วิศวะฯ จุฬาฯ บ้านนี้เลยมีการจัดการสูบน้ำ ป้องกันน้ำท่วมที่ใช้เรื่องของแมคคานิคมากเป็นพิเศษ รวมถึงระบบโครงสร้างที่แข็งแรงมาก สามารถป้องกันแผ่นดินไหว น้ำท่วมได้เลย”
สำหรับบ้านนี้ ที่จอดรถใหม่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะมีที่จอดรถรวมทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินผ่านคุณย่า ทีมสถาปนิกจึงต้องรีโนเวทบริเวณด้านหน้าอาคารที่จำเป็นต้องเดินผ่าน เพื่อสร้างบรรยากาศไม่เห็นเดินผ่านบ้านร้างที่ดูไม่น่ามอง ถือโอกาสที่จะซ่อมแซมบ้านหลังเดิมไปด้วยในตัว
02 Cross Ventilation ชอบอยู่กับธรรมชาติมากกว่าเครื่องปรับอากาศ
เมื่ออาคารอยู่ในลักษณะผอมยาว ประกอบไปด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 และ 8 ชั้น ผู้ออกแบบจึงเสนอที่จะเบรคบางช่วงของบ้านให้มีคอร์ดตรงกลาง เพื่อเพิ่มจุดสัมผัสธรรมชาติหรือช่องเปิดให้กับบ้านสร้างบรรยากาศให้สามารถมีลมและแสงธรรมชาติเข้าถึง ซึ่งคุณอ้อยยังเสริมว่า “บ้านทุกหลังที่ archi.smith ออกแบบ ตั้งใจให้มีหน้าต่างมากกว่า 1 จุด / 1 ห้อง เพื่อให้เกิด Cross Ventilation ได้ดี ซึ่งตรงกับความต้องการของเจ้าของ เพราะเขาเป็นคนไม่ชอบอยู่ในห้องแอร์ แต่ชอบอยู่อากาศธรรมชาติมากกว่า”
ด้วยความที่ไซต์อยู่ต้นซอย ในตัวเมืองที่มีการจราจรค่อนข้างจอแจ บวกกับทิศหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตก ฝั่งของอาคารที่รับเสียงรบกวน รวมถึงรับแดดเต็มๆ สถาปนิกดีไซน์ให้เป็นผนังทึบและมีต้นไม้เพื่อช่วยสกรีน ในขณะที่ทางทิศเหนือซึ่งมีความร้อนน้อยกว่าและหันหาสวนเดิมของบ้าน สถาปนิกออกแบบให้มีช่องเปิดอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มมุมมองไปยังสวน และรับลมธรรมชาติ ช่วยให้บ้านไม่ร้อน
03 ‘การดูแลรักษาต้องง่าย’
หลายคนมองว่าปัญหาหนักใจ มาจากการที่ส่วนหนึ่ง บ้านสวยเพียงแค่ปีแรกๆ เท่านั้น แต่พออยู่อาศัยไปนานๆ กลับพบปัญหามากมายที่ต้องมาแก้ไข ซึ่งสำหรับ S1 Residence ที่มีบ่อน้ำ มีสวนเดิมทำให้ดึงดูดนกจากบริเวณใกล้เคียงเข้ามาที่ตัวบ้าน ซึ่งนกมักจะบินมาเกาะที่หลังคาบ้านคุณย่าแล้วทิ้งอุจจาระสกปรกเลอะเทอะ ซึ่งส่วนนี้เป็น Pain Point ที่ทางเจ้าของค่อนข้างกังวล
สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบชายคา หรือส่วนที่ยื่นออกไปจากอาคารด้วยการปาดองศาในมุมเฉียงที่ค่อนข้างสูงและใช้วัสดุอลูมิเนียมที่ค่อนข้างลื่นทำให้ลดการเกาะของนกได้ทางหนึ่ง
04 อยู่กับครอบครัวแต่สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดี
สองสถาปนิกเล่าให้เราฟังว่า สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากการคลุกคลีทำงานร่วมกับเจ้าของบ้าน คือ ความอบอุ่น และเซนส์ของความเป็นแฟมมิลี่แมนของทั้งครอบครัว การวางผังภายในบ้านที่ผอมยาวจึงค่อนข้างเป็นสัดเป็นส่วนในเรื่องของฟังก์ชัน เริ่มตั้งแต่โซนแม่บ้านและเจ้าของบ้าน ที่ถูกกั้นด้วยประตูบานเลื่อน ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่อยู่ ก็ยังสามารถเลื่อนประตูกั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวได้โดยที่ไม่รู้สึกแปลกแยก โดยที่ประตูหลายๆส่วนของชั้นล่างจะออกแบบให้เป็นบานเลื่อนเกือบทั้งหมด เพื่อให้เวลาเปิด สามารถเชื่อมต่อทุกพื้นที่เข้าหากัน หรือหากปิดก็ให้ความรู้สึกว่าประตูเหล่านั้นเป็นเพียงระนาบของผนัง
“คอร์ดตรงกลางบ้าน เราอยากให้มันเป็นจุดที่ว้าวที่สุดของบ้าน ซึ่งจากทางเข้าหลักเปิดมาจะเซอร์ไพรส์ด้วยคอร์ดที่เห็นต้นไม้ ท้องฟ้า และเข้าถึงห้องนั่งเล่นได้เลย หรือสมมติมีแขก แขกก็เข้าถึงบริเวณนี้แล้วไปที่ห้องนั่งเล่น ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ของบ้านไม่ได้มาปะปน จะอยู่ที่แพนทรี่ หรือขึ้นลงบันไดชั้นสอง เขาก็ไม่จำเป็นต้องผ่านจุดนี้ และยังมีทางเข้ารอง ซึ่งหากเดินจากที่จอดรถจะเข้าถึงทางเข้ารอง และขึ้นบันไดชั้นสองได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น หรือเข้าทางเข้ารองและแยกไปที่ส่วนเซอร์วิสเลยก็ได้ ดังนั้นมันจะมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก เพราะมี Transition Space อยู่สองจุด จุดแรกคือจุดหลักที่เปิดไปสู่คอร์ด และจุดที่สองจะเน้นฟังก์ชัน คือพื้นที่ที่แจกไปยังห้องรับประทานอาหารห้องนั่งเล่น ขึ้นชั้นสอง หรือจะแยกไปครัวและส่วนเซอร์วิส”
“เราใช้ประตูบานเลื่อนที่มันเปิดแล้วโล่งที่สุด อย่างการเปิดต่อเนื่อง 2-3 บาน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าห้องมันเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ห้อง เปิดออกสู่ชานบ้าน และเป็นพื้นที่สวน สเปซจะถ่ายลำดับในลักษณะนี้”
05 ส่วนผสมที่ลงตัวของโมเดิร์นและความร่วมสมัย
เพื่อตอบโจทย์บริบท และสภาพอากาศบ้านในประเทศไทย การออกแบบรายละเอียด สถาปนิกยังเสนอให้มีหลังคา ชายคา และมีสเปซเหนือฝ้าที่ช่วยถ่ายเทความร้อน อบภายในให้ออกสู่ภายนอก ซึ่งทางเจ้าของเองก็เห็นด้วย ด้วยความต้องการบ้านโมเดิร์นที่ยังคงความรู้สึกอบอุ่น เป็นครอบครัวไทย การออกแบบวัสดุและโทนสีภายใน จึงเน้นไปที่โทนสีอ่อนและเข้ม โดยทั้งหมดใช้พื้นไม้เอนจิเนียริ่งวู้ดทั้งบริเวณชั้น 1 และ 2
Something More: นอกจากนั้น แต่ละจุดของบ้าน ฝ้ายังมีความสูงไม่เท่ากันตามฟังก์ชันที่เจ้าของบ้านต้องการ ส่วนฟังก์ชันที่ค่อนข้าง Semi-Public ฝ้าจะมีระยะสูงเกือบ 3.30 ม. ส่วนห้องนั่งเล่นจะสูงประมาณ 5.50 ม. โดยที่ทางเจ้าของไม่ต้องการโถงสูงสองชั้นที่โอ่อ่ามากจนเกินไป ส่วนห้องนอนมาสเตอร์จะสูง 3.50 ม. ส่วนห้องที่สำคัญน้อยลงมาอย่างห้องนอนลูกในอนาคตอีก 2 ห้อง ฝ้าจะสูงประมาณ 2.70-2.80 ม. โดยทั้งหมดเป็นระยะที่ทางเจ้าจองทำงาร่วมกันกับสถาปนิก
06 บ้านที่เติบโตไปพร้อมกัน
ระหว่างการออกแบบ ก่อสร้าง เรียกได้ว่ากินระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านแต่งงานไปจนถึงเริ่มมีลูกเล็ก บ้านบางส่วนจึงต้องมีการปรับผังเพื่อรองรับการใช้งานของลูกในอนาคต อย่างห้องทำงานที่เคยเล็กก็ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่กึ่งๆ Family Room ที่มีทั้งโซนทำงาน และโซนเล่นของลูกๆ พื้นที่อีกส่วนขยายไปถึงบ้านคุณย่า โดยออกแบบให้เป็นห้องสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ถัดไปเป็นห้องฟิตเนสที่ปรับตัวมาจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ทุกคนอยู่กับบ้านมากขึ้น ห้องฟิตเนสจึงเสริมขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว
“เวลาเราทำบ้านทุกหลัง เราค่อนข้างคิดละเอียด วัสดุที่เลือก ทุกไดเมนชั่นมันคือส่วนผสมของเจ้าของบ้านกับเรา มันไม่เหมือนบ้านหลังอื่นๆ หรือเหมือนบ้านที่หารูปได้ในอินเทอร์เน็ต เรามองว่าบางทีบ้านหลังนี้ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยรูปภาพหรือวิดิโอ เพราะเมื่อเราก้าวเข้าไปในบ้าน เราสัมผัสได้ว่าบ้านมันน่าอยู่ มีลมโชย เงียบสงบ และด้วยวัสดุไม้ ต้นไม้ ด้วยความสูง ขนาดของห้องที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป มันไม่เชย แต่ก็ไม่ได้โมเดิร์นจนแข็ง มันคือส่วนผสมที่ลงตัว” สถาปนิกทิ้งท้าย
“การที่เจ้าของยังเป็นแค่แฟนกัน จนแต่งงาน หรือมีลูก บ้านหลังนี้เหมือนทำมาเพื่อรองรับสภาพชีวิตประจำวันของเขาที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเรามองว่าการสร้างบ้านมันไม่ควรจะมีลายเซ็นของผู้ออกแบบมากเกินไปนัก มันควรจะแปลงชีวิตของเขาออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่า ผมรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในแง่นั้น คือ มันเป็นสิ่งที่เขาต้องการ หรือแม้แต่การปรับในสิ่งที่เขาเคยคิดว่าดีแล้วให้มันดียิ่งขึ้น นั่นแหละ คือสเน่ห์ของบ้านหลังนี้” อีกท่านเสริม
Client: Idtitorn Israsena Na Ayudhya
Architect, Interior & Lighting Designer : archi.smith
Structural Engineer: Pipat Supasantitikul
Mechanical Engineer: MEE Consultants
Architectural & Interior Contractor: VMR
Photographer: DOF Sky|Ground
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!