‘โรงเรียนของเราน่าอยู่’ ตอนเด็กๆ เราไม่ค่อยเข้าใจว่าโรงเรียนน่าอยู่อย่างไร หรือเป็นเพียงคำโปรยเชื้อเชิญให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม แต่ในปัจจุบัน โรงเรียนมากมายหลายแห่งให้ความสำคัญกับการออกแบบจนทำให้สถานที่สำหรับเด็กๆ เหล่านี้เกิดความรู้สึกน่าอยู่ได้จริงๆ หนึ่งในนั้นคือ HEI Schools Bangkok โรงเรียนสาขาใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่นำหลักสูตรการศึกษาบินลัดฟ้าจาก Helsinki International Schools ประเทศฟินแลนด์มาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก กับการออกแบบที่สะท้อนกลิ่นอายสแกนดิเนเวียไปพร้อมกับการปรับให้เข้ากับบริบทของเด็กไทย
Plain Space ธรรมชาติที่หมายความถึงการปรุงแต่งน้อยๆ
“หลักสูตรการเรียนจะเป็นลักษณะที่เน้นให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ธรรมชาติจ๋า ไปอยู่กับต้นไม้ หรือดินขนาดนั้น เนื่องด้วยโครงการที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ มันเลยมีบรรยากาศความเป็นเมืองสูง ผสมด้วยกลิ่นอายของสแกนดิเนเวีย ทุกอย่างจะค่อนข้างเรียบง่าย มินิมอล ไม่ได้เกิดจากการตกแต่งที่ผู้ใหญ่ใส่ไปให้เขา เราเลยเน้นเป็น Plain Space ที่ให้เด็กๆ มาแต่งแต้มเองได้ หรือสามารถสร้างกิจกรรมอะไรใหม่เข้าไปบน Plain Space นั้นได้อย่างเต็มที่เลย” Co-Founder และหนึ่งในสถาปนิกจาก Forx Design Studio เริ่มต้นเล่า
อีกนัยหนึ่ง ‘ธรรมชาติ’ จึงหมายถึง อะไรที่เกิดการปรุงแต่งน้อยๆ ซึ่งสถาปนิกเสริมว่า เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงต้นไม้อย่างเดียว เพราะไม่ว่าในโรงเรียนไหนๆ ต้นไม้คงจะเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่แล้ว ที่ HEI Schools Bangkok จึงเน้นไปที่แสงธรรมชาติ วัสดุ หรือผิวสัมผัสที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกโรงเรียน รวมถึงธรรมชาติของนิสัยเด็กซึ่งมักจะมีความอยากรู้อยากเห็น การออกแบบสเปซเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจ ไปที่ไหนก็ได้ จับต้องอะไรก็ได้ จึงเพิ่มชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ที่มากกว่าเพียงกรอบของห้องเรียน ในเมื่อพื้นที่ทุกส่วนสามารถใช้เพื่อการเรียนรู้ได้ทั้งหมด
Circulation ทางตั้ง ไม่จำเป็นต้องมีแค่บันได
ความท้าทายอย่างหนึ่งมาจากการที่โครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ใจกลางสุขุมวิท ที่มีความเป็นเมืองสูงมาก เมื่อทีมสถาปนิกมีโอกาสได้ไปลงพื้นที่จริงจึงเห็นภาพว่า สัดส่วนพื้นที่อาคาร หรือสัดส่วนของพื้นที่ว่างไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว ลานกิจกรรม หรือพื้นที่จอดรถ น่าจะมีสัดส่วนที่พอดีซึ่งกันและกัน กล่าวคือไม่ได้มีความเป็นอาคารจัด แต่ก็ไม่ได้มีพื้นที่สีเขียวเยอะเกินจนกินพื้นที่การเรียนรู้ภายในห้องเรียนของเด็กๆ
สถาปนิกจึงออกแบบแมสอาคารโดยแบ่งเป็นควอเตอร์ ซึ่งแมสอาคารจะถูกแบ่งเป็นสองก้อนใหญ่ กลายเป็นสี่พื้นที่อย่างละประมาณ 25 % โดยวางตัวอาคารครึ่งหนึ่ง ส่วนอีก 25 % สองก้อนที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียว ลานจอดรถ และที่ว่างอื่นๆ
ในส่วนของตัวอาคาร ด้วยความที่ฟังก์ชันมีหลากหลาย จึงจำเป็นต้องออกแบบให้กลายเป็นอาคารสองชั้น ซึ่งปกติโรงเรียนทั่วไปจะเชื่อมอาคารระหว่างชั้นด้วยคอร์บันไดหลัก แต่สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ สถาปนิกมองว่า Circulation ทางตั้งไม่จำเป็นจะต้องมีแค่บันได จึงออกแบบทางลาดยาวที่ห่อหุ้มอาคารตั้งแต่ชั้นหนึ่งจนถึงชั้นสองรวมถึงอาคารด้านหน้าและด้านหลังกลายเป็น Infinity loop ที่ส่งเสริมทั้งการเคลื่อนไหวและกิจกรรมของเด็กๆ
“เราสร้าง Infinity loop คลุมทั้งสองอาคาร ซึ่งฟังก์ชันนี้ช่วยส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ทำให้ภายในอาคารไม่มีมุมใดที่เป็น Dead End เลย สามารถเชื่อมกันได้หมด เพราะเราไม่อยากให้มีมุมอับภายในอาคาร และทางลาดนี้ยังสามารถเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมให้เด็กได้ สมมติคุณครูพาเด็กมา 5-10 คน สามารถใช้ผนังเหล่านี้เป็นสื่อการเรียนการสอน แปะอะไรลงไปก็ได้ ซึ่งเราตั้งใจใช้สีขาว เพื่อให้ผนังเป็นเพียงแคนวาสที่ให้เด็กๆ เขาได้มาเติมเต็มพื้นที่กันเอง”
ความสำคัญของแสงธรรมชาติ
นอกเหนือจากส่วนของที่ว่าง หัวใจสำคัญของโรงเรียน ก็น่าจะเป็นห้องเรียนของเด็กๆ ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้เป็นพื้นที่ 2 ห้องใหญ่ เป็นใจกลางหลักอยู่บริเวณชั้นสอง แต่ความพิเศษคือการดีไซน์ให้มีพาร์ทิชันกั้นที่สามารถเลื่อนเปิดและปิดเป็นห้องละ 4 ผนัง ทำให้โรงเรียนสามารถขยายห้องกิจกรรม จาก 2 ห้องใหญ่กลายเป็น 8 ห้องเล็กได้ โดยพื้นที่ห้องเรียนทั้งหมดยังออกแบบด้วยวัสดุกระจกที่เน้นนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน ซึ่งตัวอาคารมีการเผื่อระยะของชายคายื่นยาว ทำให้วัสดุกระจกเปิดมุมมองสร้างทิวทัศน์ นำแสงธรรมชาติแต่ไม่นำความร้อนเข้ามาสู่ภายใน
บริเวณใจกลางของห้องเรียน ถูกออกแบบให้เป็นห้องพักคุณครู ห้องเก็บอุปกรณ์การเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถมองเห็นเด็กๆ ได้ครบจากทุกมุม อีกทั้งยังสามารถเปิดให้เด็กๆ เดินผ่านบริเวณดังกล่าวไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อลด Boundary ระหว่างคุณครูและนักเรียน ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น
เหนือห้องพักคุณครู หากเราแหงนหน้ามองขึ้นไป จะพบช่องสกายไลท์ที่สถาปนิกดีไซน์ให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึง โดยสังเกตได้ว่าบริเวณนี้จะมีระยะความหนาของฝ้าเพดานค่อนข้างสูงเพื่อป้องกันความร้อนโดยตรงที่ส่องเข้าสู่ภายใน “แสงธรรมชาติจะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัตถุ สีสันที่เกิดขึ้นจริง เพราะสุดท้ายตาเรามองเห็นจากแสงธรรมชาติดีที่สุด เพราะฉะนั้นตอนกลางวันห้องเรียนเหล่านี้แทบจะไม่ต้องใช้ไฟจากแสงไฟประดิษฐ์เลย”
ส่วนบริเวณชั้นล่าง เป็นห้องรับประทานอาหารที่เป็น Multi-Purpose Space สามารถจัดประชุมผู้ปกครอง หรือกิจกรรมดูหนังของเด็กๆ ส่วนที่เหลือเป็นฝั่งออฟฟิศของโรงเรียน ส่วนบริเวณด้านหน้าตั้งใจออกแบบไว้รองรับ Hei Cafe ที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคต
Something More: ในเรื่องของวัสดุ สถาปนิกอ้างอิงความเป็นสแกนดิเนเวียน ความมินิมอลเรียบง่าย ด้วยไม้ และโทนสีขาว ซึ่งมีการเน้นรูปร่างของแมสอาคารด้วยการกรุผิวผนังไม้เทียมพันรอบอาคารไปตามฟอร์มของทางลาด และการเลือกใช้ไม้เทียมยังช่วยลดการดูแลรักษาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังอีกด้วย
ส่วนเส้นสายฟอร์มโค้งที่ลบมุม เป็นความตั้งใจในการสร้างความซอฟท์ให้กับตัวอาคาร เพื่อนำเสนอความบอบบาง อ่อนโยนของเด็กและความเป็นโรงเรียน ซึ่งในแง่ของฟังก์ชัน การมีทางลาดยาวไปจบมุมกับอาคารที่ลดเหลี่ยมยังช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้
“ถ้าเราเอาอะไรก็ตามเข้าไปในแม่พิมพ์แบบเดิมๆ มันก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ ซึ่งโชคดีที่บ้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการออกแบบโรงเรียน มันเลยเป็นแรงกระตุ้นผลักดัน เจ้าของโครงการเองเขาก็ตระหนักถึงคุณค่าของการออกแบบว่ามันสามารถช่วยส่งเสริมให้คนที่เข้าไปใช้อาคาร เด็กๆ คุณครู หรือผู้ปกครองเองได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้สเปซนั้นๆ ได้อย่างไร ซึ่งเราอยากให้โรงเรียนไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่ออีกต่อไป มันสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามกาลเวลา ตามยุคสมัย โดยที่ไอเดียหลัก คือ อยากให้เด็กมาสร้างความคิดสร้างสรรค์บน Plain Space แห่งนี้แหละ นี่คือความตั้งใจของเรา” สถาปนิกกล่าว
Location: Bangkok, Thailand
Gross Built Area : 2,500 sq.m.
Architect & Interior : ForX Design Studio
Lighting & Landscape Design : ForX Design Studio
Trees and Plants : Flora LA
Project Architect : Atta Pornsumalee
Architect : Papitchaya Limthawong, Natnicha Chanadee
Interior Design : Worawut Eksuwanjareon, Ladawan Aonsud
Photo Credits: SkyGround architectural film & photography
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!