การศึกษาเพื่อเป็นสถาปนิก หรือ มัณฑนากรเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ในสถาบันต่างๆ และออกมาสู่การทำงานจริง เพื่อค้นหาประสบการณ์ต่อไป แต่ทว่าก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าเราเคยได้ยินเรื่องราวของ ทาดาโอ อันโด ที่กว่าจะเป็นสถาปนิกมีชื่อเสียงในระดับโลกในทุกวันนี้เขาเองก็ไม่เคยผ่านการศึกษาในรั้วสถาบันไหนมาก่อน แต่เขากลับใช้เวลาศึกษาด้วยตนเองและฝึกฝนอย่างหนัก
เช่นเดียวกับ พูม-พัฒนภูมิ จาก P1 Concept Interior ที่เขาได้จบการศึกษาจาก ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เพราะด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในการออกแบบทำให้เขาใช้เวลาในการศึกษาด้วยตัวเองอย่างหนัก จนในทุกวันนี้เขาได้ผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในฝีมือดีที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวอีกคนหนึ่ง
ประตูบานแรกสู่การเป็นดีไซน์เนอร์
ถึงแม้ว่าพูมจะเรียนจบมาทางด้านดุริยางคศิลป์ก็ตาม แต่ด้วยความชื่นชอบทำงานทางด้านทัศนศิลป์มาตลอด ประกอบกับความหลงใหลทำให้เขาได้มีโอกาสในการทำงานออกแบบชิ้นแรกขณะกำลังศึกษาในช่วงอุดมศึกษา ซึ่งเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้เขาเดินเข้าสู่อาชีพอินทีเรียดีไซน์เนอร์
“จุดเริ่มต้นในสมัยปี 3 ขณะที่เรียนอยู่ที่ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราชอบถ่ายรูป และวาดรูปไปด้วย อยู่มาวันหนึ่งก็มีลูกค้ามาบอกเราให้ช่วยออกแบบร้านกิ๊ฟช็อปที่อยู่ในตลาดน้ำสี่ภาคพัทยาให้หน่อย ตอนนั้นเราก็คิดว่าจะรับงานนี้มาและให้เพื่อนที่รู้จักในศิลปากรเอาไปทำต่อ แต่ประกอบกับว่าตอนนั้นเพื่อนไม่มีเวลาว่าง เพื่อนก็เลยแนะนำให้เราทำเองโดยให้เราลองฝึกโปรแกรม Sketchup จากนั้นเราก็ฝึกทำพร้อมออกแบบไปด้วย แต่ด้วยตอนนั้นโจทย์เป็นร้านขนาดเล็กจึงทำให้เราผ่านมาได้ ขณะเดียวกันเราก็คิดว่าถ้าเราทำโปรแกรม สามมิติได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำเสนองาน เกี่ยวกับการจัดคอนเสิร์ต ที่เราเรียนอยู่ด้วย เราจึงเริ่มฝึก Sketchup มาเรื่อยๆ พอเรียนจบเราก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยากทำอาชีพนักดนตรี ก็หันไปเป็นช่างถ่ายภาพแทน เพราะเดิมเราเป็นคนชอบทัศนศิลป์ แต่เราเลือกมาเรียนด้านโสตศิลป์ ซึ่งมันต่างกัน เพราะเราเป็นคนชอบนำเสนอผลงาน วาดรูป ถ่ายรูป พอเราได้มาทำโปรแกรม 3 มิติ ก็ยิ่งถูกจริตเข้าไปอีกเพราะทำให้สิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวออกมาเป็นภาพได้อย่างชัดเจนมากๆ”
“ช่วงนั้นก็รับจ้างถ่ายรูปอยู่ไม่กี่เดือน แล้วเผอิญไปเจอประกาศแถวบ้านเขากำลังหาคนออกแบบร้านมือถืออยู่ และเราก็มีผลงานที่เป็นร้านกิ๊ฟช็อปอยู่ด้วย ซึ่งเราอยากทำงานนี้มาก แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จักอินทีเรียมากเท่าไหร่นัก เราเลยลองไปสมัครงานดู ผลออกมาปรากฏว่าเขารับเรา เขาเห็นว่าเราถ่ายรูป และวาดรูปได้ ส่วนใหญ่ก็จะได้ออกแบบในงานขนาดเล็ก แต่ปัญหาอยู่ที่เรายังไม่เชี่ยวชาญทางด้านการใช้โปรแกรมอินทีเรีย รวมไปถึงไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาในการออกแบบจนไปถึงจบงานนานเท่าไหร่ หรือจะคุยกับลูกค้าอย่างไร ตอนนั้นในออฟฟิศมีเราเป็นพนักงานแค่คนเดียว ไม่มีคนคอยให้คำปรึกษา รวมไปถึงพี่เจ้าของออฟฟิสก็ยังเป็นมือใหม่ด้วย”
การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
การเริ่มต้นทำงานเป็นอินทีเรียดีไซน์เนอร์นั้นต้องมีองค์ความรู้ตั้งแต่วิธีการออกแบบ การใช้โปรแกรมทั้งสามมิติ เรนเดอร์ และเขียนแบบก่อสร้าง ซึ่งส่งต่อไปสู่การก่อสร้างจริง และความรู้อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา และทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก แต่พูมไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค แต่กลับคิดมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้
“ตอนนั้นเราก็รีบศึกษามากเพราะกลัวพี่เจ้าของเขาไล่เราออก เราเลยต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ทั้ง ยูทูบ เฟซบุ๊ค หรือ หนังสือ ที่ได้มากจากทั้งฟรีและเสียเงิน ต้องพยายามหามาเรียนรู้ และทำให้ได้ หรือเรื่องวัสดุก็เดินไปหาซื้อทั้งเศษเหล็ก กระเบื้อง ของจริงมาดูว่ามันประกอบยังไง สามารถรับน้ำหนักได้แค่ไหน หรือโค้งแบบไหนได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้เงินเดือนน้อยด้วยนะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายออฟฟิศนี้ก็อยู่ได้แค่ปีเดียว เราก็เลยออกมาซึ่งก็เกิดอาการเคว้งคว้างอยู่เหมือนกัน เราไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะเขาต้องการคนที่เรียบจบมาตรงสาย เราก็เลยไปหาอาชีพอื่นทำอยู่พักหนึ่งเกี่ยวกับการจัดงาน event ทำอยู่ประมาณเกือบหนึ่งปี แต่ก็เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้อยากทำเท่าไหร่ เลยเริ่มออกมาทำฟรีแลนซ์อินทีเรียอย่างเต็มตัวดีกว่า”
เก็บประสบการณ์เพื่อสร้างพอร์ตฟอลิโอ
“ช่วงนั้นเราจริงจังกับทุกงานที่รับมา ซึ่งมีทั้งงานเล็ก-ใหญ่ และราคาถูก จนไปถึงงานที่เราออกแบบให้ฟรี เพื่อให้มีพอร์ตฟอลิโอสำหรับนำไปเสนอกับลูกค้าคนต่อๆ ไป นอกจากนี้เรายังเอางานไปโพสต์อยู่ตลอดในกลุ่มคนทำโมเดล 3 มิติ กลุ่มหนึ่งในเฟซบุ๊ค ก็มีคนชื่นชอบในผลงานและมาว่าจ้างเรา ในช่วงนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างมากนักต้องใช้วิธีการบอกเขาตรงๆ แต่เราก็บอกเขาว่าเราสามารถช่วยในเรื่อง หน้าตา หรือแนะนำเรื่องวัสดุได้ แต่เรื่องการก่อสร้างเรายังไม่เก่งนะ โชคดีที่มีคนในกลุ่มคอยช่วยเหลือเราอยู่ตลอด”
จนนำมาสู่ P1 Concept Interior
พูมใช้เวลาทุ่มเทกับงานออกแบบอินทีเรียเป็นเวลานานหลายปี จนเริ่มเป็นที่ยอมรับในด้านฝีมือมีงานหลากหลายสไตล์ให้ได้ทำและเริ่มจับทางสไตล์การออกแบบที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลงานของเขาค่อนข้างมีอัตลักษณ์ หาตัวจับยาก เหมือนกับว่าเขาคนนี้ได้เข้าไปศึกษาในรั้วสถาบันอย่างไรอย่างนั้น
“เราทำฟรีแลนซ์ไม่ถึงหนึ่งปีก็เริ่มมีเงินทุนที่สามารถหาทีมงานได้แล้ว จึงเปิดออฟฟิศที่ใช้ชื่อว่า P1 Concept Interior ซึ่งเรารับทำงานประเภทบ้าน ร้านค้า โรงแรม และคาเฟ่ อย่างที่ผ่านมาเราก็ได้รับหน้าที่ออกแบบอาคารพาณิชย์เก่า ที่ลูกค้าต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นคาเฟ่ และโรงละคร ซึ่งเป็นอาคารที่แคบ และทรุดโทรม จึงต้องค่อยๆ ออกแบบและหาฟังก์ชันให้สามารถกระจายเสียง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เสียงดังไปยังห้องข้างๆ พอดีว่าเราเคยเรียนดนตรีมาก่อนเราจึงรู้เรื่องอะคูสติกพอสมควร หรืออย่างงานอินทีเรียสไตล์วินเทจที่ผ่านมา เป็นโปรเจคที่เรากับลูกค้าชื่นชอบการ์ตูนจิบลิเหมือนกัน เราก็นำเสนอสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปที่บรรยากาศอบอุ่น เราพยายามหาภาพ Reference และ Mood And Tone ให้เป็นไปตามที่เราวิเคราะห์ และตามที่ลูกค้าต้องการ และเพิ่มเติมความเข้าใจให้กับลูกค้าด้วยการทำแมสโมเดล เพื่อแก้ไขโจทย์ในเบื้องต้นก่อน“
“ส่วนใหญ่จะมีงานหลากหลายสไตล์เข้ามา แต่ที่เราอยากโชว์ผลงานที่เป็นงานสไตล์วินเทจ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานที่มีแสงรำไร ดูอบอุ่นอยู่แล้วด้วย เราจึงถูกจริตกับงานสไตล์นี้มาก เราจะคอยอธิบายว่าอยากได้สไตล์วินเทจแบบไหน เช่น ฟาร์มเฮ้าส์ แอนทีค หรือเรโทร เราก็จะพยายามหาภาพหลายๆ แบบให้เขาเห็น รวมไปถึงให้เขาได้สัมผัสวัสดุจริงเหมือนเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งล่าสุดเราก็ได้เปิดโรงงานทำไม้เอง เพื่อที่จะได้ทำการประกอบไม้ หรือตัวอย่างให้ลูกค้าดู นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถเลือกสรรวัสดุเองได้อีกด้วย โดยทุกๆ ขั้นตอนลูกค้าจะได้เห็นหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้เข้าไลฟ์สไตล์ และลูกค้าได้พึงพอใจมากที่สุด”
การนำเสนอผลงานในแบบเฉพาะตัว
“ต้องบอกก่อนว่าเราวาดรูปแบบสถาปนิกไม่เป็น แต่แนวคิดหลักของเราคือทำทุกการนำเสนอให้เข้าใจง่ายมากที่สุด มองเห็นการจัดวางแบบจริงๆ ซึ่งตอนที่เรานำเสนอจะกลั่นกรองคำพูดให้กระชับที่สุด และให้ภาพอธิบายตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยโปรแกรมที่เราเลือกใช้คือ Sketchup และตามด้วยด้วยปลั๊กอินภาพวาดใน Photoshop ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละภาพจะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป บางอันก็จะพูดถึงการประกอบไม้ หรือการเลือกใช้วัสดุต่างๆ การจัดแสง รวมถึงที่มาที่ไปในการออกแบบ แต่ละรูปจะทำให้เหมือนกับภาพการก่อสร้างจริงให้มากที่สุด นอกจากจะให้ลูกค้าดูแล้ว เราก็ยังนำภาพเหล่านี้ไปลงเพจเพราะจะได้เป็นสิ่งที่ให้ทุกคนได้มาศึกษา ซึ่งในอดีตเราได้ศึกษาจากสื่อต่างๆ เหล่านี้เช่นเดียวกัน”
ข้อจำกัดในการออกแบบ
จากสถานการณ์โควิด -19 ที่ผ่านมา ทำให้การเลือกใช้วัสดุมีข้อจัดเป็นอย่างมาก เพราะผลกระทบทางด้านการขนส่งจนนำไปสู่การขาดตลาด จึงทำให้การออกแบบต้องถูกนำเสนอใหม่อยู่ตลอด และใช้เวลามากขึ้นอีกเท่าตัวเพราะเมื่อต้องเปลี่ยนวัสดุ สเปซภายในอาคารก็ถูกเปลี่ยนไปด้วย
“งานออกแบบมีอะไรให้เราแก้ปัญหาอยู่เสมอ ซึ่งก็อาจจะมีความเครียดเกิดขึ้นบ้าง เราก็ใช้วิธีการหนีไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ ส่วนในเรื่องการก่อสร้างเราโชคดีที่ช่วงทำงานแรกๆ ได้เข้าไปอยู่กับแคมป์คนงานถึง 3 เดือนเพื่อหาความรู้กับช่างไปด้วย ในทุกวันนี้เวลาเดินไปที่ไหนเรามักจะคอยสังเกต และตั้งคำถามกับการออกแบบอยู่ตลอด”
พัฒนาและใส่ใจในรายละเอียด
เมื่อพูมทำงานออกแบบเป็นมืออาชีพแล้ว จึงได้มองเห็นปัญหาถึงเรื่องรายละเอียดการตกแต่งที่ต้องใช้รายละเอียดสูง ซึ่งยากต่อการอธิบายให้ลูกค้า และผู้รับเหมาเข้าใจได้เพียงแค่ภาพสามมิติ และแบบก่อสร้าง ในขณะเดียวกันเขาเองก็พยายามคิดค้นรายละเอียดในการออกแบบด้วยตัวเอง จึงเป็นเหตุผลที่พูมเปิดโรงไม้เป็นของตัวเองเพื่อใช้เป็นวัสดุนำเสนอ และทดลองการออกแบบไปพร้อมกัน
“ช่วงนี้เรากำลังศึกษาเรื่องงานไม้ อย่างการเอาไม้หลายชนิดไปแช่น้ำ แล้วพ่นสีน้ำผสมกับสีชนิดอื่นๆ เพื่อหาเทกเจอร์ใหม่ๆ หรืองานที่ต้องทำ Mockup ขึ้นเอง เพื่อจะให้ตัวเองทำเป็นได้หลายๆ รูปแบบ รวมไปถึงการคิดค้นดีเทลเป็นของตัวเองด้วย ซึ่งงานอินทีเรียค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ แต่เราไม่สามารถบอกช่างให้สามารถเห็นภาพได้ เราจึงต้องสร้างขึ้นเองเพื่อให้เขาเห็นภาพ นอกจากนี้เรายังรู้ถึงปัญหาต่างๆ ในรายละเอียดเพื่อช่วยให้งานออกแบบของเราราบรื่นมากขึ้นอีกด้วย”
งานออกแบบอินทีเรียจะช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น
“เราคิดว่างานอินทีเรียจะเป็นแรงบัลดาลใจในการใช้ชีวิตของผู้คนได้ เพราะการที่เราออกแบบ หรือเลือกสิ่งต่างๆ เพื่อมาประกอบกันให้เหมาะสม เช่น ห้องที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ระบายอากาศได้ดี ผ่อนคลาย มาพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ที่ นั่งสบาย พอดีกับสรีระร่างกาย และใช้เรื่องความงามเข้าไปเสริม ผู้คนก็มีความสุขจนอยากกลับมาใช้งานอีก รวมไปถึงทำให้ผู้คนสร้างปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายมากขึ้นด้วย หรืออย่างการตั้งดอกไม้ไว้ในห้อง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไร แต่ว่าเมื่อได้สัมผัสกับธรรมชาติ ทั้งกลิ่น ความสวยงามก็ทำให้คนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ เหมือนเป็นพลังบวกที่ส่งต่อไปยังชีวิตของเขา และเขาก็จะส่งต่อไปให้คนอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น”
P1 Concept Interior
Facebook : https://www.facebook.com/p1concept
Instagram : https://www.instagram.com/p1concept.interior/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!