Search
Close this search box.

Tamni Hostel
ต่อชีวิตห้องแถวเก่า กับความเชื่อในความงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ

ของเก่าที่มี ‘ตำหนิ’ แม้คำนี้จะดูมีความหมายด้านลบ แต่หากมองให้ลึกลงไป เราเห็นเสน่ห์ของสิ่งเก่าที่แฝงเรื่องราวเอาไว้ได้อย่างแยบยล และบางครั้ง ‘ตำหนิ’ ก็เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงความทรงจำ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อาคาร หรือวัตถุให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความหมาย นอกจากนั้น ‘ตำหนิ’ ยังเป็นคำที่ ธัญ สิงหเสนี เลือกมาใช้ตั้งชื่อ Tamni Hostel เพราะเชื่อในความสวยงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ

วันนี้เราได้โอกาสแวะเวียนมาย่านหัวลำโพง จึงชวนทั้งคุณธัญ (เจ้าของ) และ ทอม-พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกจาก
PO-D Architects มาพูดคุยถึงบทบาทการต่อชีวิตห้องแถวเก่าที่ทรุดโทรมให้กลับมามีตัวตนโดยไม่ละเลยบริบทที่มีอยู่เดิม

ความหมายและคุณค่าของสิ่งเก่า

“คุณค่าของซอยเดิม บริบทเดิม แน่นอนว่ามันมีอยู่แล้ว และเราก็ไม่ได้ตั้งใจทำมาเพื่อขายไป เราตั้งใจจะอยู่ยาว ซึ่งของเก่าที่เราเห็นมันค่อนข้างโทรมมาก คนที่อยู่เก่าเขาซอยห้องด้วยโครงสร้างไม้อัด ห้องนึงขนาดแค่ 6 ตารางเมตรเอง ความตั้งใจแรก เราเลยอยากให้อาคารมันกลับมามีสภาพที่ทำให้ซอยนี้มีชีวิตกลับมาอีกครั้งในทางที่ดีขึ้น” คุณทอมเล่า

“ธัญเอง เขาก็อยากให้มันเปลี่ยนไปโดยไม่ลืมว่าที่นี่เคยเป็นตึกแถวในย่านหัวลำโพง ไม่ใช่ทำใหม่แล้วเอาความเป็นเมืองอย่างอื่นมาใส่ สุดท้ายรวมๆ เราเลยไม่อยากทำให้ที่นี่ดูแปลกแยก ความเป็นห้องแถวต้องเหลืออยู่ ชาวบ้านรอบๆ เดินไปมาแล้วไม่รู้สึกเขอะเขิน กลับรู้สึกดีที่เดินผ่าน หรือพื้นที่นี้ของเราทำให้ชีวิตเขาสะดวก ร่มรื่นขึ้น”

อาคารเป็นเพียงโครงสร้างที่รอการเติบโต

ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของโฮสเทล คุณธัญและคุณทอมตัดสินใจเก็บระบบของ ‘ห้องแถว’ ซึ่งมีจังหวะของอาคารที่เป็นห้อง ล็อค ทำให้เมื่อมองจากฟาซาดภายนอกเราจะเห็นเส้นสาย กรอบของระบบของโครงสร้างภายในเป็นเฟรมที่ห้อมล้อมรอการเปลี่ยนแปลง หรือการใช้งานที่มีเรื่องราวภายในมาเติมเต็ม “เฟรมที่ว่า เราสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของห้องแถว ซึ่งมักจะเปลี่ยนไปตามผู้อยู่ จะเป็นบ้านหรือร้านค้าก็จะแตกต่างกันออกไป ความยอมให้เปลี่ยนมันเลยเกิดขึ้น โดยตึกแถวแต่ละห้องก็จะไม่เหมือนกัน ช่องหน้าต่างจะไม่เหมือนกัน เราออกแบบให้ฝั่งนึงเป็นอิฐ เป็นไม้ โล่ง หรือทึบเพื่อสื่อถึงห้องแถวของชาวบ้านที่เราสังเกตได้โดยรอบ”

แม้แต่งานวัสดุที่เลือกมาใช้ภายในโครงการ ส่วนใหญ่ยังนำมาจากของเดิมอย่างเช่น ไม้บานประตู พื้นไม้ ตงไม้ หน้าต่างไม้ หรือบางส่วนก็เป็นการรื้อไม้จากอาคารเก่าเพื่อเก็บไว้ใช้ และเพื่อให้กลมกลืนดูเป็นธรรมชาติปรุงแต่งน้อยที่สุด วัสดุอื่นๆ ที่สถาปนิกเลือกมาเสริมจึงเน้นที่สัจจวัสดุ อย่างอิฐ เหล็ก ไม้ ปูนเปลือย และเพิ่มความน่าสนใจด้วยองค์ประกอบง่ายๆ ที่หาได้ตามบ้านทั่วไปอย่างบานเกล็ด

“เราไม่ได้ตั้งใจให้มันจบแค่ออกแบบ ไม่ใช่ว่าเราไปเปลี่ยนอะไรแล้วทำให้มันกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม งานออกแบบมันเลยเป็นเหมือนเป็นโครงที่เป็นตัวตั้งต้น ส่วนตึกมันจะโตไปได้ด้วยตัวเอง คล้ายกับต้นไม้ ถ้าต้นมันเป็นฐานที่ค่อนข้างแข็งแรง กิ่งก้านที่งอกออกมา ยังไงก็สวยเพราะมันเป็นธรรมชาติที่งอกออกมาจากต้นนั้น”

ให้ความสำคัญกับ Common Space และความเป็นธรรมชาติ

คุณธัญเล่าว่า หนึ่งในแนวคิดที่ทำให้โฮสเทลแตกต่างจากโรงแรมทั่วไป คือ สังคมที่เอื้อให้ผู้คนมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ได้แชร์ ได้พูดคุย สร้างบรรยากาศเป็นมิตรทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่สร้างเพื่อนใหม่ และนั่นคือความตั้งใจเมื่อ 6 ปีก่อน

การออกแบบโอสเทลจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ Common Space เพื่อดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตและพบเจอกันนอกห้องพัก และยังให้ความสำคัญกับแสงธรรมชาติ ลมและพื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมบรรยากาศผ่อนคลาย เหมาะกับการพักอาศัยและทิ้งตัวในโอเอซิสเล็กๆ ใจกลางกรุงเทพฯ

(ภาพแสดงแนวคิดการออกแบบ)
(ภาพแปลนอาคาร)

ด้วยลักษณะอาคารเดิมซึ่งมีทางสัญจรหลักเป็นรูทางเข้าระหว่างอาคาร ซึ่งพาไปสู่พื้นที่ด้านหลัง ทำให้อาคารด้านหลังทั้งหมดไม่กลายเป็นพื้นที่ตาบอด คุณทอมจึงตั้งใจเก็บทางสัญจรไว้ เพียงแต่ระเบิดความกว้าง ขยายขนาด และนำอาคารเดิมบางส่วนออกเพื่อสร้างที่ว่างภายในโครงการ ให้มี Cross ventilation ไหลผ่าน อีกทั้งยังมีพื้นที่สีเขียวและแสงสว่างส่องเข้าถึงภายในได้อย่างทั่วถึง เส้นถนนดังกล่าวยังกลายเป็นแกนสำคัญในการฟังก์ชันอาคารออกเป็นสองฝั่ง โดยฝั่งซ้ายจะเป็นโฮสเทลตำหนิ ในขณะที่ฝั่งขวาเป็นส่วนของสปาและห้องพักทั้งชั้นที่เปิดให้เช่ารายเดือน โดยทั้งสองฝั่งนี้ยังแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองเฟสได้อย่างสะดวก

อาคารบริเวณด้านหน้า ไล่ระดับความ Public ไปสู่พื้นที่ Private ที่อยู่ลึกเข้าไป เช่นเดียวกับในแนวทางตั้ง ซึ่งชั้นล่างจะมีความ Public มากกว่าชั้นบนๆ โดยบริเวณด้านหน้าเป็น Reception เคาน์เตอร์และล็อบบี้ที่ออกแบบให้มีที่นั่งหลากหลาย ทั้งภายใน ภายนอก หรือ มุมที่ยกระดับให้ผู้คนในโฮสเทลได้มานั่งคุย และยังสามารถมองเห็นผู้คนที่ผ่านไปมา หรือมองเห็นแม้แต่ร้านขายน้ำของชาวบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งเมื่อเราเดินเข้าสู่พื้นที่ด้านหลังจะเป็นห้องนั่งเล่นและครัวของลูกค้าโฮสเทลที่แบ่งสัดส่วนการใช้งานได้อย่างชัดเจน

(Reception และ Lobby Hostel)

(พื้นที่ห้องนั่งเล่นและครัวของลูกค้าโฮสเทล)

Something More : เคาน์เตอร์ Reception สะท้อนกลิ่นอายงานคราฟท์ในแบบบ้านๆ  ด้วยอิฐบล็อกที่เรียงกันเองด้วยมือ หรือชั้นวางโครงเหล็กด้านหลังที่ทำขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นโถงบันไดที่อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ ยังเป็นจุดนำสายตาให้ทุกคนที่มาเยือนมองสู่ด้านบน

เมื่อขึ้นสู่พื้นที่บริเวณชั้นสอง ปีกด้านหน้าของอาคารจะถูกออกแบบให้เป็นห้องดอร์มเพื่อความเข้าถึงง่ายและมีลักษณะเป็น Public มากกว่าห้อง Private room ที่อยู่ปีกด้านหลัง ส่วนชั้นบนสุดยังเป็นสวนดาดฟ้าที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าในโฮสเทลได้มานั่งพัก หย่อนใจ จะนั่งทำงาน กินอาหารเช้า หรือปาร์ตี้ในตอนเย็น ก็เห็นวิวเมืองกรุงเทพฯ ในอีกบรรยากาศที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

พื้นที่ภายในห้องออกแบบให้มีขนาดกระทัดรัด เพื่อดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้งานพื้นที่ภายนอก มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งสอดแทรกไปด้วยที่ว่างอย่าง Common Space หลากหลายรูปแบบทั่วทั้งอาคาร ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายาม เพียงแค่เปิดประตูออกมาจากห้องก็สามารถเจอกับ  Common Space เหล่านั้นได้ง่ายๆ แต่ถึงจะมีขนาดกระทัดรัด ภายในห้องก็ออกแบบให้มีแสงสว่างส่องเข้าถึง รวมถึง Private room ยังแบ่งฟังก์ชันภายในได้อย่างมีสัดส่วนตั้งแต่ ส่วนนอน ห้องน้ำ และพื้นที่ทำงานขนาดเล็ก  “พออาคารทางตั้งมันเชื่อมโยงถึงกัน มองไปด้านล่างด้านบน มันก็เชื่อมต่อกันอีก สามารถมองเห็นท้องฟ้า พื้นที่สีเขียวได้ เพราะมันไม่ได้แยกเป็นชั้น มันจะไขว้กันไปไขว้กันมา ทำให้เราได้ในเรื่องมุมมอง แสง และอากาศที่ถ่ายเท”

(Dorm Room)
(Private Room)

“Tamni Hostel เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการต่อชีวิต ตอนนี้เราเห็นสถาปัตยกรรมขึ้นเยอะมาก ขึ้นๆ ทำไปเรื่อยๆ มันก็เลยเกิดสถาปัตยกรรมที่ตายเยอะมาก ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งผมว่าหน้าที่ของคนออกแบบ การทำให้คนอื่นเห็นและเข้าใจว่า มันอยู่ได้นะเพียงแค่ปรับอะไรนิดหนึ่งมันก็ช่วยต่อยอดไปได้ไกล พอปรับเปลี่ยนกันคนละนิดละหน่อย มันก็เป็นแรงที่ทำให้พื้นที่ที่ตาย กลับมาใช้งานได้ จริงๆ มันจะคล้ายชื่อของที่นี่ ‘ตำหนิ’ คือของที่มันไม่ได้สมบูรณ์แบบ หรืออาจจะอยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง แค่ปรับเปลี่ยน บางทีของที่ไม่สมบูรณ์แบบก็กลับมาเป็นของที่ดีได้” คุณทอมกล่าว

(ทอม-พหลไชย เปรมใจ และธัญ สิงหเสนี)

Location: ซอยพระยาสิงหเสนี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
Gross Built Area : 680 sq.m.
Owner : ธัญ สิงหเสนี
Architect: PO-D Architects
Structural Engineer : วุฒิพงษ์ ภูเวียงแก้ว
M&E Engineer : เสวียน คำแพงดา
Photo : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading