Container Cabin at OOST Kampville
บ้านคอนเทนเนอร์ที่ตั้งใจเชื่อมบริบท และบรรจุความสุขทั้งหมดในรูปแบบพื้นที่

เมื่อเทียบระยะทางกับเวลาราว 1-2 ชั่วโมงเศษ จากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดใกล้เคียง ก็นับว่าคุ้มค่ามากพอที่จะหาที่พักค้างแรมสักคืนในวันหยุด เพื่อพักผ่อนและชาร์จแบตร่างกายจากที่เหนื่อยล้ามาทั้งสัปดาห์ ยิ่งถ้าเป็นบรรยากาศที่รายล้อมด้วยธรรมชาติแล้วล่ะก็ คงไม่แปลกหากใครหลายๆ คนจะมองหาบ้านพักตากอากาศสักหลังเป็นของตัวเอง เพื่อใช้เวลากับคนที่รักได้อย่างเต็มที่ในระยะยาว

เช่นเดียวกันกับครอบครัวของ คุณโหน่งธีร ธนะมั่น อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D) จากรั้วบางมด และสถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ ตั้งใจออกแบบ ที่ออกแบบ Container Cabin at OOST Kampville บ้านพักตากอากาศจากตู้คอนเทนเนอร์อย่างตั้งใจ บรรจุความสุขของครอบครัวบนที่ดินตนเองในนครนายก รวมไปถึงการทดลองเชื่อมโยงกับบริบท ทั้งด้านการออกแบบ ธรรมชาติ และการเปิดธุรกิจกึ่งโฮมสเตย์ให้เช่าในอนาคต

ความต้องการก่อนจะเป็น Container Cabin

ไอเดียของ Container Cabin at OOST Kampville เริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่วัยเกษียณที่ต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศในจังหวัดนครนายกเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายจากกรุงเทพฯ และอยากให้หลานได้มีพื้นที่เล่นสนุกกับธรรมชาติอย่างมีความสุขในวันหยุด แม้ที่ดินจะมีขนาดกว้างถึง 17 ไร่ ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการทั้งหมด แต่ด้วยความที่เป็นผืนนารกร้าง และสวนผลไม้ที่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ทำให้ต้องเคลียร์หน้าดินใหม่ โดยเริ่มจากการขุดบ่อน้ำและถมที่ดินให้สูงขึ้น ก่อนเริ่มลงมือออกแบบและก่อสร้างอย่างจริงจังในภายหลัง

 “ช่วงเวลาระหว่างที่รอให้ดินเซตตัวกว่า 1 ปี โชคดีที่เป็นโปรเจ็กต์ของครอบครัวเราเองเลยได้มีเวลาออกแบบอย่างเต็มที่ แต่ข้อจำกัดคือ ระหว่างการก่อสร้าง เราจะไม่มีเวลาไปดูหน้างานเพราะส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ เลยลองหาบ้านรูปแบบสำเร็จรูปดูจนมาเจอกับบ้านคอนเทนเนอร์ที่ตอบโจทย์เรื่องการก่อสร้าง เพราะยกมาประกอบที่หน้างานได้เลย ทำให้เราไม่ต้องกังวลกับขั้นตอนการก่อสร้างมากนัก และยังสามารถการออกแบบพื้นที่ได้ตามที่ต้องการอีกด้วย” สถาปนิกกล่าวถึงการเลือกคอนเทนเนอร์มาเป็นพระเอกหลักในการออกแบบบ้านครั้งนี้

บรรจุฟังก์ชันลงในตู้คอนเทนเนอร์

เมื่อความได้เปรียบของการสร้างบ้านด้วยตู้คอนเทนเนอร์คือเรื่องของโครงสร้าง การบรรจุฟังก์ชันลงไปในบ้านสองชั้นจึงค่อนข้างฟรีสไตล์ สถาปนิกใช้ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 5 ตู้ ขนาด 20 ฟุตทั้งหลัง เพราะเป็นขนาดที่สามารถผ่านทางเข้าหมู่บ้านที่คับแคบได้พอดิบพอดี จากนั้นจึงเริ่มวางแปลนห้องนั่งเล่นโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์สองตู้เชื่อมต่อกันให้พื้นที่ที่ทุกคนใช้งานร่วมกันมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ตู้อื่น ๆ ถูกบรรจุฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยชั่วคราวลงไปอย่างละหนึ่งตู้ ได้แก่ ตู้สำหรับห้องเตรียมอาหาร ตู้สำหรับห้องนอนชั้นล่าง และตู้สำหรับห้องนอนชั้นบนที่มาพร้อมดาดฟ้าส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชานบ้าน ลาน BBQ และสระว่ายน้ำกลางแจ้ง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านด้วย

แปลนชั้น 1 ของ Container Cabin at OOST Kampville Cr: ตั้งใจออกแบบ
แปลนชั้น 2 ของ Container Cabin at OOST Kampville Cr: ตั้งใจออกแบบ

ฟังก์ชันระหว่างตู้ และการเชื่อมต่อบ้านสู่ธรรมชาติ

เพื่อให้บ้านตอบโจทย์การทำกิจกรรมภายนอกและใช้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่ ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ผ่านการเปิดมุมมองไปสู่ธรรมชาติและบ่อน้ำในทิศเหนือ โดยผนังตู้ถูกแทนที่ด้วยหน้าต่างกระจกบานใหญ่ที่สามารถเปิดเพื่อรับแสงแดดและสายลมผ่านเข้ามาได้

รวมไปถึงการเว้นระยะการจัดวางจนเกิดฟังก์ชันใหม่ระหว่างตู้คอนเทนเนอร์ที่กลายมาเป็นพื้นที่ Community อย่าง ชานบ้านที่อยู่ระหว่างตู้ห้องนั่งเล่นและตู้ห้องเตรียมอาหาร หรือแม้แต่ลานบาร์บีคิวกลางแจ้งที่อยู่ระหว่างตู้ห้องนั่งเล่นและตู้ห้องนอนชั้นล่าง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นแนวคิดสำคัญของบ้านที่อยากให้ทุกคนมาใช้เวลาร่วมกันได้อย่างที่ตั้งใจไว้ผ่านการซึบซับธรรมชาติโดยรอบ

ฟังก์ชันบางส่วนของบ้านอย่างห้องน้ำ เป็นส่วนที่ต้องออกแบบเรื่องความชื้นและการรั่วซึมเป็นพิเศษ โดยมีการกั้นผนังด้วยโครงสร้างเหล็กขึ้นมาใหม่ แล้วกรุกระเบื้องสี่เหลี่ยมจตุรัสสีขาวในส่วนที่เปียกน้ำ อย่างโซนอาบน้ำและก่อจากพื้นถึงอ่างล้างมือ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ในขณะเดียวกันก็ยังโชว์ผนังของตู้คอนเทนเนอร์ด้วย

เผยวัสดุในท้องถิ่น และสัมผัสแคมปิ้งไลฟ์จากเฟอร์นิเจอร์

การตกแต่งภายในบ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยส่วนของผนังและฝ้า เผยให้เห็นสัจจะวัสดุเหล็กของตู้คอนเทนเนอร์อย่างชัดเจน คุมโทนสีขาวที่ให้ความสว่างและทำให้พื้นที่ดูโปร่งโล่ง ส่วนวัสดุพื้นใช้กระเบื้องและไม้อัด OSB แบบกันความชื้น ที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายวัสดุทั่วไปในท้องถิ่น ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการขนส่งและความรวดเร็วในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ส่วนเฟอร์นิเจอร์เป็นแบบลอยตัวในสไตล์แคมปิ้ง เพราะสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย และอยากให้สัมผัสถึงการมาใช้ชีวิตนอกบ้านจริง ๆ เสมือนมาตั้งแคมป์แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

A-Frame กรองแสงและกลมกลืนกับบริบท

แม้ว่าทุกคนจะรับกับแดดลมฝนที่พัดผ่านเข้ามายังภายในบ้านได้ แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของประเทศไทย ทำให้ความร้อนที่มากเกินไปกลายเป็นปัญหาของการอยู่อาศัยในบ้านคอนเทนเนอร์ ซึ่งสถาปนิกไม่ต้องการติดฉนวนกันความร้อนที่ผนังและฝ้า จึงออกแบบโครงหลังคาเหล็กทรง A-Frame หรือทรงจั่วสูงปกคลุมตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้ความรู้สึกถึงกระท่อมกลางนา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านในระแวกนั้น ๆ

สถาปนิกใช้วัสดุเมทัลชีททั้งแบบทึบแสงและโปร่งแสงเพื่อให้แสงสว่างเข้ามาบางส่วน มีการออกแบบชายคาที่ยื่นออกมาจากพื้นที่ชานบ้านสูงในระดับเดียวกับชั้นสองของบ้านเพื่อให้ดูโปร่ง ส่วนด้านล่างของโครงสร้างเป็นระแนงเหล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยกรองความร้อนจากแสงแดดที่เข้ามาโดยตรงตลอดทั้งวันแล้ว การก่อสร้างยังเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากใช้โครงสร้างเหล็กอีกด้วย

ภาพแสดงแนวคิดการออกแบบ Container Cabin at OOST Kampville Cr: ตั้งใจออกแบบ

อีกหนึ่งไฮไลท์กิจกรรมกลางแจ้งอย่างสระว่ายน้ำ ถูกออกแบบให้อยู่ริมสุดของบ้าน เป็นสระสำเร็จรูปในระบบน้ำเกลือมีขนาด 7.32 x 3.66 เมตร แต่เนื่องจากต้องป้องกันในเรื่องของน้ำท่วมสระว่ายน้ำจึงยกสูงขึ้นกว่า 1.3 เมตร เพื่อแก้ปัญหาและ ตอบโจทย์ความต้องการย่นระยะเวลาการก่อสร้างนั่นเอง

นอกจากโซนของบ้านพัก Container Cabin แล้ว ภายในพื้นที่ยังมีโซนอื่นๆอีก เช่น Caravan Camping ลานที่พักในรูปแบบของรถบ้านและเต็นท์กระโจม อีกทั้งยังมีกิจกรรมภายนอกอย่างการพายเรือคายัคและการขี่จักรยานวิบากรอบที่ดิน  ให้ทุกคนในครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเป็นส่วนตัว ซึ่งสถาปนิกเองก็ได้แพลนว่าจะเปิดเป็นให้เช่าในอนาคตอีกด้วย

“เราอยากให้บ้านหลังนี้กลายเป็นสถานที่ของทุกคนในครอบครัว พ่อแม่ได้มาพักผ่อน ลูกได้มาวิ่งเล่นในวันหยุด ซึ่งเราอยากให้เค้าเติบโตขึ้นมากับการใช้ชีวิตภายนอกบ้านพร้อมๆ กับธรรมชาติ แบบที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถให้ได้ ส่วนตัวเราเองก็ได้มีโอกาสลองออกแบบบ้านให้กับครอบครัวอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกด้วย โปรเจ็กต์นี้มันเลยทำให้วันสุดสัปดาห์ของเราเต็มไปด้วยความสุข”

สถาปนิกกล่าวถึงบทสรุปของบ้านพักตากอากาศหลังนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง Container Cabin at OOST Kampville ทำให้เรารับรู้ว่าจุดประสงค์ของการสร้างบ้านไม่ใช่เพียงเพื่อมาพักอาศัยเท่านั้น แต่การคิดถึงความสุขของทุกคนในครอบครัวที่ได้มาชาร์จแบตร่างกายและใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างคุ้มค่าต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ

Architects :  Teera Dhanamun (Tung Jai Ork Baab)
Area : 195 sq.m.
Structural engineer : Sirichai Sae-chuen
Photographs : Chitsanupong Ploythanachot

Writer
Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ