Letter 52 คาเฟ่กึ่งร้านหนังสือที่พลิกมุมมองของคอนกรีตให้เกิดบางสิ่งชวนน่าสังเกต

บรรยากาศแห่งความสบายใจที่ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของบทสนทนา รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันภายในร้านได้มากขึ้น เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ Nana Johnny co studio ผู้รับหน้าที่ออกแบบร้านแห่งใหม่ของ Blaue Blume Cafe & Bookshop ภายใต้ชื่อ Letter 52 Coffee & Book Shop เลือกที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ของคาเฟ่กึ่งร้านหนังสือแห่งนี้ ด้วยการจัดวางพื้นที่นั่งที่ทำให้ผู้คนที่เข้ามารู้สึกไม่อึดอัด แต่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น รวมถึงใส่ไอเดียที่สร้างมุมมองใหม่ให้กับวัสดุธรรมดา ๆ อย่างคอนกรีตและอิฐบล็อกมาตกแต่งร้านได้อย่างน่าสนใจ

จดหมายระหว่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ กับวิลเฮล์ม ไฟลส์

ความหมายของชื่อร้าน Letter 52 นั้น มีที่มาจาก หนึ่งในจดหมายตอบโต้กันระหว่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ กับวิลเฮล์ม ไฟลส์ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการยกขึ้นมาถึงว่า ‘ตัวตนของเรานั้นอาจจะไม่ใช่ subject (s) ที่สมบูรณ์ เนื่องจากเราไม่มีอำนาจเหนือความทรงจำ และการนิยามตัวเราเองที่ชัดเจน’ โดยก่อนหน้าจะมาเป็น Letter 52 เดิมทีทางเจ้าของร้านเคยเปิดร้านคาเฟ่กึ่งหนังสือมาก่อน ซึ่งมีชื่อว่า Blaue Blume Cafe & Bookshop ที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ชื่นชอบอ่านหนังสือสายลึก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นร้านในปัจจุบัน เจ้าของร้านจึงมีความต้องการให้ดีไซน์บางส่วนของร้านยังคงเป็นร้านหนังสือเหมือนเดิม

หลังจากตัวร้านย้ายทำเลที่ตั้งจากย่านศาลายา (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยมหิดล) มาสู่ย่านสุรวงศ์ ที่บริเวณชั้น 1 ในอาคารอาคเนย์ประกันชีวิต ทีมผู้ออกแบบจึงตั้งต้นการออกแบบจากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพื้นที่อาคารเดิม ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่เคยเป็นโชว์รูมและร้านกาแฟมาก่อน

แปลนแสดงพื้นที่ของร้าน

“เราอยากให้คนโฟกัสที่ตัวร้านมากกว่าที่จะโฟกัสวิวภายนอกที่มีความพลุกพล่านจากรถยนต์และผู้คน”

เนื่องจากบริเวณด้านหน้าของตัวร้านเป็นถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมาอยู่ตลอด ประกอบกับตัวอาคารเดิมนั้นเป็นกระจกที่ลากยาวตลอดแนวอาคาร เพื่อให้ลูกค้าที่แวะเวียนมาโฟกัสกับบรรยากาศภายในร้านมากกว่าความพลุกพล่านบริเวณภายนอก ผู้ออกแบบจึงดีไซน์ที่นั่งให้หันหน้าเข้าหาบริเวณส่วนของเคาน์เตอร์ชงกาแฟ

“เราจะออกแบบยังไงให้คนที่เข้ามารู้สึกไม่อึดอัด ทำให้รู้สึกเหมือนว่าทั้งสเปซเป็นของเขา พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามาคนเดียวก็จะรู้สึกเหมือนว่า สเปซทั้งหมดเป็นของเขาเลย ไม่ใช่แค่เก้าอี้ตัวเดียว”

ผู้ออกแบบต้องการสร้าง vibe ที่ไม่อึดอัด ลดความเกร็ง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างบาริสต้าและลูกค้าที่แวะเวียนมา นอกจากพื้นที่นั่งจะหันหน้าเข้าหาบริเวณเคาน์เตอร์แล้ว จึงเป็นที่มาของการดีไซน์ที่นั่งของร้านให้เป็น ‘theatre’ ซึ่งเป็นพื้นที่นั่งลักษณะคล้าย stage ยกพื้นไล่ระดับ

พื้นที่นั่งไม่ตายตัว แต่แอบแฝงไปด้วยฟังก์ชันที่ยืดหยุ่น

“พื้นที่นี้เราอยากให้มันยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตลอด และรองรับกิจกรรมได้หลากหลาย”

ในวันที่ทางร้านต้องการจัดพื้นที่อีเวนท์หรือจัดแสดงงาน Exhibition บริเวณพื้นที่นั่งเหล่านี้ยังสามารถถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมได้หลากหลาย โดยแอบแฝงไปด้วยฟังก์ชันที่ยืดหยุ่น สามารถเลื่อนเข้า-ออกได้ เกิดเป็นพื้นที่ที่คนสามารถนั่งได้ทั้งสองฝั่งหรือจัดเป็นเวทีบริเวณตรงกลางเพื่อรองรับการจัดอีเวนท์หรืองานนิทรรศการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ลักษณะของโต๊ะที่ใช้จะเป็นการประกอบทั้งหมด สามารถแยกชิ้นส่วนได้ เปลี่ยนจากตัวเล็กให้เป็นตัวใหญ่หรือเปลี่ยนจากตัวใหญ่ให้เป็นตัวเล็กก็ได้ เพราะเราอยากให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน และทุก ๆ โต๊ะเราจะมีจดหมาย เราอยากให้คนที่เขียนเล่าเรื่องราวที่อาจจะติดอยู่ในใจ หรือเป็นประสบการณ์ที่กำลังเจออยู่ หรือผ่านมาแล้ว อยากบอกเล่าใครสักคนหนึ่ง เหมือนเป็นยาระบายอย่างหนึ่ง”

พื้นผิวแนวทดลองที่สร้างความรู้สึกน่าค้นหา

“ยิ่งเนี้ยบ คนก็จะยิ่งเกร็ง การที่ร้านมีตำหนิบ้างจากคอนกรีต ก็น่าจะช่วยลดความเครียดหรือความเกร็งลงได้บ้าง”

บริเวณพื้นที่ภายในเรียบง่ายด้วยสีเทาของคอนกรีตและอิฐบล็อก ตั้งแต่พื้น เคาน์เตอร์ หรือผนัง โดยผู้ออกแบบเลือกที่จะเปลี่ยนวัสดุหน้าตาธรรมดา ๆ อย่างคอนกรีตและอิฐบล็อก ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นวัสดุตกแต่งหลักในร้านครั้งนี้ ผ่านการเพิ่มเติมลูกเล่นและพลิกแพลงมุมมองใหม่ให้กับวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นการนำอิฐบล็อกช่องลมมาเรียงในรูปแบบใหม่ หรือลองนำวัสดุมาผ่านกระบวนการทดลอง เพื่อให้เกิดพื้นผิวหรือแพทเทิร์นที่ทำให้เกิดเอฟเฟกต์ในมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างกันไป

ผนังคอนกรีตธรรมดา ๆ ถูกเปลี่ยนให้เกิดบางสิ่งที่ชวนมาให้สังเกต ด้วยการแอบแฝงดีเทลการตกแต่งโดยการซ่อนกระจกไว้ภายใน ซึ่งเป็นไอเดียที่มาจากการการสะท้อนถึงการมองเห็นตัวเอง

“ถ้าไม่สังเกตเราอาจจะเห็นอาคารแห่งนี้ เป็นแค่อาคารเก่าหลังหนึ่งที่เป็นปูนๆ ไปเลย แต่พอเจาะลึกเข้าไป มันจะมีดีเทลที่ซ่อนอยู่ ก่อนที่เราจะฉาบปูนลงไป มันจะมีกระจกสะท้อนเงาที่ซ่อนอยู่ภายในอีกชั้นหนึ่ง”

ลดทอนความแข็งกระด้างด้วยวัสดุไม้

ทั้งเคาน์เตอร์บาร์และบริเวณผนังด้านหลัง ผู้ออกแบบเลือกใช้เป็นอิฐบล็อกช่องลม แต่ในขณะเดียวกันก็แทรกด้วยวัสดุอย่างไม้อัดวอลนัท เพื่อช่วยลดทอนความเป็นอิฐลงไป จากอิฐบล็อกช่องลมที่เรียงต่อกัน พอมีวัสดุไม้อัดวอลนัทที่ออกแบบมาให้เป็นเฟรมใส่เพิ่มเติมเข้าไป จึงทำให้ได้ผนังที่มีมุมมองแปลกใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ในส่วนของผนังด้านหลัง ยังมีช่องเปิดที่สามารถใส่จดหมายหรือหนังสือลงไปได้ ซึ่งได้ไอเดียมาจากชื่อร้าน “Letter 52” นั่นเอง

ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ นอกจากกระจก คอนกรีต  ผู้ออกแบบยังเลือกใช้สีแดงเบอร์กันดี้ลงไปในส่วนของตัวเคาน์เตอร์และผ้าม่านที่มีความพลิ้วไหว เพื่อลดความแข็งกระด้างของคอนกรีต

Letter 52 เป็นคาเฟ่ที่ตั้งชื่อในความหมายที่ลึกซึ้งจากหนึ่งในฉบับจดหมายตอบโต้ระหว่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ กับวิลเฮล์ม ไฟลส์ ที่อยากชวนทุกคนมาจิบกาแฟ อ่านหนังสือ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสบายใจที่ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของบทสนทนา รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หากใครแวะเวียนผ่านมาแถวถนนสุรวงศ์ อย่าลืมแวะมาจิบกาแฟ อ่านหนังสือ และพูดคุยกับเหล่าบาริสต้ากันได้ที่ Letter 52 Coffee & Book Shop

Project: Letter 52 Coffee & Book Shop
Designer: Nana Johnny co studio
Location: Surawong Road Area
Photographer: Jinnawat Boriharnkijanan

Writer
Saovapak Ayasanond

Saovapak Ayasanond

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารบันเทิงที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่องสายบ้านและสถาปัตยกรรม จนกระทั่งพบว่าการออกแบบเต็มไปด้วยคุณค่าและเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน