ส่วนใหญ่แล้ว สถาปัตยกรรมที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันมักออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อ ‘ผู้อยู่’ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาใช้งานไม่ซ้ำหน้า หรือแม้แต่เป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยโดยตรง แต่สำหรับ Memorial Architecture สิ่งเหล่านั้นกลับแตกต่างออกไป ด้วยการเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อ ‘ผู้ล่วงลับ’ สร้างความรู้สึกระลึกถึง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่และผู้ล่วงลับให้ยังสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ในอีกมิติหนึ่ง
จะเป็นอย่างไรเมื่อสถาปัตยกรรมไม่ได้มีฟังก์ชันที่ชัดเจน แต่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกล้วน ๆ
Dsign Something ชวนมาดู 7 Memorial Architecture กับแนวคิดสุดเจ๋งที่ชวนเราไประลึกถึงผู้เสียสละ ผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ จากทั่วโลก
West African slaves Memorial
Bridgetown, Barbados
By Adjaye Associates
ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 เกาะแห่งนี้อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยมีการค้าทาสแอฟริกันเกือบ 400,000 คนข้ามน้ำข้ามทะเล ซึ่งในปัจจุบันบาร์เบโดสกลายเป็นสาธารณรัฐไปเป็นที่เรียบร้อย สตูดิโอออกแบบ Adjaye Associates นำโดย David Adjaye เจ้าของรางวัล RIBA Royal Gold Medal จึงออกแบบอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ และสถาบันวิจัยที่เน้นเรื่องผลกระทบของการเป็นทาส “ด้วยเทคนิคและปรัชญาของสุสานดั้งเดิมของแอฟริกา สถานที่ละหมาด และปิรามิด อนุสรณ์นี้จึงถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ให้เกียรติผู้ล่วงลับไปพร้อมกับการจรรโลงใจผู้อยู่ และยังแสดงให้เห็นถึงอนาคตใหม่สำหรับอารยธรรมคนผิวสี” สตูดิโอกล่าว
อนุสรณ์ถูกออกแบบมาเพื่อรำลึกถึงทาสชาวแอฟริกันตะวันตกประมาณ 570 คนที่ถูกฝังอยู่ใต้ผืนดินในบริเวณพื้นที่ตั้งโครงการ โดยโครงสร้างจะมีเสาไม้แนวตั้ง 570 ท่อน และแต่ละเสาถูกหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทรงกลมที่หันไปทางดวงอาทิตย์เพื่อรับแสงตกกระทบ ตัวเนินตั้งอยู่ที่ระดับสูงสุดของพื้นที่ลาดเอียง ซึ่งเข้าถึงได้ผ่านทางลาดที่ทอดขึ้นจากพิพิธภัณฑ์ทรงโดมที่สร้างขึ้นจากดินศิลาแลงสีแดง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจะจัดแสดงเนื้อหาโดยเน้นไปที่พื้นที่ฝังศพและการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่มีช่องเปิดวงกลมคั่นกลางโดมเพื่อเปิดมุมมองสู่ทิวทัศน์ท้องฟ้าด้านบนและนำแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงพื้นที่ สถานที่แห่งนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งจะครบหนึ่งปีพอดีตั้งแต่บาร์เบโดสกลายเป็นสาธารณรัฐ
ที่มา : https://www.dezeen.com/2021/12/07/adjaye-memorial-slavery-barbados/
The Dutch Holocaust Memorial of Names
Amsterdam, Netherlands
By Studio Libeskind
เขาวงกตกำแพงอิฐและกระจกมุมเป็นจุดเด่นของ Dutch Holocaust Memorial of Names ที่ออกแบบโดยสตูดิโอของ Daniel Libeskind สถาปนิกชาวโปแลนด์-อเมริกัน และสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยบนถนน Weesperstraat ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใกล้กับย่านวัฒนธรรมของชาวยิว ซึ่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้ยังได้รับความร่วมมือกับสตูดิโอท้องถิ่น Rijnboutt เพื่อรำลึกถึงเหยื่อชาวดัตช์จำนวน 102,000 คนที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหด
เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวยิว ชาวซินติ และโรมา ซึ่งถูกกลุ่มนาซีสังหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเพื่อเป็นเกียรติแก่เหยื่อ ผนังของอนุสรณ์สถานจึงสร้างขึ้นจากอิฐ 102,000 ก้อนและจารึกชื่อเหยื่อไว้ และข้าง ๆ กันนั้นยังมีอิฐเปล่าอีก 1,000 ก้อนเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศพนิรนามอีกจำนวนมากมาย ตัวอิฐถูกจัดเรียงเป็นชุดของผนังสูง 2 เมตรทั่วทั้งพื้นที่และปกคลุมด้วยโครงสร้างสแตนเลสเลียนแบบตัวอักษรฮีบรูสี่ตัว ที่แปลว่า “In memory of” เมื่อเรามองดูจากด้านบน นอกจากนั้น ผู้ออกแบบยังตั้งใจให้โครงสร้างนี้เสมือนว่าลอยอยู่เหนือกำแพง เพื่อสะท้อนถึง “การหยุดชะงักในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวดัตช์” นั่นเอง
ที่มา : https://www.dezeen.com/2021/09/24/dutch-holocaust-memorial-studio-libeskind-amsterdam/
The Flowing Paperscapes of the War Memorial
Yilan County, Taiwan
By Willy Yang Architects & Planners
ไม่ใช่แค่งานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่บางครั้งอนุสรณ์ก็มาในรูปแบบของภูมิทัศน์ เช่นเดียวกับ The Flowing Paperscapes of the War Memorial ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเกิดขึ้นที่โรงงานกระดาษ Zhongxing
ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตกระดาษที่สำคัญที่สุดในไต้หวัน
ภูมิทัศน์นี้ได้รับการออกแบบตามแนวคิดของกระดาษด้วยรูปแบบที่ละเอียดอ่อนและยืดหยุ่น โดยสถาปนิกได้สร้างภูมิทัศน์ที่ไหลอย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงบันดาลใจจากคลื่นกระดาษที่เรียกว่า Flowing Paperscapes และด้วยความที่เป็นพื้นที่สาธารณะกลางแจ้ง การออกแบบจึงต้องเป็น Universal Design ที่ตอบโจทย์คนทุกวัย ซึ่งไม่ใช่แค่ภูมิทัศน์เพื่อการระลึกถึงเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่พักผ่อน สวนสาธารณะ ความสูงของคลื่นต่าง ๆ ยังออกแบบมาเพื่อการเล่นของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
ที่มา : https://design.museaward.com/winner-info.php?id=5421
World Memorial to the Pandemic
Uruguay
By Gómez Platero
เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วที่ COVID-19 ยังไม่จากเราไปไหน และเราเชื่อว่าในอนาคตหากมองย้อนกลับมา เหตุการณ์โรคระบาดนี้จะกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ สตูดิโอออกแบบ Gómez Platero จึงออกแบบอนุสรณ์สถานใหม่เป็น Conceptual Design เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเพื่อแสดงถึงความหวังในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการไว้ทุกข์และการไตร่ตรอง และยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจ
อนุสรณ์ตั้งอยู่ริมน้ำ โดยสามารถเข้าถึงได้โดยทางเดินเท้ายาวเท่านั้น และที่ศูนย์กลางของแท่นจะมีช่องว่างที่เปิดออกสู่ทะเลที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ผู้คนสามารถสังเกตธรรมชาติได้ และยังได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถประกอบโครงสร้างล่วงหน้าได้ ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยโครงสร้างทรงกลมขนาดใหญ่นี้จะทำหน้าที่เป็นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่เชื่อมระหว่างโลกในเมืองและโลกธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมในอุดมคติสำหรับการไตร่ตรอง และระลึกถึง
ที่มา : https://www.archdaily.com/945873/worlds-first-large-scale-covid-memorial-designed-for-victims-of-the-pandemic
9/11 Memorial and Museum
New York, USA
By Handel Architects with Peter Walker, Davis Brody Bond
หนึ่งในอนุสรณ์ที่โด่งดังและเป็นที่น่าจดจำคือ 9/11 Memorial and Museum อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ในมหานครนิวยอร์กที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการโจมตี 11 กันยายน ในปี พ.ศ.2544 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 2,977 คน อนุสรณ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของตึกแฝดที่ถูกทำลายระหว่างการโจมตี
อนุสรณ์ออกแบบในลักษณะบ่อน้ำสี่เหลี่ยมจำนวนสองบ่อที่แทนที่ฟุตปริ้นท์อาคารตึกแฝดนั้น โดยมีน้ำตกที่ลดหลั่นลงมาบริเวณใจกลาง และมีชื่อของเหยื่อจากการโจมตีถูกตัดเป็นแผงทองสัมฤทธิ์จารึกตามแนวสระทั้งสองสระ แต่ละสระมีพื้นที่ใหญ่เกือบ 2.5 ไร่ และลึกลงไปเกือบ 10 เมตรในแอ่งสี่เหลี่ยม จากนั้นน้ำในสระแต่ละแห่งจะลดลงไปอีกประมาณ 6 เมตร และหายไปในช่องว่างตรงกลางที่เล็กกว่า ซึ่งสถาปนิกเล่าว่า แนวคิดนี้ สะท้อนถึง “การขาดหายไป” และเสียงน้ำไหลลดหลั่นทำให้สระน้ำเป็นสถานที่แห่งความสงบและชวนไตร่ตรอง ซึ่งแยกจากเสียงอึกทึกครึกโครมของเมืองที่อยู่รายล้อม
ที่มา : https://www.911memorial.org/visit/memorial/about-memorial#:~:text=Their%20design%20features%20twin%20waterfall,swamp%20white%20oak%20trees%20grow.
https://www.archdaily.com/168153/in-progress-911-memorial-and-museum
Memorial to the Murdered Jews of Europe
Berlin, Germany
By Peter Eisenman
อีกหนึ่งสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นอนุสรณ์ระดับตำนานที่ไม่ว่าใครก็ต้องพูดถึงและยังได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชื่อดัง นั่นคือ Memorial to the Murdered Jews of Europe อนุสรณ์ในกรุงเบอร์ลินที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหยื่อชาวยิวจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่สอดแทรกอยู่ภายใต้การออกแบบที่มีกริด ออเดอร์ซึ่งเหมือนจะเป็นระบบ’
การออกแบบเริ่มต้นจากโครงสร้างกริดซึ่งประกอบด้วยเสาคอนกรีตจำนวน 2,711 เสา โดยแต่ละต้นมีระยะกว้าง 95 เซนติเมตร ยาว 2.375 เมตร และมีความสูงตั้งแต่ 0-4 เมตร แต่ละเสามีระยะห่างกัน 95 เซนติเมตร เพื่อจำกัดให้สามารถเดินผ่านกริดเสาได้ทีละหนึ่งคนเท่านั้น แต่ละระนาบถูกกำหนดโดยจุดตัดของช่องว่างระหว่างกริดเสาและเส้นกริดของบริบทที่ใหญ่กว่าอย่างเมืองเบอร์ลิน ทำให้พื้นที่เหล่านี้เกิดการย่อ แคบลง ลึกขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์การมองเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละจุด และยังมีบันไดลงไปยังพื้นที่ใต้ดินเพื่อชมนิทรรศการและเรื่องราวภายในอนุสรณ์
ที่มา : https://www.arcstreet.com/2021/01/memorial-to-the-murdered-jews-of-europe-by-eisenman-architects.html
Son Yang Won Memorial Museum
Haman-Gun, South Korea
By Lee Eunseok + Atelier KOMA
สำหรับที่สุดท้าย เราขอพามาดูที่ฝั่งเอเชียกันบ้าง สถาปัตยกรรมแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอนุสาวรีย์ของผู้รักชาติ Son Yang Won ซึ่งเป็นนักบุญของคริสตจักรโปรเตสแตนต์ที่เสียสละ ศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาของคริสเตียนในช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ซึ่งแนวคิดทั้งสามของซนยังวอน นั่นคือ ‘การต่อต้าน’ ‘การเสียสละ’ และ ‘การประนีประนอม’ ยังเป็นพื้นฐานการออกแบบโครงสร้างสำหรับการชมนิทรรศการทั้งสามชั้น
อาคารรูปทรงกระบอกคอนกรีตเปลือยปิดล้อมแยกออกจากพื้นที่ภายนอกโดยสิ้นเชิง และเผยให้เห็นสัญลักษณ์ของอนุสรณ์สถานอย่างชัดเจน โดยจะมีช่องว่างทะลุที่เปิดขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ในขณะที่ด้านล่างเป็นผืนน้ำที่สร้างความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ‘แมสของอาคารที่ถูกยกขึ้น’ เกิดขึ้นจากการค้ำยันมุมหนึ่งของทรงกระบอกด้วยผนังโครงสร้างคอนกรีตที่มีพื้นผิวต่างกัน และตั้งอยู่บนเสาที่วางตัวอย่างกระจัดกระจายในมุมหนึ่งของพื้นที่ อีกทั้งทางเดินภายในยังออกแบบให้มีความแคบเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจที่ไม่อาจบรรยายได้ของซนยังวอน ตลอดช่วงชีวิตของเขา พื้นที่แห่งนี้ยังได้รับขนานนามว่าเป็น ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการรำลึก’ ที่รวบรวมมรดกทางจิตวิญญาณของซนยางวอนผ่านงานสถาปัตยกรรม
ที่มา : https://www.archdaily.com/873228/son-yang-won-memorial-museum-lee-eunseok-plus-atelier-koma?ad_source=search&ad_medium=projects_tab
นอกจาก 7 สถานที่แห่งการระลึกถึงที่เรากล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกหลาย Memorial Architecture ที่ออกแบบได้อย่างน่าสนใจ และมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าแก่นหลักของงานออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการสร้างความรู้สึก สงบ ลึกซึ้ง และชวนให้เราที่เป็น (ผู้อยู่) ใช้เวลานิ่งเงียบสักพักในการไตร่ตรองถึงเรื่องราวหลากอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ โดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความรู้สึกเหล่านั้น
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!