การที่เราจะเลือกร้านคาเฟ่สักร้านหนึ่ง นอกจากจะมีกาแฟที่มีรสชาติอร่อยแล้ว การออกแบบ และที่ตั้งของร้านก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศให้เข้ามาใช้บริการกัน
และหนึ่งในคาเฟ่อันโดดเด่นนั้นก็คือ Art Farmer Cafe ที่เจ้าของทั้งสองคนเป็นทั้งศิลปิน และเป็นเจ้าของไร่กาแฟ ตั้งอยู่ใจกลางสี่แยกระหว่าง ถนนกำแพงดิน และถนนศรีดอนไชย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการรีโนเวทบ้านไม้เก่าให้กลายเป็นคาเฟ่ที่ได้ไอเดียจากกำแพงเมืองเก่า โดยงานนี้ได้สถาปนิกเจ้าถิ่นอย่าง S.O.S Architects เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบครั้งนี้
ไอเดียที่เกิดจากข้อจำกัด
เดิมอาคารคาเฟ่แห่งนี้เป็นบ้านไม้เก่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กบริเวณด้านหนึ่งของสี่แยกที่หันหน้าออกไปทางทิศตะวันตก และตั้งอยู่ในพื้นที่กำแพงดิน หรือกำแพงเมืองเก่า ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดต่างๆ ในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่สถาปนิกเลือกจะนำข้อจำกัดเหล่านั้นมาใช้เป็นไอเดียในการออกแบบ
“เราออกแบบฟาซาดให้มีเลเยอร์กระจกโค้งรับกับมุมของสี่แยก และนำอิฐมาวางเรียงเป็นพิกเซลเพื่อกรองแสงให้กับอาคาร ซึ่งตัวอิฐยังเป็นตัวสะท้อนความเป็นกำแพงเมืองชั้นแรกของเมืองเชียงใหม่ได้อีกด้วย จากนั้นจึงใช้สีขาวแบบสไตล์มินิมอลที่เจ้าของชอบมาทำให้เกิดการไล่เฉดสีระหว่างสีน้ำตาลของอิฐกับสีขาว ด้วยพื้นที่แห่งนี้เป็นเขตอนุรักษ์จึงจำเป็นที่ต้องใช้โทนสีที่เรียบและน้อยที่สุด เพื่อให้ดูกลมกลืนไปกับบริบท แต่ก็ยังมีความโดดเด่นและเป็นโหนดแห่งใหม่ให้กับสี่แยก”
ความเรียบง่ายของฟังก์ชัน
ภายในคาเฟ่สถาปนิกออกแบบให้ภายให้ดูเรียบไปด้วยโทนสีขาว และจัดวางโต๊ะเก้าอี้ทั้งกลม และเหลี่ยมเพียงน้อยชิ้นตามสไตล์มินิมอล บริเวณฝ้าเพดานออกแบบให้มีลักษณะเป็นตางรางพิกเซลพร้อมติดไฟดวงกลมซึ่งล้อไปกับฟาซาดด้านหน้าของตัวคาเฟ่
“ส่วนใหญ่แล้วคนที่เข้ามาใช้บริการจะเป็นคอกาเเฟ คือร้านนี้เจ้าของเป็นคนคั่วเอง ปลูกเอง และขายเอง เขาเป็นตัวจริงในเรื่องของกาแฟ การมาร้านนี้ต้องกินกาแฟเท่านั้น ซึ่งเขามีทั้งเมล็ดไทย และต่างประเทศ เราจึงต้องออกแบบให้ภายในร้านเรียบง่ายมากที่สุด และเน้นกาแฟให้มากที่สุด เลยจัดวางที่นั่งบาร์ยาวสีขาวพร้อมที่วางแก้วด้านข้าง และใช้โต๊ะเก้าอี้พอประมาณ เพราะเวลาคนเข้ามาซื้อกาแฟส่วนใหญ่มักจะกลับเลย แต่ก็มีบางส่วนที่อยากนั่งที่ร้าน นอกจากนี้เรายังดึงเอาจุดเด่นของร้านอย่างฟาซาดเข้ามาใช้กับฝ้าเพดานภายในด้วย”
วัสดุใหม่ในโครงสร้างเก่า
ข้อจำกัดในการออกแบบครั้งนี้คือการต้องใช้โครงสร้างหลังคาเดิมของบ้านไม้เก่าในการรับน้ำหนักฟาซาดเหล็ก ซึ่งแน่นอนว่ารับน้ำหนักได้น้อย และไม่สามารถทำฐานรากใหม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการลดวัสดุ เพื่อไม่ให้โครงสร้างเก่าเกิดการหย่อนและพังลงมา
“เราได้ลดวัสดุจำพวก อิฐ ให้เหลือน้อยลงเพราะในช่วงก่อสร้างมีการหย่อนของโครงสร้าง และใช้วิธีการซ่อนเสาไว้ตรงผนังโค้งเพื่อให้รับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงตอนแรกที่ออกแบบไว้ฟาดซาดมีขนาดสูงขึ้นไปกว่านี้ แต่ก็ต้องลดลงเพราะขัดกับกฎหมายในเขตอนุรักษ์ งานนี้เราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแบบอยู่ตลอดเวลา”
กว่าจะเป็นคาเฟ่ Art Farmer Cafe
“คาเฟ่เป็นพื้นที่พับบลิคสเปซอย่างหนึ่ง จึงต้องตอบโจทย์ให้ครบทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไอเดียที่มีเรื่องราว การสร้างจุดถ่ายรูป ตลอดไปจนถึงเรื่องการตลาด ซึ่งถ้าคาเฟ่แห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองกลางสี่แยกหันไปทางทิศตะวันตก ไม่ได้มีข้อจำกัดมากมายขนาดนี้ ตัวอาคารก็คงไม่ได้มีหน้าตาออกมาแบบนี้ คือเราเอาปัญหาทุกอย่างมาวางเรียงไว้เพื่อจะได้ลำดับปัญหาแล้วค่อยๆ แก้ไปทีละส่วนจนครบ นอกจากนี้เรายังอยากให้งานออกแบบใหม่ๆ เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของพื้นที่ และงานออกแบบไปพร้อมๆ กัน เราเชื่อว่า Art Farmer Cafe จะช่วยในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เพราะคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของตัวคาเฟ่ที่สะท้อนเรื่องราวใหม่ และเก่าผ่านการออกแบบออกมาได้เต็มที่มากๆ”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!