ถึงแม้ว่าวันหยุดจะพึ่งสิ้นสุดไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่แผนการท่องเที่ยวของเรานั้นกลับไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลง และในทุกวันนี้หนึ่งในการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือการท่องเที่ยวในเชิงสถาปัตยกรรม ที่นอกจะคอยแนะนำในการเดินทางของเราแล้ว อาคารเหล่านี้ยังมีมิติต่างๆ ซ่อนไว้ให้เราได้เข้าไปค้นหากันอยู่ตลอดเวลา
แต่การที่จะรอให้ถึงวันหยุดและเดินทางไปชมอาคารเหล่านี้ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก วันนี้ Dsign Something ชวนไปเที่ยวชมกับ 7 Tourism Center ที่ดูน่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก เผื่อใครจะนำอาคารเหล่านี้ไปวางแพลนการท่องเที่ยววันหยุดยาวในครั้งต่อไป
Wencheng Forest Oxygen Bar Town Parlor
Wenzhou, Zhejiang, China
By GLA Design
Wencheng Forest Oxygen Bar Town Parlor อาคารสาธารณะที่มีฟังก์ชันเป็นทั้ง ศูนย์รองรับนักท่องเที่ยว นิทรรศการ ห้องประชุม ห้องอาหาร และอื่นๆ อาคารแห่งนี้ ตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง เวินโจว ประเทศจีน จากสภาพบริบทที่เป็นล้อมรอบไปด้วยภูเขา และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีอายุมาอย่างยาวนาน สถาปนิกจาก GLA Design จึงได้นำไอเดียจากสิ่งที่มีอยู่นำไปใช้ในการออกแบบครั้งนี้
สถาปนิกออกแบบด้วยการนำภาพของต้นไม้จากบนภูเขานำมาสร้างแพทเทิร์นใหม่ ให้กลายเป็นทั้งโครงสร้าง และตัวฟาซาดของอาคาร และใช้วัสดุของพื้นที่เพื่อสะท้อนภาพของสถาปัตยกรรมยุคเก่าแก่ของพันธุ์ของชาวชี เช่น ผนังก่ออิฐ โครงสร้างไม้เทียม รวมไปถึงการวางหลังคาซ้อนชั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงความเก่าแก่ นอกจากนี้อาคารแห่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีนอีกด้วย
ที่มา https://www.archdaily.com/935162/wencheng-forest-oxygen-bar-town-parlor-gla-design
Hong-Hyun Bukchon Information Office and Facilities
Bukchon-ro, Jongno-gu, Seoul, South Korea
By Interkerd Architects
หมู่บ้าน บุกชอน มีประเพณี วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่มาอย่างยาวนาน ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามหมู่บ้านนี้ก็ยังมีความเป็นปัจจุบันอยู่ด้วยทำให้นักท่องเที่ยวต่างก็เข้ามาชมพื้นที่กันอย่างไม่ขาดสาย มีสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า ห้องสมุด Jeongdok และพื้นที่สาธารณะ อยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด แต่การเดินทางมาจากหมู่บ้านกลับเป็นพื้นที่สูง มีทางเข้าทางเดียว ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ทาง Jongno-gu จึงได้หมอบหมายให้สถาปนิก Interkerd Architects ปรับปรุงพื้นที่ใหม่ให้เข้าถึงง่าย มีฟังก์ชันที่ตอบรับกับผู้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยวให้ครบครัน
การออกแบบในครั้งนี้ขั้นแรกรื้อถอนกำแพงดินสูงถึง 4 เมตร ที่กั้นไว้ตลอดแนวถนน และออกแบบทางเข้าใหม่ให้กลายพิพิธภัณฑ์การศึกษากรุงโซล ข้อมูลการท่องเที่ยว ห้องน้ำสาธารณะ และ Bukchon แกลเลอรี่ และเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายไปยังห้องสมุด Jeongdok โครงการมีจุดมุ่งหมายให้พื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น เพื่อให้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยว ได้เข้ามาใช้งานทั้งการพักผ่อน หาข้อมูล และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
Dilli Haat
Janakpuri, New Delhi, Delhi, India
By Archohm
‘Haat Beat’ เป็นจุดเริ่มต้นของการประกวดการออกแบบในปี 2548 ที่ได้ Delhi Tourism and Transport Development Corporation เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบ Dilli Haat ในเมือง Janakpuri เป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตฮอลล์ ละครเวที ร้านค้า นิทรรศการ ศิลปะ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เติมเต็มชีวิตแบบใหม่ของคนกรุงนิวเดลี และเป็นสถานที่ไม่กี่แห่งที่รองรับผู้คนในกรุงเดลีได้มากขนาดนี้มาก่อน
พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นการสนทนาระหว่างอดีตและปัจจุบัน การรับรู้ถึงประเพณีและการปรับตัวในยุคปัจจุบัน ที่นำงานฝีมือ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่นั้นเข้ามาผสมผสานจนเกิดสิ่งใหม่ขึ้น เพื่อให้คนเมืองได้รับรู้ถึงผลงานศิลปะ ประเพณี ตลอดไปจนถึงการแสดง และสินค้าจากต่างพื้นที่ที่หลากหลาย
ที่มา https://www.archdaily.com/777641/dilli-haat-archohm-consults
Kaohsiung Pop Music Center
Kaohsiung, Taiwan (ROC)
By Manuel A. Monteserín Lahoz
ความพยายามร่วมมือกันระหว่างสภาเทศบาลเมือง กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐบาลกลางของไต้หวันเพื่อให้พื้นที่ท่าเรือเกาสง ที่เป็นเสมือนสายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนในเมืองเป็นเวลานาน ต้องการสร้างสรรค์สถานที่แห่งใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ Kaohsiung Pop Music Center เพื่อผลักดันให้วงการเพลงในไต้หวัน และเอเชีย รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ให้ได้จัดแสดงโชว์ และเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเมือง งานนี้ออกแบบโดย Manuel A. Monteserín Lahoz
ไอเดียของการออกแบบมาจาก ปะการัง สาหร่าย คลื่น และฟอง จนออกมาเป็นอาคารรูปทรงเลขาคณิตที่สื่อถึงระบบนิเวศที่มีอยู่ร่วมกัน ซึ่งถูกตีความออกมาเป็นฟังก์ชันได้ดังนี้ The GREAT WAVE หอประชุมกลางแจ้งสำหรับ 12,000 คน หอแสดงคอนเสิร์ตสำหรับ 3,500 คน และหอคอยสองหลังที่มีโปรแกรมสำนักงาน พิพิธภัณฑ์ และห้องซ้อม ถัดมาคือ WHALES สำหรับกิจกรรม คอนเสิร์ต และ DOLPHINS ร้านอาหาร 5 แห่ง นอกจากนี้ยังมี The CORAL หรือ Exhibit ศูนย์นิทรรศการ พื้นที่อเนกประสงค์กลางแจ้ง และสวนสาธารณะ
ที่มา https://www.archdaily.com/973916/kaohsiung-pop-music-center-manuel-a-monteserin-lahoz
Zhujiajiao Tourist Center
No.555 Kezhiyuan Road, Qingpu, Shanghai, China
By Wuyang Architecture
อาคารศูนย์นักท่องเที่ยว Zhujiajiao Tourist Center ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเก่า Zhujiajiao ที่เป็นเขตประวัติศาสตร์ และเมืองใหม่ ของเมืองเซี่ยงไฮ้ สถาปนิกจาก Wuyang Architecture จึงต้องพยายามสะท้อนทั้งความเก่าและความใหม่ลงบนอาคารหลังนี้
ภายในอาคารเป็นส่วนสำนักงานและบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ซึ่งลักษณะของตัวอาคารในชั้นนี้สถาปนิกออกแบบแพทเทิร์นช่องแสงที่ได้ไอเดียมาจากอาคารในเมืองเก่าผ่านการใช้วัสดุไม้ แต่ก็ยังให้ความรู้สึกถึงยุคสมัยใหม่ด้วยเส้นกระจกที่สะท้อนบริบทโดยรอบ และการยื่นส่วนด้านหน้าออกไปยังบ่งบอกถึงการเป็นทางเข้าไปยังภายในตัวอาคาร และเป็นสนทนากับพื้นที่โดยรอบถึงการผสมผสานยุคสมัยเข้าด้วยกัน ในส่วนของหลังคาสถาปนิกใช้เหล็กสีเทาเข้ม และทำเป็นทรงจั่วเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายของเขตพื้นที่ประวัติศาสตร์
ที่มา https://www.archdaily.com/977415/zhujiajiao-tourist-center-wuyang-architecture
Madrid Tourist Information Pavilions
Madrid, Spain
By José Manuel Sanz Arquitectos + Irene Brea
ศาลาขนาดเล็กห้าหลังนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นอาคารพิเศษสำหรับกรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและการค้ามากมาย เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลให้กับคนในพื้นที่ และศูนย์ให้ข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ตั๋ว แผนที่ อื่นๆ โดยอาคารเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีที่ใหม่เข้ามาช่วยในการก่อสร้าง ซึ่งงานนี้ได้สถาปนิกจาก José Manuel Sanz Arquitectos + Irene Brea เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบ
สถาปนิกออกแบบให้อาคารแห่งนี้ดูใสโปร่งโล่ง ให้คนทั้งภายนอก และภายในมองเห็น และรู้สึกเป็นส่วนเดียวกัน และเพื่อให้ผู้คนเข้ามาติดต่อได้สะดวก ตัวอาคารจึงออกแบบให้มีลักษณะเหมือนใบ clover ที่แบ่งออกเป็นสามทิศทาง นั่นก็หมายความว่า แบ่งออกเป็นสามหน้าที่ที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันตัวหลังคารูปทรงนี้ยังสามารถกันแดด กันลมและกันฝนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
Xinxiang Cultural Tourism Centre
Xinxiang, Henan, China
By Zone of Utopia + Mathieu Forest Architecte
กล่องลูกบาศก์น้ำแข็งที่เราเห็นไม่ใช่เพียง Conceptual Design แต่อย่างใด เพราะที่แห่งนี้คือศูนย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่จากฝีมือของ Zone of Utopia + Mathieu Forest Architecte ที่สร้างขึ้นจริงแล้ว ณ เมืองซินเซียง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของเขตการท่องเที่ยวสำหรับกีฬาในช่วงฤดูหนาว
ตัวอาคารประกอบด้วยแมสของก้อนลูกบาศก์น้ำแข็ง 9 ก้อนที่วางทับซ้อนและกระจายตัวออกจากกัน ซึ่งรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายนี้ซ่อนรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมายไว้ภายใน เมื่อเราเข้าไปใกล้ตัวอาคารจะเห็นว่าพื้นผิวของส่วนด้านหน้ากระจกจะสกรีนลวดลายคล้ายผลึกน้ำแข็งโปร่งแสงจำนวนมาก ซึ่งทำหน้าที่กรองแสงและการมองเห็นจากภายใน เพื่อ ‘ซ่อน’ และ ‘กระตุ้น’ ความรู้สึกให้ผู้มาเยือนอยากจะเข้าไปค้นหาและถูกดึงดูดเข้าสู่ภายใน ตัวผลึกน้ำแข็งยังสะท้อนและเล่นแสง ทำให้อาคารในยามกลางคืนดูเหมือนเปล่งแสง ราวกับก้อนน้ำแข็งที่ผู้คนสามารถอาศัยอยู่ภายในได้
นอกจากนี้ยังมีอาคาร Tourism Center ที่น่าสนใจทั้งดีไซน์ ฟังก์ชัน อยู่อีกมากมาย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของอาคารเหล่านี้คือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ผู้คนทั้งคนในชุมชน หรือนักท่องเที่ยวก็ได้เข้ามาใช้งาน เพื่อการพักผ่อน หาความรู้ และเพลิดเพลินไปกับวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!