พาไปชมผลงานประติมากรรมสุดโดดเด่นในงาน Coachella 2022
ที่สร้างสรรค์โดย สถาปนิก ศิลปิน และนักออกแบบจากทั่วโลก

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีกับเทศกาล Coachella Valley Music และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาก็เรียกเสียงฮือฮาไปได้ไม่น้อยกับศิลปินไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเหยียบบนเวทีระดับโลกแห่งนี้ จนทำให้เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของวงการเพลง ศิลปะ และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี  

และในเทศกาลนี้นอกจากจะมีคอนเสิร์ตที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว ก็ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะ และประติมากรรม ที่ออกแบบขึ้นจาก สถาปนิก ศิลปิน และนักออกแบบจากทั่วโลก ภายใต้แนวคิดที่ถูกพูดถึงในระดับโลกอยู่เสมอ อย่าง ความเชื่อมโยง ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่นฐาน พฤติกรรมทางสังคมและสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมสมัยนิยม และชุมชน โดยเทศกาล Coachella Valley Music 2022 นี้กำลังจะจัดเป็นอาทิตย์สุดท้ายแล้ว Dsign Something จึงขอพาไปชมผลงานประติมากรรมอันโดดเด่นที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานนี้กันเลย

ประติมากรรมสุดโดดเด่นจาก 6 นักสร้างสรรค์

Mutts by Oana Stănescu
สถาปนิกชาวโรมาเนีย Oana Stănescu ได้ออกแบบประติมากรรมรูปสุนัขขนาดใหญ่ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล โดยแต่ละชิ้นจะถูกตั้งอยู่เพื่อให้คนเข้ามาสัมผัสกับชิ้นงาน สร้างปฏิสัมพันธ์ และบทสนทนาให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาในพื้นที่ได้ด้วย ฟังก์ชันในประติมากรรมนี้ ที่นอกจะให้เราเดินชมต้นไม้ที่ติดตั้งอยู่บนตัวสุนัขแล้ว เรายังสามารถเข้าไปสัมผัสที่จมูกอันยืดยาว และนั่งพักบนอุ้งเท้าของสุนัข โดยโครงสร้างทั้งหมดเหล่านี้ทำขึ้นจากเหล็ก และทาสี “เราสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากสุนัข ทั้งความปิติ ความต้องการทางเพศ ความจงรักภักดี และความรักที่ไม่มีเงื่อนไขทั้งกับสุนัขด้วยกันเอง และกับมนุษย์”

Buoyed by Kiki Van Eijk
ดีไซน์เนอร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแบบ Buoyed ประติกรรมรูปทรงทุ่นเหนือจริงสูงเท่าตึกสี่ชั้น ซึ่งมีทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ ทุ่นสีขาวนวลมีปีกผีเสื้อกางออกจากยอดแหลมที่ส่องแสงในเวลากลางคืน อันที่สองคือทุ่นสีน้ำเงินผสมผสานกับกระท่อมน้ำแข็งต่อเข้ากับที่ติดกังหันลมสไตล์ดัตช์ และอันสุดท้ายคือทุ่นสีเขียวมีฐานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 ฟุต ทุกอันจะสามารถนั่งสำหรับพักผ่อนได้ และแต่ละอันจะอ้างอิงถึงวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายผ่านการมองอนาคตที่สดใส “เป็นเรื่องราวการเดินทางที่เรามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่ Coachella เมื่อคุณอยู่ที่งานเทศกาลสองถึงสามวัน คุณเหมือนกับเป็นฟองสบู่ที่กำลังล่องลอยไปกับการเดินทาง ซึ่งทำให้ทุกคนหลอมรวม และเป็นสิ่งเดียวกัน” ดีไซน์เนอร์กล่าว

Cocoon (BKF + H300) by Martín Huberman
Martín Huberman สถาปนิกและนักออกแบบจากอาร์เจนตินาสร้างประติมากรรมสูง 9 ชั้น ที่นำสัญลักษณ์ BKF 300 ตัว ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากชื่อเก้าอี้ “Butterfly” ในปี ค.ศ. 1940 ที่ออกแบบขึ้นโดยสถาปนิกสามคนคือ Bonet, Kurchan และ Ferrari ซึ่งเป็นไอคอนสำคัญที่ได้รับความนิยมทางด้านวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น และในครั้งนี้สถาปนิกได้นำแรงบัลดาลใจนี้มาออกแบบโครงสร้างที่ทำขึ้นจากผ้าม่านบังแดด ที่สามารถให้ร่มเงาได้ในกลางวัน และสามารถให้แสงสว่างได้ในเวลากลางคืนได้

The Playground by Architensions
ประติมากรรมหอคอยหลากสี 4 หอคอย สูง 42 ถึง 56 ฟุต ออกแบบโดย Architensions และ Alessandro Orsini และ Nick Roseboro สถาปนิกพยายามนำสีสัน และความสูงชะลูด เพื่อนำความเป็นเมืองเข้ามาในหุบเขา Coachella Valley ประติมากรรมทั้งหมดถูกออกแบบให้เป็นกริดโมดูลล่าทรงเรขาคณิต ซึ่งแต่ละอันจะเชื่อมโยงกันด้วยสะพานลอยฟ้า และใช้สีประติมากรรมทั้งหมด มาจากฟิล์ม Dichroic ที่ให้สีฟ้า สีม่วงแดง และสีเหลือง เมื่อพระอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นผิวก็จะมีความสะท้อน และเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ได้โดยไม่ต้องพูดอะไร

Circular Dimensions x Microscape by Cristopher Cichocki
ศาลาครึ่งวงกลมสูง 5 ชั้น สร้างขึ้นจากท่อพีวีซีทั้งหมด ศิลปินพยายามนำเสนอประวัติศาสตร์ของทะเลทราย และการสำรวจทางน้ำของเขาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยภายในศาลาจะมีห้องปฏิบัติการที่นักวิทยาศาสตร์ และ ศิลปินสามารถสร้างผลงานภาพวาดวิดีโอ เชิงการทดลองด้วยการใช้ น้ำ เกลือ เพรียง และสาหร่าย จากทะเล Salton ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ที่สามารถแสดงให้ทุกคนเห็นแบบเรียลไทม์ภายในศาลาแห่งนี้

La Guardiana by LosDos
La Guardiana ประติมากรรมคนยักษ์ที่สวมกระโปรงที่มีรูปภาพคนอพยพโดยรถไฟ และเรือไปยังกำแพงชายแดน และสวมผ้าคลุมไหล่ ที่ห้อยลูกของเธอไว้ด้านหลัง เธอคนนี้ปิดบังหน้าตัวเองด้วยหน้ากาก และถือแตรที่เหมือนอาวุธซึ่งสื่อถึงความแข็งแกร่ง ประติมากรรมชุดนี้กำลังจะสื่อความหมายถึงการเป็นผู้พิทักษ์ผู้อพยพจากทั่วโลก ที่กำลังพบกับการเดินทางที่อันตรายไปยังดินแดนที่ไม่คุ้นเคย

ศิลปินที่เคยสร้างผลงานอันโด่งดัง

นอกจากจะมีศิลปินและนักออกแบบที่เข้ามาสร้างสรรค์ในปีนี้ ยังมีศิลปินและนักออกแบบอีกหลายคนที่เคยสร้างผลงานอันโด่งดังไว้ที่ Coachella Valley Music และได้กลับมาแสดงโชว์ผลงานอีกครั้งอย่าง NEWSUBSTANCE กับผลงาน Spectra ที่ได้รับรางวัล The Architect’s Newspaper 2018 Best of Design Award ในหมวด Lighting-Outdoor และรางวัลเหรียญทองประจำปี 2018 จาก International Design Awards  และทีมออกแบบ Do LaB จากลอสแองเจลิส ซึ่งได้เข้ามาออกแบบเวที Warrior One ที่ได้แรงบัลดาลใจจากประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์ และการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจากมนุษย์ ความถูกต้อง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีศิลปินคนอื่นๆ อีกมากมายที่มีผลงานอันโดดเด่น และน่าจับตามองเช่นเดียวกัน “ดนตรีเป็นภาษาสากลที่จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามา สัมผัสกับศิลปะ สถาปนิก นักออกแบบ และศิลปินจากทั่วโลก เพื่อให้ได้พบกับประสบกาณ์ความรู้สึกที่เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของเทศกาลนี้” Paul Clemente ผู้จัดงานกล่าว

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn