เมื่อจุดเชื่อมโยงระหว่างวัสดุ กาแฟ และเรื่องราวของธุรกิจครอบครัว ถูกถ่ายทอดลงบนสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ คุณศิธานนท์ ชะเอม สถาปนิกจาก SA-ARD architecture & construction เลือกใช้ออกแบบ The Rubber[er] Coffee & Space คาเฟ่ที่ถอดรายละเอียดมาจากโรงงานยางพาราเก่าในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวเจ้าของคาเฟ่อย่าง คุณรังสิมันตุ์ ร่วมชาติ โดยตีความใหม่ผ่านพื้นที่และใส่ใจรอยต่อระหว่างวัสดุ รวมไปถึงสไตล์ที่เรียบง่ายมีกลิ่นอายที่ชวนให้คิดถึงความเป็นญี่ปุ่นในยุคเดียวกับอิคคิวซัง
ถอดรายละเอียดจากโรงงานยางพารา
จุดเริ่มต้นจากเรื่องราวของเจ้าของคาเฟ่ที่ครอบครัวทำธุรกิจผลิตยางพารา หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง โดยทำตั้งแต่ปลูกสวนยางพารา กรีดยาง และโรงงานแปรรูปครบวงจรมาอย่างยาวนาน เนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานตากยางพารามีขนาดค่อนข้างกว้าง บางส่วนจึงถูกแบ่งสรรปันส่วนให้กับโปรเจ็กต์ใหม่อย่างคาเฟ่ ซึ่งสถาปนิก ก็ได้นำแรงบันดาลใจจากเรื่องราวเหล่านี้มาจัดเรียงภาษาการออกแบบใหม่ ถ่ายทอดผ่านอาคารชั้นเดียวยาวกว่า 20 เมตรในรูปทรงเดียวกัน รวมไปถึงองค์ประกอบหรือแม้แต่วัสดุต่าง ๆ ที่ถอดรูปแบบมาจากโรงตากยางพาราที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เพื่อสะท้อนถึงบริบทที่ตั้งและกลมกลืนไม่ต่างจากอาคารเดิม
ประตูทางเข้า คือองค์ประกอบแรกที่เห็นได้ชัดว่ามีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีลักษณะเป็นบานประตูสไลด์รูปแบบเดียวกับโรงตากยางพาราเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวัสดุจากสังกะสีเป็นไม้ เพื่อลดภาพความแข็งกระด้างลงและทำให้เหมาะสมกับการใช้งานของร้านกาแฟมากขึ้น
กลิ่นอายญี่ปุ่นจากความชื่นชอบ
“อยากให้คาเฟ่มีบรรยากาศของความอบอุ่นและความเป็นกันเอง เหมือนนั่งอยู่ในคาเฟที่ญี่ปุ่น”
นอกจากรูปทรงอาคารที่เรียบง่ายแล้ว เส้นสายของตัวอาคารเองก็มีความเรียบง่ายไม่ต่างกัน มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นเล็ก ๆ ให้เราได้สัมผัส จากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมประเภทบ้านหรือวัด ในยุคเดียวกับการ์ตูนเรื่องอิคคิวซัง เนื่องจากเจ้าของคาเฟ่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในยุค 80’s สู่การนำเรื่องราวมาตีความใหม่ ด้วยฝีมือของสถาปนิกที่ออกแบบหลังคาให้มีความลาดต่ำ ชายคามีความกว้างกว่าปกติ และมีระเบียงล้อมรอบ รวมไปถึงการลดสเกลความสูงของเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น เพื่อเพิ่มความรู้สึกสบายกับสร้างความเป็นกันเองแบบที่ตั้งใจไว้
เศษสามส่วนสี่คือพื้นที่ของคาเฟ่
หนึ่งในสี่ของพื้นที่ภายในอาคารยาว 20 เมตร ถูกแบ่งไว้เป็นห้องพักส่วนตัว และอีกสามส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ของคาเฟ่ โดยภายในคาเฟ่เองถูกจัดวางแบบ Open Plan และแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซนด้วยกัน หนึ่ง คือโซนเคาน์เตอร์บาร์ที่ทำจากคอนกรีตหล่อขนาดค่อนข้างใหญ่ สอง คือโซนที่นั่ง ที่มีทั้งภายในและภายนอก โดยเน้นการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบลอยตัว เพื่อปรับเปลี่ยนได้ง่าย
เรื่องเล่าของรอยต่อระหว่างวัสดุ และเทคนิคการก่อสร้างพิเศษ
การตกแต่งภายในเน้นการโชว์ความเป็นสัจวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต ไม้ และไฮไลท์สำคัญอย่างผนังที่ทำจากอิฐอีโคบล็อกสีดำ วัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดดเด่นด้วยลวดลายที่เป็นเส้นตรงสี่เส้น ซึ่งสถาปนิกนำมาก่อร่างสร้างแพทเทิร์นใหม่ อีกทั้งยังใส่ใจรายละเอียดรอยต่อระหว่างก้อน จัดเรียงให้แนบชิดกันมากที่สุดให้เสมือนไร้รอยต่อในแนวตั้ง ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้ผนังอาคารดูมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามในแบบฉบับของตัวเอง
อีกหนึ่งเรื่องราวระหว่างรอยต่อวัสดุภายในคาเฟ่ เป็นเรื่องของเทคนิคในงานก่อสร้างที่พิเศษ มีการประกอบอิฐอีโค่บล็อกเข้ากับวงกบหน้าต่างไม้และวงกบประตูไม้ โดยใช้เหล็กฉากที่สร้างความแข็งแรงแทนการใช้โครงสร้างเสาเอ็นแบบปกติ ทำให้วัสดุทั้งสองเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิทโดยไร้ปูนซีเมนต์มากั้นระหว่างวัสดุ
ขั้นตอนระหว่างการก่อสร้าง: เทคนิคการเชื่อมวัสดุอิฐบล็อกอีโค่เข้ากับเฟรมวงกบประตู
นอกจากนี้ยังมีการนำวัสดุที่หาได้ง่ายตามร้านขายวัสดุทั่วไปอย่างท่อพีวีซี มาดัดแปลงให้กลายเป็นรั้วกั้นระหว่างพื้นที่ภายนอกร้าน โดยนำท่อพีวีซีมาครอบเหล็กเส้น เทคอนกรีตแล้วฉาบปูนทับ กั้นพื้นที่เพื่อสร้างความส่วนตัวและจัดสรรทางเข้าออกของคาเฟ่ให้เป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น โดยกรรมวิธีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอนการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนระหว่างการก่อสร้าง: เทคนิคการใช้ท่อพีวีซีมาดัดแปลงให้กลายเป็นรั้ว
เปิดให้โปร่ง สัมผัสบรรยากาศภายนอก
ช่องเปิดเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สถาปนิกให้ความสำคัญในการออกแบบ เราจะเห็นว่าหน้าต่างและประตูทั้งหมดภายในร้านมีระดับความสูงที่เท่ากันทุกบาน ซึ่งแต่ละบานเป็นกระจกโปร่งใสและกระจกลอนโปร่งแสงล้อมรอบด้วยวงกบไม้ อีกทั้งยังมีสกายไลท์ด้านบนเพิ่มความน่าสนใจให้กับบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ ทั้งหมดเป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่อยากให้ลูกค้าได้สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติภายนอกอย่างชัดเจน ในขณะที่ก็สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
เปิดมุมเพื่อมอง และภาพที่บาริสต้าเป็นพระเอก
ส่วนอาคารด้านหน้า มีการใช้กระจกเข้ามุมเพื่อเปิดมุมมองให้ร้านดูโปร่งขึ้นเมื่อมองจากด้านนอก และใช้กระจกลอนในส่วนหน้าต่างบานกว้างด้านหลังบาร์ เสมือนเป็นฉากหลังของเฟรมภาพที่มีบาริสต้าเป็นพระเอกของภาพ รวมไปถึงการใช้เป็นพาร์ทิชันกั้นระหว่างพื้นที่ด้านหน้าร้านและลานจอดรถ เพื่อให้คนนั่งอยู่ภายนอกยังรู้สึกมีความเป็นส่วนตัวอยู่บ้างเล็กน้อย และสามารถกันแดดกันฝนได้ในคราวเดียวกัน
ซึมซับเรื่องราวผ่านมุมพิพิธภัณฑ์ยางพาราขนาดย่อม
ภาพที่สะท้อนเรื่องราวของธุรกิจครอบครัว นอกจากถูกถ่ายทอดลงบนรูปทรงสถาปัตยกรรมแล้ว พื้นที่ระเบียงภายนอกยังมีการตกแต่งด้วยแผ่นยางพาราดิบไว้ด้านบน คล้ายกับกรรมวิธีตากแผ่นยางที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน ประกอบกับการจัดแสดงแท่นรีดยางระบบแมนนวลจำนวน 3 เครื่อง แม้จะผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานและปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่แล้ว แต่ยังคงมีคุณค่าทางจิตใจกับครอบครัวเสมอ ในทางเดียวกันพื้นที่นี้ก็กลายเป็นมุมพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ๆ ที่ชวนให้ทุกคนได้ซึมซับเรื่องราวและกระบวนการผลิตแผ่นยางพาราที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อนได้อย่างใกล้ชิด
ทั้งหมดนี้ คือจุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวของธุรกิจครอบครัว กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น และสัจวัสดุ ผ่านการออกแบบ The Rubber[er] คาเฟ่ที่ชวนทุกคนมาจิบกาแฟ ท่ามกลางสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจในรายละเอียด พร้อม ๆ กับการนำเสนอเรื่องราวของพืชเศรษฐกิจจังหวัดระยองอย่างยางพารา ที่สะท้อนความเป็นบริบทได้อย่างอบอุ่นและสวยงามในแบบของตัวเอง
Location: Rayong, Thailand
Owner: Rungsiman Ruamchart
Architect: SA-ARD architecture & construction
Contractor: SA-ARD architecture & construction
Photographer: Usssajaeree Studio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!