วิลล่าลำพญา บ้านพักตากอากาศที่ทำให้ลืมคำว่าคอนกรีต ร้อน ดิบ และหนัก

ภาพจำของบ้านคอนกรีตขนาดใหญ่คือความร้อนอบอ้าว ดูแข็งเกร็ง ดิบ และไม่น่าอยู่อาศัย เหมือนกับภาพของงานสถาปัตยกรรมประเภท Brutalist ที่เพียงแค่ดูรูปภาพก็รู้สึกอึดอัด และกดดันเป็นอย่างมาก

แต่ก็เป็นอีกครั้งที่สถาปนิกจาก POAR พยายามทำลายกรอบเดิมๆ ของคอนกรีตตามที่เราเคยเข้าใจกันให้แตกต่างออกไปจากเดิม พวกเขานำสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นความร้อน ดูดิบ แข็งเกร็ง มาทำให้เกิดความโปร่ง โล่งสบาย และดูอบอุ่น ให้กับบ้านพักตากอากาศที่มีชื่อว่า ‘วิลล่าลำพญา’ ตั้งอยู่บนริมแม่น้ำท่าจีน ในจังหวัดนครปฐม

บ้านที่สบายคือบ้านที่ลมพัดผ่าน

เจ้าของบ้านต้องการที่จะสร้างบ้านพักตากอากาศที่รับลมธรรมชาติ เพื่อใช้พักผ่อนในช่วงวัน ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งการที่อาคารจะมีลมพัดผ่านสร้างความสดชื่นได้นั้น ก็คงหนีไม่พ้นพื้นที่โปร่งโล่งริมแม่น้ำขนาดใหญ่ และสามารถไป-กลับบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้สะดวก

“เจ้าของบ้าน คือ คุณดิว-ดุลยพล เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดังจาก PDM เขาได้ตระเวนขับรถหาพื้นที่สวยๆ ที่ติดอยู่กับริมแม่น้ำ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้พื้นที่หนึ่ง ซึ่งติดอยู่แม่น้ำท่าจีน ตำบลบางไทรป่า ห่างจากตลาดน้ำลำพระยาประมาณ 9 กิโลเมตร ในจังหวัดนครปฐม

บ้านคอนกรีตที่โปร่งโล่งสบาย

ถ้าหากจะออกแบบบ้านพักตาอากาศแล้ว การติดตั้งเครื่องปรับอากาศจึงเป็นเรื่องอันดับท้ายๆ เพราะการมาอยู่บ้านพักตากอากาศต้องได้รับ บรรยากาศแบบใหม่ๆ สูดอากาศธรรมชาติได้อย่างเต็มปอด ให้ความรู้สึกผ่อนคลายในทุกๆ วัน  การออกแบบจึงต้องพยายามทำให้บรรยากาศแตกต่างเป็นคู่ตรงข้ามกับบ้านปัจจุบันที่อยู่ในกรุงเทพฯ ของเจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด

“เราใช้แนวคิดให้บ้านพักตาอากาศหลังนี้สามารถรับลมธรรมชาติได้มากที่สุด ผ่านการวางอาคารเป็นแนวยาวให้สามารถรับลมจากทิศใต้ได้ตลอดแนว และพื้นในระดับคานคอดินชั้นล่างยกขึ้นให้สูงและถมทับเพื่อให้เป็นทางลาดลงไปยังริมแม่น้ำในระดับสายตาที่มองจากทางเข้าพื้นที่ก็สามารถมองทะลุตัวอาคารเห็นไปถึงแม่น้ำได้เลย หรือเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจะขึ้นสูงเสมือนบ้านหลังนี้กำลังลอยน้ำอยู่”

การออกแบบอันเรียบง่าย

บริเวณชั้นล่างสถาปนิกออกแบบให้เป็นใต้ถุน พร้อมวางเฟอร์นิเจอร์ สำหรับทำครัว และรับประทานอาหาร และในพื้นที่บริเวณชั้น 2 ประกอบไปด้วยห้องนอนจำนวน 2 ห้อง และห้องนั่งเล่นที่สถาปนิกยกหลังคาสูง และไม่ติดตั้งฝ้าเพดาน ให้แสงสว่างด้วยไฟห้อยดวงกลม และไฟติดพื้น พร้อมวางเฟอร์นิเจอร์จาก PDM  ซึ่งทำให้ภายในห้องนี้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ที่สามารถนั่งพูดคุย ชมวิวภายนอกได้ หรือหากอยากสูดอากาศให้มากขึ้นกว่านี้ ก็สามารถยกเก้าอี้ไปยังบริเวณชานไม้โครงสร้างเหล็กเพื่อสัมผัสกับวิวแม่น้ำในช่วงตะวันตกดินได้

“ในส่วนของห้องนอนเราเสริมในเรื่องของเครื่องปรับอากาศเข้ามาช่วยด้วยเนื่องจากว่า อากาศในบ้านเราในช่วงกลางคืนไม่ค่อยมีลมพัดผ่านบ่อยนัก ซึ่งอาจจะทำให้การนอนหลับพักผ่อนไม่เต็มประสิทธิภาพได้ แต่ในส่วนอื่นๆ อย่างห้องนั่งเล่นเราอยากให้เปิดโล่งทั้งหมด แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของยุง ฝนสาดเข้ามา และแดดร้อน การใช้กระจกก็คงจะไม่ตอบโจทย์ เราจึงเลือกใช้ผ้าใบ ที่ติดตั้งไว้อยู่ทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกของบ้าน ที่ช่วยกันในเรื่องของแสงแดด แต่ลมยังสามารถพัดผ่านเข้ามาได้ตลอด แม้จะปิดบ้านทั้งหมดก็ตาม เมื่อกลับมาในช่วงวันหยุด ก็จะไม่ทำให้บ้านเกิดความอบอ้าว แถมยังดูกลมกลืนไปผนังของตัวบ้าน  ซึ่งถ้าถามในเรื่องความปลอดภัย การกรีดทำลายผ้าใบให้ระยะเวลาพอๆ กับเอาหินทุบกระจกเข้ามาภายในบ้าน แต่คุณสมบัติของผ้าใบเหมาะสมกับบ้านหลังนี้มากกว่า”

“สำหรับราวกันตกที่เราไม่ได้ใช้ก็เพราะเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้าน และสถาปนิก ซึ่งเจ้าของบ้านรู้สึกว่าอยากปล่อยให้โล่งแบบนี้ดีกว่า เพราะผู้ใช้งานไม่ได้มีเด็ก และทุกคนในบ้านเห็นตรงกันว่าพวกเขาสามารถปรับตัวกับบ้านที่ไม่มีราวกันตกได้”

เน้นไปที่โครงสร้าง

บริเวณชั้นใต้ถุนสถาปนิกออกแบบโครงสร้างด้วยการใช้เสาสี่ต้น และกำแพงเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างของพื้นโพสเทนชั่นของพื้นในชั้น 2 นอกจากนี้หลังคายังได้ใช้โครงสร้างโพสเทนชั่นที่ความหนา 15 เซนติเมตร โดยที่ไม่ติดตั้งฝ้าเลยเพื่อทำให้บ้านหลังนี้ดูบาง คม และโปร่งโล่งมากที่สุด สถาปนิกใช้ผนังรับน้ำหนักวางเกาะตามขอบของตัวบ้าน โดยวัสดุทั้งหมดใช้เป็นคอนกรีต มารีน ที่เมื่อขัดผิวออกมาจะมีสีเทาปนครีมที่ดูแตกต่างจากคอนกรีตปกติทั่วไป

“งานนี้สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมมีสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่มีส่วนตกแต่งที่มากไปกว่าโครงสร้างเลย เราจึงจำเป็นที่จะต้องไปเล่นกับตัวโครงสร้างแทน ซึ่งเราอยากให้อาคารดูเบา มีความบาง รับช่วงเสาได้กว้าง ดูสะอาด ดูแตกต่างจากการทำบ้านคอนกรีตแบบทั่วๆ ไป”

แก้ไขข้อจำกัดเมื่อลมแรง

ในแง่ของการก่อสร้างสถาปนิกไม่ได้มีอุปสรรคมากนักเพราะงานนี้ได้ผู้รับเหมาที่ค่อนข้างจะเชี่ยวชาญในเรื่องการก่อสร้างในงานประเภทนี้อยู่แล้ว แต่ปัญหาจะอยู่ในส่วนของการใช้ผ้าใบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้งานนี้ต้องคอยแก้ปัญหาในส่วนของหน้างานอยู่ตลอด

“เนื่องจากพื้นที่ริมแม่น้ำบริเวณนี้มีลมค่อนข้างแรงมาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลมฤดูไหนก็มีความแรงอยู่ตลอด ระหว่างหน้างานก็ต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องของดีเทล เพื่อไม่ให้ผ้าใบหลุดออกมา เราจึงต้องใช้เฟรมอลูมิเนียมของกระจกในการยึดผ้าใบ รวมไปถึงกันสาดอีกชั้นหนึ่งที่เราออกแบบไว้สำหรับกันฝน”

แตกต่างแต่ต้องลงตัว

“สำหรับบ้านพักตากอากาศ สร้างขึ้นเพื่อให้เราได้รับประสบการณ์บรรยากาศใหม่ๆ ที่เราไม่ได้สัมผัสกับบ้านอยู่อาศัยในทุกๆ วัน และเมื่อเราได้ร่วมงานกับเจ้าของที่เป็นดีไซน์เนอร์ด้วยแล้ว เขาค่อนข้างมีความคิดก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอด และเชื่อในการที่เราจะก้าวออกไปจากกรอบเดิมๆ ด้วยกัน เช่นการทำอาคารที่ไม่มีฝ้าเลย หรือการใช้โครงสร้างและวัสดุใหม่ๆ เหมือนเป็นการทดลองไปด้วย แต่สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าการออกแบบต้องขมวดปมให้ตอบโจทย์กับเจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด”

Lead Architect:  Ornnicha Duriyaprapan
Design Team: Patchara Wongboonsin , Moke Kaengin
Structural Engineer: Basic Design co.,ltd. + Wbalance co., ltd.
Contractor: บริษัท กีรติฐาปนา จำกัด
Lighting design: @lightis.studio

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn