Search
Close this search box.

WHYSO คาเฟ่ลึกลับใจกลางเมืองที่นำวัสดุทั่วไปมาออกแบบใหม่จนสร้างงสเปซให้ดูน่าค้นหา

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการไปคาเฟ่ ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีผู้คนสัญจรไป-มาอยู่ตลอด ตัวร้านออกแบบให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีรูปแบบเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวให้สามารถเข้าไปถ่ายรูปเล่น หรือเช็คอินได้ ตลอดจนไปถึงรสชาติกาแฟ หรือเบเกอรี่ที่มีความแปลกใหม่ อร่อยในแบบเฉพาะตัว

แต่สำหรับ WHYSO ที่ออกแบบโดย Anatomy Architecture + Atelier กลับตั้งอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างเข้าถึงยากดูลึกลับ รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีความเรียบง่ายไม่หวือหวาเหมือนคาเฟ่ร้านอื่นๆ ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าร้านนี้คือคาเฟ่จริงๆ ใช่หรือไม่ แต่อะไรที่ทำให้คาเฟ่แห่งนี้ดูลึกลับน่าค้นหาเช่นนี้ จนกลายเป็นจุดเด่นของคาเฟ่แห่งนี้ไปโดยปริยาย

เรื่องราวของ WHYSO

สาเหตุที่ร้านแห่งนี้ดูลึกลับขนาดนี้นั่นเป็นเพราะว่าเดิมเจ้าของมีฐานลูกค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และนับวันยิ่งมีการสั่งขนมภายในร้านมากยิ่งขึ้น ทางเจ้าของร้านจึงเกิดไอเดียในการเปิดหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการได้ และเจ้าของเองก็สามารถทำครัวซองต์ได้โดยที่ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ภายในบ้าน

“เจ้าของเริ่มทำครัวซองต์ขายตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย และเริ่มขายในนามของ WHYSO เฉพาะออนไลน์เท่านั้น แต่ปรากฏว่ายิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งขายดี ประกอบกับว่าบ้านของเจ้าของร้านมีพื้นที่โรงจอดรถที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ เจ้าของจึงอยากทำเป็นร้านคาเฟ่เล็กๆ ในพื้นที่บริเวณบ้าน ถึงแม้จะตั้งอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต ซอย 60 แยก 6 ในซอยที่ค่อนข้างลึกมาก แต่ก็ยังสามารถขายได้อยู่เนื่องจากลูกค้ารู้จักร้านนี้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์”

แนวคิดอันลึกลับ

จากเรื่องราวที่ทางเจ้าของร้านคาเฟ่ขายครัวซองต์ผ่านช่องทางออนไลน์มาโดยตลอด และพื้นที่ตั้งของตัวคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดูซับซ้อน สถาปนิกจึงใช้แนวคิดให้คาเฟ่แห่งนี้ดูลึกลับ ซึ่งในขณะเดียวกันความลึกลับนี้กลับกลายเป็นจุดน่าสนใจให้กับคนภายนอกได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“เราคิดว่าคาเฟ่แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้ยิ่งใหญ่อลังการ หรือมีช่องเปิดตัวอาคารมากมายนัก เราเลยตั้งใจวางแนวคิดให้เป็นร้านลับ ที่ให้บริการทั้งกลุ่มเฉพาะ และกลุ่มคนที่สัญจรผ่านไป-มา เมื่อคนมองเข้ามาที่ร้านก็จะเกิดความสงสัยว่าภายด้านในคืออะไรกันแน่”

ร้านขนาดเล็ก แต่ดึงบริบทโดยรอบเข้ามาใช้งาน

ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด และต้องสร้างอยู่บนโครงสร้างเดิมของพื้นที่จอดรถขนาดเล็ก การใช้เฟอร์นิเจอร์สำหรับภายในจึงมีไม่มากนัก และเน้นไปที่ในส่วนของเคาน์เตอร์บาร์ไม้ลามิเนตเพื่อโชว์ ครัวซองต์ และเมนูไฮไลท์ของทางร้านและเพื่อให้บรรยากาศภายในดูอบอุ่นผ่อนคลายมากขึ้น สถาปนิกจึงใช้วิธีการดึงเอาบริบทภายจากนอกเข้ามาเป็นส่วนเดียวกับภายในคาเฟ่  

“เราอยากให้อาคารมีความโปร่งโล่งมากขึ้นด้วยการใช้วัสดุบล็อกแก้วลักษณะกึ่งขุ่นกึ่งใสก่อขึ้นทั้งซ้าย-ขวาของอาคาร ถึงแม้ทางด้านซ้ายจะเป็นทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มีแดดค่อนข้างแรงก็ตาม แต่เมื่อแดดกระทบกับต้นไม้ส่องลงมายังบล็อคแก้วที่ทำหน้าที่หักเหแสงได้ดี ก็ช่วยกรองแสงให้ภายในร้านไม่เกิดความร้อนขึ้นได้ แถมยังช่วยทำให้เกิดเอฟเฟคต์การเกิดเฉดเงา และในเวลากลางคืนถ้าเปิดไฟแสงก็จะออกมานอกตัวร้าน และฉายภาพสเปซภายในออกมาที่ให้เกิดความรู้สึกที่ดูอบอุ่น และเป็นแสงสว่างให้กับบ้านได้อีกด้วย”

สถาปนิกเพิ่มช่องเปิดด้วยกระจกขุ่นผิวส้มเพราะไม่ได้อยากให้คนภายในมองเห็นส่วนอื่นนอกจากตัวต้นไม้ เพราะฝั่งซ้ายในส่วนบ้านต้องการความเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงเลือกออกแบบให้คนที่เข้ามาใช้บริการได้เห็นในส่วนที่เจ้าของร้านอยากให้เห็นเพียงเท่านั้น

“ในส่วนด้านหน้าอาคาร และหลังเคาน์เตอร์บาร์ออกแบบให้มีความทึบ เพราะผนังติดกับบ้านของคุณแม่ของเจ้าของคาเฟ่  ซึ่งบล็อกผสานตัวนี้เราวางเป็นแบบวางบล็อคให้เป็นลักษณะแนวนอน และบางส่วนใช้ตัวสันด้านของของบล็อค ตัดครึ่ง แล้วจึงนำไปวาง เพื่อให้เกิดแพทเทิร์นขึ้น ซึ่งเป็นการวางแบบสุ่ม สาเหตุที่เลือกใช้บล็อกผสานก็เพราะว่าเราคิดถึงในเรื่องงบประมาณ กล่าวคือไม่อยากให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นผิวของวัสดุมากนัก ตัวบล็อคจะมีสีเข้มอ่อนแต่ละอันที่ไม่เหมือนกันเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์ด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องเสริมพื้นผิวอีกชั้น หรือรายละเอียดอื่นๆ เข้าไปเลย”

ประตูไม้ด้านหน้าพร้อมใช้โลโก้เครื่องหมายคำถามที่มีทีมาจากชื่อแบรนด์ของร้าน WHY SO หรือแปลเป็นไทยว่า ทำไม? ซึ่งโลโก้ของแบรนด์ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของร้านนี้ ทำให้คนภายนอกที่ไม่รู้จักเกิดความสงสัย และอยากเข้ามาดูว่าข้างในร้านนี้คืออะไร จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยทำให้เป็นที่ดึงดูดความน่าสนใจจากคนภายนอกได้

การวางแพทเทิร์นในช่วงก่อสร้าง

ความยากของการก่อสร้างคาเฟ่แห่งนี้คือการวางอิฐผสาน และบล๊อคแก้ว ให้ตรงให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากวางเอียงเพียงเล็กน้อย ก็จะมองเห็นถึงความไม่เท่ากันได้ชัดเจนมาก ซึ่งงานนี้มีแก้ไม่มากนัก เพราะงานนี้ได้ผู้รับเหมาค่อนข้างฝีมือในการก่อสร้างเป็นอย่างดี

ตั้งคำถามกับสถาปัตยกรรมก่อน

การออกแบบคาเฟ่แห่งนี้เราต้องคำนึงถึงตัวแบรนด์เป็นหลัก การออกแบบจำเป็นที่จะต้อง ดึงศักยภาพของแบรนด์ออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนสามารถรับรู้ได้ ผ่านสถาปัตยกรรม สเปซ โลโก้ อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ เราเลยพยายามจะออกแบบให้เกิดคำถามกับตัวสถาปัตยกรรมก่อน แล้วเมื่อเข้าไปภายในผู้คนก็จะได้รับคำตอบนั้น ทำให้เขาเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ จากภายในอาคารได้ ซึ่งคาเฟ่แห่งนี้เราเน้นไปที่ความเรียบง่าย ผ่านวัสดุที่มีราคาถูก แต่เพราะการออกแบบก็ทำให้วัสดุราคาถูกเหล่านี้ดูมีราคาแพงมากขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ  

Photo Credit : VARP Photo

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading