Tono Children’s Book Forest
ห้องสมุดสุดสนุกสำหรับเด็กในแบบฉบับของ Tadao Ando

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า … และพวกเขาก็คืออนาคตของชาติ – แนวคิดสำคัญแสนธรรมดานี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อก้องโลกมักพูดถึงเสมอในยามที่เขาถูกถามถึงจุดประสงค์ของการริเริ่มโปรเจกต์สร้างห้องสมุดสำหรับเด็กภายใต้ธีม Children’s Book Forest ในแบบฉบับของตัวเขาเอง

หลังจากโปรเจกต์แรกสุดอย่าง Nakanoshima Children’s Book Forest ผุดขึ้นในเมืองโอซาก้าเมื่อกลางปี ค.ศ.2020 ห้องสมุดสำหรับเด็กที่อันโดะตั้งใจสร้างขึ้นนี้ก็ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม จนต่อยอดสู่โปรเจกต์ที่สองอย่าง Tono Children’s Book Forest ในเมืองโตโนะ จ.อิวาเตะ ซึ่งเปิดทำการเมื่อปี ค.ศ.2021 และโปรเจกต์ที่สามอย่าง KOBE Children’s Book Forest ในเมืองโกเบ จ.เฮียวโกะ ที่เพิ่งเปิดเมื่อต้นปี ค.ศ.2022 ที่ผ่านมานี้เอง สำหรับห้องสมุดทั้งสามแห่งนั้นอันโดะเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นแต่ละแห่งนั้นล้วนโชว์เอกลักษณ์ปูนเปลือยตามสไตล์อันโดะได้อย่างโดดเด่น ยกเว้นก็แต่โปรเจกต์พิเศษอย่าง Tono Children’s Book Forest ที่เป็นไอเดียการรีโนเวทอาคารเก่าให้กลับมามีชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้ง

อาคารพาณิชย์เก่าที่ถูกนำมารีโนเวทใหม่ในครั้งนี้เป็นร้านกิโมโนเก่าแก่ประจำย่านที่ชื่อ “มิตายะ (Mitaya)” ดำเนินกิจการมากว่า 120 ปี สำหรับการปรับโฉมครั้งนี้ทางอันโดะเลือกคงลักษณะอาคารแบบดั้งเดิมไว้เพื่อสะท้อนถึงอดีตของพื้นที่ไปในตัว แต่ปรับแบบสถาปัตยกรรมใหม่ให้หวนนึกถึงกลิ่นอายญี่ปุ่นวันวานในรูปแบบอาคารพาณิชย์ยุคโบราณที่เรียกกันว่า “มาชิยะ (町屋 / 町家Machiya)” โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในยุคปัจจุบันแต่สร้างเลียนแบบอดีตได้อย่างมีเสน่ห์

ภาพอาคารก่อนการรีโนเวท
ภาพโมเดลแสดงแนวคิดการออกแบบ
ภาพอาคารหลังการรีโนเวท

หนึ่งในเอกลักษณ์เด่นของมาชิยะ คือฟาซาดระแนงไม้ด้านหน้าอาคารที่เป็นเสมือนม่านบังตา แต่ความถี่ของระแนงก็สามารถทำให้มองลอดผ่านเพื่อเห็นภายในอาคารได้เช่นกัน นอกจากนี้เสาอาคารด้านในยังคงเสาไม้แบบดั้งเดิมไว้เพื่ออนุรักษ์เสน่ห์สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบโบราณให้คงอยู่ด้วยนั่นเอง สำหรับภายในอาคารนั้นมีการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมดซึ่งจุดเด่นที่อันโดะสร้างเอกลักษณ์ไว้สำหรับห้องสมุดในสไตล์เฉพาะตัว ก็คือชั้นวางหนังสือขนาดยักษ์ที่เต็มพื้นที่ผนังห้องไปจนถึงใช้แบ่งส่วนอาคารในบางจุด

จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมอีกจุดที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบเดียวกันของห้องสมุดในซีรีส์ Children’s Book Forest ก็คือการสร้างบันไดภายในตัวอาคารที่จะเป็นราวระแนงเหล็กสีเทาที่ตัดกับสีของไม้ (พื้นบันไดและชั้นหนังสือ) ได้อย่างโดดเด่นสะดุดตา ตลอดจนฟอร์มของบันไดอันโดะก็ออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อให้มีเอกลักษณ์เข้ากับแต่ละห้องสมุดอีกด้วย นอกจากนี้รายละเอียดของการออกแบบตกแต่งภายในนั้นอันโดะยังคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานเป็นหลัก ฉะนั้นชั้นวางหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนบันได ต่างก็ออกแบบโดยคำนึงถึงสเกลในสัดส่วนเหมาะสมสำหรับการใช้งานของเด็กให้มากที่สุดด้วย

นอกจากเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมแล้ว อันโดะยังใส่ใจในการสร้างอัตลักษณ์ของรูปแบบห้องสมุดที่ไม่เหมือนใคร เริ่มตั้งแต่การวางตัวให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้มากกว่าเป็นห้องสมุด (จึงเลี่ยงใช้คำว่า Library) ฉะนั้นการจัดการเรื่องหนังสือจึงไม่ยึดมาตรฐานการจัดหมวดหมู่ตามแบบสากล รวมถึงไม่มีระบบการยืมคืนหนังสือ ไม่มีบรรณารักษ์คอยเข้มงวด ที่สำคัญเด็ก ๆ ไม่ต้องอึดอัดกับธรรมเนียมปฏิบัติรูปแบบเดิมในการใช้บริการห้องสมุด ที่นี่เด็ก ๆ สามารถที่จะพูดคุย ส่งเสียงดัง อ่านหนังสือออกเสียง หรือแม้แต่วิ่งเล่นได้โดยไม่มีใครว่า เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระโดยแท้จริง

ที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือการคัดเลือกและแบ่งหมวดหนังสือในรูปแบบเฉพาะตัว ที่ไม่ได้แบ่งตามลักษณะหรือฐานความรู้ในแบบมาตรฐานปกติ แต่จะเป็นการแบ่งตามลักษณะความสนใจในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ มากกว่า ซึ่งระบบนี้จะเป็นรูปแบบเดียวกันหมดสำหรับห้องสมุดในเครือของ Children’s Book Forest สำหรับที่ Tono Children’s Book Forest มีการแบ่งหมวดเป็น 13 หมวดด้วยกัน ตัวอย่างการแบ่งหมวดต่าง ๆ เช่น หมวดหนังสือสำหรับคนรักสัตว์, หมวดหนังสือสำหรับการค้นหาอนาคต (Thinking about your future), ไปจนถึงหมวดเชิงปรัชญาสำหรับเด็กที่เป็นหนังสือสอนให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความตาย เป็นต้น

การคัดสรรหนังสือมาให้เด็กอ่านนั้น ห้องสมุดแห่งนี้จะเน้นการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่นี่จึงไม่ได้มีเฉพาะแต่หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน หรือหนังสือนิทานเล่มบาง แต่จะเสริมหนังสืออ่านที่อาจจะมีแต่ตัวหนังสือเต็มไปหมด หนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก หรือแม้แต่ตำราสอนทำอาหาร ไปจนถึงหนังสือประวัติศาสตร์ และความรู้เรื่องศิลปะ ในแบบที่ผู้ใหญ่ก็อ่านเอาความรู้ได้เช่นกัน ซึ่งการเสริมหนังสือกลุ่มนี้เข้าไปก็เพื่อรองรับระดับความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ความสนใจที่หลากหลาย รวมถึงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใฝ่รู้ให้เพิ่มขึ้นได้ด้วย

นอกจากความตั้งใจจะสร้างอนาคตให้กับเด็ก ๆ แล้ว อีกจุดประสงค์หนึ่งของการสร้าง Tono Children’s Book Forest ขึ้นนั้นก็เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงอย่างแผ่นดินไหวในภูมิภาคโทโฮคุ (2011 Tōhoku earthquake and tsunami) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2011 ด้วยนั่นเอง ซึ่งพื้นที่ของเมืองโตโนะนี้ก็ถือว่าอยู่ในเขตอันตรายที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักเช่นกัน และการสร้างห้องสมุดสำหรับเด็กแห่งนี้ก็เพื่อช่วยฟื้นฟูชุมชนตลอดจนร่วมสร้างอนาคตใหม่ให้กับเด็ก ๆ ในภูมิภาคนี้ให้ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต

ถึงแม้ว่าในยุคดิจิตอลนี้ผู้คนทั่วโลกจะเข้าถึงข้อมูลมหาศาลอย่างรวดเร็วและง่ายดาย แต่อันโดะก็ยังมีความเชื่อว่าประสบการณ์ในการอ่านหนังสือตลอดจนสัมผัสกระดาษนั้นย่อมแตกต่างจากการเสพสื่อดิจิตอลอย่างแน่นอน และเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าที่เขาต้องการสร้างห้องสมุดขึ้นมาสำหรับเด็ก ๆ นั้นก็เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันกับผู้อื่น ตลอดจนต้องการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ๆ เพราะการอ่านนั้นจะช่วยจุดประกายความฝัน รวมถึงพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เหมือนกับที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า I believe reading helps children to think, Smartphones don’t nurture their minds.” – การอ่านจะช่วยให้เด็กรู้จักพัฒนาทักษะความคิดและบำรุงจิตใจในมิติที่เครื่องมือและสื่อดิจิตอลทั้งหลายก็ทำแบบนี้ไม่ได้

Photo Credit
Tono Children’s Book Forest : https://kodomohonnomori-tono.com/
BACH : http://www.bach-inc.com/works/post_24.html
Japan Architects : https://twitter.com/JapanArchitects/status/1311218661424652288

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน