ธรรมชาติและมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเราต่างพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เราใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาปรุงอาหารรับประทานเพื่อดำรงชีวิต เราใช้พรรณไม้ แสงแดดและลมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือสร้างความรื่นรมย์ เพราะฉะนั้นบ้านพักอาศัยซึ่งเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ แน่นอนว่าทุกคน ทุกบ้านต้องขอรวมความเป็นธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อย
ซึ่งสำหรับ ‘บ้านใกล้วัด’ ธรรมชาติกลายเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านตั้งใจให้เข้ามาผสมผสานจนงานสถาปัตยกรรมกลายเป็นเพียงภาพพื้นหลังเพื่อให้ความสัมพันธ์ของการอยู่อาศัยเกิดขึ้นร่วมไปกับธรรมชาติได้อย่างรื่นรมย์ ปล่อยให้ปรากฏการณ์ที่คาดเดาไม่ได้อย่างแสงแดดไหลท่วมเข้าสู่พื้นที่ ลมที่พัดผ่านปะทะร่างกายเป็นสิ่งที่ผู้อยู่อาศัยสัมผัสได้ก่อนรูปลักษณ์และภาษาของสถาปัตยกรรม โดยได้สถาปนิกอย่างคุณกาจ – กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ จาก Physicalist รับหน้าที่ออกแบบ
บ้านที่เริ่มต้นมาจากความต้องการของเจ้าของ
ที่ชื่อว่าบ้านใกล้วัด เพราะบ้านหลังนี้อยู่ใกล้วัดสมชื่อ และเป็นวัดที่ครอบครัวของเจ้าของบ้านศรัทธาและตัวเจ้าของบ้านเองก็เคยบวชที่วัดนี้ โดยเจ้าของบ้านตั้งใจให้เป็นบ้านสำหรับครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมาอยู่อาศัยและสามารถเดินเท้าไป-กลับวัดนี้ได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งเป็นบ้านพักในประเทศไทยของสองสามี-ภรรยา เจ้าของบ้าน ที่มีหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางไป-กลับประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประจำด้วย
ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็น Designer ทั้งคู่ วันแรกที่เริ่มคุยถึงความต้องการในการออกแบบบ้าน คุณกาจเล่าว่าเจ้าของบ้านใช้วิธีตัดโมเดลมาให้ “ตัวโมเดลเป็นสารตั้งต้นที่บอกเรื่องโปรแกรมที่เขาต้องการ มีห้องนั่งสมาธิเป็น Main Recreation Space มีห้องนั่งเล่น ทานข้าว และห้องนอนคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนมี master bedroom หนึ่งห้องและห้องนอนแขก เผื่อต้อนรับเพื่อน ๆ ที่สามารถแยกส่วนกับพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน”
“นอกจากนี้เจ้าของบ้านได้ทำ Design Brief ที่สวยมาก ๆ มาให้ ในบรีฟนั้นมีคีย์เวิร์ดคำว่า Komorebi ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าแสงที่ถูกกรองผ่านต้นไม้ลงมา อีกคีย์เวิร์ดหนึ่งคือการ Integrated with Nature ซึ่งทางเจ้าของคัดข้อความจากหนังสือคำสอนของท่าน ป.ปยุตโต ที่กล่าวถึงสถานที่ที่ให้ใจได้พักผ่อน เป็นสถานที่ที่มีความเป็น ‘รมณีย์’ เป็นพื้นที่ที่น่าสบาย สร้างความรู้สึกสงบ ทำให้จิตชื่นบาน เป็นหลักแหล่งสำคัญที่จะทำให้เรามีสภาพจิตใจอันดี มีความสุขที่เป็นกุศล สิ่งที่เรารู้สึก คือบรีฟมันมีความ Spiritual มาก ๆ เพราะมันพูดถึงคุณภาพของสเปซ แสง หรือสภาวะภายในสเปซเป็นหลัก โดยที่รูปลักษณ์หรือหน้าตาของสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ตามมา”
บ้านที่เปรียบเสมือนศาลาท่ามกลางธรรมชาติ
เมื่อได้ความต้องการที่ชัดเจนและเฉพาะตัวมาก ๆ เมื่อเริ่มขั้นตอนดีไซน์คุณกาจบอกเราว่า ขั้นตอนนี้เข้มข้นมาก ด้วยความที่เป็นดีไซน์เนอร์ทางเจ้าของเองก็มี Input มากมายที่ช่วยผลักดันงานออกแบบไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อเป็นโจทย์ที่มีความเป็นนามธรรมมาก โปรเจกต์นี้จึงเป็นเหมือนการทดลองร่วมกัน ซึ่งทีมออกแบบเลือกเริ่มต้นการพัฒนาสเปซผ่านงานโมเดลกายภาพเป็นหลัก เพื่อตีความโจทย์ที่เป็นนามธรรมออกมาให้เป็นกายภาพที่ชัดเจนให้มากที่สุด ในขั้นตอนแรกจึงเป็น Sketch Design ในทีมซึ่งออกมาในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเมื่อเอาโมเดลทั้งหมดไปคุยกับทางเจ้าของบ้าน ปรากฏว่าข้อดีของแต่ละแบบถูกจับมารวมกัน ซึ่งมีคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นร่วมกันอยู่ 2 อย่าง
คาแร็กเตอร์แรก คือ การวางผังบ้านที่แต่ละฟังก์ชันถูกแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ด้วยความที่ต้องการให้แต่ละพื้นที่ใช้สอยมีความเป็นส่วนตัวและเปิดรับภูมิทัศน์ แสง และลม ให้ได้มากที่สุด ส่วนคาแร็กเตอร์ที่สอง คือ การที่สเปซทั้งหมดพยายามเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ภายนอกให้ได้มากที่่สุด ทั้งในมิติของการวางผังและการออกแบบช่องเปิดต่าง ๆ ทั้งสองประเด็นนี้จึงนำมาสู่แมสของบ้านที่กระจายฟังก์ชันทำให้แต่ละก้อนสามารถมีพื้นที่ผิวที่หันหน้าเข้าหาธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
การมีอยู่และไม่มีอยู่ของสถาปัตยกรรม
หลังจากนั้น จึงเป็นการพยายามทำลายความเป็นฟอร์มของอาคารออกไปให้เหลือเพียง Interior Space ที่ห่อหุ้มฟังก์ชันต่าง ๆ อยู่อย่างเรียบง่าย บ้านทั้งหลังจึงเปรียบเสมือนศาลาในสวน ซึ่งสเปซจะถูกออกแบบให้โครงสร้าง และผนังต่าง ๆ ถูกรวมไว้ที่ส่วนมุมทั้ง 4 ของบ้าน ส่วนบริเวณตรงกลางระหว่างมุมทั้งสี่เปิดเป็นที่ว่างทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงสู่ธรรมชาติในทุกทิศทุกทิศทาง ซึ่งช่องเปิดทั้งหมดในส่วนนี้สามารถเลื่อนเปิดมาเก็บได้ทั้งหมดที่แนวผนังบริเวณมุม ทำให้สเปซมีความก้ำกึ่งระหว่างพื้นที่ภายนอกหรือภายใน ความเป็นห้องหรือความไม่เป็นห้องอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดคือที่ว่างที่ความเป็นสถาปัตยกรรมหายไป ปล่อยให้ธรรมชาติแทรกซึมเข้ามาอย่างเต็มที่ แม้แต่ในพื้นที่ที่ลึกที่สุด อย่างบริเวณห้องน้ำที่อยู่ที่มุมของพื้นที่ ก็ถูกออกแบบโดยการเจาะพื้นและหลังคาทิ้งไปเพื่อเปิดช่องแสงด้านบนและสวนที่ด้านล่าง เหลือไว้เพียงผนังที่สร้างความเป็นส่วนตัว ทำให้ทุกพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของสวนทั้งหมดอยู่เสมอ
ผังบ้านในรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นที่ใจกลางเป็นคอร์ดยาร์ดที่ออกแบบภูมิทัศน์ให้ไหลเชื่อมสู่ภายใน มีฝั่งหนึ่งของบ้านเป็นห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และครัวยาวตลอดแนวในลักษณะ Open Plan ถัดมาที่ฝั่งซ้ายจากแปลนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับนั่งสมาธิ โดยมีมุมหนึ่งเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นสองและห้องน้ำ ส่วนฝั่งที่เหลือเป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ที่มีห้องน้ำและ Walk-in Closet ซ่อนอยู่ที่อีกมุมหนึ่ง
ส่วนพื้นที่ชั้นสอง ก็มีที่มาจากแนวคิดเดียวกันด้วยการแบ่งปีกอาคารอย่างชัดเจน ด้านซ้ายเป็นส่วนของแขกซึ่งแบ่งเป็นสองห้องนอน ส่วนฝั่งขวาเป็นห้องนอนมาสเตอร์ พื้นที่ทำงาน ห้องน้ำและห้องแต่งตัว บนระนาบพื้นชั้นสองมีช่องเปิดทะลุสู่ชั้นล่างตามตำแหน่งสวน และบนระนาบหลังคามีสกายไลท์ที่นำแสงธรรมชาติลงไปสู่พื้นที่ภายใน ในส่วนวิลล่าในชั้นสองทั้งสองฝั่ง สถาปนิกออกแบบเปลือกอาคารด้วยประตูเมทัลชีทลอนสีขาว ที่สามารถปิดพื้นที่ส่วนนี้ได้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมดเมื่อไม่อยู่บ้าน เพื่อการดูแลรักษาบ้านที่ง่ายขึ้น
Something More : บริเวณช่องเปิดชั้นสอง วงกบถูกออกแบบให้เป็นรูปตัว L เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถลอดเข้ามาภายในถึงแม้จะปิดประตูทั้งหมด ทำให้สเปซภายในเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา
“การออกแบบทั้งหมด ทำให้บ้านไม่มีด้านไหนเป็นด้านหน้า ด้านหลัง ชัดเจน สาระในเชิงฟอร์มของมันเลยถูกลบไปทั้งหมด เหมือนเป็นวิลล่าหลายๆ หลังที่ถูกวางล้อมคอร์ดอยู่ในน้ำหนักเท่า ๆ กัน คือเราใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เหมือนอยู่ท่ามกลาง หรืออยู่ในธรรมชาติจริง ๆ เราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแสงที่มันท่วมเข้ามา หรือลมที่พัดใบไม้ ทั้งหมดนี้มันสร้างความรู้สึกสงบ สบาย พักผ่อนบนความที่สถาปัตยกรรมมันเลือนหายไป” สถาปนิกกล่าว
Location : นครปฐม ประเทศไทย
Area : 400 ตารางเมตร
Architects : Physicalist
Design Team : กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์, บุญชู จันทะวาลย์
Landscape : Archive Landscape and Allplants
Interior Designer : ภาณุภณ บวรวิวุฒิ
Structural Engineer : อิทธิพล คนใจซื่อ
M&E Engineer : สุชาดา นิลจันทร์, วิทยา แปงนุจา
Drawings : ธันดร ประกอบผล
Images : ศุภกร ศรีสกุล
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!