Lorphoonphol Rice Mill Office
ออฟฟิศและส่วนต่อขยายของโรงสีที่มีโจทย์ตั้งต้นจากบริบทและสภาพอากาศ

ใคร ๆ ก็รู้ว่าหนึ่งในผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทยคือ ข้าว ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยเรารับประทานไม่เว้นในแต่ละวัน และยังเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทยในภาคกลาง ที่โรงสีล้อพูนผลซึ่งตั้งอยู่ใจกลางอ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาจึงรายล้อมไปด้วยเกษตรกรมากหน้าหลายตาแวะเวียนนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มาซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยออฟฟิศหลักของโรงสี เดิมเป็นอาคารยุคคุณพ่อที่ต่อเติมหลายครั้ง ฟังก์ชันก็ขาดการเชื่อมต่อและไม่เหมาะสม ทำให้การดำเนินการเกิดความล่าช้าในบางครั้ง

เมื่อถึงเวลาส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นใหม่ เจ้าของในวัยไม่ถึง 40 ปีจึงพร้อมรีดีไซน์ส่วนออฟฟิศหลักขึ้นใหม่และเพิ่มส่วนต่อขยายเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตและรับซื้อวัตถุดิบข้าวเปลือกโดยตรงจากเกษตรกรให้มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น โดยได้ทีมดีไซน์เนอร์จาก PHTAA Living Design รับหน้าที่เปลี่ยนโฉม

Context และ Climate คือจุดเริ่มต้น

คุณวิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล Co-Founder PHTAA Living Design เริ่มเล่าว่าการออกแบบโปรเจกต์โรงสีนี้เริ่มต้นจากบริบท (Context) และสภาพอากาศ (Climate) เป็นจุดตั้งต้น เนื่องจากฟังก์ชันของโรงสีที่ค่อนข้างเฉพาะทางและด้วยบริบทที่ตั้งบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งมีแอ่งน้ำขัง ส่วนปัญหาหลักที่พบจากการเข้าไปสำรวจสถานที่ก็คือ ‘ฝุ่น’ จำนวนมากที่เกิดจากการตากข้าว ตีข้าว และการนำแกลบออกจากเมล็ดข้าวที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนงานในระยะยาว รวมถึงไอ ‘ความชื้น’ ที่ขึ้นมาจากดิน ทำให้โจทย์ คือการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร ให้ช่วยแก้ปัญหาในสองประเด็นหลักนี้ให้ได้มากที่สุด  

(ภาพแสดงแนวคิด Credit : PHTAA)

เมื่อประกอบกับฟังก์ชันทั้งหมดภายในโรงสีจะมีห้องหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญมาก นั่นคือ แลปทดลองข้าว ซึ่งเมื่อชาวนานำข้าวเปลือกมาขาย จะต้องมีการนำไปทดลอง และวิเคราะห์คุณภาพของข้าวเพื่อให้ได้บทสรุปของราคาที่เหมาะสมที่สุด ห้องนั้นจึงต้องมีการเก็บข้าวสารจำนวนหนึ่ง และต้องมีค่าความชื้นที่คงที่ เพื่อให้การทดสอบข้าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ออกแบบจึงเริ่มมองหาวัสดุในการออกแบบห้องดังกล่าวให้ป้องกันฝุ่น และป้องกันการซึมผ่านของน้ำ เพื่อป้องกันความชื้น

แก้ปัญหาด้วยอิฐและบล็อกช่องลม

โจทย์ดังกล่าว นำมาสู่อิฐรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายครอบสันหลังคาที่สั่งทำขึ้นพิเศษ ด้วยขอบที่เอียงลาดลงทำให้เมื่อก่ออิฐเต็มผนัง น้ำจะไหลลงสู่ด้านล่างได้รวดเร็วกว่า ช่วยลดพื้นที่ที่อิฐจะโดนน้ำได้มากขึ้นก่อนที่ความชื้นจะถูกดูดซึมเข้าไปในก้อนอิฐ ต่างกับการก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาทั่วไป

(ภาพแนวคิดการออกแบบอิฐสามเหลี่ยม)

นอกจากนั้น สำหรับการก่ออิฐทั่วไป ในวันที่ปูนข้างในอิฐเริ่มสึกหรอ น้ำบางส่วนจะสามารถย้อนเข้าไปด้านในก้อนอิฐได้ ซึ่งอิฐทรงสามเหลี่ยมจะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยป้องกันการไหลย้อนของน้ำได้มากพอสมควร ส่วนการนำอิฐมาใช้ก่อกำแพงสูง ทีมออกแบบและทีมก่อสร้างยังมีการใช้เสาเหล็กเพื่อช่วยพยุงน้ำหนัก เพิ่มความแข็งแรง โดยซ่อนเสาเอ็นเหล็กไว้ข้างใน ทำให้วัสดุเกิดความต่อเนื่องกันไปเป็นระนาบยาว หลังจากนั้น อิฐ ซึ่งเป็นวัสดุบ้าน ๆ ที่หาง่าย ประหยัดงบประมาณจึงกลายมาเป็นวัสดุหลักที่ทีมออกแบบนำไปขยายใช้กับส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่ ห่อหุ้มตัวสถาปัตยกรรมด้านหน้าและด้านข้างด้วยลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ซึ่งสำหรับด้านหลังที่ติดกับบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีลมธรรมชาติไหลผ่าน ทีมผู้ออกแบบเลือกใช้บล็อกช่องลมซึ่งมีคาแร็กเตอร์คล้ายคลึงกับอิฐ และยังมีคุณสมบัติที่ปล่อยให้ลมไหลผ่าน ทำให้ลมสามารถพัดผ่านน้ำผ่านบล็อกลมที่มีรูทะลุไปยังอิฐด้านหน้า บริเวณพื้นที่ใจกลางที่มีคอร์ดต้นหลิว ทะลุกับช่องแสงทรงกลมซึ่งเป็นพื้นที่โรงอาหารสำหรับคนงานจึงเย็นสบาย สามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้ตลอดทั้งวัน

ส่วนต่อขยายที่ช่วยจัดการฟังก์ชันให้ลงตัว

นอกจากแก้ปัญหาในเรื่องสภาพอากาศและบริบทผ่านการเลือกใช้วัสดุแล้ว ปัญหาสำคัญถัดไป คือฟังก์ชันที่มีอยู่เดิม ซึ่งเกิดจากการต่อเติมที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ทำให้จุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ในการซื้อขายกับเกษตรกรมีปัญหา มีหลายพื้นที่ในการทำงานที่ทับซ้อนกันโดยเฉพาะระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ฝั่งออฟฟิศ ทำให้กระบวนการจัดส่งข้าว คัดเกรดข้าว หรือแม้แต่การชำระเงินให้เกษตรกรล่าช้า

ในการออกแบบและจัดการ ทีมผู้ออกแบบเลือกที่จะเก็บรักษาโครงสร้างอาคาร 4 ชั้นที่มีอยู่เอาไว้แบบเดิม (ตามความต้องการของเจ้าของโรงสี) โดยปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในใหม่ให้กลายเป็นส่วนของสำนักงานเท่านั้น ก่อนจะเพิ่มพื้นที่ต่อขยายออกมาบริเวณด้านข้างสำหรับเป็นพื้นที่นั่งรอ พื้นที่ชำระเงินสำหรับเกษตรกร สถานีคัดแยกข้าว ห้องประชุม และโรงอาหารสำหรับคนงาน เพื่อทำการแยกส่วนพื้นที่ที่ต้องเชื่อมโยงกับเกษตรกร และส่วนของออฟฟิศภายในอย่างชัดเจน

(ภาพแปลนอาคารชั้น 1)
(ภาพแปลนอาคารชั้น 2)

รายละเอียดของฟังก์ชันภายในยังจัดวางให้เชื่อมต่อกันตามกระบวนการของการซื้อขายข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่เริ่มต้นที่เกษตรกรจะขับรถบรรจุข้าวเปลือกเข้ามาจอดยังจุดชั่งน้ำหนัก ก่อนที่จะเดินมานั่งรอบริเวณ Waiting Area โดยข้าวบางส่วนจะถูกนำไปที่แลปทดลองข้าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์คุณภาพ ก่อนจะทำการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร โดยลูปทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบด้วยการวางผังที่ทีมออกแบบดีไซน์ขึ้นใหม่ภายใต้หลังคาของอาคารขนาดใหญ่ ทำให้ฟังก์ชันสามารถอยู่ร่วมเป็นก้อนเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ยังสามารถแบ่งการใช้งานได้อย่างชัดเจนโดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน (ส่วนบริเวณชั้นสองจะเป็นโซนแลปน้ำมันรำข้าว ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนต่อขยายในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการใช้งาน)

(แลปสำหรับตรวจสอบข้าว)

Something More : บริเวณด้านหน้าอาคาร ที่เราเห็นเสาจำนวน 2 ต้น เป็นเพราะทีมดีไซน์เนอร์ต้องการซ่อนรางน้ำแนบกับเสาเพื่อความสวยงามของงานสถาปัตยกรรม โดยออกแบบเสาขนาดเล็กลงจำนวน 2 ต้น ที่มีต้นหนึ่งเป็นท่อน้ำทำหน้าที่ระบายน้ำจากบริเวณหลังคาสู่พื้นด้านล่าง

ในส่วนของอาคารเก่าที่ทางเจ้าของอยากรักษาไว้ เพื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์ใหม่ของส่วนต่อขยาย ทีมออกแบบจึงดีไซน์กล่องฟาซาดอาคารด้วยเหล็ก Steel perforated sheet สีขาวที่ดูโมเดิร์นครอบทับอาคารเก่าทั้งหลัง โดยวัสดุที่เลือกใช้ก็ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องนกจำนวนมากที่เข้ามารบกวนบริเวณอาคาร เหล็กที่มีการกักเก็บความร้อนในตัววัสดุจึงช่วยลดการเกาะของนกได้อีกทางหนึ่ง

และแนวคิดทั้งหมด คือ วิธีการรีดีไซน์และแก้ปัญหาผ่านมุมมองการใช้งานวัสดุท้องถิ่นใกล้ตัวของ PHTAA Living Design อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เพราะบางครั้งการออกแบบที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่หรูหราหรือสมบูรณ์แบบ (จนบางครั้งคนธรรมดาก็เข้าไม่ถึง) แต่เป็นการเลือกใช้อะไรที่เราคุ้นเคยมาสร้างสรรค์วิธีการใช้งานใหม่ ๆ ต่อยอดการออกแบบสถาปัตยกรรมไปได้ไกล เช่นเดียวกับ Lorphoonphol Rice Mill Office แห่งนี้

Location: Phaisali , Nakhon Sawan Province, Thailand
Building area : 4000 m²
Architect & Interior : PHTAA living design
Project Team : Suradet Nutham, Pongsakorn Chusuppaisan
Engineer : Angkarn krasuaythong
Contractor : Double Click Construction Company Limited
Photo Credits: Beer singnoi

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้