เราพบว่า ปกติเวลาเข้าคลินิกทำฟัน มันมักจะเป็นตึกแถวหรือร้านในห้างสรรพสินค้าที่มี bay หน้าสุดของเสาเป็นล๊อบบี้ มีผู้คนมากหน้าหลายวัยนั่งรอคิว มีทีวีเครื่องไม่ใหญ่ฉายรายการทีวีในวันหยุด และมีเสียงเด็กร้องไห้กระจองอแงคลอเบา ๆ นั่นคือ ภาพคลินิกทำฟันที่เราจดจำตั้งแต่เด็กจนโต
แต่สำหรับ Teeth Time BKK ซึ่งเริ่มต้นจากสองพาร์ทเนอร์คุณหมอกลับแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ด้วยความตั้งใจเปิดคลินิกแห่งใหม่ในย่านพรานนก – พุทธมณฑล เพื่อปรับโฉมร้านหมอฟัน ผ่านบรรยากาศสบาย ๆ ไม่ต่างจากมานั่งพักผ่อนที่คาเฟ่ พ้องกับคำว่า Tea Time เพื่อช่วยลดความกังวลของคนไข้หลาย ๆ คนที่กลัวจะเจ็บตัวจากทันตกรรม ซึ่งงานนี้ก็ได้เพื่อนอย่าง กาจ-กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Physicalist มารับหน้าที่ออกแบบ
การออกแบบที่เริ่มต้นจากพื้นที่ตั้ง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คลินิกทันตกรรมที่นี่แตกต่างจากที่อื่นอย่างสิ้นเชิง คือ การเป็นอาคารแบบ Stand-alone ต่างจากคลินิกทั่วไปซึ่งมักเช่าที่ตึกแถวและตกแต่งอินทีเรีย โดยคุณกาจเล่าว่า เมื่ออาคารอยู่ในลักษณะแสตนอโลน โจทย์แรกที่คิดจึงเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้อาคารได้ประโยชน์จากการเป็นสแตนอโลนให้ได้มากที่สุด การออกแบบจึงเริ่มต้นขึ้นจากพื้นที่ตั้งโครงการ ซึ่งมีรถเป็นการสัญจรทางเดียวที่เข้าถึงโครงการได้ อีกทั้งการเข้าถึงโครงการยังค่อนข้างยาก เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ทางแยกและตีนสะพานทำให้คนผ่านไปมายากที่จะมองเห็น อาคารจึงต้องมีความสูงมากพอที่จะดึงดูดคนจากทราฟิกเหล่านั้นก่อนที่รถต่าง ๆ จะขับผ่านเลยไปโดยไม่ทันสังเกต นอกจากนั้นอาคารยังต้องมีลานบริเวณด้านหน้า เพื่อสื่อสารกับรถและคนขับอย่างชัดเจนว่า อาคารมีที่จอดรถและสามารถเลี้ยวรถเข้ามาจอดได้ไม่ยาก
เช่นเดียวกัน เพื่อให้อาคารดึงดูดผู้ที่สัญจรไปมา ภาษาของงานสถาปัตยกรรมจึงต้องสร้างแรงกระตุ้นได้มากพอ ซึ่งสองคุณหมอเองก็มีโจทย์มาว่าอยากให้อาคารมีองค์ประกอบในรูปทรงโค้ง Arch ที่ช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของทรงกล่องอาคาร ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้ทรงโค้งขนาดใหญ่ในลักษณะโค้งเดียวต่อหนึ่งรูปด้านในการออกแบบฟาซาด เพื่อสื่อสารกับรถที่ผ่านไปมาได้ชัดเจนที่สุด “คือถ้าเราไปประดิดประดอยโค้ง มันจะไม่อิมแพค เพราะเวลาคนผ่านมาเร็ว ๆ เขาจะไม่ทันมีเวลาได้สังเกตมากขนาดนั้น เราเลยเลือกทำโค้งเดียวและรีพีทไปเป็นฟาซาดในทุก ๆ ด้าน”
Something More : ฟาซาดออกแบบโดยใช้ตะแกรงเหล็กฉลุลายที่เก็บรายละเอียดของรอยเชื่อมเหล็กต่าง ๆ ให้อยู่ด้านใน ไม่โชว์ออกไปภายนอก และตัวฟาซาดยังแยกชั้นเลเยอร์กับอาคารอย่างชัดเจน เพื่อเป็นเสมือน Skin ของอาคารอีกหนึ่งชั้น ส่วนดีเทลของวัสดุเหล็กฉีกยังเป็นการทดลองใช้วัสดุ เพื่อสร้างแพทเทิร์นของลายที่ไม่ทึบและไม่โปร่งมากจนเกิดไปเมื่อมองจากถนน
นี่คือคลินิกทันตกรรม หรือ คาเฟ่กันแน่?
ถึงแม้จะดูเป็นคลินิกทันตกรรมที่สุดจะเฉพาะทาง แต่โปรแกรมค่อนข้างเรียบง่ายและชัดเจน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 โซน หนึ่ง คือส่วนล๊อบบี้ด้านหน้าสำหรับการนั่งรอของคนไข้ โซนที่สอง คือ ห้องทำฟันที่แบ่งออกเป็นห้องทำฟันผู้ใหญ่ 3 ห้องและของเด็กอีก 1 ห้อง ส่วนโซนสุดท้าย คือ Back of the House หรือเซอร์วิสที่มีทั้ง ห้องเอกซเรย์ ห้องพักคุณหมอ ห้องเก็บของ ห้องน้ำ และห้องทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ
ในการวางผัง คุณกาจออกแบบอาคารในแต่ละโซนในลักษณะ Linear เพื่อให้ทุกฟังก์ชันสามารถมีช่องเปิดได้ทั้งสองฝั่ง ล้อมรอบคอร์ดยาร์ดบริเวณใจกลางที่มีแสงลอดจากหลังคาทรงกลมด้านบน โดยแสงจะเปลี่ยนทิศทางและสีสันไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน
Something More : การวางฟังในลักษณะ Single Corridor ยังเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดในเรื่องของงานระบบและเซอร์วิสต่าง ๆ เนื่องจากด้านหลังจะมีห้องปั๊มลมเล็ก ๆ ที่จ่ายลมไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องทำฟัน อีกทั้งยังมีห้องทำความสะอาดเครื่องมือ ที่ต้องนำเครื่องมือใช้แล้วจากห้องทำฟันทุกห้องมาทำความสะอาดก่อนจะส่งกลับไปใช้งานใหม่ การที่ทุกฟังก์ชันเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายจึงสะดวก ประหยัดและเป็นเรื่องจำเป็น
หากเริ่มต้นจากทางเข้า เราจะเจอกับล๊อบบี้ขนาดใหญ่ที่ถูกปรับหลังคาให้สูงโปร่ง อีกทั้งยังมีช่องเปิดกระจกสูง 2 เมตร ยาวขนาบ 2 ข้างของล๊อบบี้ คล้ายกับมุมพาโนราม่าที่ชวนคนไข้ให้เข้ามานั่งสงบจิตใจผ่านการมองพื้นที่สีเขียวที่มีต้นเสม็ดแดงเป็นไม้ลีลาใจกลางพื้นที่ไปพลาง ๆ ถัดเข้าไปเป็นคอร์ริดอร์ของห้องทำฟัน ซึ่งเมื่ออาคารอยู่ในลักษณะแสตนอโลน ข้อดีหนึ่งคือ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของ bay เสา ทำให้สามารถขยายขนาดห้องทำฟันต่าง ๆ ให้ดูสบาย ๆ ได้ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าปกติพอสมควร และมีคอร์ริดอร์ยาวด้านในที่เชื่อมสู่เคาน์เตอร์ล๊อบบี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านบริการเช่นเดียวกับคลินิกทั่วไป
ภายในห้องทำฟันทั้ง 4 ห้อง ช่องเปิดยังออกแบบให้ไม่เหมือนกัน เพื่อให้แต่ละห้องมีบรรยากาศที่แตกต่าง ซึ่งหากเราสังเกต การออกแบบอินทีเรียยังมีการใช้รูปทรงกลม หรือโค้งครึ่งวงกลมมาออกแบบส่วนต่าง ๆ เป็นคาแร็กเตอร์ของการออกแบบภายใน และมีเส้นระยะ 2 เมตรจากความสูงกระจกเป็นตัวอ้างอิงในการออกแบบเส้นตั้ง เส้นนอนรอบทั้งสเปซ นอกจากนั้น ดีเทลช่องเปิดยังออกแบบให้เป็นงานเหล็กทั้งหมด เพื่อให้ดูบางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพับขอบบนซ่อนไฟหลืบได้อย่างเรียบง่าย
เพื่อส่งเสริมแนวคิดทั้งหมดให้ชัดเจน ลงตัวมากขึ้น เรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเฟย ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ Design Director จาก InFO ผู้ทำหน้าที่ออกแบบโลโก้ และ งาน Environmental Graphic ซึ่งคุยเฟยเล่าว่า “เราดูว่าสถาปัตยกรรมมีอะไรดี อะไรเด่น แล้วค่อยคิดต่อจากตรงนั้น อย่างที่นี่บรรยากาศสบาย ๆ มาทำฟันและเหมือนได้มานั่งเล่นที่คาเฟ่ด้วย ตอนคิดสโลแกนเราพยายามมองคำที่ดูเฟรนลี่ สบาย ๆ อย่าง Smile กับ Crafting ที่มันดูมีความเป็นมืออาชีพอยู่ เหมือนค่อย ๆ มาใช้เวลา ประณีตสร้างรอยยิ้มของคุณประมาณนี้ เลยออกมาเป็นสโลแกน Crafting Your Smile”
แต่ในการออกแบบโลโก้ คุณหมออยากให้แตกต่างโดยไม่อยากให้โลโก้มีฟันติดอยู่เหมือนคลินิกอื่น ๆ คุณเฟยจึงมองหาอะไรที่สื่อถึงตัวแบรนด์ได้อย่างการนำแปรงสีฟันที่ทุกคนเข้าถึงได้มาดัดแปลงให้เป็นเข็มนาฬิกาเพื่อล้อกับคำว่า Teeth Time หรือแม้กระทั่งหน้าห้องหมอฟันยังมีกิมมิคเล็ก ๆ ที่เอานาฬิกามาทำเป็นสัญลักษณ์บอกเลขห้อง หรือห้องน้ำที่เอาเข็มนาฬิกามาทำเป็นไอคอนต่าง ๆ อย่าง ผู้หญิงและผู้ชาย
“ผมว่าเวลาเราจะเปลี่ยนที่ทำฟันมันวัดใจเหมือนกันนะ มันมักจะมีคำถามว่า หมอจะทำเจ็บไหมนะ จะดีไหม หรือทำที่เดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่พอมู้ดของสถาปัตยกรรมมันเปลี่ยน ก็มีคนเข้ามาใช้บริการค่อนข้างเยอะ และก็ทางคุณหมอเล่าให้ฟังว่ามีคุณหมอสมัครงานเข้ามาเยอะเหมือนกัน ซึ่งในอีกมุมหนึ่งนอกจากการออกแบบเพื่อลูกค้าแล้ว มันก็คือสถานที่ทำงานของคุณหมอด้วย ถ้าบรรยากาศมันดี เขาก็น่าจะอยากมาทำงานที่นี่ทุกวัน และมันก็น่าจะส่งผลให้ผู้คนในอาคารนี้อารมณ์ดีกันไปหมดเลย” คุณกาจทิ้งท้าย
ในช่วงหลังเราเห็นการออกแบบคลินิกทำฟันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดีไซน์มากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ช่วยยกระดับในทุกมิติ ตั้งแต่การเป็นพื้นที่ทำงานของเหล่าคุณหมอ การเป็นพื้นที่บรรเทาความเจ็บปวดของคนไข้ หรือแม้แต่ยกระดับความหลากหลายในการออกแบบของสถาปนิก จึงถือเป็นเรื่องยินดีและน่าตื่นเต้นทุกครั้งที่เราได้เห็นสถานที่เฉพาะทางใหม่ ๆ ที่ใช้งานดีไซน์เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนความรู้สึกหรือพฤติกรรมมนุษย์ หากใครกำลังมีแพลนจะทำฟัน ลองแวะเวียนมาใช้บริการได้ที่ Teeth Time BKK แล้วจะรู้ว่าเรื่องหนักใจของการทำฟันสามารถบรรเทาไปได้ด้วยการออกแบบพื้นที่จริง ๆ
Location : ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
Architectural Design : Physicalist
Design Team : กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์, ศศิกานต์ สุประดิษฐ ณ อยุธยา, มิรา อินทรกุล
Structural Engineer : อิทธิพล คนใจซื่อ
MEP Engineer : สุชาดา นิลจันทร์ วิทยา แปงนุจา
Brand Identity & Environmental Graphic Design :InFO
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!