Found Wedding Venue
สถาปัตยกรรมเพื่องานแต่งงานที่ตีความผ่านวัสดุแบบ Authentic Fake

สามปีก่อน AUBE สถานที่จัดแต่งงานแห่งหนึ่งในย่านราชพฤกษ์ที่ออกแบบโดย PHTAA Living Design เผยโฉมหน้าให้สาธารณะได้เห็น ซึ่งเรียกกลาย ๆ ได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรม Wedding Venue รูปแบบใหม่ที่ผู้คนต่างให้ความสนใจตั้งแต่เจ้าบ่าว เจ้าสาวที่วางแผนจะแต่งงาน นักจัดอีเวนท์รูปแบบต่าง ๆ หรือกระทั่งคนทั่วไปที่ผ่านไปมา ด้วยเหตุนั้น PHTAA จึงได้รับโอกาสในการออกแบบ Wedding Venue อีกครั้งในชื่อโครงการ Found บนถนนนวลจันทร์ ในย่านบึงกุ่ม ที่ยังคงความเรียบในโทนสีขาวเพื่อขับเน้นองค์ประกอบในงานแต่งงาน ผ่านการนำเรื่องราวของโลคอลแมททีเรียลมาตีความใหม่ในแบบของ  PHTAA ได้อย่างน่าสนใจเช่นเคย

Local Material สร้างภาษาใหม่ในงานสถาปัตยกรรม

เพื่อให้ Wedding Venue โครงการใหม่มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนในตัวเอง และแตกต่างจากอีกโครงการหนึ่งมากที่สุด ดีไซน์เนอร์จึงต้องมองหาภาษาใหม่ของงานสถาปัตยกรรม โดยเริ่มต้นจากสำรวจโลคอลแมททีเรียลจนไปเจอกับร้านขายวัสดุและเฟอร์นิเจอร์นนทศิลป์ ซึ่งเป็นร้านบัวปูนปั้นเก่าแก่ที่เคยเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคหนึ่ง

“ในอดีต บัวปูนปั้นเคยถูกใช้งานเยอะมาก เหมือนที่เราคุ้นกันตามบ้านในละคร แต่พอวันหนึ่งเทรนโมเดิร์นดีไซน์เริ่มมา ของพวกนี้ก็เลยค้างสต็อกเยอะมาก ซึ่งจริง ๆ ของเหล่านี้เรียกได้ว่ามันคือการ Fake อย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราดูที่ยุโรปต้นกำเนิดขององค์ประกอบเหล่านี้ มันจะมีขนาดใหญ่มาก แต่พอจะดีไซน์บ้านในสไตล์คลาสสิก เราเลยต้องทอนสเกลลง ทำให้มันเป็นสเกลที่ผิดแปลกไปจากของดั้งเดิม ซึ่งเราว่า Fake นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะวิธีการแสดงบัวที่เขาใช้ แค่เห็นเขาตั้งไว้เป็นแถว วางกองเรียงกัน หรือการเอาหัวเสามาเรียง มันก็สวยแล้ว เหมือนงาน Installation Art เลย ปกติเสามันจะเป็นเรียบ ๆ แต่พอนำหัวเสามาเรียงซ้อนกันเยอะ ๆ เพื่อดิสเพลย์ขายของ มันกลับเป็นวิธีการที่น่าสนใจที่เราจะนำมาใช้ต่อยอด เพราะบางครั้งเราก็เอาความรู้จากความเป็นโลคอล หรือช่างในพื้นที่เข้ามาผสมเพื่อทำให้งานมันดูมิติมากขึ้น”  วิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHTAA Living Design เล่า

หลังจากได้แนวคิดตั้งต้น จึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีไซน์เนอร์นิยามว่า ‘Authentic Fake’ หรือก็คือการนำเรื่องราวของวัสดุดังกล่าวมาตีความและเรียงร้อยด้วยวิธีการใหม่ เพื่อคืนชีวิตให้ของที่เคยหมดคุณค่ากลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจในแบบของตัวเองอีกครั้ง

Authentic Fake คืนชีวิตใหม่ให้ของเก่า

หลังจากเข้าไปที่ร้านนนทศิลป์ ทีมดีไซน์เนอร์ก็ได้คัดเลือกหัวเสารูปแบบต่าง ๆ จากที่ร้าน ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 19-20 แบบ ก่อนจะหยิบมาใช้เป็นคาแรกเตอร์หลักของพื้นที่โดยนำมาจัดเรียงใหม่ในวีธีการต่าง ๆ ทั้งเรียงสลับในแต่ละรูปแบบ กลายเป็นเสาทั้งหมด 5 ประเภท เรียงตัวกันเป็นแถวที่เรียกว่า ‘garden of columns’ ซึ่งเปรียบเสมือนคอร์ริดอร์กระจายคนออกมาถ่ายรูป หรือเดินชมพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง และจึงค่อย ๆ นำภาษาเหล่านี้กระจายไปใช้เป็น Design Elements ในส่วนอื่น ๆ ของฟังก์ชันภายในโครงการ

(Photo Credit : Beer Singnoi)
(Photo Credit : Beer Singnoi)

ซึ่งในการวางแปลน พื้นที่ส่วนต่าง ๆ จะเริ่มไล่ระดับอ้างอิงตามพิธีการแต่งงาน โดยบริเวณด้านหน้าจะเป็นดรอปออฟที่ทำหน้าที่ต้อนรับและเชื้อเชิญผู้คน ทำให้คาแร็กเตอร์ต้องมีความชัดเจน ทีมดีไซน์เนอร์จึงเลือกนำบัวจากร้านนนทศิลป์ที่เดิมเคยวางทิ้งไว้ในแนวนอนเป็นจำนวนมาก มาปรับวิธีด้วยการใช้ในแนวตั้ง (คล้ายเสา) ก่อนจะเรียงเข้าหากันเป็นแมสก้อนใหญ่ในทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และคว้านออกเพื่อสร้างรูปทรงให้ผู้มาเยือนสามารถเข้ามาใช้งานสเปซนี้ได้ ทอดยาวเพื่อนำคนเข้าสู่แกลลอรี่สำหรับเจ้าบ่าว เจ้าสาวเป็นลำดับต่อไป

Something More :
ในการก่อสร้าง วัสดุทำขึ้นจากโฟม เพื่อให้น้ำหนักเบาและง่ายต่อการปาดหรือขึ้นรูปมากที่สุด โดยจะมีโครงสร้างเหล็กหนวดกุ้งเป็นตัวยึดก่อนที่จะนำแผ่นโฟมเหล่านี้แปะยึดเข่าหากันด้วยกาว และเหลาขึ้นรูปฟอร์มด้วยมือช่างทีละชิ้น ๆ

แนวคิดการออกแบบ

Planning ที่คิดตามลำดับและกระบวนการของงานแต่งงาน

ในลำดับของงานแต่งงาน หลัก ๆ จะมี 3 จุดที่สำคัญเมื่อเรารับบทเป็นแขกในงาน หนึ่ง คือแกลลอรี่สำหรับจัดแสดงภาพ Pre Wedding ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว สอง คือ Reception หรือจุดรับของที่ระลึก สาม คือ Welcome Foyer หรือจุดที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมายืนต้อนรับเพื่อถ่ายรูปก่อนเข้าสู่โถงจัดงานหลักภายในอาคาร  ซึ่งสถาปนิกเล่าว่า “เวลาสามจุดหลักนี้อยู่ในโรงแรม การสัญจรบางครั้งจะเกิดการติดขัด เพราะทางสัญจรในโรงแรมเองก็ไม่ได้ทำไว้เพื่อจัดงานแต่งโดยเฉพาะ ทำให้มีทั้งคนที่เดินไปมา หรือการต่อแถวที่ดูไม่เหมาะสมกับพื้นที่”

Found Plan

ดีไซน์เนอร์แก้ปัญหาด้วยการออกแบบ 3 โนดหลักนี้ในลักษณะวงกลม (Circular Node) อย่างชัดเจนตามลำดับและเชื่อมเข้าหากันด้วยคอร์ริดอร์ยาว เพื่อลดความแออัดที่ผู้คนมักจะมายืนออกันในจุดเดียว ทำให้แขกสามารถทยอยมายืนในบริเวณทางเดินยาวเหล่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สำรวจสเปซส่วนต่าง ๆ มากขึ้นด้วย และมองเห็นสเปซได้กว้างซึ่งข้าง ๆ garden of columns ยังมีบันไดขึ้นสู่พื้นที่ด้านบนซึ่งเป็นที่เจ้าสาวจะโยนดอกไม้ลองมายัง Inner Court ที่อยู่ด้านล่าง

ใน 3 โนดหลักนี้ก็ยังมีการนำแนวคิดของวัสดุมาสร้างคาแร็กเตอร์เช่นเดียวกัน ซึ่งจะใช้ในวิธีที่แตกต่างกันไปเพื่อสร้างจุดเด่นให้แต่ละพื้นที่น่าจดจำในแบบของตัวเอง โนดที่ 1 เกิดขึ้นจากการนำหัวเสาในแบบต่าง ๆ มาเรียงสลับและต่อเข้าด้วยกัน โนดที่ 2 คือการนำบัวมาใช้ในแนวตั้ง ส่วนโนดที่ 3 เป็นการนำบัวมาใช้ในแนวนอน กลายเป็นองค์ประกอบที่กระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

คอร์ริดอร์หนึ่งยังเชื่อมเข้าสู่ห้องน้ำ ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจวางผังไว้ภายนอกอาคาร เพื่อลดความแออัดที่จะเกิดขึ้นภายในโถงอาคารหลัก ซึ่งคุณวิทย์เล่าว่าสิ่งสำคัญในการออกแบบโถงอาคารใหญ่ คือ พื้นที่ BOH หรือส่วนเซอร์วิสที่ต้องเผื่อเอาไว้เกือบ 30% ของสัดส่วนอาคารทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับเก็บของ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งสำหรับอาคารนี้จะอยู่ที่ปีกด้านซ้ายทั้งหมดหลังเวที ในขณะที่ปีกด้านขวาเป็นห้องรับรองสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ใกล้กันนั้นยังมีประตูที่เชื่อมเข้าสู่ห้องสำหรับพระสวดมนต์ในงานเช้า โดยทั้งหมดจะมีการออกแบบม่านกั้นเพื่อแบ่งสัดส่วนชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการเช่าพื้นที่ โดยสามารถแบ่งการใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศในทุกพื้นที่นั่นเอง

แน่นอนว่า สำหรับงานแต่งงานที่ใคร ๆ ก็คาดหวังให้มีครั้งเดียวในชีวิต ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นจึงถูกคาดหวังให้สมบูรณ์แบบตามไปด้วย สถานที่ที่ตอบโจทย์กับวันสำคัญนี้ก็ส่งผลไม่ต่างกัน เมื่อมองไปรอบ ๆ สถาปัตยกรรมขาวโพลนแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นเพียงแบคกราวด์ เพื่อรอเวลาให้ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยความปิติยินดีกลายเป็นสิ่งที่ถูกขับเน้นให้โดดเด่นและน่าจดจำที่สุด

“มันจะมีความเป็น Monumental Architecture อยู่ประมาณหนึ่ง เพื่อสร้างความสวยงาม ความน่าจดจำและเชื้อเชิญผู้คน ที่สำคัญคือเขาต้องมีการถ่ายรูป ซึ่งเรามองว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อรองรับการถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องแย่ แต่นั่นก็ไม่ใช่เนื้อหาหลัก เพราะจุดประสงค์ของการจัดงานแต่งงาน มันคือ การบันทึกความทรงจำครั้งเดียวในชีวิต ในฐานะดีไซน์เนอร์ การออกแบบพื้นที่เพื่อตอบรับความรู้สึกที่ว่า มันเลยเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรทำให้เขา” คุณวิทย์กล่าว

(Photo Credit : Beer Singnoi)
(Photo Credit : Beer Singnoi)

Architecture & Interior : PHTAA living design
Architect team : Sukdisan Thongtan , Suradet Nutham
Interior design team : Lattapon Nopparatborinot, Natthawut Prathumset
Engineering system : Kor-It Design and Construction
Consultant supervisor : Pongsakron Phattranurakyotin (pep.studio)
Lighting designer :  Studioluxsit
Landscape designer : Theerapong Sanguansripisut
Contractor : Khong thavorn
Photo credit : Jinnawat Borihankijanan

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้