Lamlukka House
มุมมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับธรรมชาติ และช่องว่างที่สร้างความใกล้ชิด

“ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในทุกมุมมอง” คือคำที่เรานิยามหลังจากได้เห็นเซ็ตภาพถ่ายของบ้าน Lamlukka House บ้านในอำเภอลำลูกกาที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ที่รายล้อมอยู่ แน่นอนว่า 100% ของภาพถ่ายทั้งหมดนี้จะมีต้นไม้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเฟรมเสมอ และเป็นสิ่งที่การันตีถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบ้านและธรรมชาติที่ คุณกอล์ฟ-ปกรณ์ อยู่ดี สถาปนิกแห่ง INLY Studio ตั้งใจถ่ายทอด DNA ความเป็นเชียงใหม่ตามที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ผ่านแนวคิดที่ทำให้บ้านหลังนี้ออกมาเรียบง่ายไปพร้อมๆ กับความอบอุ่น แม้ว่าจะตั้งอยู่ในลำลูกกาก็ตาม

บ้านหลังเล็กในบ้านหลังใหญ่

จากโจทย์ความต้องการบ้านที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ และหลากหลายในช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณน้า คุณยาย และลูกในวัยมหาลัย ซึ่งนอกจากการออกแบบพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันแล้ว แต่ละคนยังต้องการพื้นที่ของตัวเองที่มีความเป็นส่วนตัวและแยกออกจากคนอื่นอย่างชัดเจน แนวคิดการจัดวางผังแบบ ’บ้านหลังเล็กในบ้านหลังใหญ่’ จึงเกิดขึ้นภายในบ้าน 2 ชั้น ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 700 ตารางเมตร โดยพื้นที่ของแต่ละคนจะมีฟังก์ชันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน walk in closet และห้องน้ำ ที่สำคัญสามารถมองเห็นสวนภายในบ้านได้ในมุมมองที่แตกต่างกันไป เพื่อการพักผ่อนอย่างเป็นส่วนตัวในแบบที่แต่ละคนต้องการ

‘เสมือนมีบ้านเล็กๆ ทั้งหมด 6 หลัง อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน’ สถาปนิกแบ่งพื้นที่ภายในบ้านออกเป็น 6 โซนด้วยกัน โซนแรกเป็นลานจอดรถที่ถูกออกแบบด้วยโครงสร้างไร้เสา เพื่อให้การจอดรถเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ต่อมาโซนที่สองเป็นพื้นที่ community ที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว ถัดไปด้านขวาคือโซนที่สาม เป็นห้องนอนส่วนตัวของคุณยาย ส่วนโซนที่เหลือเป็นห้องส่วนตัวของพ่อแม่ น้า และลูก ซึ่งจัดวางอยู่ในชั้นสองทั้งหมด

แทนที่ช่องว่าง สร้างความใกล้ชิดธรรมชาติ

ด้วยความที่สมาชิกแต่ละคนต้องการความเป็นส่วนตัวสูง สถาปนิกใช้วิธีแยกแต่ละโซนออกจากกัน และแทนที่ช่องว่างด้วยคอร์ดยาดและชานบ้านขนาดใหญ่ ที่ขนาบไปกับโซนนั่งเล่นเชื่อมต่อถึงพื้นที่ส่วนตัวของคุณยาย ซึ่งนอกจากจะทำให้สัดส่วนการใช้งานเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว ยังทำให้ลมและแสงธรรมชาติสามารถสอดแทรกผ่านช่องว่างนี้ได้ ทำให้บ้านมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น มีความโปร่งโล่ง และอากาศถ่ายเทได้เป็นอย่างดี

ไดอะแกรมแสดง zoning ของบ้าน cr: INLY Studio

มุมมองความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่เกิดขึ้นจากการสอดแทรกธรรมชาติเข้าไป คือการที่เราสามารถมองเห็นสวนได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของบ้านก็ตาม เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ ที่สัมผัสได้ถึงความร่มรื่นและเกิดร่มเงาตลอดเวลา ทำให้การอยู่อาศัยภายในบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย โดยที่แต่ละคนยังได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่

ส่วนมุมมองอื่นๆ ในพื้นที่ Community ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันในบางจุด  เช่น จากลานจอดรถไปห้องรับประทานอาหาร หรือจากชานบ้านไปห้องครัว ซึ่งทำให้คนในครอบครัวสามารถมองเห็นกิจกรรมของกันและกันได้ ไม่เพียงช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ แต่ยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านให้เป็นหนึ่งเดียวกันอีกด้วย

เปิดนอกโปร่งใน

เพื่อเปิดรับลมและแสงแดดจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน สถาปนิกพยายามออกแบบช่องเปิดให้มีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่พื้นจรดฝ้า พร้อมใช้แนวคิด Inside out ที่หลอมรวมขอบเขตระหว่างพื้นที่ว่างภายในกับภายนอกเข้าด้วยกัน โดยห้องนั่งเล่นและชานบ้าน ถูกออกแบบให้เป็น Double Space และใช้หน้าต่างกระจกบานเฟี้ยม ที่สามารถเลือกปิดหรือเปิด เพื่อเชื่อมพื้นที่ให้ดูโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น และสามารถสัมผัสกับบรรยากาศสวนภายนอกได้อย่างเต็มที่

ใส่ความเป็นเชียงใหม่ในลำลูกกา

เนื่องจากสมาชิกภายในบ้านมีหลากหลายช่วงวัย การออกแบบบ้านให้ดูโมเดิร์น มีเส้นสายนิ่ง เรียบ สบายตา ในแบบที่ทุกคนชอบจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ และด้วยความที่เจ้าของบ้านเคยอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่มาก่อน สถาปนิกจึงถ่ายทอดความชื่นชอบนี้ออกมาผ่านบ้านที่มีกลิ่นอายของความเป็นเชียงใหม่ ด้วยการเลือกวัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติ อย่างไม้ หิน เหล็ก ประกอบเข้ากับสีเขียวของต้นไม้ เพื่อให้บ้านกลายเป็นบ้านพักตากอากาศสไตล์ทรอปิคอลที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน

องค์ประกอบเสาขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในลายเส้นของ Inly Studio ที่ถูกเลือกมาถ่ายทอดความเป็นเชียงใหม่ให้กับบ้านหลังนี้ ในขณะที่ตัวเสาเองก็เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักชายคา ที่ยื่นออกมากว่า 4 เมตรเช่นกัน พื้นผิวโดยรอบถูกกรุด้วยไม้เทียม เพื่อลดความแข็งกระด้างให้กับบ้าน และเชื้อเชิญให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิตภายนอกบ้านในวันที่อากาศดี รวมไปถึงระแนงไม้ด้านหลังที่ ช่วยกรองแสงแดดในทุกช่วงเวลา และช่วยพรางสายตาปกปิดมุมมองจากภายนอกได้เป็นอย่างดี

ปกปิดเพื่อเปิดรับ

“ถ้าเราเปิดอย่างเดียว ไม่มีส่วนที่ปิดบ้างเลย คนภายในบ้านอาจจะรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะทำตัวตามสบายได้เท่าที่ควร เนื่องจากยังสามารถมองเห็นได้จากภายนอก เราต้องปิด แต่เราจะมีวิธีปิดอย่างไรไม่ให้คนให้บ้านรู้สึกอึดอัด และสามารถมองเห็นสวนที่สวยงามภายในบ้านได้อย่างเต็มที่” สถาปนิกกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบกำแพงหินทึบขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นมุมมองห้องนั่งเล่นจากสายตาคนภายนอก โดยวางเว้นระยะจากชานบ้านออกไปเล็กน้อย เพื่อสร้างจุดบังสายตาใหม่ให้คนในบ้านกล้าที่จะใช้ชีวิตภายในบ้านหลังนี้ ซึ่งนอกจากจะไม่รู้สึกอึดอัดแล้ว ยังทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมภายในบ้านหลังนี้ดูสมบูรณ์แบบขึ้นด้วย

เมื่อธรรมชาติกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของบ้าน คงไม่ผิดนักหากเราจะให้นิยามบ้าน Lamlukka House หลังนี้ว่า ปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในทุกมุมมอง เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่นของต้นไม้ ลม รวมถึงแสงแดด ที่สถาปนิกหลอมรวมเอาไว้อย่างอบอุ่น แถมยังสร้างความเป็นส่วนตัว ไปพร้อม ๆ กับความเรียบง่าย และมีกลิ่นอายเชียงใหม่ จนเกือบลืมไปเลยว่าบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในลำลูกกา

Architect: INLY STUDIO
Lead Architect: Pakorn yoodee & Chayanin Anantasete
Structural engineer: Pilawan piriyapokhai
Photographer: PanoramicStudio

Writer
Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ