ใครว่าร้านขายนาฬิกาแบรนด์ จะต้องเน้นความหรูหราด้วยโทนสีทอง หรือประโคมไฟส่องสว่างเข้าไปในร้านจนสว่างไสวดึงดูดผู้ที่ผ่านไปมาเสมอไป เพราะ Art of Time Gallery ที่ออกแบบโดยสตูดิโอน้องใหม่อย่าง Curious.Scapes studio กับต่างไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการพยายามลบภาพจำของร้านนาฬิกาที่ว่า ผ่านการตีความพื้นที่ภายในขึ้นใหม่ สร้างฟังก์ชันและรูปลักษณ์ของสเปซที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งาน การซื้อขาย การรับแขก รวมถึงเป็นแกลลอรี่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะไปพร้อม ๆ กัน
ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของร้านขายนาฬิกาแห่งนี้ คือ ฟังก์ชันที่ไม่ได้เน้นรองรับลูกค้า walk-in เหมือนร้านในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยส่วนมากลูกค้าที่มาที่นี่ จะเป็นลูกค้าประจำที่ติดตามการซื้อขายผ่านเพจออนไลน์อยู่แล้ว
“ตอนนี้แบรนด์นาฬิกาที่เรานำเข้ามาขายจะมี AZIMUTH และ WMT ซึ่งรูปร่างหน้าตาจะค่อนข้าง Exotic นิดหนึ่ง ทำให้ลูกค้าส่วนมาก ถ้าดูแค่ช่องทางออนไลน์เขาอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าใส่จริงแล้วจะเป็นยังไง หลายคนถามเข้ามาเยอะมากว่าขึ้นข้อจริง จะใหญ่หรือเล็กไปไหม ประกอบกับการที่เรามีดีลกับลูกค้าต่างชาติ ที่แวะเวียนมาเรื่อย ๆ จากฮ่องกงบ้าง จีนบ้าง เราเลยต้องการพื้นที่หน้าร้าน ซึ่งไม่ใช่วางนาฬิกาทั่วไป แต่เป็นบรรยากาศของโชว์รูมรับรองแขก เป็นพื้นที่รองรับ Community หนึ่งที่เฉพาะทางมากกว่า” คุณโอ๊ต-พชร คุ้มพงษ์ เจ้าของร้านเริ่มต้นเล่า
“อีกอย่างหนึ่งคือ เราเป็นคนชอบเก็บงานศิลปะ และอยากหาที่เก็บมานานแล้ว เพราะบ้านเราเป็นตึกแถว บางทีผลงานมีขนาดใหญ่เกินไป เราก็ไม่มีที่เก็บ เลยต้องฝากรูปไว้กับศิลปินเต็มไปหมดเลย แทบไม่เคยได้ดูของจริง พอจะสร้างร้านแห่งนี้ เลยอยากให้เป็นที่กึ่งโชว์ของและโชว์ลูกค้าเราด้วย”
ทะลายข้อจำกัดจากโจทย์และพื้นที่เดิม
เมื่อได้รับโจทย์ว่าร้านจะรับบทเป็นโชว์รูมรับรองที่สามารถจัดอีเวนท์ได้บางครา รวมถึงเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ ทีมออกแบบจาก Curious.Scapes studio จึงเข้าไปดูพื้นที่จริง ซึ่งเป็นอาคารติดถนนใหญ่ที่เดิมเคยเป็นร้านขายโคมไฟ และกลายเป็นร้านกาแฟ ก่อนจะส่งต่อมาเป็นร้านขายนาฬิกา Art of Time Gallery ในปัจจุบัน
ความยากอยู่ตรงที่ ผังของร้านเดิมมีลักษณะเปิดที่ทางเข้าก่อนจะค่อย ๆ แคบลงในรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยม ทำให้การวางผังทั้งหมดต้องบริหารจัดการพื้นที่โดยใช้ฟังก์ชันเป็นตัวตั้ง อีกทั้งยังมีพื้นที่ชั้นลอยที่ต่อเติมไว้เล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อฟังก์ชันที่เจ้าของต้องการ
ผู้ออกแบบเริ่มต้นจากการวางผังบริเวณทางเข้า มุมที่กว้างที่สุดของแปลนให้ลูกค้าสามารถมองเห็นโปรดักต์เป็นอันดับแรกผ่านตู้โชว์นาฬิกาที่สามารถปรับเปลี่ยน ขยับจุดที่ตั้งได้ตามความต้องการในการดิสเพลย์ของเจ้าของ เพื่อสร้างความรู้สึกน่าสนใจ เพราะถึงแม้จะไม่เน้นลูกค้าที่วอร์คอินเข้ามาชม แต่การได้รับรู้หรือมองเห็นสินค้าที่ตนเองสนใจเป็นอันดับแรกน่าจะดึงดูดให้เกิดความรู้สึกน่าค้นหาได้มากกว่า เนื่องจากบางครั้งลูกค้าที่เข้ามายังร้านก็ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้าไปสวมใส่เองเท่านั้น แต่เป็นพ่อค้าที่มาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ส่วนด้านหลังของเคาน์เตอร์โชว์จะเป็นเซอร์วิส BOH ที่มีห้องช่างซ่อมนาฬิกา และมี Pantry เล็ก ๆ สำหรับอำนวยความสะดวกให้คนในออฟฟิศ
ถัดเข้ามาจากบริเวณด้านหน้า จะเป็นโซนรับรองที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้มีพื้นที่รองรับแขกได้หลายกลุ่มพร้อมกัน เนื่องจากบางครั้งการเจรจาต้องมีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การจัดพื้นที่ให้มีมุมระหว่างกันอย่างชัดเจนจึงสร้างความรู้สึกสบายใจให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง เซ็ตของเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกจัดไว้จึงมีตั้งแต่ 2 3 4 คน ไปจนถึงชุดโซฟาที่รองรับคนกลุ่มใหญ่ โดยเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดในร้านเป็นแบบลอยตัวเพื่อง่ายต่อการขนย้าย ปรับเปลี่ยน สำหรับบางครั้งที่อาจมีการจัดอีเวนท์เกิดขึ้นด้วย
ที่มุมปลายสุดของร้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายสามเหลี่ยม ผู้ออกแบบวางผังให้เป็นห้องน้ำเพื่อประหยัดพื้นที่ในส่วนอื่น ๆ ส่วนชั้นบนยังมีการต่อเติมชั้นลอยเพื่อให้ได้ขนาดของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะรองรับการคุยงานแบบเป็นส่วนตัวมากขึ้น การคุยเจรจาเป็นกลุ่มใหญ่ 5-6 คน หรือเป็นออฟฟิศโซนทำงานของเจ้าของรวมถึงหุ้นส่วน
ทะลายข้อจำกัดของงานวัสดุ
เพื่อประหยัดงบประมาณ วัสดุหลัก ๆ ที่ใช้จึงเป็นการคงของเดิมที่มีไว้อย่างเหล็ก กระจก เมทัลชีท เพียงแต่ทาสีบางส่วนให้เกิดความกลมกลืนเป็นโทนเดียวกันทั้งร้าน ส่วนภาพรวมของร้านทีมออกแบบเลือกที่จะกรุผนังทั้งหมดเข้าไปใหม่ด้วยการใช้ไม้สนอเมริกาเผาไฟในโทนสีดำ ซึ่งทำให้นาฬิกากลายเป็นวัตถุที่เด่นขึ้นมาจากสเปซ โดยสองผู้ออกแบบเล่าว่า
“ด้วยฟังก์ชันของนาฬิกา เราเคยมองว่ามันเป็นแค่เครื่องบอกเวลา แต่พอเราได้ทำงานร่วมไปกับเจ้าของ เราถึงรู้ว่านาฬิกาเรือนหนึ่ง มันมีกลไกมากมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นเพื่อให้มันทำงานได้ เราเลยตั้งใจจะพูดเรื่องนี้ผ่านวัสดุที่เลือกมาใช้ จะเป็นไปได้ไหมถ้าร้านนาฬิกาไม่ต้องแสดงตัวถึงความหรูหรา ขอบทอง หรือของที่เป็นมันเงาเข้ามา แต่เราจะใช้วัสดุที่มีความน่าสนใจผ่านความเรียบง่าย ที่ซ่อนกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน ซึ่งเรามองว่าไม้เผาไฟมันตอบโจทย์ตรงที่เป็นวัสดุที่มีคุณค่าในตัวเอง อีกทั้งยังมีกรรมวิธีในแบบคราฟท์ เผายังไง เผาระดับไฟเท่าไรเพื่อให้ได้เกรนไหม้ขึ้นมาพอดี ซึ่งมันก็ง่ายและตอบโจทย์ในเรื่องระยะเวลาก่อสร้างที่ต้องเสร็จภายใน 3-4 เดือนด้วย”
Something More : รายละเอียดปลีกย่อยของการติดตั้งไม้เผาไฟ ยังเป็นการทดลองติดตั้งโดยใช้วิธีแบบบ้านไทย โดยติดตั้งกับโครงเคร่าก่อน ทำให้ได้เอฟเฟกต์ที่มีช่องว่างเล็ก ๆ เพื่อให้แสงลอดเข้าไปได้ เกิดความเป็นธรรมชาติและได้มิติของแสงในอีกรูปแบบหนึ่ง
หากไม่บอก เราก็คงไม่รู้ว่าที่แห่งนี้คือ โชว์รูมขายนาฬิกา ด้วยภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากร้านที่เราคุ้นชิน ซึ่ง Curious.Scapes studio ก็แสดงเห็นแล้วว่า พื้นที่ขายที่มีขนาดจำกัดจะบริหารพื้นที่ได้อย่างไรให้คุ้มค่า และตอบโจทย์ความต้องการของทั้งเจ้าของ รวมถึงผสานงานดีไซน์เข้าไปในปริมาณที่พอดีมากที่สุด
Location: Ratchadaphisek 29 Alley, Bangkok
Building Area: 120 sq.m.
Owner : พชร คุ้มพงษ์
Architect & Interior : Curious.Scapes studio
Design Team : ณัฐภัทร บุษราคัม, พนัชกร ตันติวาณิชย์พงศ์
Photo credit : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!