The Cellar House
เปลี่ยนโกดังร้างให้กลายเป็นที่พักในเรือนเพาะชำ

โรงแรมงบน้อยน่าพักที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกแห่งนี้ไม่ได้โด่งดังขึ้นมาเพราะสร้างสถาปัตยกรรมได้สวยงามอลังการ หรือตกแต่งภายในได้เก๋มีสไตล์จนต้องหันมอง แต่ที่พักแห่งนี้แฝงไว้ด้วยเสน่ห์เล็ก ๆ ที่น่าหลงใหลมากมายโดยเฉพาะหัวใจสำคัญของสร้างสรรค์โปรเจกต์นี้อยู่ที่การนำเอาหลักการอัพไซเคิลมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม (Upcycling in Architecture) เพื่อฟื้นคืนชีพอาคารร้างให้กลับมามีประโยชน์ใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในแวดวงสถาปัตยกรรมที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงตอบโจทย์วิถียั่งยืนตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลกใบนี้ไปได้พร้อมกัน

The Cellar House เป็นโรงแรมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเมืองเมริด้า (Merida) ในประเทศแม็กซิโก ที่พักแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกท้องถิ่นอย่าง Misael Marin โดยเขาได้นำเอาโกดังเก่ารกร้างมาปัดฝุ่นใหม่ให้กลายเป็นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่าตามการพัฒนาที่ดินในย่านนี้ที่กำลังบูมขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยงบประมาณที่จำกัดทางสถาปนิกจึงเลือกรีโนเวทอาคารดั้งเดิมแทนการรื้อทิ้งเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่

(ภาพโกดังเก่า)

เดิมทีอาคารแห่งนี้เป็นโกดังขนาดเล็กชั้นเดียวที่มีโถงเพดานสูงโปร่ง และก่อสร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ ภายในพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น สถาปนิกเลือกที่จะคงโครงสร้างเดิมไว้เกือบทั้งหมดโดยทุบผนังปูนทิ้งบางส่วนเพื่อแทรกแถบผนังกระจกลงไปแทนที่ แผงกระจกนั้นช่วยให้แสงธรรมชาติส่องสว่างสู่ภายในอาคารเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยให้ภายในอาคารดูโปร่งกว้างสบาย และทำให้ฟาซาดของตัวอาคารมีเสน่ห์น่าสนใจไปพร้อมกัน นอกจากนี้บริเวณผนังกระจกด้านล่างยังมีฟังก์ชันเป็นประตูและหน้าต่างในคราวเดียวกัน โดยสามารถเปิดให้ลมไหวเวียนเข้าสู่ภายในอาคารได้สะดวกเพื่อทำให้ภายในเย็นสบายยิ่งขึ้น และช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารได้อีกด้วย

ภายในอาคารในส่วนของโครงสร้างดั้งเดิมตลอดจนโครงหลังคาเหล็กยังคงรูปแบบเดิมไว้ทุกประการ รวมถึงการมุงหลังคาด้วยเมทัลชีทแผ่นทึบสลับกับแนวแผ่นโปร่งแสงเพื่อเพิ่มช่องให้แสงธรรมชาติส่องลงมายังภายในอาคารได้สะดวก ช่วยทำให้อาคารสว่างและลดการใช้หลอดไฟในตอนกลางวันได้ด้วย นอกจากเหตุผลในเรื่องงบประมาณแล้วสถาปนิกเลือกคงโครงสร้างดั้งเดิมไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เดิมทีเคยเป็นโกดังมาก่อนด้วยเช่นกัน

การจัดสรรพื้นที่ภายในนั้นเป็นอีกลักษณะเด่นที่ทำให้ที่พักแห่งนี้มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร เดิมทีโกดังเป็นอาคารเปล่าโล่งกว้างซึ่งสถาปนิกยังคงรูปแบบเดิมไว้ ลดการก่อกำแพงเพื่อแบ่งสัดส่วนห้องต่าง ๆ ที่จะทำให้อาคารนี้ดูอึดอัดและคับแคบลงทันที จะมีการสร้างกำแพงขึ้นใหม่เฉพาะบริเวณส่วนของห้องนอนที่อยู่ติดกับผนังอาคารแต่ละด้านเท่านั้น และเว้นพื้นที่ตรงกลางที่เป็นโถงโล่งเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวไว้ และแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ในแต่ละส่วนแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องครัว เป็นต้น การออกแบบเช่นนี้ก็เพื่อให้อากาศไหลเวียนถ่ายเทได้สะดวก และลดความอึดอัดไปในตัว

อีกไฮไลท์เด่น ก็คือการออกแบบภูมิสถาปัตย์แทรกลงไปทั้งในส่วนภายนอกและภายในอาคาร ด้านในมีการเสริมต้นไม้ใบหญ้าเข้าไปในกลิ่นอายเหมือนโรงเพาะเลี้ยงพืชพรรณผสมผสานการจัดสวนให้ใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ ด้านในมีปลูกทั้งต้นไม้ทรงสูง ต้นไม้ในกระถาง ตลอดจนต้นไม้ทรงเตี้ยเพื่อเพิ่มความเขียวขจี มีบ่อน้ำและเกาะสี่เหลี่ยมที่ปลูกต้นไม้ตรงกลาง ในส่วนของต้นไม้นั้นนอกจากจะเป็นการตกแต่งภายในในรูปแบบสวนกึ่งเรือนเพาะชำที่ช่วยทำให้บรรยากาศดูร่มรื่นสบายตาน่าพักผ่อนยิ่งขึ้นแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในไม่ให้ร้อนจนเกินไปด้วย ตลอดจนหมุนเวียนอากาศให้สูดความสดชื่นได้เต็มปอด และบางจุดยังกลายเป็นกำแพงธรรมชาติแทนการก่อกำแพงคอนกรีตไปในตัว

ต้นไม้ที่ตกแต่งให้ดูมีเสน่ห์ตามธรรมชาติผสานกับพื้นปูนขัดและผนังปูนดิบเพื่อให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมสไตล์ Modern Industrial Architecture และทำให้นึกถึงโกดังเก่าแห่งนี้ไปพร้อมกัน นอกจากนี้อีกหัวใจสำคัญของการอัพไซเคิลที่เกิดขึ้นในโปรเจกต์นี้ก็คือการประยุกต์นำเอาเศษวัสดุเก่าเหลือทิ้งจากการรีโนเวทครั้งนี้กลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ใหม่ อย่างประตูโรงงานเดิมที่เป็นประตูไม้ก็นำเอามาใช้เป็นประตูห้องนอนภายในแทน เศษท่อเหล็กถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นของใช้ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เป็นต้น รวมถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้ามาใช้ในโรงแรมแห่งนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าที่นำมาปัดฝุ่นใช้ประโยชน์ใหม่จนทำให้ที่พักแห่งนี้มีกลิ่นอายวิเทจที่น่าหลงใหลไปพร้อมกัน

Information & Photo Credit : arch daily 

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน