บ้านเหนือน้ำ คือ ร้านอาหารไทยฉบับโบราณที่ตั้งอยู่ริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ในจังหวัดปทุมธานีที่มีกลุ่มลูกค้าครอบครัวเล็ก กลาง ใหญ่ ตลอดจนกลุ่มเพื่อน หรือนักสังสรรค์แวะเวียนมาลิ้มลองเมนูอาหารที่เริ่มต้นจากเจ้าของร้านเจนเนอเรชันแม่อายุ 60 ปี เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้วยความที่ฐานลูกค้ามีหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าของรุ่นลูกจึงเริ่มเห็นโอกาสในการปรับปรุงร้านครั้งใหม่ให้ตอบโจทย์การขายที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมยกเครื่องสร้างคาแร็กเตอร์ให้ร้านอาหารบ้านเหนือน้ำกลายเป็นที่จดจำในกลุ่มคนที่หลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย
สำรวจพื้นที่เดิม ก่อนจะเพิ่มเติมของใหม่
คุณต้น-ณัฐพล เตโชพิชญ์ สถาปนิกจาก Looklen Architects ผู้รับหน้าที่ปรับปรุงร้านอาหารใหม่ในครั้งนี้ เริ่มต้นเล่าว่า เดิมพื้นที่ดินของโครงการมีส่วนด้านหน้าร้านอาหารเป็นพื้นที่สีเขียวมากถึงประมาณ 50 % ส่วนด้านหลังเป็นอาคารไม้สองชั้นติดริมน้ำที่มีการต่อเติมเพิงอาคารสูง 1 ชั้นยาวขวางตลอดแนวแม่น้ำ ซึ่งหลังจากได้เห็นพื้นที่จริง ทีมสถาปนิกจึงตัดสินใจคงอาคารไม้ของเก่าไว้ เนื่องจากเป็นภาพจำของลูกค้าขาประจำ ที่มักจะมาสังสรรค์ จัดเลี้ยงที่นี่กันเป็นประจำ ซึ่งนอกจากอาคารเดิมที่อยากเก็บไว้ ต้นไม้น้อยใหญ่ในพื้นที่ โป๊ะทางขึ้นเรือ และระเบียงริมน้ำเดิมก็จะถูกเก็บไว้เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น ผู้ออกแบบจึงเริ่มขั้นตอนของการรีเสิช โดยทำเสมือนเป็นหนึ่งในลูกค้า ไปรับประทานอาหารตั้งแต่มื้อเช้า กลางวัน และเย็น จึงได้เห็นว่า ส่วนมากลูกค้าทุกคนจะจองพื้นที่ริมน้ำแถวหน้าที่อยู่เอาท์ดอร์ก่อนเสมอ หากใครไม่ได้จองล่วงหน้าหรือจองช้าจะได้ที่นั่งในโซนอาคาร หรือชั้นสองของอาคาร โจทย์แรกที่ชัดเจนของเราจึงเป็นการออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งริมน้ำให้ได้มากที่สุด
และด้วยความที่ร้านอาหารเดิมมีเพิงชั้นเดียวขวางริมน้ำ ทำให้แขกที่จะเดินเข้ามาไม่สามารถไปยังริมน้ำได้เลยถ้าไม่ผ่านร้านอาหารก่อน คุณต้นจึงอยากปรับเปลี่ยนบรรยากาศดังกล่าว ด้วยการสร้าง Transition Space เป็นที่ว่างระหว่างอาคารใหม่และอาคารเก่าให้ลูกค้าสามารถเดินทะลุไปยังริมน้ำได้เลย และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับรับรองแขก ชะลอแขกในการรอคิว หรือแม้แต่เป็นพื้นที่กิจกรรม อีเวนท์ต่าง ๆ อย่างการจัดวางต้นคริสมาสต์ในเทศกาล หรือวงดนตรีสด ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนอารมณ์ระหว่างอาคารเก่าและใหม่ได้อีกด้วย
Space in Between ที่เชื่อมต่อและสร้างเรื่องราว
“หลังจากที่เราตั้งใจเก็บของเดิมทั้งหมด เราก็เลือกกี่จะวางอาคารใหม่ ซึ่งเป็นอาคารสองชั้นขนาดใหญ่ล้อไปกับอาคารเดิม โดยวางผังให้ชิดติดที่ดินด้านหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่ระหว่างกันให้ใหญ่ที่สุด หลังจากนั้นเรายกระดับพื้นที่เป็นชั้นลอยเพื่อสร้างโซนที่นั่งไล่ระดับริมแม่น้ำ ให้แต่ละโต๊ะไม่บังวิวซึ่งกันและกัน และก็ยังได้เห็นวิวมุมสูงไปที่แม่น้ำด้วย แล้วเราก็ครีเอทระนาบผนังโค้งทรงครึ่งวงกลม เพื่อสร้างพื้นที่ว่างระหว่างสองอาคาร เปิดรับสเปซตรงกลางและยังเปิดมุมมอง ทั้งเผยองศารับคนจากหน้าร้านเข้าสู่ภายใน และยังเปิดมุมมองไปที่แม่น้ำ เพื่อให้คนที่นั่งอยู่ตามพื้นที่ชั้นลอยได้เห็นมุมที่กว้างขึ้นไปตามองศาการโค้ง สร้างการโอบล้อมให้รู้สึกเสมือนฮอลที่อยู่ในบริเวณเอาท์ดอร์”
เพิ่มมุมมอง เพื่อให้แต่ละสเปซมีจุดเด่นในตัวเอง
ในการจัดวางฟังก์ชัน ร้านอาหารใหม่จะไม่มีส่วนครัว เนื่องจากใช้ห้องครัวเดิมที่อยู่ในอาคารเก่า บริเวณชั้น 1 ในอาคารใหม่คุณต้นดีไซน์ให้เป็นโซนที่ันั่ง VIP ที่สามารถกั้นห้องแยกได้ โดยจะถูกออกแบบให้มีบรรยากาศเหมือนร้านอาหารกึ่งเอาท์ดอร์ ที่ได้กลิ่นอายเหมือนนั่งกินอาหารอยู่ใต้ถุนบ้าน และยังประกอบไปด้วยส่วนของ Reception ต้อนรับลูกค้าและพื้นที่งานระบบ
ส่วนบริเวณชั้น 2 ฟังก์ชันที่นั่งถูกจัดให้ยืดหยุ่นในแบบ Open Plan ทั้งหมด เผื่อในอนาคตร้านต้องการเพิ่มพื้นจัดเลี้ยง หรือรับรองลูกค้ากลุ่มใหญ่มาก ๆ ก็สามารถทำได้สะดวก บริเวณชั้นสองยังดีไซน์ให้มีที่นั่งพิเศษอีก 2 โซน ด้วยการออกแบบกล่องอาคารกระจกยื่นเข้ามาในคอร์ดยาร์ดครึ่งวงกลม เสมือนลอยอยู่เหนือน้ำสอดคล้องกับชื่อร้านอาหาร ซึ่งถ้าเรานั่งบริเวณนี้ก็จะได้เห็นทั้งวิวแม่น้ำกว้าง วิวบ่อน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ และยังเห็นเรือนยอดไม้สีเขียวไปพร้อมกัน เป็นส่วนสำคัญของการออกแบบร้านอาหาร เพื่อเพิ่มมุมมอง เพิ่มวิว ช่วยลดการแย่งมุมที่นั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ใช่แค่อาคารที่ถูกใส่ใจในการออกแบบ แต่พื้นที่แลนด์สเคปของที่นี่ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ที่บริเวณชั้น 1 รอบอาคารด้านหน้าเป็นลาน Hardscape ที่ชวนผู้คนมานั่งเล่นเอาท์ดอร์ จะนั่งรอคิว ถ่ายรูป หรือเดินเล่นชมบรรยากาศก็ร่มรื่น สบายตาไม่แพ้วิวริมน้ำ ตามสวนในโซนต่าง ๆ ด้านหน้าแทรกไปด้วย Water Feature ไล่สเต็ปที่สร้างเงารีเฟล็กล้อไปกับพื้นที่ริมน้ำ และยังสะท้อนความร่มรื่นของสีเขียวให้มากขึ้น แม้แต่ในส่วนที่นั่งริมแม่น้ำที่ลดหลั่นเป็นสเต็ป ก็ยังคงแทรกแลนด์สเคปเป็นสเต็ปตามไปด้วยเพื่อสร้างความร่มรื่นและเป็นส่วนตัวให้การนั่งรับประทานอาหาร
สัจจวัสดุที่สะท้อนวัตถุดิบอาหารธรรมชาติในท้องถิ่น
“สำหรับการออกแบบหน้าตาของอาคาร เราอยากให้มันอบอุ่นเหมือนบ้าน สอดคล้องไปกับชื่อบ้านเหนือน้ำ อาคารใหม่เราเลยออกแบบหลังคาในรูปทรงจั่ว และเป็นอาคารกลิ่นอายทรอปิคอลที่มีชายคายื่นยาว ส่วนวัสดุที่เราเลือกมาใช้ เน้นไปที่สัจจวัสดุทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องไปกับความตั้งใจของเชฟ และเจ้าของที่ตั้งใจรังสรรค์อาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นบ้านเรา”
หากเราสังเกต ภาพรวมอาคารจะมีวัสดุหลักประมาณ 4-5 วัสดุ นั่นคืออิฐมอญเทา ไม้ไผ่รวก ไม้สัก ทรายล้าง หินขัดที่ไม่มีการทำสีวัสดุเพิ่มเติม เริ่มจากบริเวณผนังโค้งซึ่งสถาปนิกตั้งใจให้เกิดความรู้สึกปิดล้อม ในขณะที่ยังเปิดให้มีลม หรือมีเสียงริมแม่น้ำ เสียงดนตรีลอดเข้ามาได้ จนมาลงตัวที่ผนังกึ่งทึบกึ่งโปร่งที่เกิดจากการวางอิฐโมดูลเดียวกันในลักษณะสามมิติ สลับแนวอิฐหันแนวตั้งเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนกลาง ไล่ไปตามความโค้ง ผนังอิฐยังต่อเนื่องเข้าไปสู่ภายในร้านบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งอิฐจะถูกทรานฟอร์มแพทเทิร์นให้กลายเป็น Solid เพื่อแบ่งโซนภายในร้าน
ในส่วนของผนังแนวยาวสูงสองชั้นที่ชิดติดริมฝั่งหนึ่งของร้าน ใช้อิฐชนิดเดียวกันมาติดตั้งในลักษณะซ้อนเกล็ด เพื่อให้ได้บรรยากาศบ้านแบบไทย ๆ และยังมีความเป็นคลื่น สะท้อนถึงบริบทและโลเคชัน อีกทั้งเกิดเป็นมิติของแสงและเงาที่สร้างเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน เวลาคนมานั่งรับประทานอาหาร มีการถ่ายรูปก็สามารถสร้างให้เกิดการจดจำได้ง่ายขึ้นด้วย
งานโครงสร้างชั้น 1 และชั้น 2 ผู้ออกแบบเลือกใช้ไม้สักโชว์โครงสร้างจันทัน และซ่อนงานระบบต่าง ๆ ไว้ และเป็นอาคารลองสแปนที่ยื่นยาวโดยไม่มีเสา ต่อเนื่องไปสู่พื้นที่เอาท์ดอร์เสมือนนั่งอยู่ในศาลาริมน้ำ และมีการเจาะช่องแสงใต้โครงจันทัน เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องถึงโดยไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในตอนกลางวัน
Something More : โครงสร้างหลักของอาคารเป็นเหล็กทั้งหมด เพื่อให้น้ำหนักเบาและก่อสร้างรวดเร็ว (ภายใน 8 เดือน) บริเวณโป๊ะทั้งหมดข้างล่างจะเป็นเสาลอยที่มีทั้งเสาไม้เก่า คอนกรีตเก่า และเป็นน้ำทั้งหมด คุณต้นเก็บสภาพเดิมไว้ เนื่องจากไม่อยากทำผนังกันดินเพื่อเปลี่ยนทิศทางของน้ำ จึงใช้วิธีเจาะรูปแพลทฟอร์มคอนกรีตโป๊ะเดิมให้เป็นรูกลมหลาย ๆ รู และเจาะเสาเข็มลงไปแทนที่ หลังจากนั้นจึงสร้างพื้นขึ้นมาอีกหนึ่งชั้น และค่อยประกอบโครงสร้างทั้งหมดขึ้นจากแพลทฟอร์มดังกล่าว
จากการดีไซน์ทั้งหมดไล่ตั้งแต่แนวคิด รูปลักษณ์ วัสดุ หรืองานโครงสร้าง จึงส่งเสริมทำให้ร้านอาหารนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘บ้านเหนือน้ำ’ ได้ อย่างแท้จริง
Location: Pathum Thani, Thailand
Gross Built Area : 1,100 m2
Owner: Nhuernham Co., Ltd.
Architecture & Interior : Looklen Architects
Design Team: Sira Temjai, Sasiwimol Suyanon
Structural Engineer: Ittipon Konjaisue
System Information Engineer: MEE Consultants
Landscape: Ritt Landscape
Lighting : Lundi Light Design
Contractor : Double Click Construction & Idea Civil Engineering
Photo Credits: Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!