Slabtitude
เมื่อสถาปัตยกรรมเป็นตัวทดลองขีดจำกัดของงานวัสดุ

ภาพจำสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในลุคคอนกรีต หรือ Loft Design เป็นที่จดจำของ VaSLab Architecture นำโดย คุณแนท- วสุ วิรัชศิลป์ และหนึ่งในนั้น คือผลงานชิ้นใหม่อย่าง Slabtitude คาเฟ่ขนาดกระทัดรัดที่ถูกรีโนเวทจากห้องเก็บของเก่าในสตูดิโอออกแบบ ให้อัดแน่นไปด้วยเทคนิคและดีเทลงานคราฟท์ที่ทดลองกับขีดจำกัดของงานวัสดุได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งคุณแนทถึงกับบอกเองว่า ถึงแม้จะเป็นโปรเจกต์ที่มีขนาดจำกัด แต่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตัว VaSLab ที่ดูเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจลูกค้า และเข้าใจ Users มากขึ้น

สร้างความสัมพันธ์กับบริบท

เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นห้องเก็บของเก่าของออฟฟิศมาก่อน ฝั่งที่เชื่อมต่อกับออฟฟิศ VaSLab จึงแทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยสถาปนิกเลือกเก็บบานกระทุ้งและประตูบานเลื่อนเดิมเอาไว้ ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามซึ่งติดกับถนนหลักภายในซอย ถูกเปลี่ยนจากหน้าต่างให้กลายเป็นกระจกใสทั้งหมด เพื่อเป็นเสมือน Window Display ที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายใน ทำให้คนภายในพื้นที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับร้านกาแฟนี้ได้โดยที่ไม่เขอะเขินจนเกินไป

บริเวณฟาซาดด้านหน้าก็มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องไปกับลุคคอนกรีตโมเดิร์นของออฟฟิศวาสแลปที่อยู่ด้านหลัง และเดิม จากที่เคยมีรั้วกั้นระหว่างห้องเก็บของและถนน ผู้ออกแบบเลือกที่จะทำลายขอบเขตของรั้วออก เหลือไว้เพียงโครงสร้างเสาคอนกรีตที่มีคานลอยอยู่ และทำทางเข้าใหม่ด้วยการออกแบบกรอบเฟรมประตูสีดำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องดูแกรนด์มาก เพื่อให้ผู้มาเยือนผ่อนคลาย ไม่ได้ถูกข่มด้วยสเปซหรือดีไซน์จนไม่เป็นตัวเอง 

“เราอยากให้มันยังเบลนกันอยู่ คนที่มาคาเฟ่ Slabtitude เขาก็รู้ว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ VaSLab คือ Identity มันอาจจะคล้ายพี่น้องกัน ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจทำร้านให้ใหญ่โต แต่เราทำในเชิงบริหารสเปซที่มันเล็ก ๆ Intimate (คุ้นเคย) ดูแล้วอบอุ่น” คุณแนทเล่า

เพื่อให้ฟาซาดใหม่ของร้านกาแฟมีคาแร็กเตอร์ในลุคคอนกรีต แต่ต้องติดตั้งง่ายและมีน้ำหนักเบาเหมาะกับการทำฟาซาด สถาปนิกเลือกใช้ผนังตกแต่ง เอสซีจี – โมดิน่า/โมดิน่า ไลท์ (SCG MODEENA/MODEENA LITE) วัสดุตกแต่งจากเดการ์ บาย เอสซีจี (DECAAR by SCG) ผู้ให้บริการด้านการตกแต่งภายนอกครบวงจรทั้งงานโซลูชั่นฟาซาด (Façade Solution) และงานโซลูชั่นตกแต่งภูมิทัศน์ภายนอก (Outdoor Living Solution) ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งงานภายนอกภายใน และยังเลือกใช้พื้นผิวเปลือยในลักษณะนี้ได้เลย หรือสามารถทาสีเพื่อให้ Finishing ในแบบที่ต้องการ อีกทั้งยังติดตั้งได้ง่าย ประหยัดพื้นที่ก่อสร้างหน้างานและยังก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว

Iconic, Craft และ Intimate พื้นที่ผ่อนคลายที่เต็มไปด้วยรายละเอียด

สำหรับพื้นที่ภายใน โจทย์แรกที่คุณแนทและทีมตั้งใจ คือร้านกาแฟแห่งใหม่นี้จะต้องมีความโดดเด่นเป็น ‘Iconic’ ที่ทั้งจดจำได้ง่ายและทำให้ภาพรวม Community ภายในซอยปุณณวิถีดีขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนถึงจุดเด่นหนึ่งในแบบ VaSLab Architecture ซึ่งมักจะทำงานออกแบบที่เล่นกับ Slab แผ่น ระนาบ และในหลาย ๆ งานทีมสถาปนิกก็ผ่านการใช้ Stone Slab หรือ Concrete Slab มาแล้ว งานนี้จึงถึงเวลาของ Wood Slab ที่ให้กลิ่นอายความ Craft โดยทีมสถาปนิกนำแผ่นไม้ขนาดใหญ่ออกแบบให้เชื่อมต่อกับเคาน์เตอร์เป็นชิ้นเดียวในลักษณะลอยตัวยื่นยาวแบบ Cantilever เพื่อให้เคาน์เตอร์บาร์ไม้นี้เป็นหัวใจสำคัญภายในคาเฟ่ 

ถึงแม้จะโดดเด่นเป็นไอคอนิก แต่ทีมออกแบบก็ไม่ลืมที่จะสร้าง Intimate (ความคุ้นเคย) ให้เกิดขึ้นภายในสเปซ เพื่อผู้ใช้งานเกิดความรีแล็กซ์ ผ่านความคราฟท์ที่เกิดจากการสอดแทรกดีเทลการออกแบบที่มีรายละเอียดมากมายลงไป

“พอเราทำงานมาสักพักหนึ่ง เข้าใจ Users มากขึ้น เราจะเริ่มเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้เขารู้สึกรีแล็กซ์ เช่น ไฟขนาดนี้กำลังดีนะ สัมผัสไม้แบบนี้ดีนะ มันเริ่มมี Intimacy (ความใกล้ชิด) ของการจับต้องวัสดุ ไม่ใช่แค่ความงามฉาบฉวย ในดีเทลหลาย ๆ อย่าง เราเลยมีการทำ Experiment Material เพราะบางครั้งวัสดุมันมีขนาด Dimension มากกว่าที่ตัวมันเอง Represent พูดง่าย ๆ คือเวลาเราดูวัสดุบางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องนำมาใช้แบบตรงตัว อาจจะเอามาบิด มาตัด สร้างภาษาใหม่ ๆ ด้วยการเรียงตัวแบบใหม่ ๆ ทดลองในแง่อื่น ซึ่งผลที่ได้ คือเราใช้วัสดุเดียวกัน ทำทั้งฝ้าและผนัง แต่บิด เปลี่ยนการใช้งานในแบบต่าง ๆ แล้วนำมาต่อกัน”

“เราโชคดีที่ได้ตัวอย่างวัสดุของจริงมา เราก็ได้ลองพลิกดู จับมาลองทดลองในหลาย ๆ รูปแบบ ก่อนจะนำไปขึ้นเป็นโมเดล ลองหลาย ๆ ออฟชั่นและนำมาเลือกกันว่าอันไหน คือตัวเลือกที่ลงตัวกับพื้นที่ เหมาะสมกับสิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด” คุณอ๊อฟ-ยรรยง อาภากวินกุล Senior Interior Designer เล่าเสริม

Experiment Material การทดลองขีดจำกัดของวัสดุ

มุมหนึ่งของร้านออกแบบที่ตั้งใจให้เป็นผนังคราฟท์ จึงถูกออกแบบด้วยการเลือกวัสดุตกแต่ง เอสซีจี – ซี-ชาแนล/ซี-ชาแนล พลัส (SCG C-CHANNEL/C-CHANNEL PLUS) วัสดุตกแต่งจากแบรนด์เดการ์ บาย เอสซีจี (DECAAR by SCG) มาตัดด้าน Section และเรียงกันตามแนว Horizontal และ Vertical โดยสร้างเป็น Panel ขึ้นมาก่อนจะนำเข้าไปติดที่ผนังจริง เพื่อป้องกันการเหลื่อมของลายที่ทำให้ไม่สวยงาม ซึ่งแม้แต่ขั้นตอนการติดตั้ง ก็ยังต้องทดลองร่วมไปกับทีมช่างด้วยเช่นกัน

ส่วนบริเวณฝ้าเพดาน ดีไซน์เนอร์นำแมททีเรียลตัวเดียวกัน มากลับด้านออกแบบผสมผสานกับชั้นวางไม้บริเวณด้านหลังและให้เส้นสายไหลต่อเนื่องขึ้นไปบรรจบที่เพดาน ซึ่งคุณแนทและคุณอ๊อฟเล่าว่า “นี่คืออีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ฝ้าเพดานสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้มาเยือนได้ด้วยการใช้เส้นสายที่ดูน่าสนใจ และเนื่องจากส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่มีรายละเอียดมากพอแล้ว ผนังบริเวณด้านหลังเคาน์เตอร์จึงต้องมีความเรียบมากขึ้น แต่ยังคงความเรียบง่ายที่ดูมีดีเทล สถาปนิกจึงเลือกใช้โปรไฟล์ของไฟเบอร์ซีเมนต์ ผนังตกแต่ง เอสซีจี – โมดิน่า/โมดิน่า ไลท์ (SCG MODEENA/MODEENA LITE) สองโปรไฟล์ที่ไม่เหมือนกันมาต่อกัน อีกทั้งลวดลายหนึ่งยังเชื่อมโยงทางสายตาไปสู่กรอบฟาซาดบริเวณด้านหน้าได้อย่างลงตัว

“ผมว่าวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ค่อนข้างมีเสน่ห์ในตัว ตอนที่ยังไม่ได้ทำโค้ดสี มันมีลุคที่เป็นคอนกรีต และไปได้กับ Loft Design หรือ Industrial Design ที่เราชอบ ข้อดีอีกอันหนึ่ง คือ ผนังมีความเบา แล้วก็ติดตั้งง่าย เพราะถ้าเราทำงานเปียก ก่ออิฐ มันจะจบยาก อันนี้ผมว่ามันมีพื้นที่ที่เราสามารถ Explore Experiment หรือทำ Mock Up ได้ง่าย ก่อสร้างได้เร็วกว่าด้วย” คุณแนทเล่า

“ผมชอบในพื้นผิวไฟเบอร์ซีเมนต์ เพราะเราสามารถหยิบมาใช้โชว์ผิวได้เลย หรือแม้กระทั่งจะทำผิวหน้าตัววัสดุอีกทีก็สามารถทำได้ และยังสามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ ได้ง่าย อย่างการตัด” คุณอ๊อฟเสริม

นอกจากนั้นในส่วนของทีมช่าง ทางแบรนด์ยังมีผู้เชี่ยวชาญทางการติดตั้งโปรดักต์ ที่มาช่วยประสานงาน ให้คำปรึกษา ณ พื้นที่จริง ทำให้ผลลัพธ์ปลายทางของทุกฝ่ายเป็นไปในแบบที่ลงตัวและตรงความต้องการมากที่สุด 

Materials Tips

บริเวณผนังภายใน ดีไซน์เนอร์นำไฟเบอร์ซีเมนต์มาตัดด้าน Section ของวัสดุที่ระยะประมาณ 2 นิ้ว พลิกด้านหน้า และด้านข้างเพื่อให้ออกมาเป็นโมดูลในสเกลที่ต้องการมากที่สุด รวมถึงออกแบบให้มีการจัดวางทั้งในแนวแกนตั้งและแกนนอน เพื่อทำให้ตัววัสดุเล่น Shading กับแสงและมิติต่าง ๆ นอกจากนั้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของฝุ่น บริเวณแถวด้านล่าง ดีไซน์เนอร์ยังเลือกใช้วัสดุที่มีโปรไฟล์แตกต่างกันมาสร้างลวดลายของงานผนัง ทำให้สามารถทำความสะอาดพื้นที่ด้านล่างได้ง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเราลิมิตวัสดุมาก ๆ ด้วยความที่ว่า งานของเราเป็นงานที่ค่อนข้างยูนีค ชัดเจน คนจะจำได้ คือ เราไม่ค่อยใช้สี เป็นสีโมโนโทน หรือไม่ก็เป็นคอนกรีต จนกระทั่ง ตอนหลังเรามีโอกาสได้เรียนรู้วัสดุใหม่ ๆ ขึ้นเยอะ โดยเฉพาะวัสดุทดแทน มันทำให้เราเปิดกว้างในเรื่องมุมมอง สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเสมอ คือ เราอยากได้วัสดุที่มันมีความเป็น Timeless ไร้กาลเวลา เพราะเราอยากทำงานที่มันอยู่ร่วมกัน Users อยู่ร่วมกับ Community โดยที่คนกลับมามองแล้วรู้สึกว่า เออ…มันยังดูดีอยู่นะ ยังรู้สึกดีที่ได้เข้าไปใช้ในอาคารนี้” สถาปนิกทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลบริการจากเดการ์ บาย เอสซีจี (DECAAR by SCG) ผู้ให้บริการด้านการตกแต่งภายนอกครบวงจรทั้งงานโซลูชั่นฟาซาด (Façade Solution) และงานโซลูชั่นตกแต่งภูมิทัศน์ภายนอก (Outdoor living Solution) สร้างสรรค์งานออกแบบที่โดดเด่น เปิดโลกงานดีไซน์ไร้ขีดจำกัด เปลี่ยนทุกความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://bit.ly/3v1zR8y 
สอบถามเพิ่มเติม : https://bit.ly/3Jlgcpe

Location: : ซอยสุขุมวิท 101 บางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ
Architect & Interior : Vaslab Company Limited
Photo : ชยพล ปาระชาติ

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้