BAAN 9X9
สัดส่วนสเปซที่บรรจุลงในบ้าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยเดิม

ในช่วงชีวิตหนึ่งของการอยู่อาศัย เป็นไปได้ว่าจะมีการโยกย้าย จากบ้านหลังที่หนึ่ง สู่บ้านหลังที่สอง ก่อนจะขยับขยายไปตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่แปลกที่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเช่นนั้น การออกแบบบ้านหลังใหม่จึงมักมีการหยิบนำแนวคิดบางส่วนที่คุ้นเคยจากบ้านหลังเดิมมาผสมผสานเพื่อให้ความทรงจำของการอยู่อาศัยเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต่างจาก BAAN 9X9 บ้านที่สองสามีภรรยานำความคุ้นเคยจากการเคยอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมาเป็นโจทย์หลัก ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ดีไซน์เนอร์คนสนิทอย่าง IF (Integrated Field Co.,Ltd.) มารับหน้าที่สร้างสรรค์เรื่องราวกลายเป็นสเปซและบ้านหลังใหม่ที่ตอบรับความเป็นตัวเองของผู้อยู่อาศัยได้อย่างเต็มเปี่ยม

เริ่มต้นจากภาพบ้านในฝันของคู่สามีภรรยาผู้อยู่อาศัย

“เรารู้จักโจ้และนีน่าตั้งแต่เด็กจนถึงสมัยไปเรียนอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ตอนนั้นทั้งคู่อยู่ด้วยกันในคอนโดลักษณะดูเพล็กซ์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นชั่วโมงแห่งความสุขของทั้งคู่ จนนำไปสู่ภาพของบ้านในฝันที่มีดับเบิ้ลสเปซคล้ายคอนโดมิเนียมที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้เพราะทําให้หวนกลับไปนึกถึงความทรงจําดี ๆ ณ สถานที่แห่งนั้นด้วย ด้วยความตั้งใจดังกล่าวจึงเกิดเป็นแนวคิดการออกแบบคอร์หลักของบ้านอย่าง Living, Dining และ Pantry บรรจุในสเกลขนาด 9 x 9 x 9 (เมตร) ที่กำลังพอเหมาะพอดีกับการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านทั้งสอง” ผู้ออกแบบเล่า

หากมองจากรูปด้านของบ้าน เราจะเห็นความสัมพันธ์ของพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ อย่างชัดเจน เริ่มจากหัวใจของบ้านที่เป็นห้องนั่งเล่นสูง รวมฟังก์ชันหลักทั้งหมดไว้ในจุดเดียว รวมถึงมีบาร์เครื่องดื่มสีดำบ่งบอกถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัย พื้นที่ทางด้านขวาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ต่อเนื่องออกมาจากห้องนั่งเล่น ส่วนพื้นที่ทางด้านซ้ายเป็นห้องออกกําลังกายที่ปูพื้นด้วยวัสดุยางยืดหยุ่นสําหรับใช้ในยิมโดยเฉพาะ โดยผนังของพื้นที่ทั้งสองฝั่งนี้รวมถึงเสาโครงสร้างจะถูกกรุด้วยกระจกเงา เมื่อเรามองจากไกล ๆ แมสของอาคารชั้นสองที่เป็นผนังทึบจึงดูเบา ราวกับลอยตัวอยู่เหนือธรรมชาติซึ่งเป็นบริบทโดยรอบ  

บ้านหลังนี้ยังใส่ฟังก์ชันที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างเช่น คุณโจ้ซึ่งมักจะจัดปาร์ตี้ในช่วงเทศกาล มีเพื่อนฝูงกลุ่มใหญ่กว่า 20 ชีวิตแวะเวียนมาสนุกด้วยกันที่บ้านอยู่เสมอ พื้นที่ใช้สอยต่อเนื่องจากห้องนั่งเล่นจึงออกแบบเป็นกึ่ง Semi-outdoor คล้ายใต้ถุน ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มบานประตูที่ทำให้พื้นที่นี้ยืดหยุ่นมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการใช้งานที่สามารถเปิดบานทั้งหมดเพื่อรับลมธรรมชาติ หรือปิดในบางคราเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศก็ทำได้เช่นกัน

ส่วนบริเวณชั้นสอง ก้อนอาคารที่ลอยตัวอยู่ทางฝั่งขวาจะเป็นที่ตั้งของห้องนอนมาสเตอร์ ในขณะที่ฝั่งซ้ายเป็นห้องนอนเล็กอีกสองห้อง และมีคอร์ริดอร์ทางเดินเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าหากัน รวมถึงเชื่อมพื้นที่หัวใจหลักด้านล่างด้วยพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซ ที่สามารถมองเห็นและพูดคุยกันได้

บ้านหลังใหม่ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของที่ดินเดิม

เดิม ในที่ดินขนาดประมาณ 1 ไร่นี้มีบ้านหลังเดิมตั้งอยู่ โดยเป็นบ้านหลังคาปั้นหยาที่เห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้าน ซึ่งแรกเริ่มสถาปนิกต้องการจะเก็บโครงสร้างไว้ แต่ทางคุณโจ้และคุณนีน่าก็มีภาพบ้านโมเดิร์นหลังคา slab และมีสเปซภายในที่โปร่งโล่งเป็นภาพบ้านในฝันที่ค่อนข้างชัดเจน ทางทีมออกแบบและลูกค้าจึงได้บทสรุปที่จะรื้อบ้านหลังเดิมออก และสร้างใหม่ทั้งหมดโดยเลือกที่จะวางตัวบ้านชิดทางทิศตะวันตกด้วยเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

เหตุผลแรก คือ การเตรียมพื้นที่ให้เหลือที่ว่างมากพอสำหรับการขยับขยายในอนาคต ส่วนข้อสอง คือ การหยิบยืมบริบทจากเพื่อนบ้านข้างเคียง เนื่องจากบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินนั้นมีพื้นที่สวนสวยงามหันมาทางด้านนี้ ทำให้นอกจากจะได้วิวสวนของตนเองแล้ว ยังสามารถมองทะลุโล่งไปเห็นสวนของบ้านข้างเคียงได้อีกด้วยนั่นเอง

เหตุผลสุดท้าย คือ สามารถจับกลุ่มฟังก์ชันในส่วนเซอร์วิส อย่าง ห้องครัวไทย ห้องซักล้าง ห้องเก็บของ ห้องไฟฟ้า มาไว้ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่ค่อนข้างร้อน เพื่อทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้กับตัวบ้าน และทำให้สามารถดีไซน์ช่องเปิดขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกให้กับห้องนั่งเล่นได้ เพราะแสงแดดจะส่องถึงแค่เพียงช่วงเช้าเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณโจ้และคุณนีน่าไม่ค่อยได้ใช้งานอยู่แล้ว ในขณะที่ห้องนอนมาสเตอร์ซึ่งเป็นห้องที่สําคัญที่สุดของบ้านจะหันหน้าไปทางทิศเหนือ ทำให้เย็นตลอดทั้งวัน และยังสามารถมองเห็นประตูหน้าบ้านและคนที่เข้าออกบ้านได้อยู่เสมอ เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยให้กับเจ้าของบ้านได้เช่นกัน

“ถึงแม้การที่เรารู้จักตัวตนของโจ้กับนีน่าตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มต้นออกแบบบ้านทําให้เราสามารถเข้าใจความต้องการและตัวตนของผู้อยู่อาศัย และนํามาแปรเปลี่ยนเป็นงานออกแบบที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของทั้งสองคนได้เป็นอย่างดี แต่เพียงแค่ความเข้าใจในเบื้องต้นนั้นอาจยังไม่เพียงพอ เพราะช่วงเวลาในการออกแบบและก่อสร้างบ้านกินระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งในระหว่างนั้น ความต้องการย่อมเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทั้งกับแบบ ทั้งกับเจ้าของบ้าน ทั้งกับพวกเราเอง หรือในวันที่บ้านหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ยังคงดําเนินอยู่ ซึ่งบ้าน 9×9 หลังนี้ จะเป็นสถานที่ที่รองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และโอบอุ้มทุกคนไว้ตลอดการอยู่อาศัย” ผู้ออกแบบทิ้งท้าย

Area : 750 sq.m
Owner: Trerachai Chunsangchantra, Rujina Sajjayakorn
Architect & Interior : IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Lighting: Kullakaln Gururatana
Structural Engineer: Basic Design
M&E: Teerawut Puikan
Main Contractor: Backyard Construction
Landscape contractor: Nature TL
Photographer: W Workspace

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้